เมื่อเอ่ยถึงชื่อ อัลเฟรด ฮิทช์ค็อก บุคคลท่านนี้สามารถเป็นได้หลายอย่างจากมุมมองของคนกลุ่มต่างๆ เช่นว่า คนเบื้องหลังที่เคยร่วมงานกันมองว่าเขาคือคนพิถีพิถันที่ตามสอดส่องกระบวนการทุกภาคส่วนเพื่อให้เนื้องานออกตรงตามใจ ส่วนผู้ชมมักจดจำว่าเขาคือยอดผู้กำกับเจ้าของผลงานหนังฆาตกรรมซ่อนเงื่อนขึ้นหิ้งมากมายหลายเรื่อง ในขณะที่คนทำหนังรุ่นใหม่ก็ยกย่องเขาเป็นดั่งครูผู้มอบวิชาความรู้ ซึ่งไม่ว่าคนจะจำเขาในแบบไหน สิ่งสำคัญก็คือฮิทช์ค็อก “ได้รับการจดจำ”
เมื่อย้อนกลับไปกว่าศตวรรษก่อน คงไม่มีใครคาดหมายว่าเด็กผู้ชายร่างท้วมแสนขี้อายที่สาวๆ ต่างหนีห่างนั้นจะจารึกตำนานบนแผ่นฟิล์มได้ ฮิทช์ค็อกในสมัยเรียนเป็นเด็กที่โดดเดี่ยวไม่มีเพื่อนคบ แถมยังขี้เกียจจนถูกครูหวดก้นข้อหาไม่ยอมทำการบ้านเป็นประจำ
แต่มีสิ่งหนึ่งที่เขายินดีจะขวนขวาย นั่นคือการอ่านนิยายอาชญากรรมและเรื่องราวชวนหวาดผวา ตามมาด้วยการค้นพบโชคชะตาของตัวเองที่เรียกว่าภาพยนตร์ ภายในวัยสิบเก้า ฮิทช์ค็อกเริ่มเขียนเรื่องสั้นแนวลึกลับที่จบท้ายด้วยการหักมุม ลายเซ็นประจำตัวที่ส่งให้เขาเป็นที่โจษจันไปอีกหลายปีจากนั้น
เมื่ออายุได้ 37 ปี ฮิทช์ค็อกมีผลงานกำกับหนังแล้วทั้งสิ้น 21 เรื่อง เขากลายเป็นผู้กำกับที่ค่าตัวแพงที่สุดในเกาะอังกฤษ เริ่มนำเทรนด์ที่ผู้กำกับนั้นไปแอบปรากฏตัวในหนังของตัวเอง รวมถึงการแปะชื่อตัวเองไว้ในโปสเตอร์โปรโมตหนัง กำเนิดเป็นวิธีการตลาดแบบใหม่ที่ซึ่งหนังสามารถขายได้ด้วยชื่อผู้กำกับ และ Blackmail (1929) ภาพยนตร์ทริลเลอร์โศกนาฏกรรมของเขายังจารึกประวัติศาสตร์ในฐานะหนังพูดเรื่องแรกของเมืองผู้ดี
เมื่อชื่อเสียงลื่อลั่น ฮิทข์ค็อกก็เดินหน้าแผ่ขยายอิทธิพลความนิยมไปยังฝั่งอเมริกา บังเกิดทั้งสุดยอดผลงานและคำร่ำลือในแง่การสรรหานักแสดงนำสาวสวยรวยเสน่ห์ไว้ในหนังของตัวเอง อาทิ โจน ฟอนแทน, เกรซ เคลลี่, ดอริส เดย์, วีร่า ไมล์ส, คิม โนแว็ค, เจเน็ท ลีห์, ทิปปี้ เฮเดรน รวมถึง อิงกริด เบิร์กแมน ที่แม้ผิดแผกไปจากรสนิยมชมชอบสาวผมบลอนด์ แต่เธอถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของธรรมเนียม “เทพธิดาคนโปรด” ที่ฮิทช์ค็อกชอบชักชวนร่วมงานซ้ำๆ อย่างติดใจและคอยจะเสาะหาคนโปรดแบบนี้เรื่อยไป
และขณะเดียวกัน ความลุ่มหลงของเขาก็ยิ่งสะท้อนออกมา ความเจ้ากี้เจ้าการตามควบคุมการใช้ชีวิตของนักแสดงสาวกลายเป็นข่าวลือหนาหูจนมีผู้ให้การยืนยันเป็นข้อเท็จจริง อาจกล่าวได้ว่าเนื้อหาความหมกมุ่นใน Vertigo (1958) นั้นเองที่เล็ดลอดออกมาจากจิตใต้สำนึกของเขา ชายผู้หลงใหลไปกับความเลอเลิศของหญิงสาว อ้างว้างและอยากได้เชยชม
กระนั้นนักแสดงนำฝ่ายชายในหนังของฮิทช์ค็อกก็หาได้ด้อยไปกว่า ในเมื่ออุดมไปด้วยคนมากทั้งเสน่ห์และความสามารถอย่าง ลอเรนซ์ โอลิวิเยร์, แครี่ แกรนท์, เจมส์ สจ๊วร์ต, เกรกอรี่ เพ็ก, ฌอน คอนเนอรี่ จนถึง พอล นิวแมน ลำพังเนื้อหาของหนังที่ว่าน่าติดตามแล้ว เมื่อมีคู่พระนางที่ดึงดูดสายตามาปรากฏกายเสริมเข้าไป นี่จึงเป็นสูตรสำเร็จของความบันเทิงทางจอเงินไปโดยปริยาย
แต่เหตุผลแท้จริงที่ทำให้หนังของฮิทช์ค็อกได้รับความนิยมจนถึงขั้นยกย่องกันแบบขึ้นหิ้ง ไม่ว่าแนวชิงรักหักสวาท ฆาตกรรมแยบยล หรือกระตุกขวัญสั่นประสาท นั่นเพราะเขาช่ำชองในการวางตัวละครธรรมดาๆ ไว้ในสถานการณ์ที่ไม่ธรรมดา ผู้ชมมักถูกตกกับเรื่องราวประหลาดที่ตัวละครพบเจอกันตั้งแต่เนิ่น
หากลองถามใครๆ ถึงผลงานของฮิทช์ค็อกที่แต่ละคนประทับใจ คำตอบนั้นคงหลากหลายเป็นไปได้ตั้งแต่ The 39 Steps (1935), Rebecca (1940), Suspicion (1941), Lifeboat (1944), Spellbound (1945), Notorious (1946), Rope (1948), Strangers on a Train (1951), Dial M for Murder (1954), Rear Window (1954), The Man Who Knew Too Much (1956), Vertigo (1958), North by Northwest (1959), Psycho (1960) จนถึง The Birds (1963)
และปัจจัยสำคัญที่ผลงานของเขายั่งยืน ได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลายแม้จะผ่านไปห้าสิบ หกสิบ เจ็ดสิบปี ก็เพราะยังคงให้ความบันเทิงโดยไม่ล้าสมัยและเป็นแบบอย่างให้คนรุ่นหลังได้ศึกษารายละเอียดปลีกย่อย ทั้งงานสถาปัตยกรรมออกแบบฉาก วิธีจัดแสงสี เทคนิคมุมกล้องโดยเฉพาะดอลลี่ซูม รวมถึงฉากเชือดสุดหวีดความยาวสามนาทีใน Psycho ที่ต่อยอดเป็นหัวข้อเรียนรู้กันอย่างไม่สิ้นสุด
“ปรมาจารย์ความระทึก” คือสมญาที่เขาได้รับ จากคนที่เปล่าเปลี่ยว เคยรู้สึกว่าอยู่ไกลเกินเอื้อมจากหญิงสาว และถูกผลักไสเพราะพฤติกรรมประหลาด ลูกชายคนขายของชำจากลอนดอนได้กลายมาเป็นตำนานกล่าวขวัญ ผลงานของเขาไม่เคยจารึกสถิติทำเงินสูงสุดตลอดกาล ตัวเขาไม่เคยชนะรางวัลออสการ์ แต่กระนั้นเขาก็ได้รับการยกย่องเกินใครในโลกภาพยนตร์
“คนทำหนังมากมายพร้อมจะบอกคุณว่า เศษเสี้ยวหนึ่งของหนังฮิทช์ค็อก ไม่ว่าจะ Rear Window หรือ Vertigo หรือ Psycho ต่างสอนสั่งให้พวกเขาเข้าใจถึงการทำหนังที่แท้จริง” แดน ไอเลอร์ ผู้เขียนหนังสือ The Making of Vertigo ให้การยืนยัน
"อัลเฟรด ฮิทช์ค็อก" มรดกจากปรมาจารย์ระทึกขวัญ