"ข้างหลังภาพ" อีกหนึ่งภาพยนตร์ไทยที่มีงานภาพงดงาม น่าหลงใหลเหนือกาลเวลา

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

พอดีเมื่อเช้าได้มีโอกาสชมข้างหลังภาพ อำพล นาถยา ที่นำมาฉายทางช่องทรูไทยฟิล์ม ในรูปแบบรีมาสเตอร์ คมชัด โดยส่วนตัวก็ชอบในงานภาพเรื่องนี้อยู่แล้ว ยิ่งมีโอกาสได้ชมอีกครั้ง ก็ยังคงชอบ และยิ่งชอบมากขึ้นไปอีก

หากไม่นับเนื้อเรื่อง ที่สร้างมาจากนวนิยายชื่อดัง อมตะตลอดกาล ของ ศรีบูรพา หรือนักแสดงนำ อย่าง อำพล นาถยา ที่โดดเด่น แสดงกันได้สมบทบาท อีกสิ่งที่โดดเด่นเป็นอย่างมากสำหรับเวอร์ชั่นนี้ ก็คือ "งานภาพ" ส่วนตัวไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับการถ่ายภาพหรือการถ่ายทำภาพยนตร์นัก ฉะนั้นจึงไม่สามารถวิเคราะห์หรืออธิบายศัพท์แสง เทคนิคอย่างละเอียดเป็นขั้นเป็นตอนได้ หากแต่จะพูดก็ในฐานะ "คนดูหนัง" คนนึง

ข้างหลังภาพ 2528 ท่านที่เคยดูก็จะทราบดีว่าหนังเวอร์ชั่นนี้ได้ตีความโทนเรื่องไปทางเคร่งขรึม เย็นชา งาพภาพเป็นไปอย่างเรียบ ๆ ไม่หวือหวา (ซึ่งหลัก ๆ ก็มาจากเทคนิคการถ่ายทำหนังไทยในขณะนั้น)

ฉากต่าง ๆ ในหนัง เต็มไปด้วยความลุ่มลึก (จริง ๆ ต้องใช้คำว่า ตลอดเรื่อง) หากดูแล้วก็จะทราบโดยทันทีว่าแต่ละฉากได้ถูกคิดออกมาเป็นอย่างดี ว่าจะถ่ายทอดให้ออกมาเป็นแบบใด ส่งผลให้งานภาพ กลมกลืนไปกับเนื้อเรื่อง และงดงามยิ่ง ขณะเดียวกันก็แฝงด้วยสัญญะบางอย่าง แม้จะดูเคร่งขรึม เย็นชา ทว่ากลับมีชีวิตและจิตวิญญาณ ไม่ใช่ว่าสวยงาม แต่ดูแข็งอยู่ในที

ในหลายฉากนอกจากตัวละคร และบทพูด จะส่งสารถึงคนดูแล้ว ก็ได้งานภาพที่ช่วยส่งสาร ชวนให้ครุ่นคิด รู้สึกมีอารมณ์ร่วมไปตามเนื้อเรื่อง และตัวละคร 

เมื่อรวมกับบทสนทนาที่แฝงไปด้วยปรัชญา การถ่ายทำด้วยระบบซาวด์ ออนฟิล์ม ซึ่งสมจริงกว่าการพากย์เสียงทับทีหลัง การใช้ดนตรีประกอบเป็นเสียงดนตรีญี่ปุ่นแทบตลอดเรื่อง และการใช้เสียงของอำพล (อันไพเราะ น่าฟัง) บอกเล่าพรรณนาความคิด หนังจึงออกมาลงตัวอย่างมาก 

ส่วนตัวหลงใหลงานภาพช่วงอยู่ญี่ปุ่น แต่ละฉากน่าหลงใหลจริง ๆ ด้วยเพราะที่ญี่ปุ่นบรรยากาศดี วิวสวย ยิ่ง Vibe และงานภาพถูกถ่ายทำออกมาเป็นสไตล์หนังญี่ปุ่น ซึ่งขึ้นชื่ออย่างมากในเรื่องความลุ่มลึก งานภาพจึงออกมางดงามเหลือเกิน

แม้อาจมีจุดติเล็กน้อยเรื่องการซูมภาพ สำหรับบางฉากที่อาจดูเชยไปสักหน่อย (เมื่อเทียบกับหนังยุคหลัง) แต่หากดูกันในด้านงานภาพ และองค์ประกอบศิลป์ทั้งหมดทั้งมวลแล้วกลับไม่มีความเชยแต่อย่างใด

หนำซ้ำกลับเหนือกาลเวลา ทั้งยังน่าชื่นชมว่าหนังไทยเมื่อกว่า 30 ปีก่อน สามารถจัดวางองค์ประกอบศิลป์ออกมาได้ "งดงาม" ไม่แพ้หนังไทยสมัยใหม่ที่มีเครื่องไม้ เครื่องมือ และคอมพิวเตอร์กราฟฟิคทันสมัยเลยแม้แต่น้อย

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่