บทความตามใจฉัน “ซื้อตรง notebook จากผู้ผลิตสู่มือเรา”

กระทู้สนทนา
จากสถานการณ์โลกที่ทำให้ชิปคอมพิวเตอร์ขาดแคลนจนกระทบหลาย ๆ ส่วน ซึ่งรวมถึงการหาซื้อชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ PC,  Notebook รวมถึง Tablet หาได้ยากขึ้นหรือมีราคาที่แพงขึ้นมากนั้น ทำให้หลาย ๆ คนในไทยลำบากกันมากเพราะความต้องการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์โรคระบาดและมาตรการ online ที่ออกมา
 
ซึ่งขณะนั้นผู้เขียนกำลังมองหา Notebook ตัวใหม่อยู่พอดีและพบว่าเครื่องที่ต้องการมีอยู่จริงเพียงแค่บนโฆษณา ไม่มีร้านไหนที่มีเครื่องดังกล่าวขายเลย
 
แต่ในที่สุดผู้เขียนก็ได้เครื่องที่ต้องการมาไว้ในมือ ด้วยวิธีการที่ค่อนข้างไม่คุ้นเคย

บทความนี้จะไม่ใช่การพูดถึงเครื่องนี้ว่าเป็นอย่างไร มีประสิทธิภาพขนาดไหน เพราะการรีวิวเครื่องนี้เพียงพิมพ์ชื่อลงไปใน Google ก็จะพบผู้รีวิวจากหลาย ๆ เจ้าที่เคยรีวิวไว้แล้ว
 
บทความนี้จะพูดถึงเส้นทางการได้มาของเครื่องนี้ ซึ่งผู้อ่านสามารถนำไปใช้อ้างอิงเพื่อหาช่องทางซื้อเครื่องที่ต้องการได้
 

 
สถานการณ์ตลาดขายคอมพิวเตอร์เมื่อช่วงประมาณไตรมาสแรกของปี 2021 นั้น ผู้เขียนแบ่งออกได้เป็นสามโซน
 
- คอมพิวเตอร์ PC: ตลาดนี้เกิดการขาดแคลนการ์ดจอหรือ GPU อย่างหนักเนื่องจากมีการกว้านซื้อ GPU ไปใช้ในกิจการบิตคอยน์เป็นจำนวนมาก ซึ่งพลอยทำให้ราคาของ GPU พุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัวและกระทบต่อราคาโดยรวมของเครื่อง PC ล่าสุดเห็นว่าเหมืองบิตคอยน์ในจีนแตกแล้วทำให้ราคา GPU ลดลงอย่างมาก แต่ไม่ทราบผลกระทบดังกล่าวมาถึงไทยหรือยัง
 
- อุปกรณ์พกพา เช่น Smart phone หรือ Tablet: ผู้เขียนไม่ค่อยรู้ความเป็นไปของตลาดนี้มากนักแต่ได้ยินมาว่าอุปกรณ์ของบริษัท Apple เช่น iPhone หรือ iPad นั้นขาดตลาดอย่างหนักในช่วงไตรมาสแรกของปี ทำให้ตอนนั้นที่ผู้เขียนมีความจำเป็นต้องหาซื้อ iPad ต้องลงแรงพอสมควรกว่าที่จะหาซื้อมาได้ จนถึงปัจจุบันลองค้นดูจาก website ก็ยังเห็นว่าสินค้าของ apple ในร้านค้ารายใหญ่นั้นยังคงหมดอยู่
 
- Notebook: ตามความรู้สึกของตัวเองคือราคาเครื่องนั้นเหมือนจะเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉลี่ยราว ๆ 5 พันบาทในเกือบทุกรุ่นไม่ว่าจะร้านไหน ๆ  แม้แต่ตัวที่ตกรุ่นไปแล้วถึง 2 Gen ก็ยังมีราคาขายที่เกิน 3 หมื่นบาทซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างผิดปกติถ้าไปเทียบกับช่วงก่อนโควิท โดยคือเครื่องที่ใช้ GPU รุ่นล่าสุดอย่าง RTX 3000 นั้นแทบไม่มีเหลือขายในตลาดเลยโดยเหลือแค่รุ่นระดับสูงที่ราคาขายไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นบาท และที่น่าสังเกตคือเครื่องที่ใช้ GPU รุ่นก่อนหน้าอย่าง RTX 2060 นั้นกลับถูกตั้งราคาขายไว้เทียบเท่าเครื่องที่ใช้ RTX 3060 ทั้งที่ Hardware อื่น ๆ นอกจาก GPU นั้นก็เก่ากว่า
 

 
นี่ทำให้ผู้เขียนพยายามที่จะค้นหาว่ามีร้านไหนที่มีเครื่องสเปกตามที่ต้องการในช่วงราคาที่รับได้ขายบ้าง และพบว่าไม่มีร้านไหนที่มีเครื่องพร้อมส่งเลย บ้างก็ให้ Preorder ไว้แต่สเปกก็ไม่ใช่อย่างที่หวัง
 
เมื่อร้านขายปลีกไม่มี ต่อไปก็ลองค้นหาที่ web ของผู้ผลิต notebook เองโดยตรง ซึ่งพบจุดที่น่าสนใจว่า web ดังกล่าวสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท
 
หนึ่งคือเพื่อให้ข้อมูลและโฆษณาอย่างเดียว หากผู้ใช้ต้องการซื้อทาง web จะบอกเพียงว่าสินค้าสามารถซื้อได้ที่ร้านไหนบ้าง โดยบาง web ไม่บอกด้วยซ้ำว่าร้านดังกล่าวมีรุ่นที่ต้องการขายอยู่หรือไม่ ผู้ซื้อต้องติดต่อสอบถามเอง
 
อีกหนึ่งคือ web ที่มีช่องการทางการแบบ online ให้สั่งสินค้าได้ด้วย ซึ่งผู้เขียนได้เครื่องที่ต้องการผ่านช่องทางนี้
 

 
การซื้อ notebook แบบ online นั้นค่อนข้างเป็นอะไรที่ขัดความเคยชินที่เคยมีมา ไม่ว่าจะเป็นการที่ต้องซื้อโดยไม่เห็นเครื่องจริง ไม่ได้จับหรือสัมผัสตัวเครื่องเพื่อดูวัสดุ ทุกอย่างจำเป็นต้องพึ่งข้อมูลจากการรีวิวบน internet ทั้งสิ้น ทำให้ต้องทำการบ้านพอสมควรทีเดียวไม่เช่นนั้นข้อมูลประกอบการตัดสินใจจะไม่ครบถ้วน และที่สำคัญที่สุดคือซื้อมาแล้วเช็คเครื่องก่อนรับไม่ได้ ถ้าเครื่องเกิดมีปัญหาละก็จะเปลี่ยนเครื่องไม่ได้ในทันที ทำให้มีความเสี่ยงสูง สำหรับผู้ที่จะซื้อผ่าน Online ครั้งแรกจึงไม่แปลกที่จะกังวล แต่ด้วยสถานการณ์และความต้องการแล้ว นี่เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดเพราะที่ web มีเครื่องตามที่ผู้เขียนต้องการจะซื้อในช่วงราคาที่จ่ายได้วางขายอยู่จริง ๆ 
 
อีกจุดเด่นของการซื้อ notebook แบบ online คือบางผู้ผลิตมีตัวเลือกให้ผู้ซื้อสามารถปรับแต่งสเปกของ notebook ได้ในระดับหนึ่ง อย่างกรณีของผู้เขียน เครื่องที่เป็นรุ่นธรรมดานั้นสามารถปรับเพิ่ม CPU, RAM และ Hard disk ได้แต่ถ้าเป็นรุ่นโปรจะสามารถปรับเพิ่ม CPU ไปได้ถึงรุ่นสูงสุดรวมถึงอนุญาติให้ปรับเพิ่ม GPU ได้ด้วย ซึ่งจุดที่ตอบโจทย์ของผู้เขียนมากคือการปรับแต่ง GPU ได้เพราะสิ่งนี้ไม่สามารถอัพเกรดด้วยตัวผู้ใช้เอง ดังนั้นการเลือก GPU ให้สูงไว้หน่อยจะช่วยให้เครื่องยังพอสามารถใช้งานได้ดีแม้จะตกรุ่นไปแล้วสัก 3-4 gen ก็ตาม
 
อย่างไรก็ตามการปรับแต่งสเปกก็มีราคาที่ต้องจ่ายเพิ่ม ซึ่งไม่ใช่แค่เงิน
 

 
กระบวนการส่งสินค้าในฝั่งของผู้ผลิตนั้นผู้เขียนแบ่งออกไปได้สามเฟส 1.จัดเตรียม 2.shipping(นำส่งสินค้าไปยังบริษัทขนส่ง) และ 3. Delivery (นำส่งสินค้าไปให้กับผู้ซื้อ)
ประเด็นคือเครื่องที่มีการปรับแต่งสเปกนั้นจะใช้เวลาในการจัดเตรียมสินค้านานขึ้น โดยใน web ได้ให้ข้อมูลว่าจะใช้เวลาประมาณ 30 - 60 วัน 
 
กรณีของผู้เขียน ทางผู้ผลิตใช้เวลาเตรียมสินค้าก่อน shipping ถึง 48 วันหรือเดือนครึ่งซึ่งเป็นเวลาที่นานไม่น้อยเลยหากเทียบกับการไปซื้อเครื่องพร้อมจำหน่ายที่ร้านค้า และแน่นอนว่าเราต้องจ่ายค่าสินค้าเต็มราคาก่อนด้วย
ส่วนเวลาในการขนส่งนั้น ใช้เวลาทั้งสิ้น 6 วันจากที่ประเมินว่า 7 วันจึงมาถึงมือของผู้เขียนซึ่งถือว่าเร็วใช้ได้สำหรับการส่งสินค้าจากเซี่ยงไฮ้ (Shanghai)มายังไทย
 
อีกจุดสังเกตที่น่าสนใจคือ “ของแถม”
เวลาเราไปซื้อตามร้าน เครื่องมักจะมาพร้อมของแถมมากน้อยต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น Mouse, น้ำยาทำความสะอาด, คูปองส่วนลด บรา ๆ ๆ 
สำหรับเครื่องที่ผู้เขียนได้มานั้นไม่มีของแถมอะไรอื่น ๆ มาให้เลย ซึ่งส่วนตัวแล้วชอบมาก ไม่ต้องมีขยะให้รกบ้านเพิ่ม(ของแถมเดิมที่เคยได้มายังอยู่เลย) แต่พอสักพักหนึ่งผู้เขียนก็ระลึกได้ว่า “ของแถม” บางอย่างมันจำเป็นต้องมี
นั้นคือกระเป๋า notebook ที่หากซื้อใหม่จะมีราคาขายอยู่ที่ประมาณ 600-1000 บาท
นี่เป็นค่าใช้จ่ายแฝงที่ต้องคำนึงถึง
 

 
จากที่เล่ามา ผู้อ่านคงจะได้เห็นข้อดีข้อเสียคราว ๆ ของการซื้อ notebook จากผู้ผลิตแบบ online ซึ่งสรุปได้สั้น ๆ ดังนี้
ข้อดี: ได้เครื่องที่ใช่และคุ้มค่าในราคาที่เหมาะสม
ข้อเสีย: เช็คและขอเปลี่ยนสินค้าก่อนรับไม่ได้ และจำเป็นต้องใช้เวลาในการรอสินค้า ยิ่งมีการปรับแต่งสเปกยิ่งต้องใช้เวลา
 
ในความเห็นของผู้เขียน การซื้อเครื่องแบบ online นั้นเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ notebook แบบเร่งด่วน สามารถที่จะรอสินค้าได้เป็นเดือน ๆ 
หรือก็คือไม่เหมาะกับผู้ที่ซื้อเครื่องแรก, ซื้อทดแทนเครื่องที่เสียจนใช้งานไม่ได้หรือผู้ที่ไม่มีเครื่องสำรองไว้ใช้งาน
แต่สำหรับผู้ที่รอได้ มีเครื่องสำรองไว้ใช้งาน
การซื้อ notebook online จากผู้ผลิตอาจจะเป็นอีกช่องทางที่ควรพิจารณาทั้งในเวลานี้และในอนาคต
 

 
ปล.ตอนนี้ผมได้เปิด Facebook Page “บทความตามใจฉัน” 
โดยบทความจะหลายหลากคละประเภทกันไปความตามความสนใจนั้นขณะนั้น ถ้าสนใจก็กดติดตามได้ครับ
https://www.facebook.com/uptomejournal/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่