ครบรอบ 35 ปี Stand by Me แด่เราและเพื่อน


หลายปีดีดักที่งานประพันธ์ของ สตีเว่น คิง กลายเป็นยี่ห้อตีตลาดในวงการภาพยนตร์ด้วยเรื่องราวสยองขวัญและสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติจนผู้คนลืมไปว่าคิงได้เขียนแนวดราม่าไว้ด้วยเช่นกัน ซึ่งผลก็คือมันถูกปฏิบัติแตกต่างราวฟ้ากับเหว ขณะที่เรื่องหลอนๆ สั่นประสาทได้รับอนุมัติสร้างแทบปีต่อปี พอมีคนหยิบดราม่ามาทำสักทีกลับไม่มีใครเหลียวแล และเรื่องนี้คือตัวอย่างที่ต้องฟันฝ่าเพื่อเอาชนะใจ

“ไม่มีเจ้าไหนเลยที่สนใจอยากทำ” บรูซ เอ. อีวานส์ มือเขียนบทของหนังกล่าว

“แต่เราถูกใจมันมาก นี่คือเรื่องราวก้าวข้ามวัยที่ไม่ต้องพึ่งเด็กผู้หญิงเป็นจุดขาย ไม่ต้องมีเรื่องรักๆ ใคร่ๆ แค่เรื่องของเด็กๆ ที่รับรู้ถึงความเป็นปุถุชนคนธรรมดา”

จากเรื่องสั้น The Body ในชุด Different Seasons ซึ่งเนื้อหาออกจะเรียบง่าย ว่าด้วยเด็กผู้ชายสุดซี้สี่คนในเมืองเล็กๆ ออกตามหาศพคนหายในป่าเพื่อหมายสร้างชื่อและได้รับการยอมจากชาวเมือง การผจญภัยทั้งหมดกินเวลาเพียงสองวันเท่านั้น ทว่าสิ่งที่พวกเขาพบเจอระหว่างทางจะส่งผลต่อชีวิตเบื้องหน้าอย่างมหาศาล

จุดเปลี่ยนสำคัญของโปรเจกต์นี้อยู่ที่การได้ ร็อบ ไรเนอร์ เข้ามากำกับ เขารู้วิธีถอดรหัสของคิง ปรับเปลี่ยนให้สคริปต์สามารถจูงใจทุนอิสระจำนวนหนึ่งจนเพียงพอต่อการเดินหน้าสร้างให้เสร็จ กระนั้น การแคสต์สี่ตัวละครหลักก็ต่อคิวมาเป็นความท้าทายครั้งใหม่อย่างทันควันเมื่อพวกเขาต้องคัดเลือกเด็กเป็นร้อยๆ และไม่อาจหาข้อสรุป


งานนี้ผู้กำกับจึงแก้ทางโดยการเลือกแคสต์เด็กซึ่งมีบุคลิกหรือนิสัยใจคอตรงตามแต่ตัวละครไปเลย ได้มาเป็น วิล วีตัน ในบท กอร์ดี้ ที่อ่อนไหว, เจอร์รี่ โอคอนเนลล์ ในบท เวิร์น ที่ขี้กลัว, คอรีย์ เฟลด์แมน ในบท เท็ดดี้ ที่บ้าบิ่น และ ริเวอร์ ฟีนิกซ์ ในบท คริส ที่มีความเป็นผู้ใหญ่กว่าใครสมการเป็นผู้นำ

“ร็อบทำงานกับเด็กๆ ได้เก่งมาก เขาเหมือนเป็นเด็กที่ห้า” โอคอนเนลล์เผย “อย่างสองอาทิตย์แรก เราไม่ได้ซ้อมกันเลย เขาจับให้เราอยู่ในห้องเพื่อจะได้เล่นด้วยกันจนเราสนิทกันจริงๆ”

อย่างไรก็ตาม ต่อให้เกือบทุกคนในแกนหลักจะผ่านงานแสดงมาไม่น้อย หนังเรื่องนี้ก็ถือเป็นความท้าทายที่ต่างออกไป พวกเขาต้องทุ่มเทอีกมากเพื่อให้เข้าถึงอารมณ์อันลึกซึ้ง ไม่ว่าฉากในลานขยะ ฉากในหนองน้ำ ฉากรอบกองไฟ หรือการเผชิญหน้าช่วงท้าย กลายเป็นหน้าที่ของผู้กำกับในการเคี่ยวเข็ญเพื่อเค้นความสามารถ อย่างการกล่อมจนริเวอร์สามารถร้องไห้ หรือการเก็บงำศพเอาไว้ให้เด็กๆ ได้เห็นครั้งแรกตอนเข้าฉากเพื่อสร้างปฏิกิริยาของจริง


“ผมเคยตบะแตกไปรอบนึง” ไรเนอร์ยอมรับ

“มันมีฉากที่พวกเขาต้องวิ่งหนีรถไฟ ความจริงรถไฟอยู่ห่างออกไปมาก ไกลเกินกว่าเด็กๆ จะกลัว แล้วเราก็ถ่ายไปหลายรอบโดยที่พวกเขาเล่นได้ไม่ถึงอารมณ์สักที จนผมเริ่มตวาดว่า ทีมงานเขาเข็นกล้องกันลากเลือดแต่พวกเอ็งมัวแต่เล่นอยู่ได้ ทำหน้าเหมือนรถไฟกำลังวิ่งตรงมาทับไม่เป็นรึไง! จากนั้นพวกเขาก็ร้องไห้แล้วเราก็เดินกล้องทันที พอเสร็จเราก็กอดกัน พวกเขาพูดว่า เราทำได้แล้วครับ ”

ความกลมเกลียวได้กลายเป็นหัวใจหลักของการถ่ายทำเรื่องนี้ เด็กผู้ชายวัยกำลังโตทั้งสี่ได้สัมผัสประสบการณ์ไปพร้อมกัน การต้องตะลุยป่าไปถ่ายทอดบทอันท้าทายที่สุดในอาชีพ ณ เวลานั้น นี่คือการผจญภัยของพวกเขา ช่วงเวลาที่ส่งอิทธิพลต่อชีวิตและมุมมองความคิดไม่ต่างจากตัวละคร

ซึ่งเรื่องของเรื่องคือพวกเขามีกันแค่นี้ หนังรองบ่อนนอกสายตาที่เกือบไม่ได้เห็นเดือนเห็นตะวัน เคยถูกถอดงบก่อนถ่ายเพียงไม่กี่วัน ครั้นทำเสร็จก็ไม่มีใครอยากลงทุนจัดจำหน่าย หัวเดียวกระเทียมลีบเสมอต้นเสมอปลายไม่ต่างจากก๊วนเด็กที่สังคมไม่ต้องการ


แต่แล้วผลลัพธ์ที่ปรากฎคือ Stand by Me (1986) ซึ่งมีทุนสร้าง 8 ล้านดอลลาร์สามารถทำเงินได้กว่า 52 ล้านด้วยกระแสปากต่อปาก แต่ยังถือเป็นความสำเร็จส่วนที่น้อยนิดเมื่อเทียบกับแรงกระเพื่อมที่หนังเรื่องนี้สร้าง เมื่อเรื่องราวก้าวข้ามวัยนี้มอบความซาบซึ้งกินใจ ทำเอาถวิลหาวันวานแสนหวานไปพร้อมกับช่วยปลอบโยน ส่งให้ทั้งตัวผู้กำกับและทีมนักแสดงต่างโด่งดัง โดยเฉพาะในรายของริเวอร์ซึ่งแจ้งเกิดสุดๆ เรื่องหนังนี้ดีขนาดที่ว่าตัวเจ้าของงานต้นฉบับอย่างคิงยังเสียน้ำตา

นี่คือการผสมผสานความไร้เดียงสาแห่งวัยเยาว์เข้ากับความเป็นจริงในมุมมองของคนที่ผ่านร้อนผ่านหนาว นำเสนอทั้งมิตรภาพ ความฝัน แล้วตัดเข้ากับความอัปลักษณ์ของโลกที่คอยผลักไส มุ่งทำร้าย ไม่ยอมเป็นใจ ทางเดียวที่จะอยู่รอดได้คือปักหลักสู้ เหมือนกับเด็กทั้งสี่ที่ไม่ยอมจำนน

เพราะทั้งนี้ทั้งนั้น ใจความสำคัญได้ประทับยังชื่อหนังอยู่แล้ว “Stand by Me” ที่ไม่ได้สื่อถึงการเคียงข้างกับใครสักคนเท่านั้น แต่ยังหมายความว่าแม้ในวันที่อยู่ลำพังก็ต้องรู้จักยืนหยัดด้วยตัวเอง

ขอขอบพระคุณบทความจากเพจ Vintage Motion

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่