*** WOMEN OF MAO ZEDONG ***

ครั้งหนึ่งปราชญ์ขงจื้อเคยกล่าวไว้ว่า “ชายหญิงล้วนแตกต่าง” (男女有别) ขยายความได้ว่า ทั้งสองเพศมีหน้าที่ต่างกัน สถานะก็ย่อมต่างกัน ...ซึ่งหากพูดง่ายๆ ขงจื้อก็มองว่าผู้ชายอยู่สูงกว่า ตามมุมมองของจีนแต่โบราณที่เป็นปิตาธิปไตย

ภายหลังล้มราชวงศ์ และผ่านยุคขุนศึก จีนได้เข้าสู่ยุคคอมมิวนิสต์ที่ชูอุดมการณ์ “คนเท่าเทียมกัน” ให้ความสำคัญกับสิทธิสตรีมากขึ้น

บทความนี้จะพูดถึงชีวิตของหญิงสาวรอบตัวประธานพรรคคอมมิวนิสต์ผู้เลื่องชื่อ “เหมา เจ๋อตง” ซึ่งถือว่าอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านจากแนวคิดแบบเก่าเป็นแบบใหม่ ชีวิตของเธอถูกแต่งแต้มด้วยความสลับซับซ้อนของแนวคิดมากมายที่มาประชันกันในยุคนั้น

เรื่องราวของพวกเธอจะเป็นอย่างไร ลองติดตามกันนะครับ…


“เหมาเจ๋อตง” เกิดในปี 1893 ที่มณฑลหูหนาน ขณะที่ประเทศจีนยังปกครองโดยราชวงศ์ชิง

พ่อของเขาเป็นชาวนาที่มีอันจะกิน แต่เป็นคนอารมณ์ร้ายเหลือ ชอบบังคับและทุบตีลูกบ่อยๆ โดยที่ภรรยาไม่อาจห้าม เมื่อเข้าโรงเรียนประถม เหมาได้เรียนปรัชญาของขงจื้อ แต่เขาไม่อิน และชื่นชอบนิยายจำพวกสามก๊กมากกว่า


ภาพแนบ: บ้านตระกูลเหมาในปัจจุบัน

เหมาแต่งงานครั้งแรกกับหญิงสาวชาวฮั่นนาม “หลัวอี้ซิ่ว” ซึ่งเป็นการคลุมถุงชนจากพ่อทั้งสองฝ่าย ตอนที่หมั้นหมายกัน หลัวอายุ 18 แล้ว แต่เหมาเพิ่งอายุ 14 แน่นอนว่าชีวิตแต่งงานทั้งคู่ไม่มีความสุข เขาเล่าภายหลังว่ามีอะไรกันก็ไม่เคย ไม่ได้อยู่ร่วมบ้านกันด้วยซ้ำ

แต่เพราะเป็นผู้ชาย เหมาจะมีสถานะแต่งงานแล้วก็ไม่เป็นไร จะไปไหนก็ได้ แต่หลัวจำต้องอาศัยอยู่ในบ้านตระกูลเหมาอย่างเป็นทุกข์ ชาวบ้านรอบข้าง
นินทาว่าเป็นภรรยาที่บกพร่อง


ภาพแนบ: เหมาในวัยเด็ก

หลัวป่วยเป็นโรคบิดตายในอีก 2 ปีถัดมา ณ เวลาไล่เลี่ยกัน เหมาได้เดินทางไปศึกษาต่อในเมืองอื่น ภายหลังเขาบันทึกถึงเรื่องของภรรยาคนแรกว่าเป็นภาวะถูกกดขี่บังคับจากการคลุมถุงชน

หากมองในมุมหนึ่งเหมาเองก็ถือเป็นเหยื่อของความเชื่อชายเป็นใหญ่ ที่โดนพ่อบังคับให้ทำสิ่งที่ไม่ต้องการ


ภาพแนบ: หยางไคฮุ่ย

ภรรยาคนที่สองของเหมาชื่อ “หยางไคฮุ่ย” เป็นคนหูหนาน บิดาเป็นครูที่เมืองฉางซา ซึ่งนิยมแนวคิดเอียงซ้าย เหมาได้ศึกษากับอาจารย์ท่านนี้ และค่อยๆ สนิทสนมกัน จนถึงเมื่ออาจารย์หยางย้ายมาสอนที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งในปี 1918 เหมาก็ตามมาด้วย

ช่วงนี้เองที่เขาได้พูดคุยกับไคฮุ่ย และเริ่มสานสัมพันธ์อย่างจริงจัง


ภาพแนบ: โปสเตอร์รูปเหมากับหยางไคฮุ่ย

หยางไคฮุ่ย เป็นคนสวย ร่างเล็ก หน้ากลม ตาลึก ผิวขาว ถูกใจเหมายิ่ง ไคฮุ่ยเองก็หลงรักเหมาที่มีอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายแรงกล้า และถึงกับวางเป้าหมายว่าจะไม่แต่งงานกับใครนอกจากเขา

แต่ชะรอยว่าเหมาคนเดียวยังเอาตัวเองไม่รอด เขาไม่มีเงิน ต้องอยู่แบบอดอยาก ยังดีที่อาจารย์หยางจะช่วยหางานให้เหมาเป็นผู้ช่วยบรรณารักษ์ห้องสมุดมหาวิทยาลัย



ปี 1919 เกิดเหตุการณ์ “ขบวนการ 4 พฤษภาคม” ที่เป็นการชุมนุมใหญ่ทั่วประเทศเพื่อต่อต้านการลงนามสนธิสัญญายกดินแดนให้ญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยเริ่มต้นจากการลุกฮือของนักศึกษา ก่อนกระจายไปทั่วทุกสาขาอาชีพ แม้รัฐบาลจะพยายามปราบปรามอย่างนัก แต่กระแสการเคลื่อนไหวไม่แผ่วลง จนทางการต้องตัดสินใจไม่เซ็นสัญญา เหตุการณ์จึงสงบลงได้

...เหตุการณ์นี้ทำให้แนวคิดมาร์กซิสต์แพร่ไปในประเทศจีน ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นการตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเวลาต่อมา…


ภาพแนบ: หยางกับลูกสองคน

หยางไคฮุ่ยกับแม่กลับฉางซาเมื่อบิดาเสียชีวิตในเดือนมกราคมปี 1920 เธอเข้าศึกษายังโรงเรียนมิสชันนารี และถูกเรียกว่าเป็นพวกหัวขบถ เธอไม่สวดมนต์ แถมยังตัดผมสั้น ซึ่งผู้หญิงสมัยนั้นไม่ค่อยทำกัน ส่วนด้านเหมาไปทำงานยังเซี่ยงไฮ้ และได้ร่วมกิจกรรมคอมมิวนิสต์ในเวลานั้นเอง

เดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน เหมาไปยังฉางซา เพื่อเปิดร้านหนังสือและสำนักพิมพ์ ด้านไคฮุ่ยก็เข้าร่วมสันนิบาตยุวชนสังคมนิยมจีน

ทั้งคู่แต่งงานกันช่วงฤดูหนาวเมื่อเหมามีทั้งการเงินและสถานะสังคมที่มั่นคง ...แน่นอนว่าต่อมา ทั้งสองคนก็เข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งก่อตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กรกฎาคม 1921


ภาพแนบ: ซุนยัตเซ็น

 ในปี 1922 ผู้แทนบอลเชวิคของโซเวียต เสนอให้พรรคเข้าร่วมกับจีนคณะชาติ หรือ “พรรคก๊กมินตั๋ง” ของ “ซุนยัตเซ็น” เพื่อพยายามเปลี่ยนแปลงจากภายใน พวกคอมมิวนิสต์จึงร่วมมือกับพรรคก๊กมินตั๋ง ตั้งเป็น “แนวร่วมที่หนึ่ง” (First United Front) ในการยกทัพขึ้นเหนือเพื่อปราบขุนศึกก๊กต่างๆ และรวมประเทศจีนให้เป็นปึกแผ่น

ทว่าเมื่อซุนยัตเซ็นเสียชีวิตในปี 1925 ก็เกิดการต่อสู้ภายในพรรคก๊กมินตั๋ง จนกระทั่งกลุ่มฝ่ายขวาของ “เจียงไคเช็ก” ได้ครองความเป็นใหญ่ในปี 1927 หลังจากนั้นพรรคก๊กมินตั๋งซึ่งมีอุดมการณ์ชาตินิยมได้ตัดความสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์ก่อนรบพุ่งกัน


ภาพแนบ: ภาพวาดหยางไคฮุ่ยกับลูกชายถูกทรมาน

หยางไคฮุ่ยช่วยเหมารวบรวมกองกำลังใต้ดินในฉางซาและเมืองอื่นๆ รอบๆ เพื่อสู้กับก๊กมินตั๋ง โดยได้ฝากฝังแม่และลูกสองคนของเธอกับเหมาไว้ที่ญาติ ไคฮุ่ยทุ่มเทเคลื่อนไหวตามเมืองต่างๆ โดยที่ไม่ได้พบหน้าสามีและลูกเลยเป็นเวลา 3 ปี

ไคฮุ่ยและลูกชายคนโตโดนคนของพรรคก๊กมินตั๋งจับตัวได้ในปี 1930 ก๊กมินตั๋งพยายามให้เธอด้อยค่าเหมาและพรรคคอมมิวนิสต์ต่อหน้าสื่อ แต่เธอปฏิเสธ แม้จะโดนทรมานหนักแค่ไหนก็ยังยืนยันหนักแน่นในแนวคิดคอมมิวนิสต์และศรัทธาในตัวเหมาเสมอไม่คลาย


ภาพแนบ: เหมากับภรรยาคนใหม่

สุดท้ายไคฮุ่ยก็โดนประหาร ขณะอายุเพียง 29 ปี ทายาทสองคนของเธอกลายเป็นเด็กกำพร้า ลูกชายคนโตแม้จะรอดจากก๊กมินตั๋งก็ไปเสียชีวิตในสงครามเกาหลี ส่วนลูกชายคนรองยังพอโชคดี ได้มารับตำแหน่งเป็นล่ามภาษารัสเซียแก่สภากลางพรรคคอมมิวนิสต์

...ส่วนเหมาไปคบกับผู้หญิงคนใหม่ตั้งแต่ปี 1928 หรือสองปีก่อนหยางไคฮุ่ยเสียชีวิต...


ภาพแนบ: แผนที่การเดินทัพทางไหล

ผู้หญิงคนใหม่ของเหมามีนามว่า “เฮ่อจื่อเจิน” นับเป็นภรรยาคนที่สาม เธอเป็นหญิงแกร่งกล้า ขี่ม้าถือปืน ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่เหมาอย่างห้าวหาญ สมอุดมคติของคณะปฏิวัติ ด้วยฝีมือของเธอ ทำให้ได้รับการขนานนามว่า “แม่ทัพหญิงปืนคู่”

ในปี 1934 เหมาโดดเด่นขึ้นมาจากการเป็นผู้นำ “การเดินทัพทางไกล” (The Long March) ซึ่งเขาได้พาทหารชาวนาและกรรมกรหลายแสนคนเดินทางฝ่าอันตรายไปตั้งหลักยังจุดยุทธศาสตร์ทางตะวันตก รวมระยะทาง 25,000 ลี้ เผชิญภูมิศาสตร์ยากลำบากทุกรูปแบบ ระหว่างทางยังต้องรบกับกองทัพก๊กมินตั๋งที่รุกไล่มาด้วย


ภาพแนบ: หลี่มิน

แม้จะต้องเสียกำลังพลไปนับหมื่น แต่ความทรหดอดทนของเหมาและคณะซื้อใจประชาชนได้มาก เฮ่อเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากการเดินทัพทางไกลที่โหดร้ายครั้งนี้

ทว่าลูกๆ ของเธอที่เกิดกับเหมาในช่วงเวลาดังกล่าวไม่ได้โชคดีเพียงนั้น บ้างก็เสียชีวิต บ้างก็ถูกยกเป็นลูกชาวนา เหลือเพียงแต่เหมาเจียวเจียว หรือ “หลี่มิน” ผู้เกิดในปี 1936 เท่านั้น (เหมาเจียวเจียวเปลี่ยนชื่อเป็นหลี่มินเพื่อหนีก๊กมินตั๋งแล้วไม่ได้เปลี่ยนกลับ)


ภาพแนบ: เจียงชิงขึ้นปกนิตยสารตอนเป็นนางเอกหนัง

ปีต่อมาเฮ่อได้รับบาดเจ็บจากสงคราม จึงถูกส่งตัวไปรักษาที่โซเวียต หลี่มินตามไปอยู่กับมารดาเมื่ออายุ 4 ขวบ แต่พอทั้งคู่กลับมาจีนในปี 1947 ก็กลับพบว่าเหมาได้แต่งงานใหม่กับดาราหนังผู้งดงามอายุคราวลูกชื่อ “เจียงชิง” และขอหย่าขาดกับภรรยาที่ร่วมเป็นร่วมตายกันมา

เจียงชิง เกิดปี 1914 เคยเป็นนางเอกหนัง ใช้ชือว่า หลันผิง มาก่อน เจียงชิงได้พบรักกับเหมาเจ๋อตุงซึ่งมีอายุมากกว่าเกือบสองเท่าในปี 1937 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่เฮ่อไปโซเวียต

เสน่ห์ของเจียงชิงเป็นเหตุให้เหมาคิดหย่าเฮ่อมาแต่งกับเธอ (บางหลักฐานก็ว่า เหมาพบรักกับเจียงชิงก่อน เลยส่งเฮ่อไปรักษาไกลถึงมอสโก)


ภาพแนบ: เจียงชิงกับเหมา

ตอนนั้นผู้บริหารพรรคคอมมิวนิสต์คนอื่นๆ ไม่เห็นด้วย ทั้งตำหนิเหมาว่าเฮ่อจื่อเจินเคยร่วมทุกข์ร่วมสุขเดินทัพทางไกลกันมา อีกทั้งมีลูกกับเหมาถึงหกคน ทำแบบนี้ใจร้ายยิ่ง และการที่เจียงชิงเคยใช้ชีวิตแบบทุนนิยมมาก่อน จะทำให้เหมาเสียภาพลักษณ์ กระทบถึงพรรคคอมมิวนิสต์

แต่ในที่สุดเหมายังคงหย่าเฮ่อมาแต่งเจียงชิงเป็นภรรยาคนที่ 4 โดยรับข้อแม้จากพรรคว่าจะให้เจียงชิงทำตัวโลว์โปรไฟล์ ไม่ออกหน้าออกตาเป็นเวลายี่สิบปี

...เชื่อว่าเจียงชิงผูกใจเจ็บพวกผู้บริหารพรรคคอมมิวนิสต์อยู่…


ภาพแนบ: เหมาสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน 

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พรรคคอมมิวนิสต์และก๊กมินตั๋งพักรบแล้วหันมาจับมือ ตั้งเป็น “แนวร่วมที่สอง” (Second United Front) ต่อสู้กับญี่ปุ่นที่รุกรานจีน และในปี 1945 เหมาก็ได้ขึ้นเป็นประธานพรรคคอมมิวนิสต์

แต่พอหลังญี่ปุ่นพ่ายไป จีนได้เข้าสู่สงครามกลางเมืองรอบใหม่ ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถพลิกจากฝ่ายที่ด้อยกว่ามาชนะได้ ส่วนหนึ่งเพราะปัญหาคอร์รัปชั่นภายในของก๊กมินตั๋งทำให้ประชาชนเสื่อมความนิยม

เหมาประกาศสถาปนา “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ในปี 1949 ขณะที่เจียงไคเช็กต้องอพยพไปยังเกาะไต้หวัน


ภาพแนบ: โปสเตอร์ยุค 50s โฆษณาว่าผู้หญิงทำงานหนักได้ 

ปีเดียวกันนี้เอง พรรคคอมมิวนิสต์ออกกฎหมายให้การบังคับอยู่กินโดยไม่ได้สมรสเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และให้สิทธิผู้หญิงในการฟ้องหย่า เพื่อเพิ่มสิทธิสตรีให้มากขึ้นตามหลักที่เหมาเรียกว่า “ประชาธิปไตยใหม่” (New Democracy) ทำให้มุมมองต่อผู้หญิงของพรรคคอมมิวนิสต์ช่วงยุค 50 - 60s จึงเป็นภาพนักรบผู้กล้าหาญ ลุกขึ้นมาสู้เพื่อประเทศจีนและลัทธิคอมมิวนิสต์

กระนั้นการสร้างภาพแบบนี้ก็ทำให้เกิดผลเสีย เพราะหากใครอุทิศตนให้ลัทธิไม่พอก็จะโดนประจาน อีกทั้งในความจริงนั้น ผู้หญิงยังถูกกีดกันทางการงานอยู่ แม้เรียนสูงเท่าผู้ชาย ก็มักไม่ก้าวหน้าเท่า



เหมาดำเนินนโยบายปฏิรูปที่ดินโดยใช้กำลังยึดที่จากเจ้าของเดิมไปแจกให้ชาวนา รวมทั้งมีการปราบปรามพวกนายทุนและปัญญาชนขนานใหญ่ ต่อมาเขายังเริ่มนโยบาย “ก้าวกระโดดไปข้างหน้า” (Great Leap Forward) ซึ่งเร่งการเปลี่ยนแปลงประเทศจากเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรมในปี 1958

...ทว่าการลดจำนวนเกษตรกรแล้วไปเพิ่มแรงงานอุตสาหกรรมอย่างกะทันหัน และการให้นโยบายผิดพลาด (เช่นการสั่งให้ประชาชนฆ่านกกระจอก เพราะมันขโมยข้าว แต่พอนกกระจอกตายหมด พวกแมลงศัตรูพืชที่ขาดศัตรูตามธรรมชาติก็มาทำลายพืชผลมากขึ้น) ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร จนทำให้มีผู้อดอยากเสียชีวิตหลายสิบล้านคน...

*** อ่านนต่อใน comment นะครับ ***
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่