มีวิธีใดที่จะควบคุมอารมณ์ คิดถึง ห่วงใย และวิธีการจัดการอารมณ์นี้ได้

ด้วยสถานะการณ์ขณะนี้ทำให้ไม่ได้เจอพ่อแม่มานานหลายปี จึงมีความคิดถึงและห่วงใย อารมณ์แบบนี้จะมีวิธีการใดจัดการ ข้อคำแนะนำ ทั้งวิธีควบคุมและจัดการ  เป็นข้อคิดดีๆทางธรรมะก็ได้ค่ะ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 1
โดยส่วนตัวแล้ว ผมรับมือโดยใช้วิธีการหลายอย่างครับ
จะแบ่งเป็น 2 ระดับก็ได้ครับ

1. ระดับเบื้องต้น ถือเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือแก้ปัญหาเบื้องต้น
เช่น หาทางสื่อสารให้มากขึ้น จะโทรคุยกัน  หรือเขียนจดหมาย หรือช่องทาง internet
หรืออื่นๆ  น่าจะมีสักวิธีที่จะได้สื่อสารกันแม้ไม่ได้เจอตัวกัน

แต่ถ้าไม่มีทางติดต่อกันได้เลย  ก็ต้องหาทางรับมือกับจิตใจตัวเองครับ

2. ระดับรากฐาน เป็นการรับมือกับปัญหา ที่รากฐาน
ซึ่งก็คือ จิตใจของเราเองนั่นแหละครับ

จะในทางจิตวิทยา หรือในทางพุทธศาสนา
อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น มันมาจากจิตใจของเราครับ

ทำไงให้จิตใจเรามันมั่นคง ไม่หวั่นไหวง่าย
ไม่คิดเรื่องลบๆ บ่อยๆ   หรือเมื่อคิดเรื่องลบๆ  
ก็หาทางหลุดออกจากวังวนของความฟุ้งซ่านได้

หลักการง่ายๆ คือ  จิตใจเปรียบเหมือนคนมีมือข้างเดียว
ถ้ามือนี้จับแก้วน้ำอยู่  มือมันก็ไม่ว่างไปจับอย่างอื่น

ถ้าจะเอามือนี้ไปจับลูกบอล  มือมันจะต้องวางแก้วน้ำก่อน
แล้วมันถึงจะไปจับลูกบอลได้

ในช่วงขณะหนึ่ง มือก็จับอะไรได้แค่อย่างเดียวครับ

จิตใจเปรียบคล้ายๆ มือที่มีข้างเดียวนี่แหละครับ
ถ้าจิตใจมันสนใจ ใส่ใจ จดจ่อกับอะไรอย่างหนึ่ง
มันก็จะจับกับสิ่งนั้นสิ่งเดียว  
ถ้าเราเอาใจไปจับ ไปใส่ใจในเรื่องที่พาให้เศร้า
ให้เหงา ให้คิดกังวล   ใจมันก็จะอยู่กับเรื่องนั้น

แต่ถ้าเราพาใจให้ไปจดจ่อ ไปใส่ใจเรื่องอื่นๆ  
เช่น เอาไปใส่ใจกับการทำอาหาร  การทำงาน
การฟังเพลง  การดูทีวี  หรือฟังธรรม  
ใจมันก็จะวางเรื่องเดิม  แล้วไปจับที่เรื่องใหม่

นี่เป็นหลักการง่ายๆ  แต่เวลาใจทำงานจริงๆ
จะทำงานเร็วระดับเสี้ยววินาที
เดี๋ยวใจแว๊บไปคิดเรื่องพ่อแม่  ไม่ถึงวินาทีใจมันแว๊บไปคิดเรื่องงาน
แล้วแป๊บเดียวมันก็แว๊บไปคิดเรื่องโควิด  ..... ฯลฯ
ใจมันเปลี่ยนเรื่องได้ไวมากๆ ครับ

แต่เราฝึกใจได้ครับ  ฝึกให้ใจเค้าหลุดออกจากอารมณ์ลบๆ ได้
พอเผลอไปคิดเรื่องที่ทำให้เศร้าหมองเมื่อไหร่
เราก็พาใจให้ออกจากเรื่องแย่ๆ นั้นได้  แล้วเอาใจไปจดจ่อ ใส่ใจในเรื่องอื่นๆ ที่มันสบายใจ
ที่มันเป็นกุศลได้ครับ

ทั้งหมดนี้ มันเป็นหลักการทางพุทธ  เรียกว่า การฝึกเจริญสติครับ
พยายามอธิบายแบบง่ายๆ ตามที่ครูอาจารย์หลายท่านเคยสอนไว้
แต่ในรายละเอียดแล้ว  การเจริญสติ จะฝึกให้เราพาใจไปตั้งไว้ในอารมณ์ที่เป็นกลางๆ
ไม่รู้สึกบวกๆ ลบๆ  ไม่โลดโผนอะไรมากนัก  ไม่ใช่เอาใจไปจดจ่อกับการเล่นเกม
หรือจดจ่อกับการเล่นการพนัน อะไรแบบนั้น ถือว่าไม่ใช่อารมณ์ที่เป็นกลางๆ ครับ

การดูละคร เสพสิ่งบันเทิง ดูหนังฟังเพลง เล่นเกม ออกกำลังกาย งานอดิเรกต่างๆ ฯลฯ
กิจกรรมเหล่านี้ ก็ช่วยดึงจิตใจให้ออกจากอารมณ์ลบๆ ได้ครับ
ก็ต้องพิจารณาดูว่า อะไรที่ไม่ทำร้ายตนเอง ไม่เดือดร้อนผู้อื่น ไม่ผิดกฎหมาย  ก็พอจะช่วยบรรเทาได้ครับ
แต่ถือว่า เป็นการแก้ปัญหาในข้อ 1 คือ ระดับเบื้องต้น
เราเอามาใช้ประโยชน์ได้ครับ  ได้ผลในเบื้องต้น แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้
แต่แก้ปัญหาระยะยาวที่รากฐานไม่ได้ครับ

อารมณ์ที่เป็นกลางๆ ในการฝึกสติ ก็เช่น บางคนเอาใจไประลึกรู้กับลมหายใจที่มันเคลื่อนไหวเข้าออก
หรือการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น เดินจงกรม ฯลฯ
ขอเกริ่นคร่าวๆ แค่นี้ละกันครับ


เอาเป็นว่า
หากอยากแก้ปัญหาทุกเรื่องในด้านอารมณ์ ด้านจิตใจ
ความคิดฟุ้งซ่าน วิตกกังวล เหงา เศร้า หมองหม่น หดหู่ โกรธ ฯลฯ
ทุกอารมณ์ของจิตใจ  สามารถรับมือได้ ด้วยการฝึกจิตใจครับ
ทางพุทธมีหลักการฝึกคือ ฝึกตามหลักสติปัฏฐานครับ
หรือเรียกว่า ฝึกเจริญสติ  

มีคนเคยแนะนำว่า หากสนใจก็เข้า youtube เสิชคำว่า ฝึกเจริญสติแบบง่ายๆ
ก็จะมีคลิปให้เลือกดูมีหลายเทคนิคในการฝึกครับ  ไม่ยากครับ
ขอส่งกำลังใจให้นะครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่