McCartney 3,2,1 - สารคดีที่ Paul McCartney เปิดใจเกี่ยวกับดนตรีของ The Beatles และตัวเองอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน



ในช่วงล็อกดาวน์นี้ ขอแนะนำซีรีส์สารคดีระดับ 5 ดาวที่ Paul McCartney พูดคุยอย่างเปิดอกกับโปรดิวเซอร์ Rick Rubin เกี่ยวกับดนตรีของ The Beatles ดนตรีของตัวเองช่วงที่เป็นศิลปินเดี่ยว และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจอื่นๆอีกมากมาย การพูดคุยจะเน้นเรื่องดนตรีเป็นหลัก
 
เรื่องส่วนใหญ่ที่ทั้งคู่คุยกัน บรรดาแฟนพันธุ์แท้ของวง The Beatles คงจะเคยได้ยินได้ฟังกันมาแล้ว แต่เสน่ห์ของสารคดีนี้อยู่ตรงที่การเลือกทำออกมาในลักษณะบทสนทนาระหว่าง Paul และ Rick ซึ่งดูเผินๆอาจจะนึกว่าเป็นคุณลุงแก่ๆที่ไม่ค่อยสนใจรูปลักษณ์ภายนอก จากการแต่งตัวใส่เสื้อยืดนุ่งขาสั้นสบายๆและผมและเคราสีขาวที่ปล่อยยาวรุงรัง แต่ความจริง Rick เป็นคนที่คร่ำหวอดในวงการนี้มานาน เคยเป็นถึง Co-president ของ Columbia Records และมีผลงานในฐานะโปรดิวเซอร์เพลงแนว hip-hop มากมาย

นี่คงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บทสนทนาของทั้งคู่ดูเป็นธรรมชาติและเป็นการพูดคุยระหว่างผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ทางดนตรีมาโชกโชน บรรยากาศของการพูดคุยจึงดูเป็นกันเอง และลึกซึ้งในเรื่องราวที่ต้องการบอกเล่าผ่านเสียงดนตรี
 


สิ่งที่ทำให้สารคดีนี้โดดเด่นและแตกต่างจากสารคดีเกี่ยวกับ The Beatles และเรื่องราวส่วนตัวของ Paul อื่นๆที่เคยดูมา คือการใช้ audio mixing console ที่ใช้ในควบคุมการอัดเสียงในสตูดิโอเพื่อไฮไลต์เฉพาะองค์ประกอบสำคัญต่างๆเกี่ยวกับดนตรีที่กำลังพูดถึงเพื่อให้ผู้ชมเข้าใจและได้ยินเทคนิคที่น่าสนใจไปพร้อมกับคำอธิบาย
 
แม้แต่ Paul ก็ยังแสดงอาการแปลกใจต่อรายละเอียดบางอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างการอัดเสียงและเขาเพิ่งได้ยินเป็นครั้งแรก เขายังพูดติดตลกเกี่ยวกับความผิดพลาดในห้องอัดเสียงตอนหนึ่งว่า
 
"...early days, particularly one of our things was...if the producer doesn't notice a mistake, it's not a mistake, you know...don't say 
anything... " (ในยุคเริ่มต้นของวง สมาชิกมีข้อตกลงระหว่างกันว่า ถ้าทำอะไรผิดพลาดขึ้นมาระหว่างการอัดเพลง แต่โปรดิวเซอร์ไม่ทราบ ก็ถือซะว่ามันไม่ใช่ความผิดพลาด ไม่ต้องไปบอกใคร)
 


แต่ที่ผมประทับใจที่สุดคือตอนที่ Rick เอาความคิดเห็นหนึ่งเกี่ยวกับการเล่นเบสของ Paul มาอ่านให้ฟัง
 
"Paul is one of the most innovative bass players that ever played bass, and half of the stuff that's going on now is directly ripped off 
from his Beatle period. He has always been a bit coy about his bass playing, but he's a great, great musician." (Paul เป็นมือเบสที่ความคิดสร้างสรรค์มากที่สุดคนหนึ่ง และครึ่งหนึ่งของเทคนิคที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้เป็นการเลียนแบบเทคนิคที่เขาใช้ตอนที่ยังเป็นสมาชิกวง The Beatles เขามักจะถ่อมตัวเสมอเกี่ยวกับความสามารถในการเล่นเบสของตัวเอง แต่เขาเป็นนักดนตรีที่ยอดเยี่ยมมากๆคนหนึ่ง)
 
Paul ต้องแปลกใจสุดๆเมื่อ Rick เปิดเผยว่านี่เป็นความเห็นของ John Lennon Paul บอกว่าเป็นครั้งแรกที่ได้ยิน แต่ก็ดีใจที่ John แอบชื่นชมเขา แม้จะไม่เคยบอกกับ Paul เองก็ตาม อย่างที่ทราบกันดีว่า John เป็นคนที่ชมคนยากถ้าไม่ดีจริง มีอีกเพียงครั้งเดียวที่ John เคยชม Paul คือตอนที่เขาบอกว่าเขาชอบเพลง Here, There and Everywhere ที่ Paul เป็นคนแต่ง ก็ไม่ทราบว่าเป็นเพราะสาเหตุนี้หรือเปล่าที่ทำให้เพลงนี้เป็นเพลงโปรดของ Paul

ผมประทับใจกับคำพูดของ Paul McCartney ในสารคดีที่บอกว่า "I've become a Beatles fan." (ผมกลายเป็นแฟนเพลงวง The Beatles) ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลกที่ความรู้สึกเช่นนี้จะออกมาจากปากของอดีตสมาชิกวง The Beatles เอง และคงตีความหมายได้หลายอย่าง
 
แต่ในความเห็นส่วนตัว ผมคิดว่ามันเหมือนกับ Paul กำลังยอมรับกลายๆว่าเขามองว่าผลงานการแต่งเพลงและร่วมงานดนตรีกับ John Lennon และสมาชิกคนอื่นเป็นจุดสูงสุดในการเป็นศิลปินของเขา เพราะแม้ทั้งเขา John และ George Harrison จะมีผลงานคุณภาพในฐานะศิลปินเดี่ยวออกมาในภายหลัง แต่คงเทียบไม่ได้กับผลงานที่เขาสร้างร่วมกับ John, George และ Ringo Starr ในฐานะสมาชิกวง The Beatles
 
ขอยกตัวอย่างน่าสนใจอื่นๆจากสารคดีชุดนี้เพื่อเรียกน้ำย่อยจากสมาชิกที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของ The Beatles หน่อยครับ
 
- Bassline ที่ค่อนข้างหนักหน่วง (aggressive) ในเพลง While My Guitar Gently Weeps ทั้งๆที่เป็นเพลง ballad เป็นสไตล์ที่เหมาะกับเพลงแนว hard rock มากกว่า Rick ให้ความเห็นว่า bassline ของเพลงนี้เหมือนมีเพลง 2 เพลงซ้อนกันอยู่ ถึงตอนนี้ Paul ลองร้องเพลงแบบ hard rock คลอไปกับ bassline ของเพลงนี้ ซึ่งสามารถเข้ากันได้กับเพลงทั้ง 2 สไตล์ แสดงให้เห็นความเป็นศิลปินซึ่งมีความคิดสร้างสรรค์ของ Paul ที่สามารถผสมผสานดนตรีหลายแนวและสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ The Beatles ขึ้นมาได้ Paul พูดติดตลกว่าถ้าจ้างมือเบสอาชีพมาเล่นเพลงนี้ส่วนใหญ่คงไม่ทำอะไรเพี้ยนๆแบบนี้ ("be much more sensible") และคงเลือก bassline แบบเรียบง่ายไม่ต้องใส่ลูกเล่นเข้าไปมากซึ่งน่าจะเหมาะกับเพลงแนว ballad มากกว่า
 


- Melodic bassline ในเพลง Something ซึ่งเป็นเหมือน counter-melody ที่เล่นคู่ขนานไปกับ main melody แต่ในขณะเดียวกันก็มีส่วนช่วยเสริมให้เมโลดี้หลักฟังเด่นขึ้น ที่น่าทึ่งคือ Paul เล่าว่า melodic bassline นี้เขาไม่ได้คิดไว้ก่อน เขา improvise ในขณะที่อัดเพลงนี้  Paul ได้แรงบันดาลใจของ melodic bassline แบบนี้มาจากเทคนิคการเล่นเบสที่ค่อนข้าง active ของ James Jamerson ในเพลง What’s Going On ของ Marvin Gaye
 
- Paul เล่าให้ฟังว่ามีอยู่วันหนึ่ง John ลองเล่นเพลง Come Together ที่เขาเพิ่งแต่งเสร็จให้ฟัง Paul บอกว่ามันฟังดูเหมือนเพลง You Can't Catch Me ของ Chuck Berry มาก แม้แต่ท่อนแรกของเพลง Come Together ที่เนื้อเพลงขึ้นต้นว่า "Here come old flat top/He come grooving up slowly..." ที่คล้ายกับ "Here come a flat-top/He was movin' up with me..." ในเพลง You Can't Catch Me ด้วยเหตุนี้ Paul จึงแนะนำให้เล่นเพลงนี้ด้วยจังหวะที่ช้าลง และเพิ่ม bassline ตอนต้นเข้าไป ซึ่งกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเพลงนี้ที่คุ้นหูกันดี
 
Highly recommended และ must-watch สำหรับแฟนๆ The Beatles ครับ โดยเฉพาะบรรดานักดนตรี เป็นสารคดี 6 ตอนจากค่าย Hulu ซึ่งเป็น subscription streaming service สังกัด Disney เพิ่งเริ่มฉายไปเมื่อวันศุกร์ที่ 16 ก.ค.

สมาชิกท่านใดที่ต้องการทราบเรื่องราวเพิ่มเติมของวง The Beatles โดยละเอียด ผมขออนุญาตประชาสัมพันธ์บล็อก The Beatles for the Ages (ชื่อภาษาไทย "The Beatles เหนือกาลเวลา") ที่ผมได้จัดทำขึ้นสำหรับแฟนพันธุ์แท้ของวงนี้โดยเฉพาะ หวังว่าบล็อกนี้จะได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งนัดพบไม่จำกัดยุคสมัยของแฟนพันธุ์แท้อย่างแท้จริง ท่านใดที่สนใจ ขอเชิญตามลิงก์ข้างล่างนี้ไปได้เลย ขอบคุณครับ

http://thebeatlesfortheages.blogspot.com/2017/08/blog-post.html
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่