การให้ผลของกรรมระดับภายนอก: สมบัติ ๔ – วิบัติ ๔
แง่ต่อไป เกี่ยวกับการได้รับผลกรรมอีกระดับหนึ่ง อย่างที่เราพูดอยู่เสมอว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว และมีผู้ชอบแย้งว่า ทำดีไม่เห็นได้ดีเลย ฉันทำดีแต่ได้ชั่ว ไอ้คนนั้นทำชั่วมันกลับได้ดี นี้ก็เป็นอีกระดับหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งก็ต้องมีแง่มีแนวในการที่จะอธิบาย
เบื้องแรกเราต้องแยกการให้ผลของกรรมออกเป็น ๒ ระดับ คือระดับที่เป็นผลกรรมแท้ๆ หรือเป็นวิบาก กับระดับผลข้างเคียงที่ได้รับภายนอก
ยกตัวอย่างเป็นอุปมาจึงจะพอมองเห็นชัด เช่น คนหนึ่งบอกว่า ผมขยันทำการงาน แต่ไม่เห็นรวยเลย แล้วก็บอกว่าทำดีไม่ได้ดี ในที่นี้ ขยัน คือ ทำดี และ รวย คือ ได้ดี ทำดี คือ ขยันก็ต้องได้ดี คือ รวย ปัญหาอยู่ที่ว่ารวยนั้นเป็นการได้ดีจริงหรือเปล่า
ถ้าจะให้ชัดก็ต้องหาตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น เช่น นาย ก. ขยันปลูกมะม่วง ตั้งใจปลูกอย่างดี พยายามหาวิธีการที่จะปลูก ปลูกแล้วปรากฏว่ามะม่วงงอกงามจริงๆ แล้วนาย ก. ก็มีมะม่วงเต็มสวน แต่ นาย ก. ขายมะม่วงไม่ได้ มะม่วงเสียเปล่ามากมาย นาย ก. ไม่ได้เงิน นาย ก. ก็ไม่รวย นาย ก. ก็บ่นว่า ผมขยัน=ทำดี ปลูกมะม่วงเต็มที่ แต่ผมไม่ได้ดี=ไม่รวย
ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ นาย ก. ลำดับเหตุและผลไม่ถูก แยกขั้นตอนของการได้รับผลไม่ถูกต้อง นาย ก. ทำเหตุคือขยันปลูกมะม่วง ก็จะต้องได้รับผลคือได้มะม่วง มะม่วงก็งอกงาม มีผลดกบริบูรณ์ นี่ผลตรงกับเหตุ ปลูกมะม่วงได้มะม่วง ขยันปลูกมะม่วง ก็ได้มะม่วงมากมาย แต่นาย ก. บอกว่าไม่ได้เงิน ไม่รวยคือไม่ได้เงิน
ปลูกมะม่วงแล้วไม่ได้เงิน นี่ไม่ถูกแล้ว ปลูกมะม่วงแล้วจะได้เงินได้อย่างไร ปลูกมะม่วงก็ต้องได้มะม่วง นี่แสดงว่า นาย ก. พูดลำดับเหตุผลผิด เหตุผลที่ถูก คือ ปลูกมะม่วงแล้วได้มะม่วง แต่ปลูกมะม่วงแล้วรวย หรือปลูกมะม่วงแล้วได้เงินนี้ยังต้องดูขั้นต่อไป
ถ้าปลูกมะม่วงแล้ว ได้มะม่วงมากมาย มะม่วงล้นตลาด คนปลูกทั่วประเทศ เลยขายไม่ออก ก็เสียเปล่า เป็นอันว่าไม่ได้เงิน ฉะนั้นก็ไม่รวย อาจจะขาดทุนยุบยับก็ได้ เราต้องแยกเหตุผลให้ถูก
เป็นอันว่า อย่ามาเถียงกฎแห่งกรรมเลย ไปศึกษาพัฒนาปัญญาของคุณเองนั่นแหละ กฎไม่ผิดหรอก คุณปลูกมะม่วงก็ได้มะม่วง ส่วนจะได้เงินหรือไม่นั้น ต้องอยู่ที่เหตุปัจจัยอื่น ซึ่งเป็นลำดับเหตุและผลอีกช่วงตอนหนึ่ง ที่จะต้องแยกแยะวินิจฉัยต่อไปอีก เช่นว่า คุณขายเป็นไหม รู้จักตลาดไหม ตลาดตอนนี้มีความต้องการมะม่วงไหม ต้องการมากไหม ราคาดีไหม ถ้าตอนนี้คนต้องการมะม่วงมาก ราคาดี จัดการเรื่องขายได้เก่ง คุณก็ได้เงินมาจากการขายมะม่วง ก็รวย นี่เป็นอีกตอนหนึ่ง คนเราโดยทั่วไปมักจะเป็นอย่าง นาย ก. นี้ คือมองข้ามขั้นตอนของเหตุผล จะเอาปลูกมะม่วงแล้วรวย จึงยุ่ง เพราะตัวเองคิดผิด
ในเรื่องนี้จะต้องแบ่งลำดับเรื่องเป็น ๒ ขั้น ขั้นที่ ๑ บอกแล้วว่า ปลูกมะม่วงได้มะม่วง เมื่อได้มะม่วงแล้ว ขั้นที่ ๒ ทำอย่างไรกับมะม่วงจึงจะได้เงิน จึงจะรวย เราต้องคิดให้ตลอดทั้ง ๒ ตอน
ตอนที่ ๑ ถูกต้องตามเหตุปัจจัยแน่นอนแล้ว คือปลูกมะม่วงได้มะม่วง หลักกรรมก็เหมือนกัน หลักกรรมในขั้นที่ ๑ คือปลูกมะม่วง ได้มะม่วง เหตุดี ผลก็ดี เมื่อท่านปลูกเมตตาขึ้นในใจท่านก็มีเมตตา มีความแช่มชื่น จิตใจสบาย ยิ้มแย้มผ่องใส มีความสุขใจ แต่จะได้ผลอะไรต่อไปเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง
สำหรับตอนที่ ๒ ท่านให้ข้อพิจารณาไว้อีกหลักหนึ่ง ดังที่ปรากฏในอภิธรรม บอกไว้ว่า การที่กรรมจะให้ผลต่อไป จะต้องพิจารณาเรื่องสมบัติ ๔ และวิบัติ ๔ ประกอบด้วย คือ ตอนได้มะม่วงแล้วจะรวยหรือไม่ ต้องเอาหลักสมบัติ ๔ วิบัติ ๔ มาพิจารณา
สมบัติ คือองค์ประกอบที่อำนวยช่วยเสริมกรรมดี มี ๔ อย่าง คือ
๑. คติ คือ ถิ่นที่ เทศะ ทางไป ทางดำเนินชีวิต
๒. อุปธิ คือ ร่างกาย
๓. กาล คือ กาลเวลา ยุคสมัย
๔. ปโยค คือ การประกอบ หรือการลงมือทำ
นี้เป็นความหมายตามศัพท์ ฝ่ายตรงข้าม คือ วิบัติ ก็มี ๔ เหมือนกัน คือ ถ้า คติ อุปธิ กาล ปโยค ดี ช่วยเสริม ก็เรียกว่าเป็นสมบัติ ถ้าไม่ดี กลายเป็นจุดอ่อน เป็นข้อด้อย หรือบกพร่อง ก็เรียกว่าเป็นวิบัติ ลองมาดูว่าหลัก ๔ นี้มีผลอย่างไร
สมมติว่า คุณ ก. กับ คุณ ข. มีวิชาดีเท่ากัน ขยัน นิสัยดีทั้งคู่ แต่เขาต้องการรับคนทำงานที่เป็นพนักงานต้อนรับ อย่างที่ปัจจุบันเรียก receptionist ทำหน้าที่รับแขก หรือปฏิสันถาร คุณ ก. ขยัน มีนิสัยดี ทำหน้าที่รับผิดชอบดี แต่หน้าตาไม่สวย คุณ ข. ก็ขยัน มีนิสัยดี มีความรับผิดชอบดี และหน้าตาสวยกว่า เขาก็ต้องเลือกเอาคุณ ข. แล้วคุณ ก. จะบอกว่า ฉันขยันอุตส่าห์ทำดี ไม่เห็นได้ดีเลย เขาไม่เลือกไปทำงาน นี่ก็เพราะตัวเองมีอุปธิวิบัติ เสียในด้านร่างกาย หรืออย่างคน ๒ คนต่างก็มีความขยันหมั่นเพียร มีความดี แต่คนหนึ่งร่างกายไม่แข็งแรง มีโรคออดๆ แอดๆ เวลาเลือก คนขี้โรคก็ไม่ได้รับเลือก นี้ก็เรียกว่า อุปธิวิบัติ
ในเรื่องคติ คือ ที่ไปเกิด ถิ่นฐาน ทางดำเนินชีวิต ถ้าจะอธิบายแบบช่วงยาวข้ามภพข้ามชาติ ก็เช่นว่า คนหนึ่งทำกรรมมาดีมากๆ เป็นคนที่สั่งสมบุญมาตลอด แต่พลาดนิดเดียว ไปทำกรรมชั่วนิดหน่อย แล้วเวลาจะตาย จิตไปประหวัดถึงกรรมชั่วนั้น กลายเป็นอาสันนกรรม ทำให้ไปเกิดในนรก พอดีช่วงนั้นพระพุทธเจ้ามาอุบัติ ทั้งที่แกสั่งสมบุญมาเยอะ ถ้าได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัส แกมีโอกาสมากที่จะบรรลุธรรมขั้นสูงได้ แต่แกไปเกิดอยู่ในภพที่ไม่มีโอกาสเลย ก็เลยพลาด นี่เรียกว่า คติวิบัติ
ทีนี้พูดช่วงสั้นในชีวิตประจำวัน สมมติว่าท่านเป็นคนมีสติปัญญาดี แต่ไปเกิดในดงคนป่า แทนที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งกล้าสามารถอย่างไอน์สไตน์ ก็ไม่ได้เป็น อาจจะมีปัญญาดีกว่าไอน์สไตน์อีก แต่เพราะไปเกิดในดงคนป่าจึงไม่มีโอกาสพัฒนาปัญญานั้น นี่เรียกว่า คติเสีย ก็ไม่ได้ผลนี้ขึ้นมา นี่คือ คติวิบัติ
ข้อต่อไป กาลวิบัติ เช่น ท่านอาจจะเป็นคนเก่งในวิชาการบางอย่าง ศิลปะบางอย่าง แต่ท่านมาเจริญเติบโตอยู่ในสมัยที่เขาเกิดสงครามกันวุ่นวาย และในระยะที่เกิดสงครามนี้เขาไม่ต้องการใช้วิชาการหรือศิลปะด้านนั้น เขาต้องการคนที่รบเก่ง มีกำลังกายแข็งแรง กล้าหาญ เก่งกล้าสามารถ และมีวิชาที่ต้องใช้ในการทำสงคราม วิชาการและศิลปะที่ท่านเก่งเขาก็ไม่เอามาพูดถึงกัน เขาพูดถึงแต่คนที่รบเก่ง สามารถทำลายศัตรูได้มาก ท่านก็ไม่ได้รับการยกย่องเชิดชู เป็นต้น นี่เรียกว่ากาลวิบัติ สำหรับท่านหรือนายคนนี้
ข้อสุดท้ายคือ ปโยควิบัติ มีตัวอย่างเช่น ท่านเป็นคนวิ่งเร็ว ถ้าเอาการวิ่งมาใช้ในการแข่งขันกีฬา ท่านก็อาจมีชื่อเสียง เป็นผู้ชนะเลิศในทีมชาติหรือระดับโลก แต่ท่านไม่เอาความเก่งในการวิ่งมาใช้ในทางดี ท่านเอาไปวิ่งราว ลักของเขา ก็เลยได้รับผลร้าย ถูกจับขังคุก หรือเสียคนไปเลย นี้เป็น ปโยควิบัติ
ว่าที่จริง ถ้าไม่มุ่งถึงผลภายนอกหรือผลข้างเคียงสืบเนื่องการเป็นคนดี มีความสามารถ การเป็นคนป่าที่มีสติปัญญาดี การมีศิลปะวิชาการที่ชำนาญอย่างใดอย่างหนึ่ง ตลอดจนการวิ่งได้เร็ว มันก็มีผลดีโดยตรงของมันอยู่แล้ว และผลดีอย่างนั้น มีอยู่ในตัวในทันทีตลอดเวลา แต่ในการที่จะได้รับผลต่อเนื่องอีกขั้นหนึ่งนั้น เราจะต้องเอาหลักสมบัติ-วิบัติเข้าไปเกี่ยวข้อง
เหมือนปลูกมะม่วงเมื่อกี้นี้ ผลที่แน่นอน คือ ท่านปลูกมะม่วง ท่านก็ได้มะม่วง นี้ตรงกัน เป็นระดับผลกรรมแท้ๆ ขั้นต้น ส่วนในขั้นต่อมา ถ้าต้องการให้ปลูกมะม่วงแล้วรวยด้วย ท่านจะต้องรู้จักทำให้ถูกต้องตามหลักสมบัติ-วิบัติเหล่านี้ด้วย เช่นต้องรู้จักกาละ เป็นต้นว่า กาลสมัยนี้คนต้องการมะม่วงมากไหม ตลาดต้องการมะม่วงไหม มะม่วงพันธุ์อะไรที่คนกำลังต้องการ สภาพตลาดมะม่วงเป็นอย่างไร มีมะม่วงล้นตลาดเกินความต้องการไหม จะประหยัดต้นทุนในการปลูกและส่งให้ถึงตลาดได้อย่างไร เราควรจะจัดดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ให้ถูกต้องด้วย ไม่ใช่คิดแต่เพียงว่า ฉันขยันหมั่นเพียรแล้วก็ทำไป เลยได้ความโง่มาเป็นปัจจัยให้ได้รับผลของอกุศลกรรม
เป็นอันว่าต้องพิจารณาเรื่องสมบัติ-วิบัติ ๔ นี้เข้ามาประกอบ ว่าทำเลที่แหล่งนี้เป็นอย่างไร กาลสมัยนี้เป็นอย่างไร การประกอบการของเรา เช่นการจัดการขายส่งต่างๆ นี้ เราทำได้ถูกต้องดีไหม ถ้าเราปลูกมะม่วงได้มะม่วงดีแล้ว แต่เราปลูกไม่ถูกกาลสมัย เราไม่รู้จักประกอบการให้ถูกต้อง อย่างน้อยก็มีกาลวิบัติ และ ปโยควิบัติขึ้นมา เราก็ขายไม่ออก เลยต้องขาดทุน ถึงขยันปลูกมะม่วงก็ไม่รวย (อาจจะจนหนักลงไปอีก)
คัดมาจากบางช่วงของหนังสือ : "เชื่อกรรม-รู้กรรม-แก้กรรม" หน้า 83
เชื่อกรรม-รู้กรรม-แก้กรรม (TH) (mevicha.com)
ทำดีอย่างไรให้ได้ดี ทำไมทำดีไม่ได้ดี - ท่านพระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ.ปยุตฺโต
แง่ต่อไป เกี่ยวกับการได้รับผลกรรมอีกระดับหนึ่ง อย่างที่เราพูดอยู่เสมอว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว และมีผู้ชอบแย้งว่า ทำดีไม่เห็นได้ดีเลย ฉันทำดีแต่ได้ชั่ว ไอ้คนนั้นทำชั่วมันกลับได้ดี นี้ก็เป็นอีกระดับหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งก็ต้องมีแง่มีแนวในการที่จะอธิบาย
เบื้องแรกเราต้องแยกการให้ผลของกรรมออกเป็น ๒ ระดับ คือระดับที่เป็นผลกรรมแท้ๆ หรือเป็นวิบาก กับระดับผลข้างเคียงที่ได้รับภายนอก
ยกตัวอย่างเป็นอุปมาจึงจะพอมองเห็นชัด เช่น คนหนึ่งบอกว่า ผมขยันทำการงาน แต่ไม่เห็นรวยเลย แล้วก็บอกว่าทำดีไม่ได้ดี ในที่นี้ ขยัน คือ ทำดี และ รวย คือ ได้ดี ทำดี คือ ขยันก็ต้องได้ดี คือ รวย ปัญหาอยู่ที่ว่ารวยนั้นเป็นการได้ดีจริงหรือเปล่า
ถ้าจะให้ชัดก็ต้องหาตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น เช่น นาย ก. ขยันปลูกมะม่วง ตั้งใจปลูกอย่างดี พยายามหาวิธีการที่จะปลูก ปลูกแล้วปรากฏว่ามะม่วงงอกงามจริงๆ แล้วนาย ก. ก็มีมะม่วงเต็มสวน แต่ นาย ก. ขายมะม่วงไม่ได้ มะม่วงเสียเปล่ามากมาย นาย ก. ไม่ได้เงิน นาย ก. ก็ไม่รวย นาย ก. ก็บ่นว่า ผมขยัน=ทำดี ปลูกมะม่วงเต็มที่ แต่ผมไม่ได้ดี=ไม่รวย
ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ นาย ก. ลำดับเหตุและผลไม่ถูก แยกขั้นตอนของการได้รับผลไม่ถูกต้อง นาย ก. ทำเหตุคือขยันปลูกมะม่วง ก็จะต้องได้รับผลคือได้มะม่วง มะม่วงก็งอกงาม มีผลดกบริบูรณ์ นี่ผลตรงกับเหตุ ปลูกมะม่วงได้มะม่วง ขยันปลูกมะม่วง ก็ได้มะม่วงมากมาย แต่นาย ก. บอกว่าไม่ได้เงิน ไม่รวยคือไม่ได้เงิน
ปลูกมะม่วงแล้วไม่ได้เงิน นี่ไม่ถูกแล้ว ปลูกมะม่วงแล้วจะได้เงินได้อย่างไร ปลูกมะม่วงก็ต้องได้มะม่วง นี่แสดงว่า นาย ก. พูดลำดับเหตุผลผิด เหตุผลที่ถูก คือ ปลูกมะม่วงแล้วได้มะม่วง แต่ปลูกมะม่วงแล้วรวย หรือปลูกมะม่วงแล้วได้เงินนี้ยังต้องดูขั้นต่อไป
ถ้าปลูกมะม่วงแล้ว ได้มะม่วงมากมาย มะม่วงล้นตลาด คนปลูกทั่วประเทศ เลยขายไม่ออก ก็เสียเปล่า เป็นอันว่าไม่ได้เงิน ฉะนั้นก็ไม่รวย อาจจะขาดทุนยุบยับก็ได้ เราต้องแยกเหตุผลให้ถูก
เป็นอันว่า อย่ามาเถียงกฎแห่งกรรมเลย ไปศึกษาพัฒนาปัญญาของคุณเองนั่นแหละ กฎไม่ผิดหรอก คุณปลูกมะม่วงก็ได้มะม่วง ส่วนจะได้เงินหรือไม่นั้น ต้องอยู่ที่เหตุปัจจัยอื่น ซึ่งเป็นลำดับเหตุและผลอีกช่วงตอนหนึ่ง ที่จะต้องแยกแยะวินิจฉัยต่อไปอีก เช่นว่า คุณขายเป็นไหม รู้จักตลาดไหม ตลาดตอนนี้มีความต้องการมะม่วงไหม ต้องการมากไหม ราคาดีไหม ถ้าตอนนี้คนต้องการมะม่วงมาก ราคาดี จัดการเรื่องขายได้เก่ง คุณก็ได้เงินมาจากการขายมะม่วง ก็รวย นี่เป็นอีกตอนหนึ่ง คนเราโดยทั่วไปมักจะเป็นอย่าง นาย ก. นี้ คือมองข้ามขั้นตอนของเหตุผล จะเอาปลูกมะม่วงแล้วรวย จึงยุ่ง เพราะตัวเองคิดผิด
ในเรื่องนี้จะต้องแบ่งลำดับเรื่องเป็น ๒ ขั้น ขั้นที่ ๑ บอกแล้วว่า ปลูกมะม่วงได้มะม่วง เมื่อได้มะม่วงแล้ว ขั้นที่ ๒ ทำอย่างไรกับมะม่วงจึงจะได้เงิน จึงจะรวย เราต้องคิดให้ตลอดทั้ง ๒ ตอน
ตอนที่ ๑ ถูกต้องตามเหตุปัจจัยแน่นอนแล้ว คือปลูกมะม่วงได้มะม่วง หลักกรรมก็เหมือนกัน หลักกรรมในขั้นที่ ๑ คือปลูกมะม่วง ได้มะม่วง เหตุดี ผลก็ดี เมื่อท่านปลูกเมตตาขึ้นในใจท่านก็มีเมตตา มีความแช่มชื่น จิตใจสบาย ยิ้มแย้มผ่องใส มีความสุขใจ แต่จะได้ผลอะไรต่อไปเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง
สำหรับตอนที่ ๒ ท่านให้ข้อพิจารณาไว้อีกหลักหนึ่ง ดังที่ปรากฏในอภิธรรม บอกไว้ว่า การที่กรรมจะให้ผลต่อไป จะต้องพิจารณาเรื่องสมบัติ ๔ และวิบัติ ๔ ประกอบด้วย คือ ตอนได้มะม่วงแล้วจะรวยหรือไม่ ต้องเอาหลักสมบัติ ๔ วิบัติ ๔ มาพิจารณา
สมบัติ คือองค์ประกอบที่อำนวยช่วยเสริมกรรมดี มี ๔ อย่าง คือ
๑. คติ คือ ถิ่นที่ เทศะ ทางไป ทางดำเนินชีวิต
๒. อุปธิ คือ ร่างกาย
๓. กาล คือ กาลเวลา ยุคสมัย
๔. ปโยค คือ การประกอบ หรือการลงมือทำ
นี้เป็นความหมายตามศัพท์ ฝ่ายตรงข้าม คือ วิบัติ ก็มี ๔ เหมือนกัน คือ ถ้า คติ อุปธิ กาล ปโยค ดี ช่วยเสริม ก็เรียกว่าเป็นสมบัติ ถ้าไม่ดี กลายเป็นจุดอ่อน เป็นข้อด้อย หรือบกพร่อง ก็เรียกว่าเป็นวิบัติ ลองมาดูว่าหลัก ๔ นี้มีผลอย่างไร
สมมติว่า คุณ ก. กับ คุณ ข. มีวิชาดีเท่ากัน ขยัน นิสัยดีทั้งคู่ แต่เขาต้องการรับคนทำงานที่เป็นพนักงานต้อนรับ อย่างที่ปัจจุบันเรียก receptionist ทำหน้าที่รับแขก หรือปฏิสันถาร คุณ ก. ขยัน มีนิสัยดี ทำหน้าที่รับผิดชอบดี แต่หน้าตาไม่สวย คุณ ข. ก็ขยัน มีนิสัยดี มีความรับผิดชอบดี และหน้าตาสวยกว่า เขาก็ต้องเลือกเอาคุณ ข. แล้วคุณ ก. จะบอกว่า ฉันขยันอุตส่าห์ทำดี ไม่เห็นได้ดีเลย เขาไม่เลือกไปทำงาน นี่ก็เพราะตัวเองมีอุปธิวิบัติ เสียในด้านร่างกาย หรืออย่างคน ๒ คนต่างก็มีความขยันหมั่นเพียร มีความดี แต่คนหนึ่งร่างกายไม่แข็งแรง มีโรคออดๆ แอดๆ เวลาเลือก คนขี้โรคก็ไม่ได้รับเลือก นี้ก็เรียกว่า อุปธิวิบัติ
ในเรื่องคติ คือ ที่ไปเกิด ถิ่นฐาน ทางดำเนินชีวิต ถ้าจะอธิบายแบบช่วงยาวข้ามภพข้ามชาติ ก็เช่นว่า คนหนึ่งทำกรรมมาดีมากๆ เป็นคนที่สั่งสมบุญมาตลอด แต่พลาดนิดเดียว ไปทำกรรมชั่วนิดหน่อย แล้วเวลาจะตาย จิตไปประหวัดถึงกรรมชั่วนั้น กลายเป็นอาสันนกรรม ทำให้ไปเกิดในนรก พอดีช่วงนั้นพระพุทธเจ้ามาอุบัติ ทั้งที่แกสั่งสมบุญมาเยอะ ถ้าได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัส แกมีโอกาสมากที่จะบรรลุธรรมขั้นสูงได้ แต่แกไปเกิดอยู่ในภพที่ไม่มีโอกาสเลย ก็เลยพลาด นี่เรียกว่า คติวิบัติ
ทีนี้พูดช่วงสั้นในชีวิตประจำวัน สมมติว่าท่านเป็นคนมีสติปัญญาดี แต่ไปเกิดในดงคนป่า แทนที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งกล้าสามารถอย่างไอน์สไตน์ ก็ไม่ได้เป็น อาจจะมีปัญญาดีกว่าไอน์สไตน์อีก แต่เพราะไปเกิดในดงคนป่าจึงไม่มีโอกาสพัฒนาปัญญานั้น นี่เรียกว่า คติเสีย ก็ไม่ได้ผลนี้ขึ้นมา นี่คือ คติวิบัติ
ข้อต่อไป กาลวิบัติ เช่น ท่านอาจจะเป็นคนเก่งในวิชาการบางอย่าง ศิลปะบางอย่าง แต่ท่านมาเจริญเติบโตอยู่ในสมัยที่เขาเกิดสงครามกันวุ่นวาย และในระยะที่เกิดสงครามนี้เขาไม่ต้องการใช้วิชาการหรือศิลปะด้านนั้น เขาต้องการคนที่รบเก่ง มีกำลังกายแข็งแรง กล้าหาญ เก่งกล้าสามารถ และมีวิชาที่ต้องใช้ในการทำสงคราม วิชาการและศิลปะที่ท่านเก่งเขาก็ไม่เอามาพูดถึงกัน เขาพูดถึงแต่คนที่รบเก่ง สามารถทำลายศัตรูได้มาก ท่านก็ไม่ได้รับการยกย่องเชิดชู เป็นต้น นี่เรียกว่ากาลวิบัติ สำหรับท่านหรือนายคนนี้
ข้อสุดท้ายคือ ปโยควิบัติ มีตัวอย่างเช่น ท่านเป็นคนวิ่งเร็ว ถ้าเอาการวิ่งมาใช้ในการแข่งขันกีฬา ท่านก็อาจมีชื่อเสียง เป็นผู้ชนะเลิศในทีมชาติหรือระดับโลก แต่ท่านไม่เอาความเก่งในการวิ่งมาใช้ในทางดี ท่านเอาไปวิ่งราว ลักของเขา ก็เลยได้รับผลร้าย ถูกจับขังคุก หรือเสียคนไปเลย นี้เป็น ปโยควิบัติ
ว่าที่จริง ถ้าไม่มุ่งถึงผลภายนอกหรือผลข้างเคียงสืบเนื่องการเป็นคนดี มีความสามารถ การเป็นคนป่าที่มีสติปัญญาดี การมีศิลปะวิชาการที่ชำนาญอย่างใดอย่างหนึ่ง ตลอดจนการวิ่งได้เร็ว มันก็มีผลดีโดยตรงของมันอยู่แล้ว และผลดีอย่างนั้น มีอยู่ในตัวในทันทีตลอดเวลา แต่ในการที่จะได้รับผลต่อเนื่องอีกขั้นหนึ่งนั้น เราจะต้องเอาหลักสมบัติ-วิบัติเข้าไปเกี่ยวข้อง
เหมือนปลูกมะม่วงเมื่อกี้นี้ ผลที่แน่นอน คือ ท่านปลูกมะม่วง ท่านก็ได้มะม่วง นี้ตรงกัน เป็นระดับผลกรรมแท้ๆ ขั้นต้น ส่วนในขั้นต่อมา ถ้าต้องการให้ปลูกมะม่วงแล้วรวยด้วย ท่านจะต้องรู้จักทำให้ถูกต้องตามหลักสมบัติ-วิบัติเหล่านี้ด้วย เช่นต้องรู้จักกาละ เป็นต้นว่า กาลสมัยนี้คนต้องการมะม่วงมากไหม ตลาดต้องการมะม่วงไหม มะม่วงพันธุ์อะไรที่คนกำลังต้องการ สภาพตลาดมะม่วงเป็นอย่างไร มีมะม่วงล้นตลาดเกินความต้องการไหม จะประหยัดต้นทุนในการปลูกและส่งให้ถึงตลาดได้อย่างไร เราควรจะจัดดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ให้ถูกต้องด้วย ไม่ใช่คิดแต่เพียงว่า ฉันขยันหมั่นเพียรแล้วก็ทำไป เลยได้ความโง่มาเป็นปัจจัยให้ได้รับผลของอกุศลกรรม
เป็นอันว่าต้องพิจารณาเรื่องสมบัติ-วิบัติ ๔ นี้เข้ามาประกอบ ว่าทำเลที่แหล่งนี้เป็นอย่างไร กาลสมัยนี้เป็นอย่างไร การประกอบการของเรา เช่นการจัดการขายส่งต่างๆ นี้ เราทำได้ถูกต้องดีไหม ถ้าเราปลูกมะม่วงได้มะม่วงดีแล้ว แต่เราปลูกไม่ถูกกาลสมัย เราไม่รู้จักประกอบการให้ถูกต้อง อย่างน้อยก็มีกาลวิบัติ และ ปโยควิบัติขึ้นมา เราก็ขายไม่ออก เลยต้องขาดทุน ถึงขยันปลูกมะม่วงก็ไม่รวย (อาจจะจนหนักลงไปอีก)
คัดมาจากบางช่วงของหนังสือ : "เชื่อกรรม-รู้กรรม-แก้กรรม" หน้า 83
เชื่อกรรม-รู้กรรม-แก้กรรม (TH) (mevicha.com)