“วัยทอง 2 ขวบ” รับมืออย่างไร เมื่อลูกน้อยกลายเป็นวายร้าย

“วัยทอง 2 ขวบ” รับมืออย่างไร เมื่อลูกน้อยกลายเป็นวายร้าย 😭
 
     ในการเลี้ยงดูเด็กเล็กๆ นอกจากจะต้องมีทั้งความรักและความเอาใจใส่แล้ว หลายครั้งก็ต้องอาศัยความเข้าใจและความอดทนอดกลั้นเป็นอย่างมาก ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ที่เคยผ่านมาวิกฤตนี้มาแล้วน่าจะเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงวัยทอง 2 ขวบ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Terrible Two 
     สาเหตุที่เรียกว่าเป็นวัยทองของเด็กก็เพราะว่า เด็กวัยนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอารมณ์และพฤติกรรม ทำให้คุณพ่อคุณแม่คาดเดาไม่ถูก เพราะเด็กจะเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น และแสดงปฏิกิริยาต่อต้านเมื่อถูกบังคับ รวมถึงมักจะอยากทดลองทำอะไรใหม่ๆ ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้สอดคล้องกับความสามารถของตัวเอง และเมื่อทำไม่ได้ก็จะเกิดความรู้สึกไม่พอใจ ทำให้แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมา 😡
     อ่านมาถึงตรงนี้ คุณพ่อแม่อาจจะเริ่มสงสัยว่าแล้วพฤติกรรมแบบนี้จะเป็นปัญหากับลูกในระยะยาวหรือเปล่า แล้วจะมีวิธีรับมืออย่างไร ถ้าลูกกำลังจะเข้าวัยทอง ไม่ต้องกังวลไปนะครับ พี่หมอไปหาคำตอบจากคุณหมอด้านพัฒนาการและพฤติกรรมของเด็กมาให้แล้ว
อารมณ์แบบนี้จะมีผลกระทบต่อเด็ก หรือติดเป็นนิสัยตอนโตได้หรือไม่ ❓
     ปัจจัยที่มีผลต่อนิสัยของเด็กมีอยู่ด้วยกัน 2 ส่วนหลักๆ คือ ธรรมชาติสร้างมาให้เค้าเป็นคนอย่างไร หรือที่ศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า พื้นอารมณ์ (Temperament) ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดนิสัยของเด็ก 
     อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ สิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดูจากคนในครอบครัว เด็กที่มีพื้นอารมณ์เป็นคนใจร้อน เอาแต่ใจ ขี้เหวี่ยง แต่ถ้าคนในครอบครัวช่วยกันอบรมดูแล เด็กก็จะค่อยๆ ลดความก้าวร้าวลง และรู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเองได้เมื่อโตขึ้น
     แต่สำหรับเด็กที่อยู่ในช่วงวัยทอง ความใจร้อนหรือพฤติกรรมการเหวี่ยงวีนเป็นผลมาจากพัฒนาการของสมอง ซึ่งอาจส่งผลให้เด็กบางคนที่มีพื้นอารมณ์เป็นคนใจร้อนอยู่แล้ว แสดงออกมากกว่าเด็กคนอื่นที่อยู่ในวัยเดียวกัน ดังนั้น วิธีที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ก็คือ คุณพ่อคุณแม่ต้องเพิ่มความรัก ❤️ และความเอาใจใส่ในการเลี้ยงดู เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม 
วิธีปรับอารมณ์และพฤติกรรมเด็ก 
     ก่อนที่จะเด็กจะควบคุมอารณ์ได้ เค้าจะต้องรู้ตัวเองก่อนว่า ความรู้สึกที่เค้ากำลังเป็นอยู่คืออะไร ซึ่งคุณพ่อคุณอาจจะต้องสอนวิธีในการถ่ายทอดและสื่อสารความรู้สึกนั้นออกมา แล้วจึงค่อยแนะนำว่า เค้าทำอะไรได้หรือไม่ได้ โดยใช้วิธีการบอกเป็นคำสั้นๆ แต่ต้องหนักแน่น เช่น “แม่รู้ว่าหนูกำลังโกรธอยู่ แต่ว่าหนูขว้างของไม่ได้ หรือกัดแม่ไม่ได้” เป็นต้น 
     ในขณะที่เด็กบางคนจะชอบให้คุณพ่อคุณแม่ปลอบด้วยการกอด 🤗 เพื่อให้อารมณ์ของเค้าเย็นลง ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถใช้ช่วงเวลาที่กำลังกอดอยู่สอนได้ เช่น อาจจะจับมือของลูกไว้ เพื่อเป็นการห้ามไม่ให้ลูกปาข้าวของ ทุบตี ทำร้ายร่างกายตัวเองหรือคนอื่น ไม่ควรเบี่ยงเบนความสนใจลูกเพื่อให้หายโกรธ แต่ควรคอยดูแลไม่ให้ลูกแสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าวออกมา และพูดกับลูกสั้นๆ เป็นระยะว่า ถ้าหนูหยุดร้องไห้ แม่ถึงจะคุยด้วย หรือรอจนลูกสงบก่อน จึงค่อยพูดคุยกัน เพื่อเป็นการฝึกให้เด็กรู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเอง 
     ที่สำคัญ ไม่ควรลงโทษในขณะที่ลูกกำลังเหวี่ยงวีน หรือเอาแต่ใจ ซึ่งก่อนที่จะสอนให้ลูกรู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเอง คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ได้ก่อน เพราะเด็กวัยนี้เป็นวัยที่ชอบเลียนแบบพฤติกรรมของคนใกล้ตัว ดังนั้น ถ้าเราตีเค้าในขณะที่กำลังโมโห ครั้งต่อไปที่เค้าโมโห เค้าก็อาจจะตีเรากลับได้เช่นกัน นอกจากนี้ การสั่ง time out โดยให้เด็กอยู่ในห้องคนเดียวเป็นเวลานานๆ ก็อาจจะไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมนัก❌ เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกไม่ปลอดภัยและเกิดความเครียดสะสมได้ 
     พี่หมอแนะนำให้ลองเปลี่ยนจากการสั่งให้ไปอยู่ในห้องคนเดียว เป็นการให้เด็กไปอยู่ในพรมสี่เหลี่ยม หรือบริเวณที่มีพื้นที่จำกัด เพื่อให้เค้าระงับสติอารมณ์ให้ได้จึงจะอนุญาตให้ออกจากพื้นที่ตรงนั้น โดยที่คุณพ่อคุณแม่ต้องอยู่ใกล้ๆ และรอจนกว่าเค้าจะใจเย็นลง จึงค่อยพูดคุยกัน วิธีนี้จะช่วยให้เด็กรู้จักการควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดีขึ้น หรือรู้ว่าเมื่อเค้ารู้สึกโกรธขึ้นมา เค้าจะต้องจัดการกับอารมณ์ของตัวเองให้ได้ก่อนจึงจะสามารถพูดคุยหรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นได้ 
 
ต้องใช้เวลานานมั้ยกว่าลูกจะหายอารมณ์ร้อน ❓  
     ลูกจะมีอารมณ์โกรธนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลักๆ คือ ตัวเด็กเองและการเลี้ยงดูของคนในครอบครัว ถ้าอยากให้ลูกสามารถจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้ คุณพ่อคุณแม่ก็จะต้องค่อยๆ พูดคุยแบบมีเหตุผลกับลูกไปเรื่อยๆ จนกว่าลูกจะเข้าใจว่า สิ่งไหนทำได้หรือทำไม่ได้ สิ่งไหนควรทำหรือไม่ควรทำ ซึ่งกระบวนการนี้ใช้เวลาค่อนข้างนาน เพราะต้องขึ้นอยู่กับพัฒนาการของสมองส่วนหน้าที่มีหน้าที่ควบคุมการใช้เหตุผลด้วย 
     แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ทำได้ก็จะเป็นประโยชน์กับตัวเด็กเองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเวลาที่ลูกต้องไปโรงเรียนหรือต้องไปอยู่ในสังคมที่มีเด็กคนอื่น ต้องทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ หรือคุณครูที่โรงเรียน เค้าก็จะสามารถปรับตัวและใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้ เพราะเค้าเรียนรู้วิธีที่จะควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตัวเองแล้ว
 
     การมีพฤติกรรมวัยทองของลูกเป็นไปตามธรรมชาติ แต่ว่าจะแสดงออกมากหรือน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับพื้นอารมณ์ สิ่งแวดล้อม และที่สำคัญที่สุดก็คือ การอบรมเลี้ยงดู ซึ่งตรงนี้คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องคอยสังเกตพฤติกรรมและพัฒนาการของลูกในแต่ละช่วงวัย เพื่อจะได้หาวิธีรับมือได้อย่างเหมาะสม แต่ถ้ารู้สึกว่าเริ่มจะรับมือไม่ไหว ก็สามารถพาลูกมาปรึกษาหรือขอคำแนะนำจากคุณหมอด้านพัฒนาการเด็กได้นะครับ 😁😁😁
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่