JJNY : 4in1 10 ปท.'ยอดแย่'ของ'คนทำงาน'│เปิดใจ“หมอ”จองโมเดอร์นา│กมธ.งบฯ จ่อถกเพิ่มวันเสาร์│ชาวบ้านช้ำหนัก!น้ำมัน-อาหารแพง

องค์กรแรงงานเผยดัชนี 10 ประเทศ 'ยอดแย่' ของ 'คนทำงาน' ปี 2564
https://prachatai.com/journal/2021/07/93822
 
 
สมาพันธ์สหภาพแรงงานสากลเผยผลสำรวจ 'ITUC Global Rights Index 2021' ระบุ 10 ประเทศยอดแย่สำหรับคนทำงานได้แก่ บังกลาเทศ, เบลารุส, บราซิล, โคลัมเบีย, อียิปต์, ฮอนดูรัส, พม่า, ฟิลิปปินส์, ตุรกี และซิมบับเว ส่วน 'ไทย' ยังถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มความรุนแรงระดับ 5 'กลุ่มประเทศที่ไม่มีการรับประกันสิทธิแรงงาน' เช่นปี 2563
 
5 ก.ค. 2564 จากรายงาน ITUC Global Rights Index 2021 – The World’s Worst Countries for Workers ของสมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (International Trade Union Confederation หรือ ITUC) ระบุว่าบังกลาเทศ, เบลารุส, บราซิล, โคลัมเบีย, อียิปต์, ฮอนดูรัส, พม่า, ฟิลิปปินส์, ตุรกี และซิมบับเว เป็น 10 ประเทศที่เลวร้ายที่สุดสำหรับคนทำงานในปี 2564 จากการประเมินทั้งหมด 149 ประเทศ
 
ในรายงานระบุว่าการระบาดของ COVID-19 กระทบต่อการอาชีพ ชุมชน และชีวิตของคนทำงาน อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน รัฐบาลและนายจ้างยังใช้ประโยชน์จากการระบาดใหญ่นี้เพื่อเลิกจ้างคนทำงาน มีการละเมิดสิทธิคนทำงานมากขึ้น รวมถึงการจับตาเฝ้าระวังจนสูญเสียความเป็นส่วนตัว และการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของคนทำงาน
 
ตัวอย่างข้อค้นพบจากการสำรวจใน 149 ประเทศ ครั้งนี้ของ ITCU ได้แก่ :
- ร้อยละ 87 มีการละเมิดสิทธิการนัดหยุดงานประท้วง
- ร้อยละ 79 มีการละเมิดสิทธิการเจรจาต่อรองร่วม
- ร้อยละ 74 มีการกีดกันคนทำงานในการเจรจาและต่อรองร่วม
- จำนวนประเทศที่ขัดขวางการจดทะเบียนสหภาพแรงงานเพิ่มขึ้นจาก 89 ในปี 2563 เป็น 109 ในปี 2564
- พม่าและเบลารุส เป็น 2 ประเทศใหม่ในรายชื่อ 10 ประเทศยอดแย่สำหรับคนทำงาน
- จำนวนประเทศที่ปฏิเสธหรือจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพิ่มขึ้นจาก 56 ในปี 2563 เป็น 64 ประเทศในปี 2564
- คนทำงานต้องเผชิญกับความรุนแรงใน 45 ประเทศ
- คนทำงานไม่สามารถหรือถูกจำกัดการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมร้อยละ 65 
- คนทำงานถูกจับกุมและควบคุมตัวตามอำเภอใจใน 68 ประเทศ
- นักสหภาพแรงงานถูกสังหารใน 6 ประเทศ ได้แก่ บราซิล โคลอมเบีย กัวเตมาลา พม่า ไนจีเรีย และฟิลิปปินส์ 
 
สำหรับประเทศไทย ITUC ในปี 2564 นี้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มความรุนแรงระดับ 5 'กลุ่มประเทศที่ไม่มีการรับประกันสิทธิแรงงาน' เช่นเดียวกับในปี 2563 และ 2562 ที่ผ่านมา ส่วนก่อนหน้านี้ในปี 2558, 2559, 2560 และ 2561 ไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศความรุนแรงระดับที่ 4 'กลุ่มประเทศที่มีการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างเป็นระบบ'
 
ที่มาเรียบเรียงจาก
2021 ITUC Global Rights Index: COVID-19 pandemic puts spotlight on workers’ rights (ITUC, 30 June 2021)
 


เปิดใจ “หมอ” ต่อคิวจองวัคซีน “โมเดอร์นา”
https://www.pptvhd36.com/news/สุขภาพ/150940

นอกจากประชาชนแห่เข้าจองวัคซีนโมเดอร์นากับทางโรงพยาบาลจำนวนมากแล้ว ยังพบว่า บรรดาคุณหมอ ก็ได้ไปแห่จองโมเดอร์นาด้วยเช่นกัน
 
หนึ่งในผู้ที่ลงชื่อจองวัคซีนโมเดอร์นา คือ นพ.ปุนกาญจน์ ปัญจศรีประการ แพทย์ประจำบ้านต่อยอด ประสาทวิทยา รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย บอกว่าเหตุผลที่เขาตัดสินใจจองวัคซีนโมเดอร์นา เนื่องจากตอนนี้ยังไม่มีนโยบายจากภาครัฐ ที่ให้สัญญาว่าจะฉีดวัคซีนโมเดอร์นา ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และไม่รู้ว่าจะฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้หรือไม่ อีกทั้งยังพบว่ามี แพทย์ที่รู้จักประมาณ 5 คน ติดเชื้อโควิด แม้ว่าจะได้รับวัคซีนซิโนแวคครบแล้ว 2 เข็ม

จากการตรวจเลือด และยังพบว่ามีแพทย์ที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ครบ 2 เข็มแล้ว 2 คน ติดเชื้อโควิด จากการปฎิบัติงาน ประกอบกับมีงานศึกษาวัคซีนซิโนแวค ที่ระบุว่าวัคซีนซิโนแวค ไม่ครอบคลุมโควิดสายพันธุ์ใหม่แน่ๆ จึงคิดว่าบุคลากรทางการแพทย์ ควรได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 และ เข็มที่ 4 ที่มีประสิทธิภาพและป้องกันโควิดได้จริง
 
ปัจจุบันนี้ หลักฐานมันเริ่มชัดเจนมากขึ้นว่าวัคซีนของซิโนแวค มันไม่มีผลครอบคลุมต่อไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ สองคือภูมิต้านทานที่สร้างขึ้น ถึงแม้จะเคยมีงานวิจัยของคนไทยออกมา ว่ามันสร้างภูมิคุ้มกันได้ค่อนข้างดี แต่ผ่านไประยะเวลานึง ภูมิมันตกลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเป็นที่เห็นได้ชัดว่าตัววัคซีน มีประสิทธิภาพที่ไม่เพียงพอ ถ้าเรามีตัวเลือกวัคซีนที่มีประสิทธิภาพดีกว่า ก็ควรจะมาใช้เสริมกัน ที่ผ่านมาวัคซีนซิโนแวค อาจจะช่วยป้องกัน ความรุนแรงของโรคและลดความรุนแรงของโรคได้บางส่วน แต่จะเห็นได้ว่ายังมีบุคลากรทางการแพทย์ ที่ฉีดซิโนแวคแล้วและยังติดโควิคอยู่
 
สำหรับประเด็นวัคซีนทางเลือก หากย้อนไปเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุขณะลงพื้นที่ตรวจโรงพยาบาลที่ มทบ.11 ว่า ตัวเองอ่านข่าวบอก มี 9 ล้าน สั่งไป 9 ล้าน ทำไมองค์การเภสัชฯ ไม่ซื้อ อยากให้ลองนั่งคิดเล่น ๆ ว่าจะมีประชาชนถึง 9 ล้านคน จองซื้อวัคซีนด้วยตัวเอง ทั้งที่รัฐจัดหาวัคซีนให้จำนวนมากอยู่แล้ว
 
ส่วนประเด็นเรื่องร่างสัญญาจัดซื้อวัคซีน โมเดอร์นา (Moderna) ล่าสุด สำนักงานอัยการสูงสุด ระบุว่า หลังได้รับเอกสารร่างสัญญาจากทาง องค์การเภสัชกรรม เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ก็ได้พิจารณาตรวจร่างสัญญาแล้วเสร็จในช่วงวันหยุดนี้เรียบร้อยแล้ว และได้ ส่งคืนร่างสัญญาให้องค์การเภสัชกรรมไปดำเนินการต่อไป
 
ด้าน นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยถึงการประสานจัดหาวัคซีนโมเดอร์ให้กับภาคเอกชนว่า ผู้ผลิตจะจัดส่งให้ได้ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ แต่ก็พยายามเจรจา ขอให้ผู้ผลิตจัดหากแหล่งผลิตอื่น พร้อมยืนยันไม่มีเหตุผลที่รัฐบาลจะกีดกันวัคซีนชนิด mRNA เพราะตามแผนรัฐก็พยายามเจรจาขอซื้อในช่วงสิ้นปีนี้อยู่แล้ว ส่วนความคืบหน้าการจัดการยังเป็นไปตามขั้นตอน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ภาคเอกชนรวบรวมเงินค่าจัดซื้อให้กับองค์การเภสัชกรรม เพื่อนำไปซื้อวัคซีนจากบริษัทผู้ผลิต พร้อมย้ำว่า องค์การเภสัชกรรมทำทุกอย่างตามขั้นตอนและโปร่งใส

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ


กมธ.งบฯ จ่อถกเพิ่มวันเสาร์หลังโควิดทำล่าช้า 'จิรายุ' ฝากหน่วยงานราชการอย่าตั้งงบราคาเผื่อต่อ
https://www.matichon.co.th/politics/news_2812626

กมธ.งบฯจ่อถกเพิ่มวันเสาร์หลังโควิดทำพิจารณาล่าช้า ด้าน “จิรายุ” ฝากหน่วยงานราชการอย่าตั้งงบบอกราคาเผื่อต่อ
 
เมื่อเวลา 15.15 น. วันที่ 5 กรกฎาคม ที่รัฐสภา น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ และ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 แถลงผลการประชุมคณะกมธ.ว่า กมธ.ได้หารือเกี่ยวกับกรอบการพิจารณางบประมาณของคณะ กมธ. ที่ล่าช้ากว่ากรอบเดิม เพราะต้องงดประชุมเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด–19 โดยหารือในการเพิ่มเวลาการประชุมจากเดิมที่เลิกประชุมเวลา 21.00 น. เป็น 22.00 น. และให้มีการประชุมเพิ่มเติมในวันเสาร์ เพื่อให้การพิจารณางบประมาณแล้วเสร็จภายในวันที่ 23 กรกฎาคม ซึ่งจะทำให้การพิจารณาบประมาณของสภาผู้แทนราษฎร แล้วเสร็จภายในวันที่ 29 สิงหาคม ตามกรอบเวลา 105 วัน ที่รัฐธรรมนูญกำหนด ส่วนงบกระทรวงกลาโหมจะมีการพิจารณาวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ เบื้องต้นทราบว่า ผบ.เหล่าทัพจะมาชี้แจงด้วยตนเอง
 
ด้าน นายจิรายุกล่าวว่า ขอฝากถึงหน่วยราชการต่างๆ ไม่ต้องจัดทำงบประมาณแบบตลาดไทย คือ บอกราคาเผื่อต่อ ปีนี้สถานการณ์ไม่ปกติควรจัดทำงประมาณอย่างเหมาะสม ซึ่งในส่วนของงบสัมมนาได้ถูกตัดไปได้กว่า 40 ล้านบาทแล้ว ซึ่งยืนยันว่าฝ่ายค้านจะทำงานอย่างเต็มที่
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่