JJNY : ยัน"เบต้า"ระบาดนอก"นราธิวาส"แล้ว│'สบพ.'ยอดสมัครเรียน'นักบิน'ศูนย์!!│'สภาฯ'พบติดโควิดเพิ่ม2│“เสรีพิศุทธ์”แจ้งความ

กรมวิทย์ฯ ยัน "โควิดสายพันธุ์เบต้า" ระบาดออกนอก "นราธิวาส" แล้ว
https://www.tnnthailand.com/news/covid19/83193/

 

"อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยัน "โควิดสายพันธุ์เบต้า" หรือ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ได้แพร่กระจายออกจาก จ.นราธิวาส แล้ว แต่ยังอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ยังไม่ข้ามไปภาคอื่น เร่งประสานฝ่ายความมั่นคงและพื้นที่ควบคุมการระบาด"
 
จากกรณีคลัสเตอร์ "ศูนย์มัรกัสยะลา" ที่ตรวจพบเป็น "โควิดสายพันธุ์เบต้า" หรือ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ขณะที่ กลุ่มผู้ติดเชื้อได้กระจายไปแล้ว 12 จังหวัดภาคใต้ ล่าสุด วันนี้ (21 มิ.ย.64) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันว่า การแพร่ระบาดของสายพันธุ์เบต้าในพื้นที่ภาคใต้ ได้ลุกลามออกนอก จ.นราธิวาส แล้ว แต่ยังอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ยังไม่ลุกลามไปยังภาคอื่น ส่วนจะแพร่ไปกี่จังหวัด อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลที่แน่ชัดอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เบต้า การแพร่ระบาดไม่เร็วเท่าสายพันธุ์เดลต้า กับอัลฟ่า ซึ่งตามหลักแล้วนั้น หากพบเจอเชื้อกลายพันธุ์จะแจ้งให้ในพื้นที่ทำการควบคุมเพื่อไม่ให้แพร่กระจายไปเพิ่มไปวงที่ 2 และ วงที่ 3
 
ทั้งนี้ สายพันธุ์เบต้า มีที่มาจากประทศเพื่อนบ้าน ซึ่งการฝ้าระวังในพื้นที่ไม่ได้อยู่ที่กระทรวงสาธารณสุขเพียงอย่างแห่งเดียว และได้รายงานให้ฝ่ายความมั่นคงช่วยในการเฝ้าระวังกลุ่มลักลอบเข้าเมืองจากประเทศเพื่อนบ้าน
 
ก่อนหน้านี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เก็บตัวอย่างระหว่างวันที่ 7 เม.ย. -13 มิ.ย.2564 จำนวน 5,055 ตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์อัลฟ่า หรือสายพันธุ์อังกฤษ 4,528 ราย คิดเป็นร้อยละ 89.6 สายพันธุ์เดลต้า หรือสายพันธุ์อินเดีย 496 ราย พบใน 20 จังหวัด และพบมากที่สุดอยู่ใน กทม. ส่วนสายพันธุ์เบต้า หรือ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ 31 ราย อยู่ใน จ.นราธิวาส 28 ราย และในสถานกักกันตัวของรัฐ จ.สมุทรปราการ 3 ราย
 
สำหรับ "สายพันธุ์อัลฟ่า" หรือสายพันธุ์อังกฤษ พบว่า เป็นสายพันธุ์ที่มีการแพร่กระจายง่าย ทำให้เกิดการป่วยและเสียชีวิตได้มากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม วัคซีนที่ใช้ในประเทศยังสามารถใช้ได้กับสายพันธุ์นี้
 
ส่วน "สายพันธุ์เดลต้า" หรือสายพันธุ์อินเดีย พบว่า มีการแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟ่า อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบว่ามีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์อัลฟ่าแต่อย่างใด วัคซีนที่ใช้ในประเทศยังสามารถใช้ได้กับสายพันธุ์นี้
 
ขณะที่ "สายพันธุ์เบต้า" หรือสายพันธุ์ แอฟริกาใต้ พบว่า มีการแพร่กระจายได้ช้ากว่าสายพันธุ์อื่น แต่ทำให้เกิดการป่วยและเสียชีวิตได้มากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งวัคซีนที่ไทยมี "แอสตร้าเซนเนก้า" มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการร้อยละ 10.4 แต่ไม่สามารถประเมินการป้องกันอาการรุนแรงได้ ส่วนวัคซีน "ซิโนแวค" มีผลการศึกษาในห้องทดลองว่า น้ำเหลืองของผู้ที่ได้รับวัคซีนมีความสามารถในการยับยั้งสายพันธุ์เบต้าลดลงร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดิม
 

 
'สบพ.'เปิดยอด สมัครเรียน'นักบิน'เป็นศูนย์!!
https://www.dailynews.co.th/economic/851272
 
โควิดพ่นพิษหนัก! อุตสาหกรรมการบินพัง คนเมินเรียนเป็นนักบิน สบพ. เปิดตัวเลขปี 64 ยอดสมัครเรียนนักบินเป็นศูนย์ รายได้หดเหลือปีละ 150 ล้าน นักศึกษาไม่ถึงเป้า เร่งคลอดหลักสูตรใหม่ ปีงบ 65 ลุยลงทุน 35 ล้าน สร้างห้องแล็บ-โต๊ะฝึกปฏิบัติ
 
น.ส.ภัคณัฏฐ์ มากช่วย รักษาการผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) เปิดเผยว่า สบพ. กำลังประสบปัญหาจำนวนนักศึกษาใหม่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยปีการศึกษา 64 ทุกหลักสูตร ทั้งหลักสูตรภาคปกติ ระดับปริญญาตรี-อนุปริญญา, หลักสูตรเทียบโอน และหลักสูตรฝึกอบรม ทั้งภาคพื้น และภาคอากาศ มีผู้สนใจเข้าศึกษารวม 1,583 คน ลดลงจากปกติที่จะมีผู้สนใจเข้าศึกษาปีละประมาณ 2,000 คน นอกจากนี้เมื่อพิจารณาตามรายหลักสูตร พบว่า หลักสูตรภาคปกติ และหลักสูตรเทียบโอน มีผู้สนใจเข้าศึกษาเพียง 421 คน จากจำนวนรับ 546 คน ขณะที่หลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี-เครื่องบิน ตั้งแต่ต้นปี 64 ยังไม่มีผู้สมัครเข้าเรียนหลักสูตรนี้แม้แต่คนเดียว ทั้งที่ที่ผ่านมา สบพ. มีการผลิตนักบินได้ปีละประมาณ 100 คน
  
น.ส.ภัคณัฏฐ์ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้มีข่าวออกมาว่าสายการบินต่างๆ ปลดนักบินออกจากงาน ทำให้หลายคนเชื่อมั่นว่าเรียนหลักสูตรนักบินไปต้องตกงานแน่ เพราะนักบินที่มีอยู่เดิมยังตกงาน จึงน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไม่มีคนสมัครเข้าเรียนเป็นนักบิน อย่างไรก็ตามตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สบพ. ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ทั้งรายได้ และจำนวนผู้เรียนที่ลดลงต่อเนื่อง โดยปีงบประมาณ 62 ก่อนเกิดโควิด-19 มีรายได้ประมาณ 400 ล้านบาท ปีงบฯ 63 เกิดโควิด-19 รายได้เหลือ 200 ล้านบาท สาเหตุที่ลดลงมาก เนื่องจากหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรีของศูนย์ฝึกการบินหัวหิน ซึ่งถือเป็นหลักสูตรที่สร้างรายได้หลักให้ สบพ. มีผู้สนใจเข้าเรียนลดลง หลักสูตรนี้มีค่าเล่าเรียนคนละประมาณ 2.3 ล้านบาท ส่วนปีงบฯ 64 มีรายได้ 150 ล้านบาท คาดว่าปีงบฯ 65 รายได้จะลดลงกว่า 150 ล้านบาท
 
                น.ส.ภัคณัฏฐ์ กล่าวอีกว่า สบพ. ไม่ได้นิ่งเฉยกับปัญหานี้ คณะกรรมการ สบพ. มอบให้ผู้บริหารพิจารณาเปิดหลักสูตรฝึกอบรมใหม่ๆ เพื่อรองรับเทรนด์ของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป และจูงใจให้คนมาสมัครเรียนมากขึ้น นอกจากนี้ให้เร่งพัฒนาหลักสูตรเป็นอีเลิร์นนิ่ง เพื่อให้สามารถแข่งขันกับสถาบันฝึกอบรมต่างๆ ได้ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้องค์กรทดแทนรายได้จากหลักสูตรที่มีผู้เรียนน้อยลง และยังเป็นไปตามนโยบายของรัฐที่ต้องการให้ สบพ. เพิ่มขีดความสามารถในการสร้างรายได้ และเพิ่มนักศึกษาให้มากขึ้นหลังจากอาคารหลังใหม่สร้างแล้วเสร็จ ทั้งนี้ สบพ. วางเป้าหมายว่าจะผลิตบุคลากรให้ได้เพิ่มขึ้นจากปีละ 2,000 คน เป็น 3,000 คน และ 5,000 คนในอีก 10 ปี เพื่อรองรับความต้องการบุคลากรด้านการบิน ซึ่งผู้ที่อยู่ในแวดวงการบินยังมั่นใจว่าอีก 3 ปีข้างหน้าอุตสาหกรรมการบินจะกลับมาเติบโตเหมือนเดิม
  
น.ส.ภัคณัฏฐ์ กล่าวด้วยว่า สบพ. จะเปิดหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นเพิ่ม 2 หลักสูตร ได้แก่ 1.หลักสูตร Recurrent Airplane ซึ่งเป็นหลักสูตรที่จะสร้างความคุ้นเคยให้กับนักบินที่ว่างเว้นจากการทำการบินมานาน เพื่อเตรียมพร้อมเปิดประเทศ และ 2.หลักสูตร Commercial Pilot Airplane Requalification เป็นหลักสูตรที่จัดขึ้นสำหรับนักบินที่สำนักงานคณะกรรมการการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ตรวจสอบพบว่าจบหลักสูตรมาโดยที่มีชั่วโมงบินไม่ครบตามที่กำหนดในหลักสูตร ซึ่งมีทั้งเป็นนักบินที่ประจำอยู่ตามสายการบินต่างๆ และเป็นนักบินที่ยังไม่มีงานทำ อย่างไรก็ตามทั้ง 2 หลักสูตรอยู่ระหว่างขอการรับรองจาก กพท. คาดว่าจะเปิดรับสมัครเร็วๆ นี้ 
 
                น.ส.ภัคณัฏฐ์ ยังกล่าวด้วยว่า ในปีงบประมาณ 2565 สบพ. ได้รับจัดสรรงบประมาณ 159 ล้านบาท แบ่งเป็น งบลงทุน 35 ล้านบาท จะใช้สร้างห้องฝึกปฏิบัติการในอาคารหลังใหม่สำหรับหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต 3 ห้อง และโต๊ะฝึกปฏิบัติของกองวิชาช่างอีก 2 รายการ และงบดำเนินการ 124 ล้านบาท อาทิ เงินเดือนครู ค่าเช่าที่ราชพัสดุ และค่าวัสดุฝึกบางส่วน อย่างไรก็ตามในปีงบ 65 ถือเป็นปีแรกที่รัฐจัดสรรเงินลงทุนให้เพียง 70% จากเดิมจัดสรรให้ 100% เต็ม ดังนั้นส่วนที่เหลืออีก 30% สบพ. จะต้องนำเงินส่วนหนึ่งที่มีอยู่เดิมมาใช้ดำเนินการสมทบเข้าไปด้วย.
 

 
ผวาอีก 'สภาฯ' พบติดโควิดเพิ่ม 2 ราย จากกลุ่มเสี่ยงแม่บ้าน สั่งปิดพื้นที่เสี่ยง 3 วัน ยันคุมระบาดได้
https://www.matichon.co.th/politics/news_2786974

ผวาอีก ‘สภาฯ’ พบติดโควิดเพิ่ม 2 ราย จากกลุ่มเสี่ยงแม่บ้าน สั่งปิดพื้นที่เสี่ยง 3 วัน ยันคุมระบาดได้
 
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 21 มิถุนายน ที่รัฐสภา นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจคัดกรองโควิด-19 จากกลุ่มเสี่ยง 2 กลุ่มภายในรัฐสภา ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเก็บจานและกลุ่มแม่บ้านเสิร์ฟเครื่องดื่มกับอาหารให้รัฐมนตรีและส.ส. ว่า พบการติดเชื้อเพิ่มอีก 2 คน จากกลุ่มแม่บ้านเก็บจาน โดยขณะนี้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ปิดพื้นที่เสี่ยงแล้วเป็นเวลา 3 วัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการร้านอาหารที่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อก่อนหน้านี้ พร้อมให้ผู้ประกอบการร้านอาหารในกลุ่มพื้นที่เสี่ยงไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพิ่มเติม
 
นพ.สุกิจ กล่าวว่า ส่วนกลุ่มแม่บ้านที่เสิร์ฟเครื่องดื่มและอาหารให้รัฐมนตรีนั้น จากการตรวจหาเชื้อไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม แต่ให้สั่งกักตัวให้ครบกำหนดตามมาตรการสาธารณสุข ยืนยันว่า รัฐสภายังสามารถควบคุมการแพร่ระบาดภายในรัฐสภาได้ ซึ่งหากพบผู้ติดเชื้อก็จะมีการตีกรอบการตรวจหาเชื้อและกลุ่มเสี่ยง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด โดยหลังจากที่พบแม่บ้านเก็บจานภายในโรงอาหารของรัฐสภาติดเชื้อโควิด-19 นั้น ในวันนี้ (21 มิถุนายน) สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ปรับมาตรการภายในโรงอาหาร โดยการลดจำนวนเก้าอี้ที่โต๊ะอาหาร ให้เหลือเพียงโต๊ะละ 1 ที่นั่ง หรือหากเป็นโต๊ะใหญ่สามารถนั่งได้ไม่เกิน 2 ที่นั่ง และจะมีฉากพลาสติกใสกั้นระหว่างที่นั่ง เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของละอองฝอยระหว่างการรับประทานอาหาร
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่