แวดวงอุตสาหกรรมร่วมมือฝ่าวิกฤตโควิด-19

การต่อสู้กับโควิด-19 ระลอกนี้หลายภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน แม้ภารกิจหลักๆจะตกเป็นของทีมแพทย์ซึ่งถือได้ว่าเป็นด่านหน้าที่ทั้งรุกและรับกับโควิด-19 จนแทบไม่ได้หยุดได้หย่อน แต่ในฐานะที่ผมติดตามข่าวสารในแวดวงอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง นั่นทำให้ผมก็ต้องปรบมือให้กระทรวงอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีการบูรณาการหลายภาคส่วนเพื่อร่วมเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่จะต่อสู่กับโควิด-19 ระลอกนี้

     ผมขอสรุปรวบยอดมาตรการต่างๆ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้เข้ามามีบทบาทในการรับมือกับโควิด-19 มาให้เพื่อนๆ ที่สนใจความเคลื่อนไหวในแวดวงอุตสาหกรรมได้ฟังกันสักหน่อยนะครับ บางข่าวเพื่อนๆ อาจจะเคยได้ยินได้ฟังกันมาบ้างแล้ว แต่ตรงนี้ผมจะรวบรวมให้เห็นภาพใหญ่ๆ ที่ภาคอุตสาหกรรมก็ไม่ได้นิ่งดูดายต่อวิกฤตนี้

    👍🏼คุมเข้มโรงงานด้วยแนวคิด Online - Onsite - Upgrade - Vaccine
     ผมขอเริ่มสำหรับมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ได้ร่วมกันขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการโรงงานด้วยแนวคิด “Online - Onsite - Upgrade - Vaccine”

 
     โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมแถลงข่าวภายหลังการประชุมผ่านออนไลน์ในระบบ Zoom ถึงมาตรการนี้

     1. Online - ให้โรงงานประเมินตนเอง พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมือโรงงานทั่วประเทศ ประเมินตนเองผ่าน Platform online : Thai Stop Covid plus และ Thai Save Thai ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2564

     2. Onsite – จัดทีมแนะนำและติดตามการประเมินตนเอง โดยให้สำนักอุตสาหกรรมจังหวัด และหน่วยงานในพื้นที่ของกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และ BOI ร่วมกันจัดทีมสุ่มตรวจประเมินโรงงานในพื้นที่ (On-site) ให้ได้ร้อยละ 10-20 ของสถานประกอบการเป้าหมาย

     3.Upgrade – จัดมาตรการลดความเสี่ยง เพิ่มศักยภาพ ด้วยการจัดทำมาตรการฟื้นฟูสถานประกอบการจากโควิด-19

     4. Vaccine - เร่งรัดฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในโรงงาน เร่งผลักดันการเป็นศูนย์ให้บริการฉีดวัคซีนในพื้นที่ นิคม/เขต/สวนอุตสาหกรรม และโรงงานขนาดใหญ่ที่มีคนงานมากกว่า 2,000 คน


     👍🏼การสกัดโควิดลามโรงงาน
     นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้ขอความร่วมมือโรงงานในการตรวจประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ “Thai Stop Covid Plus” และ “Thai Save Thai” โดย กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับมอบหมายจากการประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ให้เป็นเจ้าภาพหลักขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในสถานประกอบกิจการโรงงาน โดยประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ Thai Stop Covid Plus อย่างน้อยทุกสองสัปดาห์


     นอกจากนั้นยังให้พนักงานประเมินด้วย Thai Save Thai ก่อนเข้าปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นยกระดับการคัดกรองคนก่อนเข้าโรงงานอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันผู้มีความเสี่ยงไม่ให้เข้ามาปฏิบัติงานและแพร่เชื้อในสถานประกอบการ รวมทั้งการสนับสนุนให้พนักงาน สมัครใจเข้าร่วมโครงการ “ก้าวท้าใจ” ด้วยการออกกำลังกายในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้สุขภาพแข็งแรงและมีภูมิต้านทานโรค


     👍🏼พักชำระหนี้เงินต้น 6 เดือน  ลูกค้ากองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ
     ทางด้าน SME D Bank ก็ขานรับนโยบายจากกระทรวงอุตสาหกรรมเช่นกัน โดยการออกมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นให้แก่ลูกค้ากองทุนประชารัฐ นานสูงสุด 6 เดือน ภายใน 31 ธ.ค.64 ซึ่งจะมุ่งลดภาระค่าใช้จ่าย และบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 โดยลูกค้า SME D Bank สามารถระบุแจ้งความประสงค์ได้ถึงวันที่ 31 ก.ค. 64 นี้


     สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการขอสินเชื่อจาก SME D Bank สามารถแจ้งความประสงค์ผ่านช่องทางสาขาของ SME D Bank ทั่วประเทศ, เว็บไซต์ของ SME D Bank ( https://www.smebank.co.th/), แอปพลิเคชัน“SME D Bank” และ LINE Official Account: SME Development Bank  เป็นต้น  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม  Call Center 1357

     👍🏼กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ติวเข้มวัคซีนความรู้เฉพาะทาง
     ด้วยการจัดคอร์สเฉพาะกิจเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยเน้นเสริมความรู้ที่จำเป็นสำหรับบริหารจัดการความเสี่ยงต่างๆ รวมถึงการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงงานและสถานประกอบการให้ได้อย่างทันท่วงที

     โดยการติวเข้มทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติเพื่อเติมวัคซีนความรู้เฉพาะทางด้านอาชีวอนามัย ประยุกต์ใช้งานโปรแกรมดิจิทัลเพื่อช่วยลดความแออัดในโรงงานพร้อมปรับใช้มาตรฐานอุตสาหกรรมในการบริหารจัดการสถานประกอบการให้ปลอดภัยห่างไกลโควิด-19 รวมทั้งแชร์ประสบการณ์ตรงจากผู้ประกอบการต้นแบบเพื่อฝ่าวิกฤตโควิด-19 คาดว่าสามารถช่วยพยุงเอสเอ็มอีทั่วประเทศให้พร้อมรับมือและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงงานได้


     การดำเนินโครงการดังกล่าวเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันแก่โรงงานและสถานประกอบการที่ต้องอาศัยแรงงานในกระบวนการผลิตให้ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่อาจทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงักลง โดยเน้นการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการในเชิงรุกผ่านการพัฒนาความรู้ในเชิงทฤษฎีและเสริมด้วยการใช้โปรแกรมดิจิทัลให้เกิดการนำไปใช้ได้จริงและยังนำเอาองค์ความรู้ในภาคอุตสาหกรรมมาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและบริหารจัดการองค์กรให้ผู้ประกอบการสามารถยืนหยัดท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างมั่นคง และรอดพ้นจากความเสี่ยงคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรมได้โดยตลอดรอดฝั่ง

     สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีที่สนใจเข้าร่วมโครงการช่วยเอสเอ็มอีแบบดีพร้อมนำธุรกิจปลอดภัย ห่างไกลโควิด-19 สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ 0 2202 4579 หรือ www.dip.go.th หรือwww.facebook.com/dipindustry

     👍🏼กนอ. คิกออฟฉีดวัคซีนผู้ปฏิบัติงาน
     เสริมทัพการต่อสู้กับโควิด-19 โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งประกาศความพร้อมว่า 9 มิถุนายนนี้ นำร่องระยะแรกฉีดวัคซีนโควิดให้กับผู้ปฏิบัติงานแรงงานภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และจะฉีดให้กับชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมในระยะต่อไปในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมกลุ่มมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ ซึ่งตั้งเป้าฉีดให้กับผู้ประกอบการวันละ 1,000 คน ระยะเวลา 2 เดือน และคาดว่าวัคซีนทางเลือกจะทยอยให้บริการได้ช่วงไม่เกินปลายเดือนกรกฎาคม 2564


     👍🏼สมอ. เปิดให้บริการทางออนไลน์ครบทุกกิจกรรม 100% ไม่หวั่นแม้โควิด
     เรียกได้ว่าเป็นมิติใหม่ในการให้บริการทางออนไลน์ 100% ครบทุกกิจกรรม ซึ่งเป็นการขานรับนโยบายรัฐบาลอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการและประชาชนภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ล่าสุด สมอ. จึงเปิดระบบ e-Accreditation ในการออกใบรับรองระบบงาน ISO ทางออนไลน์ ขณะนี้มีผู้ประกอบการแห่ยื่นขอเกือบ 40 ราย

     ล่าสุด สมอ. สามารถนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการออกใบอนุญาตครบทุกกิจกรรม ตั้งแต่การยื่นคำขอใบอนุญาต มอก. การตรวจติดตามการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาด และการตรวจโรงงานทางออนไลน์ รวมถึงการชำระค่าบริการต่างๆ เพื่อยกระดับการให้บริการผู้ประกอบการและประชาชนได้อย่างทั่วถึงภายใต้สถานการณ์โควิด-19  และเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่


     การให้บริการผ่านระบบดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการด้านการตรวจสอบและรับรองกว่า700 ราย ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 สามารถยื่นขอการรับรองระบบงาน ISO ผ่านทางออนไลน์ได้ ตั้งแต่การยื่นคำขอ การประสานงาน การตรวจประเมินทางไกล (Remote assessment) และการรับรองตนเอง (Self declaration) แทนการออกไปตรวจประเมินสถานที่จริง

     โดยสามารถเข้าระบบได้ที่ https://www.tisi.go.th/website/Accreditation/eAccreditation หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ  โทร. 0 2202 3531 หรือ e-mail: nsc@mail.tisi.go.th

     เห็นได้ว่ามีหลากหลายมาตรการ หลายมิติที่หน่วยงานภาคอุตสาหกรรมได้ยื่นมือเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระของทีมแพทย์ซึ่งถือเป็นด่านหน้า ผมเองหรือคุณเองก็อาจจะเป็นหน่วยหนึ่งในนั้นที่จะช่วยได้ อย่างน้อยที่สุดเราก็ดูแลตัวเองไม่ให้ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงกับโควิด-19 แล้วเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปพร้อมๆ กันครับ
👏👏👏
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่