เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 💉💉💉

     สิ่งที่คนไทยกำลังให้ความสนใจในเวลานี้ นอกจากเรื่องของจำนวนผู้ติดเชื้อในแต่ละวันแล้ว ก็คงจะเป็นเรื่องของวัคซีน ซึ่งบ้านเราก็เริ่มเดินหน้าปูพรมฉีดกันอย่างเต็มตัวตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมาสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยใน 7 กลุ่มโรคเสี่ยงที่ลงทะเบียนไว้ก่อนหน้านี้ เช่นเดียวกับคนทั่วไปที่ก็จะได้ทยอยฉีดเช่นกัน 
     และแม้ว่าจะฉีดวัคซีนแล้ว (ไม่ว่าจะ 1 เข็มหรือ 2 เข็ม) เราก็ยังคงต้องใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่างจากผู้อื่นอยู่นะครับ จนกว่าทุกคนจะมีภูมิต้านทานหรือเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งตรงนี้ก็คงต้องใช้เวลาอีกซักพักใหญ่ๆ เพราะต้องฉีดให้เกิน 70% ของจำนวนประชากรที่มีอยู่ทั้งประเทศเสียก่อน
     สำหรับเมืองไทยขณะนี้มีวัคซีนให้ใช้อยู่ 2 ยี่ห้อ นั่นคือ ซิโนแวคและแอสตร้า เซเนก้า ซึ่งวันนี้พี่หมอจะมาอธิบายสรรพคุณของวัคซีนแต่ละตัวให้ฟังอย่างละเอียด (รวมถึงยี่ห้อที่ยังไม่ได้นำเข้ามาในเมืองไทยด้วย) ที่สำคัญที่สุดก็คือ ข้อควรรู้ก่อนที่เราจะไปฉีดวัคซีน หรือมีข้อมูลอะไรที่เราต้องแจ้งกับหมอหรือพยาบาลก่อนที่จะฉีด และสำหรับใครที่ยังกังวลใจเรื่องของผลข้างเคียง พี่หมอก็ไปรวบรวมข้อมูลมาให้แล้วเช่นกัน 👇
 
วัคซีนที่ใช้ในประเทศไทย

วัคซีนที่ยังไม่ได้นำเข้ามาในประเทศไทย 
สิ่งที่ควรแจ้งแพทย์หรือพยาบาลก่อนรับการฉีดวัคซีน 👨‍⚕️👩‍⚕️
 
     · มีประวัติแพ้รุนแรงต่อส่วนประกอบของวัคซีน หรือผู้ที่ฉีดเข็มแรกแล้วมีอาการแพ้รุนแรง เช่น หายใจติดขัด มีอาการบวมที่หน้า ลิ้น หรือในทางเดินหายใจ เป็นต้น 
     · มีไข้มากกว่า 38 องศาเซลเซียสในวันที่ฉีด
     · มีรอยช้ำ จ้ำเลือด มีเลือดออกผิดปกติ หรือกำลังใช้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน
     · เป็นผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือใช้ยากดภูมิคุ้มกันอยู่ เช่น ยาสเตียรอยด์ขนาดสูง ยาเคมีบำบัดที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง 
     · ตั้งครรภ์ มีแผนจะตั้งครรภ์ หรืออยู่ระหว่างการให้นมบุตร
     · อาการข้างเคียงทุกชนิดจากการฉีดวัคซีนชนิดนี้ในเข็มแรก
     · ได้รับการถ่ายเลือด พลาสมา หรือสารประกอบของเลือด ได้ยาต้านไวรัส ยาอิมมูโนโกลบูลิน สำหรับรักษาโรคโควิด-19 ภายใน 90 วัน 
     · ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการได้ เช่น เจ็บแน่นหน้าอก หอบ เหนื่อย ใจสั่น หรือผู้ที่มีอาการเกี่ยวกับสมองและระบบประสาทอื่นๆ
     · ผู้ที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในช่วง 10 วันที่ผ่านมา
     · ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยเฉียบพลัน หรือนอนรักษาตัว และออกจากโรงพยาบาลในช่วง 14 วันที่ผ่านมา 
ผลข้างเคียงของวัคซีนที่ควรทราบ 
 
    📌 หลังการฉีดวัคซีน มักจะมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้น เช่น มีไข้ต่ำๆ ซึ่งเป็นอาการปกติ แสดงว่าร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อวัคซีน
    📌 วัคซีนทุกประเภทไม่ได้เพิ่มโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน โรคหลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน และโรคลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด ดังนั้น คนที่เคยเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือหลอดเลือดดำอุดตันมาก่อน สามารถฉีดวัคซีนได้ทั้งหมด 
    📌 การฉีดวัคซีนไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดทั่วไป แต่เป็นการเกิดลิ่มเลือดอุดตันชนิดพิเศษ ซึ่งยังไม่พบในคนไทย แต่ถ้าเกิดก็สามารรักษาได้ แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่าก็คือ ภาวะหลอดเลือดอุดตันหลังติดเชื้อโควิด เพราะผู้ป่วยมีโอกาสที่จะเกิดหลอดเลือดอุดตันสูงถึง 1 ใน 10 และมักเป็นหลอดเลือดอุดตันชนิดรุนแรง
    📌 สำหรับผู้ที่กลัวว่าฉีควัคซีนซิโนแวคแล้วจะเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต สาขาวิชาประสาทวิทยาของรพ.จุฬาลงกรณ์ ได้ตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดแล้วไม่พบว่า วัคซีนซิโนแวคทำให้เกิดหลอดเลือดสมองอุดตัน แต่อาจทำให้เกิดหลอดเลือดสมองส่วนปลายหดตัว ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการให้ยาขยายหลอดเลือด ทำให้ภาวะชาหรืออ่อนแรงกลับมาเป็นปกติ ซึ่งโอกาสที่จะเกิดหลอดเลือดสมองส่วนปลายหดตัวมีเพียง 3 ใน 10,000 คนเท่านั้น
    📌 ภาวะเกล็ดเลือดต่ำร่วมกับหลอดเลือดอุดตัน โดยเฉพาะที่สมอง ซึ่งมีรายงานหลังการฉีดวัคซีนของแอสตร้า เซเนก้า หรือ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันนั้น มีโอกาสเกิดอยู่ที่ 1 ต่อ 100,000 – 500,000 คน โดยภาวะนี้ประเทศไทยสามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาที่มีอยู่ 
    📌 วัคซีนทุกชนิดมีผลข้างเคียงแตกต่างกัน ส่วนอาการแพ้รุนแรงที่ทำให้ความดันเลือดตก หรือหลอดลมอุดกั้นเฉียบพลัน มีโอกาสเกิด 1 ต่อ 100,000 – 400,000 คน ส่วนการเกิดเกล็ดเลือดต่ำรุนแรงและมีเลือดออก มีโอกาสเกิด 1 ต่อ 1 – 2,000,000 คน ซึ่งน้อยกว่าความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด
    📌 ไม่มีข้อห้ามในการฉีดวัคซีนสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต มะเร็ง โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับ โรคไต โรคภูมิคุ้มกันตัวเองบกพร่อง 
    📌 ข่าวที่ว่ามีคนฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิต ปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานว่าเกิดจากการฉีดวัคซีนโดยตรง 
            
    พี่หมอเชื่อว่า คนส่วนใหญ่ตอนนี้น่าจะตื่นเต้นไปกับการฉีดวัคซีนมากกว่า ดังนั้น ใครที่ไปฉีดมาแล้ว มีอาการเป็นยังไง คุณพยาบาลมือเบามือหนักแค่ไหน ก็มาเล่าให้พี่หมอฟังได้นะครับ จะได้เป็นการแบ่งปันประสบการณ์กับคนที่ยังไม่ฉีดด้วย พี่หมอหวังว่าทุกคนจะได้ฉีดกันเยอะๆ เร็วๆ เพราะยิ่งเราฉีดวัคซีนกันได้เยอะเท่าไหร่ โอกาสที่เราจะได้กลับมาใช้ชีวิตกันตามปกติก็มีมากขึ้นเท่านั้น ❤ ❤ ❤
 
     *ข้อมูล ณ วันที่ 7 มิถุนายน 2564 จากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคและรายงานการวิจัยวัคซีนจากทั่วโลก  
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่