เป้าหมายกับระหว่างทาง



     การมีเป้าหมายว่าทำไปทำไม ทำเพื่อใคร, หรือตัวชี้วัด แทนที่จะแค่รู้ว่าทำอะไร หรือทำยังไง จะทำให้เราขับเคลื่อนรายละเอียดได้อย่างมีเป้าหมายกว่า ระยะไกลกว่า และหลงระหว่างทางน้อยกว่า
     จริงๆแล้วข้อความทำนองนี้ เราเคยอ่านเคยเจอกันบ่อยๆ
     เวลาพูดเหมือนจะง่าย แต่เวลาทำจริงไม่ง่ายเลย

- บางทีเราไม่รู้ว่าเป้าหมายควรจะเป็นอะไร
- บางทีเรารู้เป้าหมายละ แต่มันก็เปลี่ยนไปเรื่อย
- บางทีเราได้ทำละ แต่เราก็ทำได้ไม่ดี ท้อ
- กระทั่งลังเล ว่าการมีเป้าหมาย ทำให้เหนื่อยไปมั้ย

     บางครั้งก็จะเห็นคนให้ความเห็นที่แตกต่างกันไป บ้างก็ว่าเป้าหมายสำคัญกว่า บ้างก็ว่าระหว่างทางสำคัญกว่า
     ความสมดุล คงอยู่ที่การมีเป้าหมาย กับการลองทำดู(ระหว่างทาง) ไม่สุดโต่งไปทางใดทางนึง

     ถ้าไม่มีเป้าหมาย เราจะเสียเวลาไปกับสิ่งเดิมๆ สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ สิ่งที่ด่วนแต่ไม่สำคัญ
     อีกด้าน ถ้าไม่ลองทำดู เราก็ไม่รู้จริงๆว่าเป้านั้นทำได้จริงหรือไม่ หรือทำได้แค่ไหน หรืออาจฝืนเกินไป
     ‘การมีเป้าหมาย’ จึงไม่ได้แปลว่าห้ามเปลี่ยน ไม่ได้แปลว่าต้องได้ มันต้องสมดุลกับการปฏิบัติจริงที่เหมาะกับเรา และมีความสุขบ้างตามสมควร

     ฉะนั้น..
- กรณีไม่รู้ว่าเป้าหมายควรจะเป็นอะไร --> ลองตั้งจากง่ายๆดู ไม่ต้องยิ่งใหญ่ ไม่ต้องไกลมาก เช่น จะทำงานสำคัญให้สำเร็จสัปดาห์ละ 1 เรื่อง, จะอ่านหนังสือให้ได้วันละ 3 หน้าก่อนนอน, จะออกกำลังให้ได้ 30 นาทีต่อสัปดาห์  แล้วทำให้ได้จริง จะฝึกให้เรามีวินัยเล็กๆแต่สม่ำเสมอ เป็นพื้นฐานสำคัญต่อกำลังใจที่จะทำเป้าหมายใหญ่ขึ้นต่อไป

- กรณีปัญหาเรื่องเป้าหมายเปลี่ยน / ทำได้ไม่ดี / ลังเล --> จะน้อยลงไปเอง เพราะเป้าหมายไม่ยากเกินไป ถึงเหนื่อยก็พอฝืนไหว หรือแม้จะเปลี่ยนเป้าหมายบ้าง ก็ไม่รู้สึกผิดอะไรมากมาย ก็แค่ลองดูใหม่ และก็ทำให้ได้ใหม่

     สำคัญนะครับ กำลังใจระหว่างทาง ทำให้ก้าวเล็กๆมีความหมาย
     และเมื่อไม่หยุด ท้ายที่สุดก็ได้ระยะทาง มันภูมิใจ

     เป้าเล็กแต่ทำได้ สำคัญกว่าเป้าใหญ่แต่ไม่ได้ทำครับ

https://neopositive.wordpress.com
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่