BMW ซีรีย์ 3 หลังหมดBSI ค่าบำรุงรักษา เฉลี่ยปีละเท่าไหร่คะ

กระทู้คำถาม
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 2
เจ้าของกระทู้ จะซื้อรถมือสองใช่หรือเปล่าครับ ?

series 3  โมเดลไหน เครื่องเบนซินหรือดีเซล  ขับปีหนึ่งมากน้อยเพียงใด  อยากจะเข้าอู่หรือเข้าศูนย์ต่อ  อันนี้ต้องดูเป็นกรณีไปครับ
หมด BSI คือ นับเป็นปี ว่าแต่ขับไปกี่หมื่นกม. หรือ ทะลุแสนกม.แล้ว

จริงๆเลยนะ  ถ้าคุณไม่ได้ซีเรียสที่จะต้องเข้าศูนย์เลย  อู่นอกที่ซ่อมบีเอมอย่างเดียวก็มีให้เลือกเยอะมาก

ถ้าเป็นตัว F30  ไม่ใช่ตัวใหม่ที่เป็น G20  ตัวนั้นไม่ค่อยมีอะไรน่ากังวลนัก   ส่วน G20 ผมไม่มีข้อมูล เพราะรถยังใหม่อยู่
ที่ต้องจ่ายแน่ๆ ทุก 10,000 กม. คือ น้ำมันเครื่อง กับกรองน้ำมันเครื่อง  แต่ถ้าเข้าศูนย์ก็ว่ากันตามไฟเตือน ( ส่วนตัวผมว่ามันนานไปหน่อยนะ  ประเภทเปลี่ยนน้ำมันเครื่องทุกๆ 12000-15000 กม. นี่  ดูจะนานไปบ้าง  น้ำมันเครื่องศูนย์เองก็ไม่ใช่น้ำมันเทพอะไรมากมาย  ขนาดผมใช้ Amsoils Signature ตัว top ผมยังยอมเปลี่ยนที่ 10,000 กม. ด้วยซ้ำไป   ค่าน้ำมันเครื่อง+กรอง  รวมๆกันไม่น่าเกิน 3,700 )

ถ้าใช้งานเกิน 80,000 กม. แล้ว รถผ่านศูนย์จะไม่เคยเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ พร้อมอ่างเกียร์  ก็จะเป็นเวลาที่เหมาะสมที่ควรจะเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์และกรองเกียร์(มาพร้อมอ่าง )  อย่างแพงสุดไม่ควรจะเกิน 11,000 บาท  , BMW ไม่มีนโยบายเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ตลอดอายุ BSI ครับ  เกียร์ ZF เองก็ยังมี white paper ออกมาว่า สุดท้ายแล้วน้ำมันเกียร์ก็ควรจะเปลี่ยนที่อย่างน้อย 120,000 กม.

ถ้าเป็นเครื่องดีเซล ตัวปัญหาสำหรับคนขับในเมืองก็คือ ชุด DPF  หรือ กรองเขม่าที่มักจะเริ่มตัน  แต่สำหรับอู่ข้างนอกแล้ว การถอดมาทำความสะอาดและล้างให้โล่งเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ทำกันเป็นปกตินะครับ  

ปัญหาหลักๆของบีเอมเบนซินและดีเซล ก็คือ เรืองของหัวฉีด  เครืองดีเซลใช้หัวฉีดแบบ direct injection ฉีดตรงเข้าห้องเผาไหม้เป็นเรือ่งปกติอยู่แล้ว  ส่วนเบนซิน BMWก็ใช้หัวฉีด GDI มาเป็น 10 ปีแล้วเช่นกัน  หัวฉีด GDI ก็คล้ายๆกับหัวฉีด DI ในดีเซล คือ ฉีดตรงเข้าห้องเผาไหม้  ปัญหาจึงคล้ายกันคือ คราบความสกปรกจะเกาะที่ปลายหัวฉีด  และสำหรับบีเอม ปัญหาที่ตามมาคือ หัวฉีดจะปิดไม่สนิท ทำให้มีน้ำมันหยด  อาการง่ายๆคือ สตาร์ทเช้าๆเครื่องเย็น  เครื่องจะเดินไม่เรียบ สั่นๆ  แต่พอร้อนขึ้นก็จะหายไป   อู่นอกเขาคุ้นเคยอาการนี้ดี แค่ถอดหัวฉีดไปส่งให้ศูนย์บอซทำการล้างจนสะอาดแล้วกลับมาประกอบคืนให้  ( ค่าบริการรวมเบ็ดเสร็จ เฉลี่ยอยู่แถวๆ 6,000 )

เครื่องเบนซิน ใช้งานไประยะหนึ่ง (หลายหมื่นกม. ) คอล์ยจุดระเบิดมักจะป่วยตาย  ถ้าอยู่ใน BSI จะเปลี่ยนเฉพาะตัวที่ปัญหา  ถ้าเปลี่ยนหมด 4 ตัว คอย์ลของ Delphi  ตัวละ 1400 บาท โดยประมาณ , ซื้อถูกที่ ราคาก็ถูกใจ เข้าศูนย์ก็บานหน่อย เพราะคือคอล์ยตัวเดียวกัน แต่แปะป้าย BMW  

เบรคของบีเอม เป็นอะไรที่โหดหน่อย เพราะผ้าเบรคจะกินจานเบรคแบบขนมกรุบกรอบเลยทีเดียว เบรคของ BMW จะเบรคดีมากๆ กดแล้วหยุดดีงามมากๆ  แต่สิ่งที่จะเจอก็คือ ถ้าใช้กันจนผ้าเบรคหมด และไฟเตือนขึ้น  สิ่งที่จะต้องจ่ายคือ  ผ้าเบรคใหม่ จานเบรคใหม่ และสายไฟเซนเซอร์ใหม่  ซึ่งเดิมทีตอนมี BSI ถ้าไฟไม่เตือนก็ไม่มีการเปลี่ยนผ้าเบรค   แล้วถ้าจะเปลี่ยนผ้าเบรคก่อนไฟเตือนขึ้น ก็ต้องเปลี่ยนจานอยู่ดี เพราะมันกินจานจนบางไม่เหลือระยะให้เจียรได้ใหม่

แต่ไม่ต้องกังวล เพราะ Brembo มีจานและผ้าเบรคทุกขนาดสำหรับ BMW  คุณภาพดีงามไม่ได้ด้อยกว่าผ้าเบรคศูนย์ ( ผมใช้อยู่ 2 คัน )  ประหยัดค่าใช้จ่ายได้เท่าตัวเมื่อเทียบกับเข้าศูนย์   จานหน้าพร้อมผ้าเบรค(ซ้าย+ขวา) จบที่ไม่น่าเกิน 8 พัน  จานหลังพร้อมผ้าเบรค(ซ้าย+ขวา) ไม่น่าเกิน 7 พัน

น้ำมันเบรค ถ่ายทุก 2 ปี  ATE DOT4 SL.6  คุณสมบัติตรง  กระป๋องแถวๆ 500 บาท

BMW ใช้ช่วงล่างด้านหลังแบบ Multilink ต้องหมั่นเช็คศูนย์ล้อเป็นระยะ  ถ้ามันเพี้ยน รถจะขับไม่ดี โดยเฉพาะเวลาเข้าโค้งหรือเปลี่ยนเลน  ร้านตั้งศูนย์ล้อเก่งๆ ( ที่ไม่ใช่ร้านข้างทางที่ขายยางเป็นเฟรนชายด์ ) เขาเข้าใจรถค่ายนี้ดี

ถ้าไม่ได้เล่นของแต่ง ไม่คิดจะเปลี่ยนช่วงล่างเป็น Bilstein  ไม่คิดจะเปลี่ยนล้อแมกและยางใหม่

ถามว่าโดยรวมแล้ว จ่ายแพงไหม  จ่ายแพงกว่ารถญี่ปุ่นแน่นอนครับ  แต่อะไหล่จริงๆถ้าหาซื้อเป็น หรือซ่อมเป็น จะแพงกว่าบ้าง แต่ไม่ได้แพงกว่าแบบขนหัวลุก

คนที่ใช้รถยุโรป  และยอมรับค่าใช้จ่ายได้  น้อยคนที่จะเปลี่ยนใจกลับไปใช้รถญี่ปุ่น  ต้องใช้เองแล้วจะเข้าใจ  
แต่ถ้ายอมรับค่าใช้จ่ายไม่ได้ และไม่พร้อมจะยอมรับความยุ่งยากวุ่นวาย และเวลาในการซ่อมที่ใช้เวลา  ก็ไม่แนะนำครับ  

รถญี่ปุ่น คือ รถที่เหมาะสำหรับชีวิตประจำวัน  เหมาะสำหรับขับไปทำงานในระยะทางสั้นๆ  งอแงน้อย  ยิ่งถ้าเป็นเจ้าตลาดคือ ซื้อง่ายขายคล่อง
รถยุโรป จะเป็นรถที่เหมาะสำหรับคนที่เข้าใจมัน และยอมรับในค่าใช้จ่ายได้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่