JJNY : ไบเดนประกาศเยียวยาธุรกิจอาหาร│ร้านอาหารดังเจอยอดขาย 0 บ.│ยอดนั่งรถตู้เมืองกรุงฯ หายเกลี้ยง│เนชั่นร้อง“ผบ.ตร.”

ไบเดน ประกาศเยียวยาธุรกิจอาหาร เจอพิษโควิด ขาดทุนเท่าไหร่จ่ายให้เท่านั้น สูงสุดกว่า 300 ล้าน
https://www.matichon.co.th/foreign/news_2710766


  
นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก President Joe Biden ประกาศโครงการ “งบเยียวยาธุรกิจร้านอาหาร” (Restaurant Revitalization Fund) โดยจะให้เงินกับธุรกิจร้านอาหารเทียบเท่ากับรายได้ที่หายไปในช่วงที่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19
 
โดยนายไบเดน โพสต์ข้อความระบุว่า 
 
ธุรกิจร้านอาหารให้งานแรกกับชาวอเมริกันเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ชาวอเมริกันมากกว่าครึ่งเคยทำงานในร้านอาหารในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต นี่เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างโอกาศให้กับผู้จัดการชนกลุ่มน้อยได้มากกว่าอุตสาหกรรมใดๆ นี่เป็นอุตสาหกรรมที่พนักงานทำงานกันเหมือนครอบครัว และส่วนมากก็เป็นครอบครัวจริงๆ
 
โครงการงบประมาณเยียวยาร้านอาหาร ซึ่งเกิดขึ้นได้เพราะ โครงการกระตุ้นและเยียวยาเศรษฐกิจ (American Ruscue Plan) จะบรรเทาผลกระทบโดยตรงให้กับร้านอาหาร และธุรกิจอาหารที่ได้รับผลกระทบหนักอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น บาร์ เบเกอรี แผงขายอาหาร รถขายอาหาร และบริการจัดเลี้ยง เราได้นำงบดังกล่าวให้สามารถใช้ได้อย่างเร็วและมีประสิทธิภาพ และแสดงให้ชาวอเมริกันเห็นว่า รัฐบาลของพวกเขาสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้อีกครั้ง
 
ทั้งนี้ Restaurant Revitalization Fund จะให้เงินเยียวยาร้านอาหารต่างๆ เป็นเงินมูลค่าเทียบเท่ากับรายได้ที่หายไปผลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มูลค่าไม่เกิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 300 ล้านบาทต่อธุรกิจ และไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 สาขา โดยธุรกิจร้านอาหารที่เข้าร่วมไม่ต้องจ่ายเงินคืนให้กับรัฐตราบเท่าที่งบประมาณดังกล่าวถูกใช้ไปไม่เกินวันที่ 11 มีนาคม 2023 ผู้เข้าร่วมสามารถสมัครเข้ารับเงินเยียวยาได้แล้วในวันนี้ผ่านเว็บไซต์


 
ร้านอาหารดัง เจอยอดขาย 0 บาท ฝากข้อความถึงผู้มีส่วนรับผิดชอบ
https://www.prachachat.net/marketing/news-663878
 
ผู้บริหารเครือร้านอาหารชื่อดังเผยผลกระทบโควิด ยอดขายร้านสาขาหนึ่งเท่ากับ 0 บาท พร้อมฝากข้อความถึงผู้มีส่วนรับผิดชอบในประเทศไทย 
 
วันที่ 7 พฤษภาคม 2564 นางสาวบุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ผู้บริหารร้านบาร์บีคิว พลาซ่า, จุ่มแซ่บฮัท, ฌานา ฯลฯ โพสต์ข้อความเผยแพร่สาธารณะผ่านเฟซบุ๊กว่า
 
เมื่อวานนี้ ร้านอาหารในเครือสาขาหนึ่ง มียอดขายรวมทุกช่องทางเท่ากับ 0 บาท ข้อความทั้งหมดมีดังนี้
 
หลายวันที่ผ่านมา ถูกชวนคุยเรื่องสถานการณ์ร้านอาหารเยอะไปหมด บางเรื่องก็ตอบได้ บางเรื่องก็ตอบไม่ได้ Covid 3 ครั้งนี้ ไม่ต่างกับซูนามิ!! กระหน่ำซ้ำในที่เดิมแบบที่ผู้คนรู้ทั้งรู้ว่า…ซูนามิมา แต่ไม่รู้จะหนีตายไปทางไหน…
 
Food passion เองก็โดนซูนามิครั้งนี้ไม่ต่างกับพี่น้องร้านอาหารอื่น ๆ เมื่อวาน 1 ในสาขา 1 ในแบรนด์ในเครือ 0 บาทคะ!! แต่บอกตรง ๆ เราที่เจอแบบนื้ อาจเป็นแค่ 1 ในตัวอย่างของร้านอาหารที่เจอแบบนี้ ยังมีร้านเล็กๆร้านกลางๆ หรือร้านใหญ่ๆ ก็คงไม่ต่างกัน
 
ขอฝากโพสนี้ไปถึงผู้มีส่วนรับผิดชอบในประเทศไทย หากยังดำเนินแบบนี้ธุรกิจรายย่อย ๆ ที่ไม่มีสายป่าน ไม่มี connection เขาจะอยู่อย่างไร…ไม่ใช่แค่ธุรกิจร้านอาหาร แต่ยังมีอีกหลายธุรกิจที่กำลังนับถอยหลังระเบิดเวลา…กับถังอ๊อกซิเจนถังสุดท้าย
 
มาถึงบรรทัดนี้ ไม่ใช่แค่คิดให้บริษัทตัวเองรอด ยังคิดเผื่อผู้คนที่เดือดร้อน ผ่านทั้งตัวเองและผ่านไปยังบริษัท แม้ไม่ได้อยู่ในบทบาทนั้น แต่คิดว่าในฐานะคนไทยคนนึงที่ยังมีสมอง สองมือ ใจที่แข็งแกร่ง ก็คงยังเป็นสิ่งที่ควรทำต่อไป…
 
ก่อนหน้านี้ นางสาวบุณย์ญานุช เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่รุนแรงในครั้งนี้ ประกอบกับมาตรการห้ามนั่งทานในร้าน ทำให้ทราฟฟิกศูนย์การค้าลดลง 70-80% โดยเฉพาะศูนย์ที่อยู่ใจกลางเมือง เนื่องจากผู้คนตื่นกลัวและอยู่บ้านมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการเดินทาง
 
สำหรับร้านอาหารในเครือฟู้ดแพชชั่น หลังจาก ศบค.มีมาตรการออกมา ได้เปิดเคาน์เตอร์ให้ซื้อกลับบ้านและดีลิเวอรี่ ต้องยอมรับว่าเทรนด์ดีลิเวอรี่ไม่ได้หวือหวาเหมือนปีที่ผ่านมา จากปัจจัยของกำลังซื้อที่ลดลง ตลอดจนปัจจัยรอบ ๆ ด้านที่ไม่เอื้อต่ออารมณ์การจับจ่าย และได้มีแคมเปญต่าง ๆ ออกมากระตุ้นยอดการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น
 
อีกด้านหนึ่งก็ต้องหันมาให้ความสำคัญในเรื่องของการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ซึ่งเป็นมาตรการที่ทำมาต่อเนื่องตั้งแต่การระบาดรอบแรก
 
ย้อนไปเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ที่ผ่านมา นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เผยว่า ได้ทำหนังสือยื่นให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 (ศบค.) แล้ว เพื่อขอให้ทบทวนคำสั่ง ศบค. ที่ไม่อนุญาตให้นั่งรับประทานอาหารในร้านอาหารในพื้นที่ 6 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เป็นเวลา 14 วัน
 
เนื่องจากได้รับข้อร้องเรียนจากผู้ประกอบการร้านอาหารจำนวนมาก ซึ่งอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการต้องปิดกิจการจากมาตรการครั้งนี้ โดยหากปล่อยให้ประกาศดังกล่าวกินเวลาเต็ม 14 วัน จะสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจประเทศตามมา ซึ่งมูลค่าความเสียหายของธุรกิจร้านอาหารโดยประมาณการจากคำสั่งล่าสุดนี้ อยู่ที่ 1,400 ล้านบาทต่อวัน รวมถึงธุรกิจร้านอาหารมีห่วงโซ่เชื่อมโยงต่อธุรกิจอื่น ๆ มากมาย โดยเฉพาะภาคการเกษตร
 
ภาพและข้อมูลจากเฟซบุ๊ก Boonyanuch Boom Boonbumrungsub
 
https://www.facebook.com/BoomBoonyanuch/posts/10158857435525189
 

ยอดนั่งรถตู้เมืองกรุงฯ หายเกลี้ยง วอนรัฐเยียวยาโควิด 3
https://www.dailynews.co.th/economic/841850
 
รถตู้เมืองกรุงฯ ร้องกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถกทางออกเยียวยาช่วยพยุงกิจการเดินต่อได้ หลังพิษโควิดรอบ 3 ทำผู้โดยสารหาย งดเดินทาง-งดเสี่ยง รายได้ลดกว่า 70% บางเส้นทางต้องหยุดเดินรถ
 
นายปัญญา เลิศหงิม นายกสมาคมรถตู้โดยสารสาธารณะกรุงเทพฯ ปริมณฑล เปิดเผยว่า วันนี้ (7 พ.ค.64) ได้ยื่นหนังสือขอความอนุเคราะห์จากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ โควิด-19 ถึงนายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ในหลายพื้นที่ในครั้งนี้ระบาดหนักและมีแนวโน้มการระบาดสูงขึ้นทุกวัน ยังไม่สามารถควบคุมได้ พื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จึงเป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด รวมถึงการประกาศให้มีการเว้นระยะห่างบนรถโดยสาร การงดเดินทางมาปฏิบัติงาน  การประกาศปิดพื้นที่การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการรถตู้โดยสารสาธารณะหมวด 1 ที่ให้บริการในกรุงเทพฯ และ ปริมณฑล ที่เป็นรถร่วมบริการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่มีประมาณ 3,000 กว่าคันเป็นอย่างมาก
 
หลายเส้นทางไม่สามารถเดินรถได้ตามเดิม ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่สภาวะที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับอยู่ในขณะนี้  ผู้ประกอบการจำเป็นต้องออกรถคันใหม่มาทดแทนคันเดิมตามคู่สัญญา ขสมก. และ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก เรื่องอายุรถครบ 10 ปี  ซึ่งการระบาดในปี 63 เป็นช่วงเวลาของการต่ออายุใบประกอบการขนส่งโดยสารสาธารณะ และการเปลี่ยนรถทดแทน บางคนต้องเปลี่ยนคู่สัญญา เพื่อประกอบอาชีพต่อ  จึงทำให้มีภาระหนี้สินเพื่อการประกอบอาชีพเพิ่มขึ้น เช่น ค่างวดรถคันใหม่ รวมทั้งรายจ่ายรายวันประจำที่ต้องแบกรับกับสภาวะที่มีโรคระบาดต่อเนื่องรุนแรง จึงเป็นที่มาของการขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
 
นายปัญญา กล่าวต่อว่า จากปัญหานี้จึงได้เป็นตัวแทนผู้ประกอบการรถตู้ ทำหนังสือร้องขอความอนุเคราะห์ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาให้กับผู้ประกอบการรถตู้ฯ ร่วมบริการ ขสมก. ทุกเส้นทาง ความช่วยเหลือเบื้องต้นที่ ขสมก. มีมติประกาศลดหย่อนค่าตอบแทน ให้ชำระเพียง 25% คิดเป็นเงิน 267 บาทต่อเดือน วันที่ 1 เม.ย.- 30 ก.ย.63 และ วันที่ 1 ต.ค.-ธ.ค.63 รวม 2 ครั้งในปีที่ผ่านมา แต่ผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19 ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรงทำให้ผลประกอบการของกลุ่มรถตู้ที่ดูเหมือนจะดีขึ้น กลับลดลงอย่างต่อเนื่อง รายได้น้อยลงเกินกว่า 70% บางเส้นทางต้องหยุดเดินรถ เพราะไม่มีการเดินทางของผู้โดยสาร ผู้ประกอบการที่ออกรถใหม่มามีภาระค่างวดรถที่ต้องชำระสูงขึ้นกว่าเดิมอีกเท่าตัว แม้จะมีการเจรจากับไฟแนนท์เพื่องดชำระ ก็ยังคงต้องจ่ายดอกเบี้ยต่อเดือน ทำให้ผู้ประกอบการรถตู้ขาดสภาพคล่องอย่างหนัก และไม่สามารถรักษาสภาพคล่องทางการเงินได้เพราะรายจ่ายมากกว่ารายรับเกือบ 90% ซึ่งหนักกว่าการระบาดในระลอกที่ผ่านมา     
 
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องยื่นหนังสือดังกล่าว เพื่อเป็นผู้ไกล่เกลี่ยและเป็นคนกลางประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาร่วมกันหาทางออกให้กับผู้ประกอบการรถตู้ในแนวทางการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการรถตู้ที่ได้รับผลกระทบอยู่ในขณะนี้ซึ่งเป็นระลอกใหม่ และยังไม่ได้รับการดูแลแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลย อีกทั้งการยื่นขอลดหย่อนค่าตอบแทนต่อเนื่องกับทาง ขสมก. ได้รับการปฏิเสธ และระยะการพักชำระหนี้ของไฟแนนท์กำลังจะครบกำหนด แต่ยังไม่สามารถหาค่างวดได้ จึงต้องขอความกรุณาด้วย ซึ่งสมาคมฯ หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับความเมตตาในการประสาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อแก้ไขให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่