*** สอนประวัติศาสตร์ให้น่าสนใจ เริ่มจากสอนเด็กให้เล่นวิดีโอเกม ***

บทความนี้เกิดจากการที่มีทีมศึกษานิเทศน์จังหวัดปทุมธานี สระบุรี มาติดต่อให้ผมไปสอนเรื่อง “การสร้างเนื้อหาการเรียนรู้สังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์
 
ตัวผมไม่เคยสอนอะไรแบบนี้มาก่อน แต่รู้สึกเป็นเกียรติ และคิดว่า ...เออ มันก็เป็น achievement ของชีวิตนะ เลยรวบรวมประสบการณ์มาทำเป็นเนื้อหาขึ้น
 
ผมพึ่งสอนเสร็จไปเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา มีคุณครู (เข้าใจว่าส่วนใหญ่เป็นครูมัธยม) จากหลายโรงเรียนมาฟังผม ราว 150 คนเศษ และผลตอบรับดี ผมรู้สึกดีใจ จึงจะขอคัดเอาเนื้อหาที่ผมสอนบางส่วนมาลงในเพจย่อๆ นะครับ ...โดยขอเริ่มเปิดจาก “ให้สอนเด็กให้เล่นวีดีโอเกม”
 
บทความนี้ผมได้รวบรวมเทคนิคในการสอนวิชา ประวัติศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ให้น่าสนใจ จากประสบการณ์ของผมเอง
 
สำหรับคนที่มีเวลาไม่มาก ผมจะขึ้น point สำคัญเป็นข้อสั้นๆ ก่อน จากนั้นจะมีรายละเอียดอยู่ต่อไปนะครับ

Point สำคัญข้อที่ 1 คือ "สอนให้เด็กเล่นวีดีโอเกม" โดยผมแนะนำเกมตระกูล Civilization, Assassin's Creed และเกมอื่นๆ ดังจะได้บรรยายต่อ


Point ที่ 2 "ปรับปีทุกปีเป็น ค.ศ." การทำทุกอย่างเป็น ค.ศ. จะทำให้ไม่สับสน และเทียบเคียงกับตำราอื่นๆ ได้ง่าย


Point ที่ 3 แม้จะใช้ ค.ศ. แล้ว ก็ควรให้เด็กมีภาระในการ "จำชื่อคน และจำเลขปี" ให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ อะไรที่เล็งเห็นว่าสอบเสร็จแล้วจะลืม ให้ตัดทิ้งให้หมด ให้เด็กเอาพลังสมองไปทำความเข้าใจเนื้อหา ถ้าเขาอินกับมัน ในที่สุดเขาจะจำสิ่งที่ควรจำได้เอง

Point ที่ 4 "อย่าสอนเรื่องชั่วร้ายให้กับเด็ก" สมัยที่ผมยังเป็นนักเรียน ผมถูกสอนให้เกลียดพม่าที่มาตีกรุงศรีอยุธยา และให้เกลียดฝรั่งเศสที่เคยมาคุกคามไทย
เรื่องเหล่านี้อาจทำให้เขาสนใจบทเรียนขึ้นในระยะสั้น แต่ในระยะยาวมันจะทำร้ายการเรียนของเขา เพราะการลำเอียงด้วยความรักหรือเกลียด จะทำให้เด็กออกห่างจากสภาพจริงของประวัติศาสตร์

ต่อจากข้อที่แล้วเป้าหมายสูงสุดของการสอนวิชาประวัติศาสตร์ และสังคมศาสตร์ คือการทำให้ "เด็กสนใจเรื่องราวเหล่านี้ด้วยตนเอง" เพราะเห็นว่ามันมีประโยชน์จริง

เด็กที่สนใจเรื่องเหล่านี้ จะไปศึกษาต่อเอง และสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ศึกษาได้มากกว่า การท่องเพื่อให้สอบได้คะแนนดี
...และนั่นคือสิ่งมีค่าสูงสุดที่จะมอบแก่เด็กได้...

(ภาพปกชุดนี้เป็นภาพตอนผมสัมนาเรื่องชาวเคิร์ดนะครับ การสอนครูในบทความนี้เป็นการสอนออนไลน์ ตามสถานการณ์โควิด)

ขอเริ่มเนื้อหาจากคำถามของครูคนหนึ่งก่อน

มีคุณครูถามผมว่า "ดูเหมือนนักเรียนจะไม่สนใจฟังวิชาที่สอน"

เมื่อถามมากขึ้นว่าไม่สนใจฟังเรื่องอะไร เขาก็ตอบว่า "ไม่สนใจฟัง โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับสถาบัน และเรื่อง sensitive อื่นๆ"

คำตอบนี้ทำให้ผมแยกปัญหาออกเป็นสองอย่าง คือ:
1. ไม่สนใจจริง เพราะเห็นว่าน่าเบื่อ
2. ไม่เชื่อครู
จะขอพูดไปทีละอย่างนะครับ
จากหัวข้อ "การถ่ายทอดวิชาประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ให้น่าสนใจ สำหรับคน Gen Z" นั้น เราต้องดูก่อนว่าคน Gen Z เป็นอย่างไร

คน Gen Z คือกลุ่มประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 10-24 ปี เกิดระหว่างปี ค.ศ. 1995 – 2009

- คนเหล่านี้เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ นั่นคืออินเตอร์เน็ต ใช้เวลาส่วนใหญ่กับ มือถือ และ โลกออนไลน์

- มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เรียนรู้ได้เร็ว

- มีความสงสัยใฝ่รู้ถึงหลักการและเหตุผลของสิ่งต่างๆ

อินเตอร์เน็ตทำให้คนติดต่อสื่อสารกันง่ายขึ้น

เรื่องนี้ทำให้ "สื่อกระแสหลัก" ถูกลดทอนพลังลง สื่อกระแสรองสามารถช่วงชิงพื้นที่ niche ของตนเองได้มากขึ้น (ตามทฤษฎี Long Tail ซึ่งยังไม่ขอลงรายละเอียด แต่สนใจลองหาอ่านดูได้นะครับ)

การที่ niche ต่างๆ เติบโตทำให้เด็กรุ่นใหม่พบว่าจากนี้ไปโลกคือความหลากหลาย

...คุณความดีไม่ได้มีอย่างเดียว

...ความเป็นจริงขึ้นอยู่กับมุมมอง

"ประวัติศาสตร์ไม่ได้มีชุดเดียว"

นอกจากประวัติศาสตร์กระแสหลักที่มักสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนแนวคิดชาตินิยมแล้ว ผู้คนยังสามารถเข้าถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น, ประวัติศาสตร์ที่อิงกับอุดมการณ์ทางการเมือง, หรือ "ประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยคนนอก" ได้ง่าย

สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการตรวจสอบ และการถกเถียง

พื้นฐานของวิชาประวัติศาสตร์และสังคมศาสตร์ คือการทำความเข้าใจตัวเรา และสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเรา
ซึ่งปกติคนเรามีความต้องการเข้าใจสิ่งเหล่านี้โดยธรรมชาติ ดังนั้นการทำให้สนใจเรื่องเหล่านี้ "ไม่ควรเป็นสิ่งที่ยาก"

แต่ด้วยตำรา และวิธีการสอนที่เข้าถึงยาก ทำให้เด็กเห็นเรื่องเหล่านี้เป็นของน่าเบื่อ

เด็กพบว่าการต้องจำปี จำชื่อคน จำเรื่องราวของประเทศห่างไกล มันไม่มีประโยชน์ จำแล้วไม่รู้จะเอาไปทำอะไรในอนาคต

สุดท้ายสิ่งเหล่านี้จึงถูกตัดสินว่ามีประโยชน์แค่เพียงอ่านไปให้ “สอบได้คะแนนดี” และเมื่อไม่เห็นประโยชน์ตั้งแต่แรก หลังจากสอบเสร็จแล้วเด็กก็จะลืม

ซึ่งเป็นการเสียเวลาทั้งครูและเด็ก

วิธีแก้ให้เนื้อหาประวัติศาสตร์น่าสนใจมากขึ้นอาจทำได้โดย

(1) เชื่อมโยงกับสิ่งที่เขารู้สึกว่าสำคัญและใกล้ตัว เช่น:

- คนไทยแท้ๆ เป็นอย่างไร? มีผิวขาวหรือดำ?

- ทำไมหลายคนถึงมีเชื้อจีน?

- ทำไมหลายคนถึงมีชื่อเป็นภาษาอินเดีย?

- สำเนียงเหน่อคืออะไร? ทำไมบางคนถึงพูดเหน่อ?

- ชื่อตำบลหรือเขตที่คุณอยู่ แปลว่าอะไร? มีที่มาอย่างไร?

- ทำไมหลายคนถึงไหว้ต้นไม้? การไหว้ต้นไม้ต่างกับการเข้าวัดอย่างไร?

- ทำไมเฟสบุคถึงแบนคำพูด xxx เหล่านี้?

นอกจากนั้น ควรจะ (2) สอนเรื่องที่สำคัญ และเป็นพื้นฐาน สลับกับการสอนเคส เพื่อปูพื้นฐานให้สามารถเข้าใจเรื่องต่างๆ ได้ง่าย

เรื่องที่สำคัญ และเป็นพื้นฐานเช่น:
- การเปลี่ยนแปลงโลก มักเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี

- การนับว่าคนเผ่าใด เป็นชนชาติใด ปกติมักจะนับด้วยภาษา

- ศาสนาแบ่งเป็นสองตระกูลใหญ่ๆ ได้แก่ ดาร์มิก และอับราฮัมมิก ทั้งสองมีพื้นฐานต่างกัน

- เทศกาลในโลกมักตั้งขึ้นตามฤดูกาล เช่น อีสเตอร์ เป็นการเปลี่ยนจากจากฤดูหนาวมาเป็นฤดูใบไม้ผลิ, สงกรานต์ เป็นการเปลี่ยนจากฤดูแล้ง มาเป็นฤดูฝน

- ความคิดฝ่ายซ้ายคืออะไร ความคิดฝ่ายขวาคืออะไร

(3) ให้ลดภาระการท่องจำลงเหลือน้อยที่สุด ให้เด็กเอาพลังสมองไปทำความเข้าใจคอนเซปสำคัญ และเส้นเรื่องใหญ่

การลดภาระท่องจำมีเทคนิคเช่น:

- ใช้ปี ค.ศ. ให้หมด ลดภาระในการเปรียบเทียบ และสืบค้นต่อ (สอนวิธีบวกเป็น พ.ศ. ให้ กรณีอยากบวกเองทีหลัง)

- ต่อให้ใช้ ค.ศ. แล้ว ถ้าเป็นไปได้ อย่าให้จำเป็นปี แต่ให้เป็นช่วงเวลากว้างๆ เช่นต้นคริสตศตวรรษที่ xx จะทำให้เชื่อมโยงกับเรื่องราวอื่นได้ง่าย

- ลดการใส่ชื่อคนลงให้น้อยที่สุด ใส่เฉพาะชื่อคนที่จำเป็น ถ้าคนนั้นมีบทบาทน้อย ให้เรียกด้วยตำแหน่งหรือสถานะ

- แต่ถ้ามีเด็กที่อยากศึกษาเรื่องราวต่ออย่างละเอียด ต้องมีช่องทางให้เขาศึกษาได้

(4) พยายามทำหัวข้อให้น่าสนใจที่สุด

กรณีที่หัวข้อในการสอนเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดมาแล้วตายตัว และหัวข้อนั้นฟังเผินๆ แล้วไม่น่าสนใจ เราสามารถบิดเอาเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ฟังดูน่าสนใจมาชูก่อน ซึ่งเรื่องนั้นไม่จำเป็นต้องครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมด

ยกตัวอย่างเช่น: หากถูกให้สอนเรื่องชีวประวัติ ร.4 >> เราอาจขึ้นต้นว่า "ไขรหัสลับ รัชกาลที่ 4"

"...รู้ไหมว่า ร.4 เคยประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นมาชุดหนึ่งชื่อว่าอักษรอริยกะ และ 'น่าจะ' ใส่รหัสอักษรชุดนี้ไว้ตามหลายๆ สิ่งที่ท่านสั่งให้สร้าง..."

เรื่องนี้ย่อมไม่ได้พูดถึงเรื่องประวัติทั้งหมดของ ร.4 แต่สะท้อนแนวคิด และนิสัยของท่าน ซึ่งทำให้เมื่อศึกษาประวัติลึกลงไปแล้ว จะสามารถเข้าใจ ร.4 และเหตุผลที่ท่านทำสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น

 (5) ใช้สื่ออื่นประกอบ ที่ผมแนะนำคือการเล่นวีดีโอเกม เพราะการเล่นเกมจะทำให้สามารถสัมผัสกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์ และสังคมศาสตร์อย่างลึกซึ้ง และบางทีสามารถเข้าใจ concept ต่างๆ ได้ง่ายกว่าอ่านหนังสือ

เกมที่แนะนำมี ตระกูล Assassin's Creed ซึ่งเราสวมบทบาทเป็นนักฆ่าในช่วงเวลาต่างๆ ในประวัติศาสตร์

เกมนี้จะทำให้เขาสัมผัสเรื่องราว, วัฒนธรรม, สิ่งก่อสร้าง, และประเด็นทางการเมือง ในช่วงเวลานั้นๆ ได้ง่าย

ซึ่งแม้มันอาจไม่ตรงตามความจริงทั้งหมด แต่สามารถนำมาอภิปรายให้จำแนกได้ และจุดประกายให้เด็กไปศึกษาต่อ

เกมอื่นๆ ที่แนะนำ เช่นเกมตระกูล Civilization ซึ่งจะสอนให้เด็กเข้าใจเรื่องการพัฒนาทางเทคโนโลยีด้านต่างๆ ที่สัมพันธ์กับการเป็นไปของประวัติศาสตร์มนุษย์

นอกจากนั้น Civilization ยังช่วยให้เข้าใจปัจจัยการสร้างรัฐ และข้อดีข้อเสียของรูปแบบการปกครองต่างๆ

เกม Celtic Tales: Balor of the Evil Eye เกมนี้เก่าหน่อย แต่ผมรักมันมากเป็นพิเศษ เพราะมันได้เปิดโลกให้ผมรู้จักเทพปกรณัมของไอร์แลนด์ และวัฒนธรรมชาวเซลต์โบราณ

สิ่งนี้ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่ถูกพูดถึงกันมาก แต่การที่ผมเข้าใจสิ่งนี้เป็นเหตุให้ต่อมาผมสามารถเข้าใจประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของชาวยุโรปได้ดีขึ้น

เกม This War of Mine เป็นอีกเกมที่อยากแนะนำ มันจะให้เราสวมบทบาทเป็นคนในพื้นที่สงคราม ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจชีวิตของผู้คนเหล่านั้น และเข้าใจความเลวร้ายของสงครามอย่างลึกซึ้ง

เกมนี้เป็นเกมแรกของโลกที่ได้รับการสนับสนุนให้อยู่ในหมวด "หนังสืออ่านนอกเวลา" เพื่อเด็กสามารถศึกษาได้ง่าย โดยการสนับสนุนนี้เกิดขึ้นที่ประเทศโปแลนด์

ในทางปฏิบัติอาจแจกการบ้านให้เด็กไปเล่นเกมมาจนถึงส่วนนี้ๆ แล้วนำมาอภิปรายทีละส่วน ให้เด็กออกความเห็นว่าเล่นแล้วคิดอย่างไรบ้าง และค่อยๆ สอดแทรกเนื้อหาลงไป

(6) นอกจากนั้นยังมีเทคนิคอื่นๆ ที่ทำให้เด็กสนใจเนื้อหามากขึ้น เช่น:

- ไม่ต้องเฉลยเรื่องราวทั้งหมดกับเด็ก ให้เด็กเล่นเป็นนักสืบแล้วสอบถามหาข้อมูลจากครู

- ให้เด็กสวมบทบาทเป็นคนในประวัติศาสตร์ และโหวตเลือกกระทำในสถานการณ์นั้นๆ

- พาออกไปสำรวจสถานที่จริง จึงเล่าเรื่องราว

- นำวัตถุทางประวัติศาสตร์มาให้ดู และอภิปราย

ภาพแนบ: ช่องไฟนรก หรือทางรถไฟสายไทย-พม่า ที่ญี่ปุ่นสร้างไว้ ผมเห็นว่ามันยากที่จะเข้าใจความยิ่งใหญ่ของสิ่งนี้หากมิได้ไปดูสถานที่จริง


*** อ่านต่อใน comment นะครับ ***

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่