ลับ ลวง พราง !!! GPC ชนะประมูลแหลมฉบัง ???

หลังจากที่ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ชงผลการเจรจาโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (สกพอ.) เพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ จากที่ GPC “จีพีซี” ยื่นข้อเสนอต่ำกว่ามติ ครม. ที่กำหนดไว้ 32,225 ล้านบาท โยน “ประยุทธิ์” ตัดสินอนุมัติเดินหน้าหรือล้มประมูล

สำหรับใครที่ไม่ได้ติดตามมหากาพย์โครงการประมูลพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) ที่ยื่นซองประมูลตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค.2562 และมีข้อพิพาทในศาลปกครองเรื่องการตัดสิทธิ์กิจการร่วมค้า NCP ซึ่งท้ายที่สุดศาลปกครองสูงสุดให้คำพิพากษาที่มีผลให้กิจการร่วม NPC ต้องหมดสิทธิร่วมประมูล และการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เดินหน้าเจรจาผลตอบแทนรัฐกับกิจการร่วมค้า GPC

อ้างอิงข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ ระบุว่า

"กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ที่ประกอบไปด้วย
1. บริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (กลุ่ม ปตท.) ถือหุ้น 30%
2. บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 40%
3. China Harbour Engineering Company Limited ถือหุ้น 30%
เสนอผลตอบแทนให้รัฐอยู่ที่ 12,051 ล้านบาท ในขณะที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบผลตอบแทนรัฐขั้นต่ำที่ 32,225 ล้านบาท ซึ่งนำมาสู่การเจรจาต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2563

ในขณะเดียวกัน กลุ่มกิจการร่วมค้า NPC ซึ่งประกอบด้วย
• บริษัท นทลิน จำกัด
• บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด
• บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน)
• บริษัท พีเอชเอส ออแกนิค ฮิลลิง จำกัด
• บริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ CRCC ประเทศจีน
เสนอผลตอบแทนให้รัฐอยู่ที่ 27,360 ล้านบาท แต่ถูกตัดสิทธิ์ร่วมประมูล"

แต่ถูกตัดสิทธิ์ร่วมประมูล !!!!!

เพราะเมื่อเปิดซองที่ 2 - คุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ ได้แก่ คุณสมบัติของนักลงทุน คุณสมบัติของทางการเงิน ประสบการณ์ของผู้ยื่นข้อเสนอ ปรากฏว่า
"กลุ่ม NPC ยื่นเอกสารในส่วนสัญญากิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ของกลุ่มฯ ลงนามไม่ครบถ้วนและไม่ถูกต้อง ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารคัดเลือกเอกชนของโครงการฯ ซึ่งถือเป็นสาระสำคัญ ซึ่งจะเป็นเอกสารแสดงให้เห็นว่าสมาชิกของกิจการร่วมค้าจะร่วมกันและแทนกันรับผิดอย่างหนี้ร่วม ในการดำเนินการตามสัญญาร่วมลงทุน จึงเป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2"

จนทำให้กลุ่ม NPC ถูกตัดสิทธิ์ในการเข้าร่วมประมูลโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ดังกล่าว

สำหรับเรื่องโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 นั้น เคยถูกนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกมาแถลงการณ์เรื่อง นาสงสัยเกี่ยวกับความโปร่งใสของโครงการฯ

หรือ แม้แต่ในการอภิปรายฯ เพื่อการชี้แจงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 62 ทาง สส.ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ก็ขอให้รัฐบาลตรวจสอบการประมูลโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 นี้

ที่มีความไม่ชอบมาพากล ซึ่งเกี่ยวกับการแข่งขันระหว่างบริษัทที่ทำเรื่องพลังงาน และไม่เกี่ยวกับเรื่องท่าเรือ ได้เสนอประมูล 12,000 ล้านบาท แต่กลับตีตกเอกสารของอีกบริษัทที่เสนอ 26,000 ล้านบาท โดยขอให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวด้วย

นายศรีสุวรรณ จรรยา ย้ำอีกว่า 
การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และรัฐบาล ต้องอธิบายเหตุผลให้สาธารณชนได้ตระหนักรู้ว่า เหตุใดคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการเอกชนร่วมลงทุนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง จึงตัดสินใจเลือกกลุ่มบริษัทที่ให้ผลตอบแทนทางการเงินแก่รัฐน้อยกว่าเป็นผู้ชนะ ซึ่งทำให้รัฐเสียผลประโยชน์มากถึง 26,000 ล้านบาท หากเลือกอีกกลุ่มบริษัทหนึ่ง

ประเด็นข้อพิรุธที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และรัฐบาล ไม่ควรปิดบังซ่อนเร้น และเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะหรือไม่

มาลองฟังความอีกฝั่งของฝั่ง คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการฯ นี้กันบ้าง

“ตอนนี้คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ถือว่าทำหน้าที่ได้สิ้นสุดแล้ว คือ เจรจารายละเอียดกับเอกชนไปจนสุดทางแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาเจรจากันหลายรอบแล้ว แต่เอกชนไม่สามารถเพิ่มวงเงินได้ แต่การที่การท่าเรือฯ จะได้เงินผลตอบแทนน้อยกว่าที่คาดหวังก็เกรงว่าอาจจะโดนโวย ดังนั้นตอนนี้จึงขอให้เป็นอำนาจการพิจารณาของนายกรัฐมนตรี จะยกเลิกเพื่อให้มีการประมูลใหม่หรือจะเดินต่อก็ได้”

อ้างอิงจาก กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 63 หลังจากที่เจรจาต่อรองกันมานาน  โครงการนี้ก็ได้ข้อสรุป ว่า

การท่าเรือแห่งประเทศไทย อ้างว่า
"หากมีการคัดเลือกเอกชนใหม่จะมีผลกระทบต่อการเปิดดำเนินการท่าเทียบเรือ F อาจล่าช้าถึง 2 ปี ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่ท่าเรือแหลมฉบังจะไม่สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าได้ รวมทั้งข้อจำกัดในการรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ของท่าเรือในปัจจุบัน และกรณีที่มีการถมทะเลแล้วเสร็จแต่ไม่มีการร่วมลงทุนสร้างท่าเทียบเรือได้ทันที จะทำให้ กทท. ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาและซ่อมบำรุงโครงสร้างอีกด้วย"

โครงการประมูลเพื่อพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เหลือเพียงลงนามสัญญากับเอกชนเท่านั้น หากลงนามสัญญาแล้ว เอกขนจะรีบดำเนินการเรื่อง EIA ให้แล้วเสร็จ และจะก่อสร้างเสร็จใน 4 ปี

ประชาชนคนทั่วไปก็ได้แต่มองตาปริบๆ ตั้งข้อสงสัยในใจ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่