ทำไมเรียกกรุงศรีอยุธยา ว่า อโยธยา

กรุงอโยธายาคือเมืองเดิมก่อนตั้งกรุงอยุธยาแล้วทำไมตั้งเมืองอยุธยาแล้วยังเรียกว่าอโยธยาอีก
เหมือนเคยอ่านว่าชื่ออยุธยาพึ่งมาตั้งในสมัยพระนเรศรว แต่ทำไมพวกหนัง-ละคร ที่เป็นช่วงกรุงศรีตอนปลาย ยังเรียกอยุธยาว่าอโยธายาอยู่ในเมื่อเปลื่ยน
ชื่อเมืองแล้ว
ความคิดเห็นจาก Expert Account
ความคิดเห็นที่ 2
เรื่องที่ว่าชื่อเมืองเดิม "อโยธยา" แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น "อยุธยา" เป็นข้อสันนิษฐานของนักประวัติศาสตร์ครับ   

นักประวัติศาสตร์ปัจจุบันเชื่อว่ามีรัฐโบราณชื่อ "อโยธยา" (มาจากชื่อเมืองอโยธยาของพระรามในอินเดีย) ที่ฝั่งตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยาในปัจจุบัน  โดยและอ้างอิงจากหลักฐานทางโบราณคดีที่เก่าแก่กว่ากรุงศรีอยุทธยาอยู่ในบริเวณนั้นมาก กับหลักฐานเชิงตำนานและศิลาจารึกต่างๆ  สันนิษฐานน่าจะเป็นศูนย์กลางการปกครองเดิมในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีสายสัมพันธ์สืบเนื่องจากรัฐละโว้   

เมื่อเกิดห่าหรือกาฬโรค (Black Death) ระบาดในปลายพุทธศตวรรษที่ 19 สมเด็จพระเจ้ารามาธิบดี (อู่ทอง)   จึงย้ายตัวเมืองเข้ามาอยู่ในบริเวณเกาะเมืองในปัจจุบัน ซึ่งมีนักประวัติศาสตร์บางคน เช่น สุจิตต์ วงษ์เทศ สันนิษฐานว่าคงจะเปลี่ยนชื่อเมืองจาก "อโยธยา" เป็น "อยุทธยา" เป็นการแก้เคล็ดหรือล้างอุบาทว์

แต่ทั้งนี้ไม่ได้มีหลักฐานบันทึกว่ามีการเปลี่ยนชื่ออย่างชัดเจน   และในทางภาษาศาสตร์คำว่า "อโยทธยา/อโยธยา" กับ "อยุทธยา/อยุธยา" ก็มีความหมายเดียวกันคือ "เมืองที่ไม่อาจต่อรบ" เพียงแต่แผลงรูปสระจาก โอ เป็น  อุ  เท่านั้น     

จริงๆ แล้วสมเด็จพระเจ้ารามาธิบดีอาจจะแค่ย้ายที่ตั้งเมืองเท่านั้น  ชื่อเมืองอาจจะมีการเรียกแผลงสลับไปทั้งสองแบบอยู่ก่อนแล้วก็เป็นได้ครับ


ทั้งนี้เอกสารและตำนานต่างๆ ในยุคหลังก็มีการเรียกเมืองเดิมก่อนสถาปนากรุงศรีอยุทธยาว่า "อยุทธยา" สลับกับ "อโยทธยา/อโยธยา" อยู่จำนวนมาก (แต่เราอาจจะสงสัยไว้ก่อนว่าอาจจะเป็นการเรียกตามชื่อตามภาษาของยุคหลังก็ได้) เช่น

- ตำนานพระธาตุดอยสุเทพกล่าวถึงพระอโนมทัสสีและพระสุมนะเถระซึ่งเป็นลูกเจ้าเมืองสุโขทัยได้ไปบวชเรียนที่เมือง “อายุทธิยา” ก่อน พ.ศ. 1875 และได้กลับมาเมืองสุโขทัย

- ตำนานมูลศาสนา ซึ่งเป็นเรียงความทางศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดที่พบของไทย แต่งในรัชสมัยพญากือนาแห่งเชียงใหม่ กล่าวถึงพระเถระทั้ง 2 รูปไว้ใกล้เคียงกันว่า “เจ้าไททั้ง ๒ ตนนี้ เป็นลูกศิษย์มหาบรรพตะสังฆราชในเมืองสุโขทัย เจ้าไทยทั้งสองลงไปเรียนเอาพระไตรปิฎกทั้ง ๓ ในเมืองอโยธยาโพ้น แล้วกลับมาสู่สำนักของมหาบรรพตะสังฆราชดังเก่านั้นแล” ภายหลังได้ไปอยู่เมืองนครพัน

- ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ (คือพงศาวดารเชียงใหม่) ระบุว่าพระญาร่วงหรือพ่อขุนรามคำแหงเป็นญาติกับกษัตริย์อยุทธยา “อัน ๑ พระญาสรีสธัมมราชนคอรหลวง กับพระญาสรีอยุทธยาอันเปนญาติพระญาร่วง”

- ตำนานสิงหนวติระบุว่า เมื่อพระยายีบาแห่งหริภุญชัยรบแพ้พระยามังราย พญายีบาหนีมาเมืองนครเขลางค์ได้ขอกำลังจากเมืองอโยธยามาช่วย ต่อมาระบุว่าพระยาอโยธยาได้มาร่วมในพิธีราชาภิเษกพระยามังรายเป็นกษัตริย์พร้อมกับพระยาร่วงและพระยางำเมืองด้วย

- ตำนานพระพุทธสิหิงค์ (สิหิงคนิทาน) แต่งโดยพระโพธิรังษีในราว พ.ศ. 1960 ระบุเขตแดนของพระเจ้าสุรังควรราชคือพระร่วงเมืองสุโขทัย (ในที่นี้หมายถึงพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ แต่น่าจะหมายถึงพ่อขุนรามคำแหงมากกว่า) ว่า “พระองค์มีราชอาณาจักรแผ่ไพศาลกว้างขวาง ตั้งแต่แม่น้ำเหนือขึ้นไป (มาติกาคังคา) โดยลำดับที่สุดแม่น้ำน่าน ด้านใต้จรด “อโยธยานคร” ตลอดถึงแคว้นศิริธรรมราช” คือไม่ได้รวมอโยธยาไว้ในอำนาจด้วย

- พงศาวดารเหนือ กล่าวถึงเมือง "อยุทธยา" ก่อนสมัยกรุงศรีอยุทธยาอยู่หลายตอน  




แม้จะสถาปนากรุงศรีอยุทธยาแล้ว ก็ยังปรากฏใช้ชื่อ "อโยธยา" อยู่ซึ่งพบมากในหลักฐานสมัยอยุทธยาก่อนเสียกรุง พ.ศ. 2112 เช่น

-จารึกลานทองวัดส่องคบ 1 จังหวัดชัยนาท  พ.ศ. 1951 กล่าวถึงขุนเพชญสารเจ้าเมืองกรุงไชยสฐาน (เชื่อว่าเป็นชื่อเดิมของชัยนาท) ให้สร้างกุฎีวิหารใน "สฺริอโยทยา"

-จารึกวัดพระศรีรัตนมหาธาตุสุพรรณบุรี (ลานที่ 1) สร้างในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ออกพระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราช พระราชบิดาของพระองค์ว่า "โยโยชฺฌราชปรโมปรโม รุ จกฺก วตฺตินาม" (บรมราชาแห่งอโยชฌ (อโยธยา) ที่ประชาชนรู้จักในพระนามว่าพระบรมจักรพรรดิ)

- วรรณกรรมสมัยต้นอยุทธยาหลายชื้น เช่น ยวนพ่ายที่เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถเรียก "พระนครอโยทธยา"  ลิลิตพระลอเรียกชื่อพระนครว่า "พระนครศรีอโยธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย"

-จารึกพระเจดีย์ศรีสองรัก สร้างในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเพื่อเป็นสัญญาไมตรีกับล้านช้าง  เรียกชื่อพระนครว่า  "...(ศรี)อโยธฺยามหาตีลกภพนพ(รัตน)" อีกตอนหนึ่งเรียกว่า "กฺรุงพฺระนครศฺรีอโยธฺยา"

-สมุดภาพไตรภูมิกรุงศรีอยุธยา เล่มที่ 6 อายุประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 22  ในส่วนแผนที่สะกดชื่อเมืองอยุทธยาว่าอายุประมาณรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองถึงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ เรียกชื่อกรุงศรีอยุทธยาว่า "ศรีโยท่ญา"

"จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม" แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร บันทึกไว้ว่า “ส่วนเมืองสยามนั้น ชาวสยามเรียกว่า ศรีโยธยา (Si-yo-thi-ya) และในคำว่า โย นั้น ต้องจีบปากออกเสียงยิ่งกว่าสระ au ของเรา ลางทีพวกเขาก็เรียกเมืองสยามว่า กรุงเทพพระมหานคร (Crung-thé -paprà-maha-nacôn)” (ควรเป็น ‘ศรีโยธิยา’)



หลักฐานพม่าคือกวีนิพนธ์ของเชงโอห์นเนียว (Shin Ohn Nyo) เป็นกลอนภาษาบาลี 60 บท  พ.ศ. 2060 และบทกวีของเชงอัคคสมาธิ (Shin Aggasamadhi) ซึ่งเกี่ยวข้องกับมัคฆเทวะ (Magghadeva) พ.ศ. 2071 มีการใช้คำว่า "โยธยา"   (พม่าในสมัยหลังยังคงเรียกชาวอยุทธยาว่า 'โยทยา' ယိုးဒယား  ออกเสียงแบบพม่าว่า โยดะยา/โยเดีย)


พงศาวดารล้านช้างเรียกกรุงศรีอยุทธยาว่า "อโยทธยา"





ด้วยเหตุที่นักประวัติศาสตร์ยังไม่พบหลักฐานชั้นต้นที่เรียกชื่อเมืองว่า "อยุทธยา" ช่วงก่อนเสียกรุง พ.ศ. 2112 นำมาสู่สมมติฐานว่าก่อนเสียกรุงอาจมีชื่อเมืองเป็นทางการว่า "อโยธยา" แล้วเปลี่ยนมาเรียก "อยุทธยา" หลังเสียกรุง   

มีหลักฐานจารึกชั้นต้นที่ไม่ได้เรียกชื่อเมืองว่า "อโยธยา" ชิ้นแรกที่พบในปัจจุบันคือจารึกพระราชมุนี (จารึกหลักที่ 314/K 1006) พบที่พนมกุเลนจารึกด้วยอักษรขอมอยุทธยา ภาษาไทย  สันนิษฐานว่าสร้างใน พ.ศ. 2126 รัชกาลสมเด็จพระธรรมราชาธิราช เรียกชื่อว่า "สรียุทธยา"

แต่ทั้งนี้ส่วนตัวผมห็นว่าน่าจะมีการเรียก "อยุทธยา" มาก่อนเสียกรุง พ.ศ. 2112 แล้ว สลับไปมากับ "อโยธยา"  เพราะมีหลักฐานลายลักษณ์ที่สะกด "อยุทธยา" ตั้งแต่ก่อนเสียกรุง พ.ศ. 2112 เช่นประกาศพระราชบัญญัติกฎหมายจำนวนมากตั้งแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดี (อู่ทอง)  

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาฉบับปลีก หมายเลข 2/ก.104  ที่บรรยายเหตุการณ์ในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราช (เจ้าสามพญา)  หรือกำสรวลสมุทรที่เชื่อว่าแต่งในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พระอินทราชา)   

แม้ว่าเอกสารเหล่านี้จะเป็นฉบับที่ชำระหรือคัดลอกมาในสมัยหลัง  แต่น่าจะมีเพียงการปรับแก้การสะกดคำเป็นหลัก  ไม่น่าถึงขนาดเปลี่ยนชื่อเมืองครับ




ในทางราชการทั่วไปพบการสะกดว่า “อยุทธยา” เป็นส่วนใหญ่มาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์  และนำชื่อนี้มาใช้เรียกแทนราชธานีกรุงเทพฯ ด้วยจนถึงสมัยรัชกาลที่ 3


แต่ทั้งนี้วรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ก็ยังมีการเรียก "อยุทธยา" สลับ "อโยธยา/อโยทธยา" ให้เห็นอยู่จำนวนมาก เพราะจริงๆ แล้วมันเป็นแค่การแผลงสระอย่างที่กล่าวมาแล้วครับ

เช่น โคลงภาพคนต่างภาษาวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม รูปชาวไทย พระนิพนธ์กรมหมื่นนุชิตชิโนรส สมัยรัชกาลที่ 3 บรรยายว่า

    รูปสยามงามแม้นนุ่ง   แมนมา ผจงฤๅ
นัคเรศสฤษฎิรักษเรื้อง    ฤทธิตั้ง
มาตยาอโยทธยา            ยลขนาด นี้พ่อ
รบือเดชทั่วทั้งหล้า           แหล่งแสยง ฯ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่