ลูกรักนอนกรน อย่าละเลยจนมีพัฒนาการล่าช้า

การนอนหลับอย่างมีคุณภาพมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางร่างกายและพัฒนาการทางด้านสมองและอารมณ์ของเด็ก เด็กส่วนใหญ่มีอาการนอนกรนได้บ้างเป็นครั้งคราว เช่น ในขณะเป็นหวัดหรือภูมิแพ้กำเริบ ถือว่าไม่เป็นอันตรายใดๆ แต่หากเด็กนอนกรนเสียงดังเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกความเสี่ยงในการมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive sleep apnea) ซึ่งนอกจากทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอแล้ว ยังทำให้หัวใจและปอดต้องทำงานหนัก ส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางด้านต่างๆของเด็กอีกด้วย

เมื่อไหร่ควรพาลูกน้อยมาพบแพทย์
ภาวะนอนกรนเริ่มพบได้ในเด็กวัยประมาณ 3-6 ขวบ อาการน่าสงสัยที่คุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นได้ว่าภาวะนอนกรนส่งผลต่อคุณภาพการนอนของเด็กและเด็กอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับมีดังนี้
   - นอนกรนเสียงดังเป็นประจำ หายใจสะดุดติดขัด
   - นอนดิ้นหรือสะดุ้งเฮือกขึ้นมาระหว่างหลับ
   - มีท่านอนที่ผิดปกติ เช่น นอนคว่ำ แหงนศีรษะ เชิดคางมากกว่าปกติ
   - บางรายอาจปัสสาวะรดที่นอน
   - ปวดหัวหรืออ่อนเพลียในตอนเช้า
   - มีปัญหาการทานอาหารหรือไม่เจริญอาหาร
   - มีปัญหาทางพฤติกรรม เช่น ก้าวร้าว สมาธิสั้น ซนผิดปกติหรือง่วงซึมผิดปกติในเวลากลางวัน

ภาวะนอนกรนในเด็กเกิดขึ้นจากสาเหตุใดได้บ้าง
ภาวะนอนกรนในเด็กเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะภูมิแพ้ ภาวะน้ำหนักตัวเกิน แต่สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการมีต่อมทอนซิลและอะดีนอยด์โต อะดีนอยด์ และ ทอนซิลเป็นอวัยวะน้ำเหลืองที่อยู่ในโพรงจมูกและลำคอ เด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักมีภาวะภูมิแพ้ร่วมด้วย ทำให้เป็นหวัดได้ง่าย การเป็นหวัดบ่อยๆจะกระตุ้นให้ทอนซิลและอะดีนอยด์โตขึ้นได้

วินิจฉัยได้อย่างไร
การวินิจฉัยประกอบด้วยการซักประวัติและการตรวจร่างกาย บางครั้งแพทย์จะใช้การเอกซเรย์ทางด้านข้างของศีรษะเพื่อดูอะดีนอยด์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเพียงพอต่อการวินิจฉัย นอกจากนี้ยังมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือการตรวจ Sleep test ซึ่งเป็นการตรวจคุณภาพการนอนหลับเพื่อช่วยยืนยันผลการวินิจฉัย

รักษาได้อย่างไร
รักษาได้ด้วยการผ่าตัดทอลซิลและอะดีนอยด์ (Adenotonsillectomy) ซึ่งถือเป็นวิธีการรักษามาตรฐาน มีความปลอดภัยสูงและให้ผลลัพธ์ที่ดี กว่า 90%ผู้ปกครองมีความพึงพอใจผลการรักษาและสังเกตพบว่า มีอาการนอนกรนน้อยลงหรือหายไปหลังผ่าตัด
 
ประโยชน์ของการผ่าตัด
   - ทำให้ช่องทางเดินหายใจกว้างขึ้น
   - ทอลซิลและอะดีนอยด์เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคอยู่ในลำคอ เมื่อตัดออกไปจะช่องทางเดินหายใจสะอาดขึ้นช่วยให้อาการเป็นหวัดซ้ำซากลดน้อยลงไป โดยไม่ทำให้ภูมิต้านทานในร่างกายลดน้อยลงเพราะอวัยวะน้ำเหลืองที่อยู่ข้างเคียงจะเข้ามาทำหน้าที่ทดแทน
นอกจากนี้พฤติกรรมก้าวร้าว ซนผิดปกติและสมาธิสั้นเกี่ยวเนื่องจากการนอนไม่มีคุณภาพจะดีขึ้นได้

การผ่าตัดทำได้อย่างไรบ้าง มีอันตรายหรือผลข้างเคียงใด ๆ หรือไม่
ในวันผ่าตัด แพทย์จะนัดให้มาผ่าตัดในช่วงเช้าเพื่อไม่ให้เด็กต้องอดอาหารนาน วิสัญญีแพทย์จะใช้ยาสลบโดยการให้ดมยาหรือฉีดยาเข้าเส้น หลังจากนั้นจะทำการผ่าตัดโดยใช้เครื่องมือผ่านเข้าไปทางปากและลำคอเพื่อตัดทอนซิลและอะดีนอยด์ออก การผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง หลังการผ่าตัดให้เด็กอยู่ในห้องพักฟื้นเพื่อสังเกตอาการประมาณ 2-3 ชั่วโมง หลังจากนั้นแพทย์จะให้เด็กนอนที่โรงพยาบาลหนึ่งคืนเพื่อดูอาการ
การผ่าตัดชนิดนี้เป็นการผ่าตัดที่ไม่ซับซ้อน อันตรายและผลข้างเคียงในการผ่าตัดมักไม่รุนแรงและพบได้น้อย

ใช้เวลาพักฟื้นนานแค่ไหนและต้องดูแลเด็กอย่างไรหลังการผ่าตัด
สัปดาห์แรกเด็กอาจรู้สึกเจ็บปวดเนื่องจากแผลในลำคอได้บ้าง ซึ่งสามารรถควบคุมได้ด้วยยาแก้ปวด  ทำให้มีอาการหงุดหงิดได้บ้าง เด็กบางคนอาจน้ำหนักลดในช่วงนี้เพราะรับประทานอาหารได้น้อยลง

ในสัปดาห์แรกควรให้อาหารอ่อน นิ่ม รสไม่จัด เช่น ไอศกรีม โยเกิร์ต ซุป โจ๊ก เป็นต้น หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรม หรือการออกกำลังกายหนักหน่วง แต่ให้ทำกิจกรรมที่เพลิดเพลินอื่นๆ เพื่อช่วยดึงความสนใจออกจากความเจ็บปวด เช่น ดูทีวี เล่นเกมส์  สัปดาห์ที่สองและสาม อาการจะค่อยๆดีขึ้นและหายสนิทหลังสัปดาห์ที่สามไปแล้ว

หลังการผ่าตัดทอนซิลและอะดีนอยด์จะกลับมาโตได้อีกหรือไม่
โอกาสในการที่อะดีนอยด์กลับมาโตอีกครั้งมีได้น้อยมากเพียงแค่ 3-5% เท่านั้น สาเหตุเกิดจากการควบคุมปัญหาภูมิแพ้ได้ไม่ดีและการเป็นหวัดซ้ำ หลังการผ่าตัด ทำให้เด็กเป็นหวัดซ้ำซาก ดังนั้นหลังผ่าตัด คุณพ่อคุณแม่ควรควบคุมป้องกันไม่ให้อาการภูมิแพ้กำเริบบ่อย ๆ
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่