JJNY : ‘ศิริกัญญา’จี้รัฐเร่งฉีดวัคซีน│โควิดลาม“นาดาว”สั่งปิดค่าย│ก่อตั้งสมาพันธ์สื่อไทยเพื่อปชต.│เมียนมานัดปรบมือทั่วปท.

‘ศิริกัญญา’ จี้รัฐเร่งฉีดวัคซีน-หนุนผู้ประกอบการท่องเที่ยวรับเปิดประเทศ
https://voicetv.co.th/read/flYvju6do

 
‘ส.ส.ก้าวไกล’ ชงแผนรับเปิดประเทศ รัฐต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ครบ-ออกมาตรการการเงินช่วยผู้ประกอบการท่องเที่ยว เพราะถือเป็นโอกาสสุดท้ายของประเทศขออย่าพลาดเป้าซ้ำรอยเดิม
 
ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฝ่ายนโยบาย ระบุผ่านเฟซบุ๊กพรรคก้าวไกล ว่า หลังจาก ศบศ. มีข่าวดีเรื่องมาตรการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3 ระยะ ระยะแรก เริ่มแล้วตั้งแต่เมื่อ 1 เม.ย. โดยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดส แต่ยังต้องมีการกักตัวในโรงแรม 7 วันโดยไม่ต้องกักตัวในห้องพัก หลังจากนั้นจะสามารถเดินทางไปพื้นที่ปิดเพื่อท่องเที่ยวในพื้นที่ที่กำหนดภายนอกโรงแรมได้ โดยพื้นที่นำร่องได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา เกาะสมุย พัทยา และเชียงใหม่ 
 
• ระยะที่ 2 ดีเดย์วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 อนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส แล้วเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตได้และต้องกักตัวอยู่ในภูเก็ตอย่างน้อย 7 วัน ก่อนที่จะสามารถเดินทางไปที่อื่นๆ ได้ และใช้มาตรการป้องกันควบคู่กับ Vaccine Certificated รวมถึงใช้แอปพลิเคชันติดตามตัว 
 
• ระยะที่ 3 ในไตรมาส 4 ปี 2564 จะเพิ่มพื้นที่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่ต้องกักตัวมากขึ้น เช่น กระบี่ พังงา เกาะสมุย พัทยา และเชียงใหม่
 
โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดือนทางมาจำนวน 1 แสนคนในไตรมาส 3 ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศยุโรป และคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 6.5 ล้านคนในปี 2564 
 
โมเดลฟื้นประเทศ
 
ศิริกัญญา ชี้ว่าเท่ากับมีเวลาอีก 3 เดือน เพื่อเตรียมตัวเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยังมีอีก 2 เรื่องใหญ่ๆ ที่ต้องทำงานแข่งกับเวลาให้ทัน เรื่องแรกคือการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในจังหวัดนำร่องให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ หรือ herd immunity ให้ทันเวลา และเรื่องที่ 2 คือ เตรียมการให้ผู้ประกอบการพร้อมรับนักท่องเที่ยว
 
สำหรับเรื่องแรก การเร่งฉีดวัคซีน เพื่อเตรียมรับการเปิดประเทศในเดือนกรกฎาคม ภูเก็ตจะได้วัคซีนราว 100,000 โดส สำหรับ 50,000 คน ในปัจจุบันอัตราการฉีดในภูเก็ตขณะนี้ยังอยู่ที่วันละ 4,000 คนเท่านั้น และยังต้องรออีกระยะเพื่อให้ประชาชนเกิดภูมิคุ้มกัน ตอนนี้ได้รับจัดสรร 50,000 โดสแรกมาแล้ว จากรายงานข่าวของมติชน สาธารณสุขคาดว่าจะสามารถฉีดวัคซีนให้คนภูเก็ตได้เพิ่มเป็นวันละ 7,000 คน 
 
นั่นหมายความว่าหากเป็นไปตามแผน จังหวัดภูเก็ตก็จะกระจายวัคซีนล็อตสอง 50,000 โดส เสร็จสิ้นก่อนสงกรานต์ แต่หากจะฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ จังหวัดภูเก็ตต้องฉีควัคซีนให้ได้ถึง 70% หรือคิดเป็นประชากรราว 460,000 คน ซึ่งต้องใช้วัคซีนประมาณ 920,000 – 930,000 โดส ก่อนเปิดรับนักท่องเที่ยวกลุ่มที่ฉีดวัคซีนครบแล้วให้เดินทางเข้ามา นับว่าเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง
 
การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่เป็นเรื่องสำคัญมาก ถึงแม้เราจะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้วถึงจะเข้าประเทศได้ แต่อย่าลืมข้อเท็จจริงที่ว่าการฉีดวัคซีนโควิดนั้นจะช่วยลดความรุนแรงของอาการป่วย แต่ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ และการแพร่เชื้อ ดังนั้นนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้วจะยังเป็นพาหะของโรคโควิดและสามารถแพร่กระจายโรคได้ ประโยชน์ของการรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้วอยู่ที่เราไม่ต้องเสียทรัพยากรทางการแพทย์ไปรักษานักท่องเที่ยวเท่านั้น 
 
แต่ยังมีความเสี่ยงจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในจังหวัดนำร่องได้เพราะการกักตัวลดลงเหลือ 7 วัน ดังนั้นอย่างน้อยที่สุดหลังกักตัวก็ควรมีการตรวจโควิดแบบ rapid test ดูว่าร่องรอยการติดเชื้อหรือไม่ เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่น่าจะสร้างความอุ่นใจให้ประชาชนได้ไม่น้อย
 
แผนหนุนผู้ประกอบการ
 
สำหรับเรื่องที่สอง ศิริกัญญากล่าวถึงการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการ ครม. เพิ่งมีมติเห็นชอบ 2 มาตรการทางการเงินช่วยเหลือ SME คือมาตรการซอฟต์โลนรอบที่ 2 วงเงิน 250,000 ล้านบาท และ มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset Warehousing) วงเงิน 100,000 ล้านบาท ที่มีแผนจะออกเป็น พรก. โดยอ้างว่าเป็นความเร่งด่วน แต่ยังไม่คลอดออกมาเสียที ทั้งที่ความจริงถ้าจะออกเป็น พ.ร.บ. ก็ไม่น่าจะมีใครขัดข้อง ยอมให้ตั้งกรรมาธิการทั้งสภาเพื่อเปิดช่องทางด่วนให้ผ่านวาระ 2,3 ได้ในวันเดียว แถมสภาฯ ก็เปิดสมัยวิสามัญกันอยู่เป็นระยะ
 
2 มาตรการช่วยเหลือด้านการเงินนี้ ดูจะเป็นความหวังสำหรับภาคท่องเที่ยว มาตรการซอฟต์โลนรอบ 2 น่าช่วยให้ธุรกิจท่องเที่ยวได้สภาพคล่องไปเตรียมตัวเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หลังจากโรงแรมหลายแห่งต้องปิดตัวชั่วคราวมาระยะหนึ่ง หลังการแพร่ระบาดและนักท่องเที่ยวหดหาย ข้อดีของมาตรการรอบนี้คือยอมให้เอกชนที่ยังไม่เคยมีหนี้กับแบงค์ขอกู้ได้ด้วย ยืดระยะเวลาการจ่ายคืนหนี้ออกไปได้สูงสุดถึง 10 ปี 
 
แต่ต้องยอมให้แบงค์ชาร์จดอกเบี้ยแพงขึ้นเป็น 5% และแก้ปัญหาแบงค์ไม่อยากปล่อยลูกค้ากลุ่มเสี่ยง อย่างภาคท่องเที่ยวด้วยการการันตีสินเชื่อโดย บสย. สูงถึง 40% ของพอร์ตสินเชื่อ และอยู่ระหว่างการออกประกาศสัดส่วนการันตีหนี้ตามขนาดของสินเชื่อ รายเล็กอาจจะได้ค้ำประกันในสัดส่วน ที่มากกว่าเพื่อจูงใจให้แบงค์กล้าปล่อยมากขึ้น
 
การแก้ไขซอฟต์โลนรอบนี้ก็คล้ายคลึงกับร่างแก้ไขพรก.ซอฟต์โลนที่พรรคก้าวไกลได้ยื่นต่อสภาไปแล้ว เพื่อปลดล็อกซอฟต์โลน 500,000 ล้านก้อนแรกที่ผ่านไปเกือบปี เพิ่งปล่อยออกไปเพียง 130,000 ล้าน เพราะแบงค์เองยังไม่กล้าปล่อยด้วยความที่กลัวความเสี่ยง และดอกเบี้ย 2% นั้นเข้าเนื้อ ส่วนลูกหนี้ก็บ่นว่าให้กู้แค่ 2 ปีจ่ายคืนหนี้ไม่ไหว
 
ลมหายใจเฮือกสุดท้ายทางธุรกิจ
 
ส่วนมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ หรือ Asset Warehousing น่าจะมาช่วยต่อลมหายใจ ลูกหนี้ที่ใกล้จะหมดลม เพราะจ่ายหนี้ไม่ไหว มาตรการนี้จะช่วยเพิ่มทางเลือกในการปรับโครงสร้างหนี้ โดยการยกทรัพย์สิน เช่น อาคาร หรือที่ดินให้เป็นของแบงค์แทนการจ่ายหนี้ ลูกหนี้ยังคงสิทธิ์ในการซื้อคืนในราคาตีโอน เช่น ธุรกิจโรงแรมสามารถโอนตึกโรงแรมให้เป็นของแบงค์เพื่อปลดหนี้ส่วนหนึ่ง หลังจากนี้ยังสามารถเช่าใช้ตึกทำธุรกิจต่อได้ จนครบ 5 ปีก็สามารถซื้อคืนได้ตามมูลค่าที่แบงค์ตีราคาในวันที่โอน บวกค่าใช้จ่าย carrying cost 1% และค่าบำรุงรักษา
 
แบ่งเบายอดหนี้สะสม
 
ส่วนแบงค์เองน่าจะชอบแนวทางนี้ เพราะนอกจากจะได้ซอฟต์โลนจากแบงค์ชาติ ในอัตรา 0.01% แล้ว ยังไม่ต้องกันสำรองหนี้ที่กำลังจะกลายเป็น NPL กำไรเพิ่ม และน่าจะช่วยแบ่งเบายอดหนี้ให้กับลูกหนี้ ส่วนแบงค์ก็ได้ลดหนี้ NPL วิน-วินทั้งสองฝ่าย แต่ก็ต้องตามดูในรายละเอียดที่ออกตามมา ในการกำกับดูแลการคิดค่าเช่า ค่าใช้จ่ายบำรุงรักษา การประเมินราคาว่าจะเป็นธรรมกับทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้หรือไม่ หรือกลายจะเป็นการอุ้มแบงค์เหมือนที่ผ่านๆ มา
 
ที่ต้องออกมาเตือนกัน เพราะไม่อยากให้ซ้ำรอยเดิม ที่รัฐบาลเพิกเฉยกับงบฟื้นฟูที่มีอยู่ตรงหน้า ทำให้พลาดโอกาสพลิกฟื้นเศรษฐกิจไปอย่างน่าเสียดาย โครงการต่างๆ ตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านภายใต้ พรก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน ที่เพิ่งอนุมัติกันไปเพียง 130,000 ล้านบาท เบิกจ่ายไปได้ไม่ถึงครึ่ง มีโครงการพื้นที่ท่องเที่ยวปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว งบ 15 ล้าน เบิกจ่ายไปไม่ถึง 2 ล้าน หรือแม้แต่โครงการเราเที่ยวด้วยกันวาดฝันโครงการไว้ 20,000 ล้าน แต่เพิ่งใช้งบไปเพียง 8,700 ล้านบาทเท่านั้นเอง” ศิริกัญญากล่าว

https://www.facebook.com/MoveForwardPartyThailand/posts/291844099114284
 


โควิดวุ่น ลามไม่หยุด “ผู้บริหารนาดาว” ติดแล้ว สั่งปิดค่าย กักตัว 14 วัน
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_6278056

โควิดวุ่น ลามไม่หยุด “ผู้บริหารนาดาว” ติดแล้ว สั่งปิดค่าย กักตัว 14 วัน เร่งทำความสะอาดพื้นที่ จัด Work From Home จนหมดช่วงเวลากักตัว

จากกรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ล่าสุด บริษัท นาดาว บางกอก ได้ออกมาประกาศว่าผู้บริหารของค่ายติดเชื้อโควิด-19
 
จากการที่นางสาว จงจิตต์ อินทุ่ง รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายดูแลและพัฒนาศิลปิน ได้ติดเชื้อ COVID-19 และกำลังรักษาตัว ตามที่ได้แจ้ง Timeline ไปแล้วนั้น

นาตาว บางกอก ขอแจ้งมาตรการของบริษัท ดังต่อไปนี้
 
พนักงานบริษัท นาดาว บางกอก จำกัด และบริษัท นาดาว มิวสิค จำกัด ทุกคน ให้กักตัวอย่างเคร่งครัด เป็นเวลา 14 วัน นับตั้งแต่วันจันทร์ที่ 5 เมษายน ถึง วันอาทิตย์ที่ 18 เมษายน 2554 พนักงาน และนักแสดงที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ไปตรวจหาเชื้อ COVID-19 ทันที และแจ้งผลแก่บริษัท
 
หลังจากนั้นให้กักตัวเป็นเวลา 14 วันอย่างเคร่งครัดนับตั้งแต่วันสุดท้ายที่พบผู้ติดเชื้อเพื่อความปลอดภัยและการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้ออย่างสูงสุด บริษัทขอเลื่อนการร่วมงานของนักแสดงที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อทั้งหมดออกไป จนกว่าจะพ้นระยะที่กำหนด
 
บริษัทจะทำการทำความสะอาดพื้นที่ และปรับเปลี่ยนการทำงานเป็นแบบ Work From Home จนหมดช่วงเวลากักตัว นาดาวต้องขอบคุณทุกกำลังใจ และขอบคุณในความเข้าใจจากพาร์ตเนอร์ทุกท่านในการปรับเปลี่ยนแผนงาน และขออภัยในผลกระทบที่เกิดขึ้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่