JJNY : 5in1 รายได้รัฐ5ด.ฮวบ│ธนวรรธน์ห่วงศก.ซึมยาว│ส่งออกข้าวยังเข็นไม่ขึ้น│จี้อาเซียนรับผู้ลี้ภัย│เมียนมายังวุ่นเผารธน.

ยอดจัดเก็บรายได้รัฐ5 เดือนฮวบ ติดลบ1แสนล้าน
https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2653608

เมื่อวันที่ 1 เมษายน น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิ 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 ที่ต่ำกว่าประมาณการนั้น เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวเนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังมีการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสาหรับภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งทำให้รายได้ภาษีบางส่วนในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีการย้ายไปชำระในเดือนมีนาคม 2564 แทน โดยเฉพาะรายได้ของกรมสรรพากร
 
น.ส.กุลยา กล่าวว่า ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 2563 -กุมภาพันธ์2564) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น จำนวน 926,770 ล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 1,406,827 ล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 386,810 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 516,229ล้านบาท
 
รายงานจากกระทรวงการคลังระบุว่า การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิใน 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 2563 – กุมภาพันธ์ 2564) จัดเก็บได้ 842,187 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 105,521 ล้านบาท หรือ 11.1% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 145,064 ล้านบาท หรือ 14.7% โดยยอดจัดเก็บรายได้ติดลบทุกรายการ ทั้งจาก 3 กรมภาษี ได้แก่ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร เก็บรายได้รวมกัน 868,556 ล้านบาท ลดลง 112,639 ล้านบาท จากปีก่อน และต่ำกว่าเป้าหมาย 93,510 ล้านบาท โดยการจัดเก็บรายได้ปีนี้คาดว่าจะติดลบ ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลกังวลว่าจะกระทบต่อการปิดหีบงบประมาณ และเป็นไปได้ว่าอาจต้องมีการกู้เพิ่มเติมมาใช้ปิดหีบด้วย
 

 
“ธนวรรธน์”ห่วงเศรษฐกิจซึมยาวฟื้นตัวยาก
https://www.innnews.co.th/news/economy/news_73641/
 
“ธนวรรธน์” ห่วง เศรษฐกิจไทยซึมยาวฟื้นตัวยาก เร่ง ฉีดวัคซีนเปิดประเทศดันท่องเที่ยวก่อนทรุดหนัก
 
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจของประเทศยังไม่ฟื้นตัวมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางภาครัฐยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องออกมาเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจ รวมถึงการผลักดันใช้มาตรการต่างๆ เพื่อเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวให้ได้ตามกำหนดสร้างเม็ดเงินในการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยตัวเอง โดยเฉพาะการเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ในพื้นที่เศรษฐกิจและจังหวัดท่องเที่ยวสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่ ก่อนการเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ
 
ด้านนางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า รัฐบาลควรเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนการฉีดวัคซีนอย่างจริงจังเพราะเวลานี้เห็นว่ารัฐบาลไม่น่าจะสามารถฉีดและกระจายวัคซีนได้อย่างทั่วถึง และทันตามเวลาที่กำหนดตามแผนในการเปิดประเทศ ซึ่งหากเกิดความผิดพลาดโอกาสในการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศจะไม่สามารถทำได้เศรษฐกิจอาจต้องซึมตัวยาวและฟื้นตัวยากขึ้น
 

 
ส่งออกข้าว ยังเข็นไม่ขึ้น
https://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/474300
 
นายกสมาคมส่งออกข้าวไทย เผย ส่งออก "ข้าวไทย" หืดจับ ตกอยู่ในลำดับ 3 ตามหลัง “อินเดีย-ปากีสถาน” โอดปัจจัยลบเพียบ โควิด ฉุดการซื้อหายวูบ กระทบราคาข้าวในประเทศแดงทั้งกระดาน
  
นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายก สมาคมส่งออกข้าวไทย เผย จากข้อมูลของกรมศุลกากร การส่งออกข้าวในช่วง 2 เดือนแรกของปี (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2564) มีปริมาณ 829,277 ตัน มูลค่า 15,542.4 ล้านบาท ( 521.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ) โดยปริมาณส่งออกลดลง 12.6% และมูลค่าลดลง 11.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีการส่งออกปริมาณ 949,163 ตัน มูลค่า 17,563.4 ล้านบาท ( 584.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ )
 
การส่งออกข้าวในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีปริมาณ 407,800 ตัน มูลค่า 7,716 ล้านบาท โดยปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลง 3.2% และ 1.4% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2564 ที่มีการส่งออกปริมาณ 421,477 ตัน มูลค่า 7,826 ล้านบาท ส่งผลให้อันดับการส่งออกข้าวของไทยอยู่ในอันดับที่ 3 ตามหลังประเทศอินเดีย และปากีสถาน เนื่องจากราคาข้าวไทยยังคงสูงกว่าอินเดียและปากีสถานมาก
 
ประกอบกับกำลังซื้อของประเทศผู้นำเข้ายังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควรท่ามกลางระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของหลายประเทศ ขณะที่ปัญหาด้านลอจิสติกส์ทั้งการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้นยังไม่คลี่คลายเท่าที่ควร โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีการส่งออกข้าวนึ่งปริมาณ 78,292 ตัน ลดลงถึง 33.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ส่วนใหญ่ส่งไปตลาดหลักในแอฟริกา
 
เช่น แอฟริกาใต้ เยเมน แคเมอรูน เป็นต้น ขณะที่การส่งออกข้าวขาวมีปริมาณ 171,957 ตัน เพิ่มขึ้น 18.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ส่วนใหญ่ส่งไปยังประเทศญี่ปุ่น โมซัมบิก สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ส่วนการส่งออกข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) มีปริมาณ 100,070 ตัน เพิ่มขึ้น 2.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่วนใหญ่ส่งไปยังตลาดหลัก เช่น สหรัฐฯ จีน ฮ่องกง แคนาดา เป็นต้น
  
สมาคมส่งออกข้าวไทย คาดว่าในเดือนมีนาคม 2564 ปริมาณส่งออกข้าวจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ที่ระดับประมาณ 400,000-450,000 ตัน ซึ่งถือเป็นระดับที่ไทยสามารถส่งออกใด้ในภาวะการแข่งขันในปัจจุบัน ท่ามกลางภาวะการระบาดของโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจของผู้ซื้อที่ยังคงซบเซาส่งผลต่อกำลังซื้อที่มีไม่มากเหมือนช่วงปกติ ทำให้ปัจจัยทางด้านราคาข้าวมีผลต่อการตัดสินใจของผู้ซื้อมากขึ้น
 
โดยในช่วงนี้ข้าวขาว 5% ของไทยราคาอยู่ที่ 509 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน อยู่ที่ 498-502, 408-412 และ 438-442 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ตามลำดับ ส่วนข้าวนึ่งของไทยราคาอยู่ที่ 519 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวนึ่งของอินเดีย และปากีสถาน อยู่ที่ 383-387 และ 455-459 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ตามลำดับ
 
ขณะที่ สมาคมโรงสีข้าวไทย รายงาน สถานการณ์ราคาข้าวเปลือกและข้าวสาร ในประเทศก็ปรับตัวลดลงมาเช่นเดียวกัน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่