"อี.ที. เพื่อนรัก" พบเจอ ผูกพัน ลาจาก มิตรภาพแสนบริสุทธิ์จากต่างดาว


“ฉันจะอยู่ตรงนี้” อาจเป็นเพียงประโยคเรียบง่าย แต่มีความหมายแสนยิ่งใหญ่ เมื่อมันออกมาจากปากของคนที่เราให้ความสำคัญ มันยังเป็นคำมั่นสัญญา และคำกล่าวลา ที่ อี.ที. (E.T.) สิ่งมีชีวิตจากต่างดาว กล่าวกับเด็กชายชาวโลกที่ชื่อ เอลเลียต (Elliott) ก่อนจะเดินทางขึ้นยานกลับบ้านของตัวเองไปอีกด้วย

มิตรภาพของเพื่อนต่างสายพันธุ์ตรึงใจผู้คนมาตั้งแต่ 38 ปีก่อน และยังคงทุ้มอยู่ในใจมาจนถึงตอนนี้ นี่คือเรื่องราวของ E.T. the Extra-Terrestrial (1982) ภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดความสัมพันธ์แสนบริสุทธิ์ และจินตนาการสุดล้ำของ สตีเฟน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) ออกมาได้อย่างงดงาม

ย้อนกลับไปในช่วงปี 1980s เป็นยุคสมัยที่กระแสของภาพยนตร์สมัยใหม่ ที่มีเนื้อเรื่องแฟนตาซี ไซไฟ เหนือจินตนาการกำลังได้รับความนิยม ช่วงเวลาที่วงการภาพยนตร์มักนำเสนอบทบาทของมนุษย์ต่างดาวในแง่มุมของวายร้าย ที่อยากจะเข้ามาทำลายหรือยึดครองโลก แต่สปีลเบิร์กกลับมีไอเดียแตกต่างออกไป

เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า อันที่จริงเรื่องราวของอี.ที. ถูกวางให้เป็นภาคต่อของภาพยนตร์ไซไฟ-สยองขวัญ เรื่อง Close Encounters of the Third Kind (1977) เป็นเรื่องราวแนวเอเลี่ยนบุกโลกที่มีเส้นเรื่องใหญ่ ๆ คือการที่มนุษย์ต่างดาวขึ้นยานไม่ทันและติดอยู่บนโลก ครอบครัวที่อยู่ใกล้ที่สุดจึงต้องเอาชีวิตรอดจากมันให้ได้ แต่เพราะตอนนั้นสปีลเบิร์กไม่เห็นด้วย เขาจึงเปลี่ยนมาทำเป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเอเลี่ยน

เทียบกับผลงาน 3-4 เรื่องของที่ผ่านมา E.T. the Extra-Terrestrial ไม่ได้เป็นภาพยนตร์ที่มีเรื่องราวแสนซับซ้อน หรือมีเทคนิคการถ่ายทำหวือหวาเหมือนภาพยนตร์เรื่องก่อน ๆ สปีลเบิร์ก พัฒนาบทร่วมกับ เมลิสสา แมททีสัน ภรรยาของแฮริสัน ฟอร์ด โดยใช้โครงเรื่องจากจินตนาการและประสบการณ์ส่วนตัวที่พ่อแม่อย่าร้างกันของเขา


สปีลเบิร์กถ่ายทอดความรู้สึกโดดเดี่ยว สับสน และโหยหา ซึ่งเป็นอะไรที่เขาเคยรู้สึกมาในวัยเด็กผ่านตัวละคร ‘เอลเลียต’ (แสดงโดย เฮนรี โทมัส) เด็กชายวัย 10 ขวบที่กำลังพยายามจัดการกับความรู้สึกขาดหาย แม้เขาจะมีบ้านที่ปลอดภัย มีครอบครัวแสนอบอุ่น แต่เพราะ พ่อ ไปมีผู้หญิงคนอื่นและทิ้งแม่กับพวกเขาไป เขาได้สร้างบาดแผลใหญ่ให้ทุกคนในครอบครัว ไม่เว้นแม้แต่ เกอร์ตี้ (แสดงโดย ดรูว์ แบร์รีมอร์) น้องสาวคนเล็กของเขาเอง

เอลเลียตกับเพื่อนใหม่พบกันครั้งแรกในป่า หลังจากยานอวกาศของเอเลี่ยนถูกค้นพบ และรีบร้อนเดินทางหนีออกจากโลกไป พวกเขาจึงไม่ทันสังเกตว่าลืมสมาชิกอีกคนทิ้งไว้บนดาวที่ไม่มีอะไรคุ้นเคย เอลเลียตบังเอิญพบกับมนุษย์ต่างดาวที่ตกค้างบนโลก พวกเขาทั้งตกใจและหวาดกลัวกันและกันในทีแรก แต่เพราะความรู้สึกนึกคิดของเด็ก ๆ ไม่ซับซ้อน ความอยากรู้อยากเห็นนำพาให้เอลเลียตทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ โดยใช้ลูกอมยี่ห้อ Reese’s Pieces เป็นสะพานเชื่อมสัมพันธ์

เอลเลียตพาเพื่อนใหม่มาอยู่ที่บ้าน ก่อนจะจะตั้งชื่อให้มันว่า อี.ที. พวกเขาค่อย ๆ พัฒนาความสัมพันธ์แปลก ๆ นี้ โดยเริ่มจากการสื่อสารผ่านภาษาและการใบ้คำแสนประหลาด พวกเขาสนิทสนมกันมากขึ้น และพบว่าทั้งคู่มีบางอย่างที่ต่างฝ่ายต่างโหยหา ขณะที่ อี.ที. ต้องการที่พักพิง ต้องการ ‘บ้าน’ เอลเลียตก็ต้องการเพื่อนสักคนที่เข้าอกเข้าใจ สามารถเป็น ‘บ้าน’ ที่ทำให้เขาไม่รู้สึกโดดเดี่ยว พวกเขาต่างเติมเต็มส่วนที่ขาดหาย จนกลายเป็นเพื่อนรักกันในที่สุด

แม้เอลเลียตจะรู้สึกดีใจที่มี อี.ที.เป็นเพื่อน เขาก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า อี.ที.ไม่สามารถอยู่กับเขาไปได้ตลอด อี.ที.ต้องการกลับบ้าน อาการโฮมซิกทำให้ร่างกายของเพื่อนต่างดาวแย่ลง เมื่อเห็นเพื่อนเป็นอย่างนี้ เอลเลียตจึงพยายามช่วย อี.ที.สร้างเครื่องส่งสัญญาณวิทยุไปในอวกาศ เพื่อแจ้งให้ยานแม่กลับมารับ ขณะเดียวกัน พวกเขาก็ต้องพยายามหลบหนีการตามล่าจากเจ้าหน้าที่รัฐบาล ที่ต้องการตัว อี.ที. เพื่อไปทำการวิจัยด้วย

เรื่องราวดำเนินไปถึงจุดที่ อี.ที. ได้กลับบ้าน ในขณะที่มันกำลังเดินจะขึ้นยาน เอลเลียตก็โผล่มาเพื่อบอกลาเสียก่อน แม้เอลเลียตจะขอร้องให้ อี.ที. อยู่กับเขาต่อ (stay) และ อี.ที.จะบอกเอลเลียตให้ขึ้นยานไปด้วยกัน (come) แต่ทั้งคู่ก็รู้ดีว่าทั้งสองตัวเลือกนี้ ไม่มีข้อไหนที่เป็นไปได้เลย ตัวเลือกสุดท้ายที่จะสามารถเยียวยาความเศร้าของเอลเลียตได้ อี.ที. ค่อย ๆ ยกนิ้วชี้เรืองแสงของเขาขึ้นมา วางนิ้วลงบนหน้าผากของเอลเลียตช้า ๆ ก่อนจะกล่าวคำสัญญาว่า “I’ll be right here.”


ประโยคดังกล่าวราวกับจะสลักลงไปในความรู้สึกของเด็กชาย แม้ว่ามันจะเรียบง่ายแต่ก็ยังแจ่มชัดในความทรงจำ พวกเขาต่างรู้ดีว่ามิตรภาพครั้งนี้จะไม่มีทางเลือนหายไป แม้ทั้งสองจะไม่มีโอกาสได้เจอกันใหม่อีกแล้วก็ตาม

เรื่องราวของ อี.ที.และเอลเลียต อาจไม่ได้มีแง่มุมซับซ้อนหรือสะท้อนแนวคิดอันยิ่งใหญ่ มันเพียงถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดทั่วไปอย่างการโหยหาครอบครัว เพื่อน หรือใครสักคน ที่ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือเผ่าพันธุ์ไหน ๆ ในจักรวาลของสปีลเบิร์ก ก็ย่อมอยากหนีจากความโดดเดี่ยว อ้างว้าง และมองหาสถานที่แห่งความสบายใจของตัวเอง

และเพราะมันเรียบง่ายเช่นนั้น ใครก็ตามที่ได้ดูย่อมรู้สึกผูกพันกับทั้งคู่โดยง่าย แม้แต่เฮนรี โทมัส ผู้รับบทเอลเลียต ก็ยังให้สัมภาษณ์ว่า “เพราะความเมตตาและความเห็นอกเห็นใจ เป็นสิ่งที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน”

“มันเป็นเหมือน Wizard of Oz ของพวกเรา” ดี วอลเลซ (Dee Wallace) ผู้รับบทบาทเป็น ‘แมรี’ แม่ของเอลเลียต กล่าว “อี.ที. กลายเป็นตำนานระดับโลก เพราะมันเป็นเรื่องราวของความรัก ที่จะทำให้หัวใจของทุกคนเปิดออก เมื่อคุณเปิดใจได้แล้ว แม้แต่เอเลียนตัวน้อยจากต่างดาว ก็เป็นเพื่อนรักของคุณได้”

ปี 1982 E.T. the Extra-Terrestrial สร้างปรากฏการณ์ทำรายได้จากการฉายในโรงถึง 359 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เฉพาะในสหรัฐอเมริกา ทำลายสถิติของ Star Wars ที่ครองอันดับหนึ่งอยู่ก่อน แม้ว่ามันอาจจะไม่ได้เป็นภาพยนตร์ที่โชว์ความสามารถการกำกับอันแสนวิเศษของ สปีลเบิร์ก แต่มันก็เป็นผลงานที่สะท้อนตัวตน และมุมมองที่เขามีต่อชีวิตและความสัมพันธ์ออกมาอย่างแจ่มชัด


มากกว่ารางวัลอคาเดมีอวอร์ดที่ E.T. the Extra-Terrestrial คว้ามาครองได้ถึง 4 สาขา การที่ภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นผลงานอมตะ ที่ยังตราตรึงใจผู้คนทั้งยุคเก่าและยุคใหม่ ในอีกเกือบ 40 ปีต่อมา ก็นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จ ที่สปีลเบิร์กได้สลักไว้ในหัวใจของคนดู เรื่องราวมิตรภาพและความสัมพันธ์ครอบครัวที่ อี.ที. นำเสนอ ทำให้เราระลึกว่า ไม่ว่าจะเป็นใครในจักรวาลนี้ก็ไม่สมควรอยู่อย่างโดดเดี่ยว แม้จะไม่มีเพื่อนมนุษย์อยู่เคียงข้างแต่ก็ยังมีเพื่อนในจินตนาการอยู่

ในหลาย ๆ แง่มุมสปีลเบิร์กเคยบอกว่า อี.ที. เป็นตัวแทนของเพื่อนในจินตนาการ ที่เต็มใจจะอยู่เคียงข้าง และช่วยหาทาง ‘กลับบ้าน’ ให้แก่เราเสมอไป

เรื่อง : พาขวัญ ศักดิ์ขจรยศ

ขอขอบพระคุณบทความจาก The people
https://thepeople.co/e-t-the-extra-terrestrial-friendship-from-from-outer-space/

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่