JJNY : ปี64 คนไทยหนี้เพิ่ม เงินออมลด รายได้ไม่แน่นอน│จีดีพี‘สหรัฐ’ติดจรวด│เบนซ์ ส.ว.จอดที่คนพิการ│ร้องชวนสอบสัญญาณไฟไหม้

ปี 64 คนไทยหนี้เพิ่ม เงินออมลดลง รายได้ไม่แน่นอน และภาระเพิ่มเร็วกว่ารายได้
https://brandinside.asia/debt-in-thailand-2021-in-covid-era/
 

 
• จากผลสำรวจ คนไทยบางส่วนมีหนี้เพิ่มขึ้น เทียบกับช่วงก่อนโควิด 3 อันดับแรก คือ บัตรเครดิต, ผ่อนรถยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคล
• การออมเงินลดลง สัดส่วนไม่ถึง 40% สะท้อนภาพที่รายจ่ายสูงกว่ารายได้
• รายได้ยังมีความไม่แน่นอน ภาระเพิ่มขึ้นเร็ว และการปล่อยสินเชื่อใหม่จากสถาบันการเงินมีแนวโน้มยากขึ้น
 
ความเดิมจากตอนที่แล้ว สถานการณ์แรงงานไม่ดีนัก มีแนวโน้มคนตกงานเพิ่มขึ้น ทำให้น่าสนใจต่อว่าแล้วสถานการณ์หนี้ของคนไทย หลังจากเกิดโควิดมาเป็นอย่างไรบ้าง
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย หรือ KResearch ได้ทำการสำรวจภาวะหนี้สินและการออมของประชาชนในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ช่วงเดือน มี.ค.​64 จำนวนกว่า 300 คน ในกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามมีภาระหนี้สินเฉลี่ย 6.8 แสนบาท โดย 16% มีหนี้สินเพิ่มขึ้นจากการสำรวจรอบปี 62 ก่อนโควิดระบาด
 
ภาระหนี้ที่ต้องจ่ายแต่ละเดือน (Debt Service Ratio) มีสัดส่วน 42.8% คิดง่ายๆ ว่าถ้ามีเงิน 100 บาท ต้องจ่ายหนี้ 42.8 บาท เหลือเงินใช้และเงินออม 57.2 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 62 อยู่ที่ 39.4% นี่เป็นประเด็นที่น่าสนใจ หากมีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท การใช้จ่ายไม่ให้เกิน 50% ของรายได้ เท่ากับสามารถรองรับค่าอาหาร ค่าเดินทางด้วยรถสาธารณะ และค่าเช่าบ้านหลักพันต้นๆ ซึ่งเหมาะสำหรับใช้ชีวิตคนเดียวได้เท่านั้น
 
ภาระหนี้สินเพิ่ม ความกังวลในการผ่อนชำระในอนาคตก็เพิ่มตาม
 
เมื่อลงลึกในรายละเอียดของภาระหนี้สิน เกิดจากอะไรบ้าง พบว่า
 
• บัตรเครดิต 29.6%
• สินเชื่อซื้อรถยนต์ 29.1%
• สินเชื่อส่วนบุคคล 13.6%
• สินเชื่อบ้าน 10.5%
• สินเชื่อเพื่อทำธุรกิจ 10.2%
• สินเชื่อนอกระบบ 2.5%
 
เหตุผลของการเกิดหนี้ คือ ใช้บริการสินเชื่อเพื่อซื้อทรัพย์สินและสร้างธุรกิจ รวมถึงการผ่อนชำระสินค้าจากการใช้บัตรเครดิต การมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่คาดคิด ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถาม 3 ใน 4 แสดงความกังวลต่อความสามารถในการผ่อนชำระในอนาคต ซึ่งมาจาก รายได้ที่ไม่แน่นอน (45.3%) ค่าครองชีพและภาระหนี้เพิ่มเร็วกว่ารายได้ (41.4%) และภาระผ่อนหลังมีมาตรการเยอะและนานขึ้น (12.7%)
 
โควิดมา ปัญหาเพิ่มขึ้น!!
 
มากกว่าครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม (56.2%) มีปัญหารายได้ลดลงจากปีก่อน โดยกลุ่มพนักงานบริษัทได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยพบว่า
 
• โบนัสและค่าตอบแทนลดลง 52%
• ชั่วโมงทำงานลดลง 34.7%
• ถูกลดเงินเดือน 13.3%
 
ขณะที่กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าและผู้รับจ้างทั่วไปได้รับผลกระทบอันดับสอง ตามมาด้วยผู้ที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว
 
สำหรับกลุ่มที่มีรายได้ลดลง แต่ไม่สามารถลดค่าใช้จ่ายประจำวันลงได้ พบว่า ภาระหนี้ต่อรายได้อยู่ที่ 45.9% สูงกว่าค่าเฉลี่ยภาพรวม 42.8% (รายได้ 100 บาท ต้องใช้หนี้ 45.9 บาท) และกลุ่มนี้มีเงินออมที่ต่ำกว่าภาพรวมด้วย โดยอยู่ที่ 9.5% ส่วนภาพรวมเงินออมอยู่ที่ 12.5% ต่อรายได้ (รายได้ 100 บาท เงินออม 12.5 บาท)
 
นอกจากนี้ สัดส่วนผู้ที่มีเงินออมอยู่ที่ 38.9% ของผู้ตอบแบบสอบถาม เท่ากับว่าคนที่มีเงินออมมีไม่ถึงครึ่ง และในจำนวนนี้ผู้ที่มีเงินออมมากกว่า 3 เดือนขึ้นไปเพียง 46.2% ของผู้มีเงินออม
 
ส่วนการสำรวจเรื่องรายได้เปรียบเทียบปี 64 กับปี 62 (ก่อนเกิดโควิด) พบว่า ลดลงประมาณ 2.4-3.6% แต่ค่าใช้จ่ายไม่ได้ลดลง
 
หนี้ครัวเรือน น่าห่วง การปล่อยสินเชื่อใหม่มีแนวโน้มลดลง
 
หากสถานการณ์โควิดดีขึ้น มีการเปิดประเทศ มีการจ้างงาน สิ่งที่ไทยต้องกลับมาดูแลอย่างจริงจังคือ หนี้ครัวเรือน ซึ่งคาดว่ามีโอกาสเพิ่มขึ้นแตะ 90% ภายในสิ้นปี 64 (เทียบกับ 89.2% เมื่อสิ้นปี 63) ซึ่งหนี้ครัวเรือนที่เหมาะสมจะช่วยการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ถ้าสูงเกินไปจะกระทบความสามารถในการชำระหนี้ สำหรับประเทศไทยถือว่าไม่น้อย เมื่อเทียบกับประเทศในเอเชีย ไทยเป็นรองเกาหลีใต้ที่แตะเส้น 100% ไปแล้ว
 
ดังนั้น เชื่อว่ามาตรการดูแลจะให้ก่อหนี้ได้ตามความจำเป็นและความสามารถในการชำระหนี้ (Affordability) สถาบันการเงินอาจต้องพิจารณาตัวแปรอื่นๆ เช่น รายได้ ค่าใช้จ่าย แนวโน้มรายได้และค่าใช้จ่าย ภาระหนี้ที่มี ประวัติทางการเงินอื่นๆ เพื่อประเมินความสามารถในการชำระหนี้ และวงเงินสินเชื่อที่ควรได้รับ จากปัจจุบันที่เน้นเรื่องรายได้เป็นหลัก เช่น กรณีบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล
 
ธุรกิจใหม่อย่าง Digital Lending จากสถาบันการเงินและ นอนแบงก์ เพื่อลดการพึ่งพาเงินนอกระบบ โดยเฉพาะกับผู้ที่มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ เชื่อว่าวงเงินสินเชื่อจะมีขนาดเล็ก ไม่สามารถรองรับการซื้อบ้านซื้อรถได้
 
สรุป
 
สำหรับพวกเราที่มีภาระหนี้ ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า จะลดหนี้เดิมได้อย่างไร สามารถเพิ่มรายได้ได้ไหม ลดค่าใช้จ่ายหรือยัง ไปคุยกับสถาบันการเงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้หากผ่อนชำระตามเงื่อนไขปัจจุบันไม่ไหว
 
คำถามต่อมาคือ เราวางแผนการเงินรองรับสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงหรือยัง ตามหลักการควรมีเงินออมให้ใช้จ่ายอย่างน้อย 3-6 เดือน ดังนั้นการรักษาวินัยการใช้จ่ายจึงสำคัญมาก ควรตั้งอยู่บนเหตุผลและความจำเป็นมากกว่าความอยากได้หรือตามกระแสนิยม
 
อย่าประมาทกับเรื่องเงินๆ ทองๆ เพราะโควิดรอบนี้ ย้ำว่าความไม่แน่นอนคือความแน่นอน ไม่มีใครตอบได้ว่าแม้จะมีวัคซีน แต่การระบาดของไวรัสตัวเดิมหรือตัวใหม่จะไม่เกิดขึ้นอีก!
 

 
จีดีพี ‘สหรัฐ’ ติดจรวด ลุ้นโตแซงจีนในรอบ 45 ปี
https://www.prachachat.net/world-news/news-630757
 
หลายทศวรรษที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนมีอัตราการเติบโตเร็วกว่าของสหรัฐอเมริกามาก แต่สถิติดังกล่าวอาจถูกทำลายในปี 2021 เนื่องจากสหรัฐสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วหลังการระบาดของโควิด-19
 
โดยนักเศรษฐศาสตร์และสถาบันการเงินหลายแห่งได้ปรับอัตราการขยายตัวของตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรงในปีนี้ อย่าง 
โกลด์แมน แซกส์” ที่ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐปีนี้จากเดิมขยายตัว 5.4% มาอยู่ที่ 6.9% ซึ่งถือว่าเป็นการขยายตัวสูงสุดนับจากปี 1984
 
ขณะที่ “แบงก์ ออฟ อเมริกา” ปรับเพิ่มคาดการณ์จาก 6.0% มาเป็น 6.5% และ “โจเซฟ บรูซูลาส” นักเศรษฐศาสตร์บริษัทคอนซัลต์อาร์เอสเอ็ม จากเดิมที่คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 5.4% ล่าสุดปรับมาอยู่ที่ 7.2%
  
ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ปัจจัยหลักที่สถาบันการเงินและนักเศรษฐศาสตร์ต่างเพิ่มอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจสหรัฐเนื่องจากการอนุมัติ “แพ็กเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ” วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ได้ผ่านการอนุมัติจากสภาคองเกรส และ “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้เซ็นรับรองเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งกฎหมายแพ็กเกจฉบับล่าสุดประกอบด้วยการให้เงินประชาชนทั้งผู้ใหญ่และเด็ก 1,400 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน และกองทุนช่วยเหลือโครงการต่าง ๆ อย่างการต่ออายุโครงการมอบสวัสดิการช่วยเหลือบุคคลว่างงาน, การช่วยเหลือหน่วยงานปกครองท้องถิ่น และการช่วยเหลือโครงการที่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นต้น
  
นอกจากนี้อีกปัจจัยที่สถาบันการเงินต่างปรับเพิ่มตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐเนื่องจากโครงการ “ฉีดวัคซีน” ที่กำลังเดินหน้าอย่างรวดเร็ว ข้อมูลจากเว็บไซต์เอาต์เวิลด์อินดาต้า เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2564 รายงานว่า ชาวอเมริกันได้ฉีดวัคซีนโควิดอย่างน้อย 1 โดสแล้ว 107 ล้านคน หรือประมาณ 30% ของประชาชนทั้งประเทศ โดยกรมป้องกันโรคติดต่อ (CDC) สหรัฐรายงานว่า มีการฉีดวัคซีนโดยเฉลี่ย 2.39 ล้านโดสต่อวัน
  
โครงการฉีดวัคซีนโควิดที่รวดเร็วของสหรัฐ รวมถึงอัตราผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ซึ่งลดลงเรื่อย ๆ ทำให้มีโอกาสที่จะเริ่มปลดล็อกดาวน์จนกลับมาเหมือน “สภาวะปกติ” ก่อนโควิดระบาดได้เร็วขึ้น
  
ขณะที่ “มอร์แกน สแตนลีย์” คาดการณ์ว่า ตอนนี้ประชาชนสหรัฐออมเงินอยู่ถึง 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ และการ “กำจัด” โควิดอย่างรวดเร็ว จะทำให้ประชาชนเริ่มออกมาใช้จ่ายบริโภคมากขึ้นเรื่อย ๆ และยังระบุด้วยว่า ช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้เศรษฐกิจสหรัฐจะกลับมามี “ขนาด” เท่ากับช่วงก่อนโรคโควิดระบาด ซึ่ง “มอร์แกน สแตนลีย์” คาดการณ์ว่าจีดีพีประเทศจะขยายตัวถึง 7.3%
  
โดยตามการคาดการณ์อัตราการขยายตัวจีดีพีสหรัฐของสถาบันการเงินต่าง ๆ ในปีนี้มีความใกล้เคียง “จีน” ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 8% และแซงเป้าหมายอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนในปีนี้ ซึ่งอยู่ในระดับ “มากกว่า 6%”
  
หากย้อนกลับไปดูอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจของทั้งสองมหาอำนาจเศรษฐกิจ ปีสุดท้ายที่สหรัฐอเมริกามีอัตราการขยายตัวมากกว่าจีนคือเมื่อปี 1976 หรือ 45 ปีที่แล้ว ตามข้อมูลสถิติของเวิลด์แบงก์ โดยปีที่เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวได้ใกล้เคียงจีนที่สุดคือเมื่อปี 1999 ช่วง “ดอทคอมบูม” ซึ่งเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 4.8% ขณะที่เศรษฐกิจจีนขยายตัว 7.7%
  
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับการฟื้นฟูหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐเมื่อปี 2009 เศรษฐกิจสหรัฐกลับมาขยายตัว 2.6% ในปี 2010 แต่เศรษฐกิจจีนขยายตัวถึง 10.6% ในปีนั้น มากกว่าสหรัฐถึง 4 เท่า
  
และปีนี้สหรัฐอเมริกาอาจจะกลายเป็นประเทศที่เป็นผู้นำการ “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก” (The global locomotive) แทนจีนครั้งแรกในรอบ 16 ปี “เกรกอรี่ ดาโก้” นักเศรษฐศาสตร์สหรัฐ ออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ ระบุว่า สหรัฐจะกลับมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกและจะพาทั้งโลกออกจากวิกฤตโควิดนี้ด้วย
  
อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจของสหรัฐอาจ “พุ่ง” ขึ้นแค่ในปี 2021 เท่านั้น เนื่องจากเศรษฐกิจจีนยังมีโอกาสการขยายตัวที่สูงกว่าสหรัฐซึ่งเศรษฐกิจค่อนข้าง “อิ่มตัว” แล้ว
  
ถือเป็นสิ่งที่น่าทึ่ง ที่ปีนี้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอาจจะขยายตัวแซงจีนได้ในรอบ 45 ปี และอาจทำให้คาดการณ์ของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (CEBR) ที่ว่า จีนจะแซงหน้าสหรัฐขึ้นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกภายในปี 2028 หรือในอีก 8 ปีข้างหน้า เป็นไปได้ยากขึ้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่