3 อาการปวดหัว ที่เข้าได้กับไมเกรน ได้แก่ ...
1. คลื่นไส้
2. กลัวต่อแสง
3. เป็นแล้วไม่สามารถทำงานได้ตามปกติอย่างน้อย 1 วัน
อาการปวดหัวที่เข้าได้กับเกณฑ์ดังกล่าว 2 ใน 3 ข้อขึ้นไป คือโรคไมเกรน
โรคไมเกรนแม้จะไม่เกิดอันตรายต่อสมอง แต่รบกวนคุณภาพชีวิตผู้ป่วย อย่างไรก็ดีโรคไมเกรน สามารถ ป้องกันได้ถ้ามาพบแพทย์
เกณฑ์วินิจฉัยโรคไมเกรน 3 ข้อ ดังกล่าวเป็นเกณฑ์ง่ายๆให้ผู้ป่วยวิเคราะห์อาการตัวเอง เรียกว่า ID migraine โดยมีความไวในการวินิจฉัย 84% และความจำเพาะ 76% (1) ส่วนอาการปวดหัวไมเกรนที่เราเคยได้ยินบ่อยๆ เช่น ปวดหัวตุ๊บๆ ปวดหัวข้างเดียว จะไม่ได้จัดมารวมด้วย ตามเกณฑ์ ID migraine
สาเหตุการเกิดโรคไมเกรน
โรคไมเกรนไม่ได้เกิดจากพยาธิสภาพในสมอง แต่เกิดจากการที่สารสื่อประสาทในสมองผิดปกติ ทำให้มีการกระตุ้น ต่อมใต้สมอง ก้านสมอง ชั้นผิวนอกของสมอง และสุดท้ายคือ หลอดเลือดในเยื่อหุ้นสมองขยายตัว ทำให้เกิดอาการต่างๆ ตามการกระตุ้น เช่น คลื่นไส้อาเจียน แพ้แสง รวมถึงมีการมองเห็นผิดปกติในบางคนด้วย ส่วนการที่ผู้ป่วยมีอาการปวดหัวตุ๊บๆ ก็เกิดจากการขยายตัวของหลอดเลือดในเยื่อหุ้มสมอง
ไมเกรน สามารถเกิดจากปัจจัยอะไรบ้าง?
มีปัจจัยกระตุ้นหลายๆอย่าง ที่สามารถทำให้เกิดโรคไมเกรน เป็นต้นว่า
1. ฮอร์โมนเอสโตรเจน
โดยภาวะที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำลงอย่างรวดเร็ว จะทำให้ เกิดกระตุ้นการปวดหัวไมเกรน โดยไมเกรนมักเกิดในช่วง 1 วันก่อนมีประจำเดือน จนถึงวันที่ 3 ของการมีประจำเดือน หรือที่เรียกว่า menstrual migraine นอกจากนี้ ในช่วงตั้งครรภ์ ความถี่ของการปวดไมเกรนจะลดลง ในขณะที่หลังคลอดลูก ความถี่ของการปวดไมเกรนจะสูงขึ้น เพราะช่วงตั้งครรภ์ฮอร์โมนเอสโตรเจนจะขึ้นสูงเรื่อยๆ และมาต่ำลงหลังจากมีการคลอดบุตร
2. ออฟฟิศซินโดรม หรือ โรคพังผืดของกล้ามเนื้อ
ที่เกิดจากการนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ ใช้มือถือ ก้มหน้านานๆ การเกิดพังผืด กล้ามเนื้อบริเวณคอตึง ก็สามารถกระตุ้นทำให้เกิดไมเกรน ปวดร้าวรอบกระบอกตา คลื่นไส้มึนหัวได้
3. อาหาร
อาหารที่สามารถกระตุ้นไมเกรน ได้ เช่น ชีส แอลกอฮอล์ อาหารที่มีผงชูรส อาหารที่ผสมไนไตรท์ เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน น้ำตาลเทียม หรือ คาเฟอีน อย่างไรก็ดีมีผู้ป่วยเพียง 20% เท่านั้น ที่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าอาหารเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดไมเกรน
4. ความเครียด
5. การนอนไม่หลับ พักผ่อนไม่พอ
6. แสงแดดจ้าๆ หรือ อากาศที่ร้อนเกินไป
การรักษาโรคไมเกรน
โรคไมเกรน สามารถตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาได้ผลดี โดยยาที่แนะนำให้กิน เป็นอันดับแรก คือ พาราเซตามอล ถ้าอาการปวดไม่รุนแรง ถ้าอาการรุนแรงมากอาจเลือกใช้ยาในกลุ่มต่อไปนี้
1. NSAID เช่น naproxen, ibuprofen ซึ่งเป็น NSAID ที่ออกฤทธิ์เร็ว เหมาะกับโรคไมเกรน และหาซื้อง่ายตามร้านขายยา นอกจากนี้ กลุ่มที่ระคายเคืองกระเพาะอาหารน้อยกว่า เช่น Etoricoxib หรือ Celecoxib ก็ใช้ได้ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดียากลุ่ม NSAID อาจมีผลข้างเคียงต่อตับ ไต ได้ จึงควรระมัดระวังไม่ใช้เกิน 4-10 เม็ดต่อเดือน หรือใช้ภายใต้คำสั่งของแพทย์
2. Triptan เช่น eletriptan, sumatriptan กลุ่มนี้เป็นยาแก้ปวดหัวเฉพาะสำหรับโรคไมเกรน จึงมีประสิทธิภาพดี และมีผลข้างเคียงน้อยกว่า NSAID อย่างไรก็ดี ควรระมัดระวังในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ สมอง และ ขา หรือใช้ภายใต้คำสั่งแพทย์ และไม่ควรใช้ถี่เกิน 12 ชั่วโมงต่อเม็ด หรือ เดือนละไม่เกิน 10 เม็ด
3. Ergot alkaloids เช่น Cafergot ยากลุ่มนี้รักษาได้ผลดีแต่มีผลข้างเคียงที่สำคัญมาก คือ เส้นเลือดตีบ ทำให้ ขาดำ นิ้วดำ จึงไม่ควรกินติดต่อกัน เวลานาน
การป้องกันโรคไมเกรน
ไมเกรนเป็นโรคทางระบบประสาทที่พบบ่อยมาก ทั้งยังทำให้ผู้ป่วยสูญเสียคุณภาพชีวิต
การกินยาป้องกันโรคไมเกรนต่อเนื่องเป็นเวลา 6-12 เดือน สามารถทำให้ความถี่ของการปวดหัวลดลงได้ถึงครึ่งหนึ่ง ทั้งนี้การกินยาป้องกันโรคไมเกรน ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย
ตามแนวทางของ American Headache Society กล่าวว่าผู้ป่วยควรได้รับยาป้องกันไมเกรนเมื่อ
ปวดหัวไมเกรน 4 ครั้ง ต่อเดือนขึ้นไป
มีข้อห้ามต่อการใช้ยาแก้ปวดหัวเฉียบพลัน
มาทำความรู้จัก ยาป้องกันไมเกรน ต่อไปกันเลยค่ะ ว่ามียาอะไรบ้างที่สามารถใช้เพื่อการป้องกันโรค?
ยากลุ่ม tricyclic anti depressant เช่น amitryptline, nortryptyline ยานี้มีประสิทธิภาพในการลดความถี่การเกิดไมเกรนได้ดีมาก ทั้งยังมีข้อดีในการช่วยการนอนหลับ และ ช่วยลดการปวดในออฟฟิศซินโดรม ที่เป็นโรคร่วมที่พบบ่อยด้วย จึงมักใช้เป็นยาตัวแรกๆ
ยากลุ่ม anticonvulsant เช่น topiramate ยานี้จัดว่ามีประสิทธิภาพดี โดยเฉพาะในไมเกรน ช่วงมีประจำเดือน ลดความถี่การเกิดได้อย่างน้อย 33% (2) อย่างไรก็ดี ข้อเสียจะเป็นเรื่องผลข้างเคียง เช่น มึนงง ชา เป็นต้น
beta blocker เช่น propanolol ยากลุ่มนี้มีประสิทธิภาพอาจน้อยกว่า 2 ข้อบน อยู่ที่ราว 25%(2) แต่สามารถช่วยลดความดันโลหิตได้ด้วย จึงสามารถให้ในคนไข้ที่มีโรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคร่วม
การฉีดยาชาเข้าที่เส้นประสาทบริเวณท้ายทอย (occipital nerve block) เป็นการรักษาที่ได้ผลดี สำหรับโรคไมเกรนเรื้อรัง แทบไม่มีผลข้างเคียง ยกเว้นอาการชาบริเวณหนังศีรษะ เป็นการรักษาทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ป่วยที่ทนผลข้างเคียงของยาป้องกันไมเกรนตัวอื่นๆไม่ได้
ยากลุ่มใหม่ anti CGRP (Calcitonin-gene-related peptide) เป็น ยาฉีดใต้ผิวหนัง ฉีดเดือนละครั้ง โดยออกฤทธิ์ไปจับกับสารเคมีที่ร่างกายผลิตมาเมื่อมีอาการไมเกรน โดย anti CGRP ที่ได้รับอนุญาตเข้ามาขายในเมืองไทยแล้ว มีชื่อว่า Aimovig ซึ่งมีข้อดีที่ประสิทธิภาพสูง ลดความถี่การเกิดได้ถึง 50% (3) อีกทั้งแทบไม่มีผลข้างเคียง อย่างไรก็ดีข้อเสีย ณ ปัจจุบัน เป็นเรื่องของราคา
เนื่องจากไมเกรนเป็นโรคทางระบบประสาทที่พบบ่อย และมีผลต่อคุณภาพชีวิต เราจึงไม่ควรปล่อยให้ปวดไมเกรนเรื้อรังโดยไม่ได้รับการรักษา แนะนำควรรีบพบคุณหมอเฉพาะทางด้านอายุรกรรมระบบประสาท เพื่อให้แก้ไขได้ทันท่วงที ป้องกันการเกิดซ้ำ และที่สำคัญคือควรมีการซักประวัติ ตรวจร่างกาย อย่างละเอียด เพื่อระวังวินิจฉัยแยกโรค ไม่ให้เป็นโรคที่อันตราย เช่น หลอดเลือดสมองตีบแตก เนื้องอกในสมอง เป็นต้นค่ะ
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้บทความโดย พญ.รับพร ทักษิณวราจาร https://www.praram9.com/articles/id-migraine/
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้เอกสารอ้างอิง
Diagnostic Accuracy of the ID Migraine: A systematic Review and Meta-Analysis; Cousins G, Hijazze S, Van de Laar F, Fahey T. Headache. Jul-Aug 2011;51(7):1140-8
New players in the preventive treatment of migraine. Mitsikostas DD, Rapoport AM.BMC Med. 2015;13:279.
A Controlled Trial of Erenumab for Episodic Migraine Goadsby P, Reuter U, et al N Engl J Med 2017; 377:2123-2132
3 อาการนี้แหละ…ไมเกรน ถึงปวดมากแต่ก็รักษาได้
อาหารที่สามารถกระตุ้นไมเกรน ได้ เช่น ชีส แอลกอฮอล์ อาหารที่มีผงชูรส อาหารที่ผสมไนไตรท์ เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน น้ำตาลเทียม หรือ คาเฟอีน อย่างไรก็ดีมีผู้ป่วยเพียง 20% เท่านั้น ที่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าอาหารเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดไมเกรน
โรคไมเกรน สามารถตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาได้ผลดี โดยยาที่แนะนำให้กิน เป็นอันดับแรก คือ พาราเซตามอล ถ้าอาการปวดไม่รุนแรง ถ้าอาการรุนแรงมากอาจเลือกใช้ยาในกลุ่มต่อไปนี้
ไมเกรนเป็นโรคทางระบบประสาทที่พบบ่อยมาก ทั้งยังทำให้ผู้ป่วยสูญเสียคุณภาพชีวิต
ปวดหัวไมเกรน 4 ครั้ง ต่อเดือนขึ้นไป
มีข้อห้ามต่อการใช้ยาแก้ปวดหัวเฉียบพลัน
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้