การประกวดสตาร์ทอัพกับธุรกิจสุดขลังอย่างการเช่า-ปล่อยพระเครื่อง

       "ใครเล่าจะรู้ว่าแท้จริงแล้ว ความสำเร็จอยู่ใกล้แค่เอื้อม เพียงแค่เราตัดสินใจลงมือทำ"
หลายคนอาจสงสัยว่า คนเรียนบริหารธุรกิจเนี่ย ทุกคนมีเป้าหมายที่อยากมีบริษัทเป็นของตัวเองรึเปล่า จากการสำรวจค้นพบว่า (555 อันที่จริงก็แค่ถามความคิดเห็นเด็กบริหารนั่นแหละ) นักศึกษาที่เรียนบริหารเนี่ย เกือบทุกคนมีเป้าหมายลึกๆคือการเป็นเจ้าของบริษัทและบริหารมันด้วยตัวเอง
แต่ความจริงก็ยังเป็นสิ่งไม่ตาย ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำมันได้สำเร็จ โชคดีที่พวกเราได้มีโอกาสลองทำธุรกิจด้วยตัวเองตั้งแต่อยู่มหาลัย ผ่านการแข่งขันสตาร์ทอัพ...
       

       สวัสดีค่ะ อุ้ม เป็นนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ (IB) ที่สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (TNI) ด้วยความที่อุ้มเป็นเฟรชชี่หน้าใหม่ไฟแรง อุ้มกับเพื่อนอีกสองคนเลยตัดสินใจตั้งทีมประกวดสตาร์ทอัพ ขึ้น ทั้งๆที่ยังไม่มีไอเดียอะไรในหัวเลย ?! พวกเราก็เลยนั่งนึกกันใหญ่ว่าควรจะทำธุรกิจอะไรดี เอาอะไรดีนะ ขายอะไรดี พวกเรานั่งเสนอไอเดียให้อ.ที่ปรึกษา
       แต่ไม่ว่าจะเสนออะไร อ.ที่ปรึกษาก็ตอบแต่ “ซ้ำ” “น่าเบื่อ” “ว่า….มันยังไม่ว้าวอ่ะ” โอ้โหจากพลังงานเต็มร้อย ลดลงเกือบเหลือศูนย์  ในเมื่อใช้สมองแล้วมันไม่เวิร์ค ลองพูดมั่วๆไปเลยดีกว่า  เผื่อจะฟลุ๊คได้สักที และด้วยความที่พูดมั่วๆโดยไม่คิด ก็ทำให้เผลอสบถออกไปว่า “โอ้ยขายเครื่องรางของขลังเลยมั้ยคะ พระเครื่องไรงี้อ่ะค่ะ” “โอ้ย...ซื้อ” หา ?! พระเครื่องเนี่ยนะ ฟังครั้งแรกก็ช็อกสิคะ ไม่ได้รู้เรื่องหรือรู้จักอะไรเกี่ยวกับวงการนี้เลยสักนิด งานหยาบล่ะที่นี้ เป็นเครียดดดดด โชคดีที่ อ.ที่ปรึกษาไม่ได้ปล่อยให้พวกเราทำตามลำพังโดยไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้  อ.ที่ปรึกษาแนะนำว่าลองชวนพี่คนนี้เข้ากลุ่มสิ เขาชื่อพี่คิม พวกเราน่าจะรู้จัก 
       ตอนแรกก็นึกอยู่ว่าคิมไหน พอบอกว่า“คิม จอมทอง” เท่านั้นแหละ อ๋อเลย เพราะคนส่วนใหญ่ในมหาลัยจะรู้จัก และทราบดีอยู่แล้วว่าพี่คิมเนี่ยเป็นคนที่สนใจและชื่นชอบพระเครื่อง บวกกับการที่เขาก็ขายพระเครื่องอยู่แล้วด้วย บอกเลยว่าความรู้มาเต็ม กลายเป็นว่างานนี้เริ่มมีหวังขึ้นมาแล้วสิ เพราะพูดได้เต็มปากเลยว่า “พี่คิมคืออาวุธลับของกลุ่มเรา และ สตาร์ทอัพ ที่พวกเรากำลังจะทำคงไม่มีใครคาดถึง”
ถามว่าเราสามคน อุ้ม เมย์ และแอม มารวมตัวกันก่อนเจอพี่คิมได้อย่างไร ง่ายๆเลยค่ะ อาจารย์ที่สอนวิชามาร์เก็ตติ้งเนี่ยเขาโฆษณางานแข่งนี้อย่างดิบดี รวมถึงยังยื่นข้อเสนอว่า ถ้าลงแข่งแล้วจะได้คะแนนพิเศษ โหพูดขนาดนี้ใครจะปฎิเสธลงล่ะคะ ? 
ซึ่งโดยส่วนตัว เรากับเมย์สนิทกันอยู่แล้ว เพราะเป็นเพื่อนที่อยู่กลุ่มเดียวกัน แต่แอมเนี่ยเข้ามาได้เพราะอยากแข่งแต่ยังหาทีมไม่ได้ เลยได้มาอยู่ทีมเดียวกันค่ะ ส่วนคนสุดท้ายก็คือพี่คิม ที่ได้บอกไปแล้วว่าเข้ามาได้อย่างไรค่ะ
พวกเราสี่คนค่อยๆสนิทกันมากขึ้น จนทำให้รู้ว่าใครเก่งอะไรหรือถนัดอะไรเป็นพิเศษ
       เริ่มจากท่าน CEO ของทีมเรานั่นก็คือแอมค่ะ แอมจะเก่งทางด้านการค้นหา วิเคราะห์และย่อยข้อมูลมาก มันดีมากๆเลยที่มีคนในทีมสักคนหนึ่งจะเป็นคนอธิบายข้อมูลให้เข้าใจง่าย มันทำให้ให้งานไหลและไปได้รวดเร็ว การตัดสินใจที่เด็ดขาดของแอมที่ได้จากการมีข้อมูลมากเพียงพอเป็นอะไรที่มีประโยชน์มากๆ 

       ต่อมาก็คือเมย์ค่ะ เมย์จะอยู่ฝ่ายcreative อยากบอกว่าเมย์นั้นเจ๋งมาก(ก.ไก่ ล้านตัว) เพราะเมย์เนี่ยเป็นคนออกแบบหน้าตาเว็บไซต์และแพลตฟอร์มทั้งหมด!! ซึ่งทำให้หน้าแพลตฟอร์มออกมาสวย ดูมีความทันสมัย ที่สำคัญใช้งานง่ายแม้ไม่ใช่ภาษาไทย อ่านไม่ผิดหรอกค่ะ แพลตฟอร์มของเราไม่ใช่ภาษาไทย นั่นเพราะเราใช้ภาษาจีนล้วนนั่นเองค่ะ แหม่ จะไปเปิดธุรกิจที่จีนทั้งทีก็ต้องเอาใจเขาหน่อยแหล่ะ  แพลตฟอร์มเลยต้องเป็นภาษาจีน ซึ่งเมย์ก็ดีไซน์ออกมาให้สามารถเปลี่ยนภาษาเป็นภาษาไทยได้นะคะ เนื่องจากคนที่จะนำพระเครื่องมาวางขายในแพลตฟอร์มของเราเป็นคนไทย  เพราะฉะนั้นคนขายไม่ต้องกังวลนะคะ 

       คนต่อมาก็คืออุ้มเองค่ะ(เย้) อุ้มจะดูแลเรื่องการตลาดคู่กับพี่คิมค่ะ และอุ้มก็ได้รับผิดชอบในส่วนของการทำสไลด์พรีเซนต์ค่ะ ด้วยความที่เราทำสไลด์สวย(แต่งตั้งเอง) เราเลยได้รับหน้าที่นี้ สำหรับการ Pitching แล้ว สไลด์เป็นอะไรที่สำคัญมาก เพราะเป็นสิ่งที่กรรมการจะเห็น ทั้งแนวคิด ข้อมูล และการตลาดของเรา ง่ายๆคือเป็นตัวสื่อเพื่อให้กรรมการเข้าใจธุรกิจเรานั่นเองค่ะ ดังนั้นการทำสไลด์ต้องสามารถสื่อให้กรรมการเข้าใจง่ายที่สุดควบคู่ไปกับความสวยของตัวสไลด์  แต่ความยากของการทำสไลด์คือการใส่ข้อมูลให้กระชับ เพราะไม่ว่าเรามีข้อมูลมากแค่ไหน เราต้องย่อยใส่สไลด์ให้น้อยที่สุด และความน้อยที่สุดนั้นต้องสื่อให้กรรมการเข้าใจทั้งหมดให้ได้ เพราะการ Pitching แต่ละครั้งเราต้องแข่งกับเวลาที่จำกัดด้วย 

      ส่วนของพี่คิมอย่างที่อุ้มบอกค่ะว่า พี่คิมดูแลในส่วนของการตลาด เขาจะคอยบอกจุดที่เราพลาดและให้คำแนะนำในเรื่องของวงการพระเครื่องว่า วงการนี้มีลักษณะเป็นอย่างไร รวมถึงเราควรทำการตลาดอย่างไรเพื่อให้เข้าถึงลูกค้าของเราหรือที่เรียกว่า “เซียนพระ” นั่นเอง พอได้ฟังข้อมูลจากพี่คิมแล้ว วงการนี้เป็นอะไรที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนอย่างมาก การจะทำอะไรแต่ละครั้งต้องรอบคอบและถี่ถ้วน การตลาดหรือการทำโปรโมรชั่นปกติที่เราเรียน อาจใช้ไม่ได้กับตรงนี้มาก เพราะวงการนี้อาศัยความเชื่อใจและซื่อสัตย์เป็นกุญแจสำคัญ

       หลังจากเรียนรู้และทำงานด้วยกันไปสักพักพวกเราก็ตกลงว่า เราจะสร้างแพลตฟอร์มสำหรับพาคนที่ต้องการปล่อยพระเครื่อง มาเจอกับ คนอยากเช่า
พระเครื่อง เหมือนกับ Shopee แต่ทำการซื้อ/ขายพระเครื่องในประเทศจีนแทน
หลายคนน่าจะสงสัยว่า “ทำไมถึงเลือกเจาะตลาดจีน” คำตอบคือ เพราะจีนเป็นประเทศที่มีการเช่า/ปล่อยพระเครื่อง เป็นอันดับ 2 รองจากไทย 
       จากการค้นคว้าและทำการวิเคราะห์ ทำให้ทราบว่าจีนถือเป็นประเทศที่เช่า-ปล่อยพระเครื่องจากไทยเป็นอันดับที่2 คิดเป็น 10% ของตลาดพระเครื่อง รองจากไทยที่มากถึง 88% และประเทศอื่นๆอีก 2% อีกอย่างคือกำลังซื้อของคนจีนที่มีมาก ยิ่งจะทำให้ราคาพระเครื่องสูงขึ้นไปอีก
      Taiguofopai เป็นชื่อของแพลตฟอร์มเรา ที่มีความหมายว่า พระเครื่องพระบูชาไทยค่ะ ส่วนชื่อทีมของพวกเราก็ไม่น้อยหน้า ย่าโหลวฟัดฟัด1688
อ่านแล้วพยายามกลั้นขำกันหน่อยนะคะ เพราะตอนเราฟังชื่อทีมครั้งแรกพวกเราก็กลั้นขำกันหนักมาก  โดยที่ชื่อนี้เนี่ยไม่ได้ตั้งมาลอยๆนะคะ บอกเลยว่าด้วยชื่อทีมแปลกๆ ที่แปลว่าการฝ่าฟันอุปสรรคเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จและความร่ำรวยนี่แหละค่ะ ที่ทำให้เราผ่านการแข่งขันรอบต่างๆมาได้ เรียกได้ว่าเราเป็นทีมเดียวจากทั้งหมดที่อาจารย์ที่ปรึกษาหาชื่อทีมให้ จากการดูโหราศาสตร์ต่างๆ จนได้มาเป็นชื่อมงคลภาษาจีนชื่อนี้ค่ะ
       มาเข้าเรื่องของการประกวดกันดีกว่า การประกวดสตาร์ทอัพ จะมี 3 รอบ และรอบพิเศษสำหรับสิบทีมสุดท้ายอีก 1 รอบ
(รอบพิเศษ คือ รอบที่มีการแข่งขันเพียงแค่10ทีมเท่านั้น เป็นรอบที่กรรมการหรือว่านักธุรกิจคัดเลือกอย่างดีแล้วว่าเป็นธุรกิจที่น่าสนใจและน่าลงทุนต่อค่ะ นั่นทำให้เงินรางวัลของรอบนี้เป็นเงินรางวัลถึงห้าหมื่นบาท นับว่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับรอบอื่นๆ) จึงน่าเสียดายที่ทีมเราไม่ได้ผ่านเข้าไปในรอบพิเศษ 10 ทีมสุดท้าย แต่ไม่เป็นไรค่ะ มันคือประสบการณ์ เอาเป็นว่าอุ้มจะมาเล่าทั้ง 3 รอบที่อุ้มกับทีมผ่านเข้าไปนะคะ

       เริ่มกันที่รอบ Online Pitching รอบแรกของการประกวดสตาร์ทอัพ ในรอบนี้จะมีอาจารย์มหาลัยของอุ้มเป็นกรรมการ ร่วมกับกรรมการที่มาจากที่อื่นๆด้วย ทีมที่ผ่านเข้ารอบจะมีแค่ 10 ใน 15 ทีม ในรอบนี้จะเป็นรอบที่แข่งภายในสถาบันฯหรือมหาลัยของตัวเองเองค่ะ เหมือนเป็นด่านแรกที่จะคัดทีมไปสู้กับมหาลัยอื่นๆ
       จุดพีคของรอบนี้คือ มีกรรมการที่เคยทำสตาร์ทอัพเกี่ยวกับพระเครื่องเหมือนกันด้วย เขาทำเกี่ยวกับการตรวจสอบพระเครื่องว่าเป็นพระเครื่องแท้ไหม และเขาก็ได้เลิกทำไปแล้ว สาเหตุที่เลิกทำ ก็อย่างที่บอกไปแล้วค่ะ วงการนี้มันละเอียดอ่อนมาก ต้องอาศัยความเชื่อใจและซื่อสัตย์ จะใช้แค่การตลาดทั่วไปไม่ได้ เพราะพระแต่ละสาย คนที่ไม่มีความรู้มากพอหรือไม่ชำนาญในสายนั้นๆ จะตัดสินว่าเป็นพระแท้หรือของปลอมได้ยากมาก 
ทำให้ตอนตรวจสอบออนไลน์ที่ไม่ได้สัมผัสพระเครื่องจริงๆอาจสรุปว่าเป็นพระแท้ แต่พอเจอของจริงกลับเป็นพระปลอม กรณีแบบนี้เกิดขึ้นบ่อย
จนเขายอมแพ้แล้วเลิกไป พอเราได้ฟังก็กลับมานึกถึงทีมตัวเอง “แล้วเราที่เป็นนักศึกษาจะรอดไหมเนี่ยยย” แต่เขาก็สนับสนุนให้ทำต่อ พร้อมคำให้
คำแนะนำจากประสบการณ์โดยตรงของตัวเขาให้เราฟัง ซึ่งข้อมูลส่วนนี้เป็นประโยชน์ต่อพวกเรามาก 
       อีกสิ่งหนึ่งที่อยากบอกคือ ตลอดการ Pitching พวกเราตื่นเต้นมากกก ล่กไปหมด กว่าจะจัดอุปกรณ์และระบบเสร็จ ก็ปล่อยให้กรรมการรอ ดีที่เป็นรอบการแข่งขันภายในมหาลัยฯของตัวเอง  และตัวอาจารย์ก็เข้าใจว่าครั้งแรก ถ้าจะให้อธิบายสถานการณ์ตอนนั้นคือเสียงก้องตีกันไปหมด เพราะอยู่ในห้องเดียวกัน แต่เปิดคอมสี่เครื่อง จนอาจารย์บอกว่าให้เลือกเปิดไมค์ทีละคน ช่วงตอบคำถามก็ตอบแบบตะกุกตะกัก ตอบได้บ้างไม่ได้บ้าง ทำให้พวกเราปลงและคิดว่าคงไม่ผ่านแน่ๆ
แต่ผลสรุปออกมา ปรากฎว่าพวกเราผ่านเข้ารอบ และ ได้เงินรางวัล 3000 บาท

       เข้าสู่รอบ 2 หลังจากที่เรารู้แล้วว่า Online pitching มีปัญหาหลักๆคือ เรื่องของเสียงรบกวน และความพร้อมของอุปกรณ์ พวกเราจึงแก้ไขปัญหาด้วยการจองห้องสำหรับการ Pitching  แต่ดันเกิดปัญหาขึ้น  เราไม่สามารถเข้าไปใช้งานห้องที่จองไว้ได้ เพราะว่าวันนั้นป้าแม่บ้านที่เปิดมาช้ากว่าปกติ! จนใกล้จะถึงเวลา Pitching แล้ว ป้าแม่บ้านก็ยังไม่มา ทำให้เราต้องรีบหาสถานที่ใหม่อย่างเร่งด่วน ดีที่แอมสนิทกับอาจารย์ท่านหนึ่ง อาจารย์เลยเปิดห้องให้ใช้ พวกเราจึงต้องรีบเตรียมทุกอย่างให้ทัน เพราะเขาเรียกให้รวมตัวกันก่อนแข่ง ทำให้บรรยากาศตอนนั้นวุ่นวายมาก คอม/อุปกรณ์ของสมาชิกบางคนก็เกิดปัญหาใช้งานไม่ได้ ทำให้เสียเวลาช่วงแรกๆไป เกือบ 30 วินาที จากเวลาทั้งหมด 7นาที นั่นจึงทำให้ทุกคนต้องเร่งพูด พอเกิดเรื่องแบบนี้ทำให้คนสุดท้ายเครียดเป็นพิเศษ เพราะเวลาก็พูดเหลือน้อยลง และอาจทำให้พูดในส่วนของตัวเองไม่ทัน โชคดีที่ทุกคนเตรียมตัวมาดี พูดในส่วนของตัวเองได้คล่อง ทีมเราเลยพูดเนื้อหาทั้งหมดทัน
       แต่การ Pitching ที่ผิดพลาดก็ดันทำให้ทุกคนประหม่าในรอบตอบคำถามแทน พระเจ้าก็ดันไม่เข้าข้างอุ้มเลย คำถามในรอบนี้ยากกว่าเดิมมาก
คร่าวๆแล้ว คณะกรรมการถามมา 100 เปอร์เซ็น พวกเราตอบถูกแบบตรงใจเขาไปแค่ประมาณ 20 เปอร์เซ็น เพราะคำถามทั้งยาก ทั้งทับศัพท์ ใช้คำศัพท์ทางธุรกิจซึ่งพวกเราเด็กปี 1 ยังไม่ได้มีความรู้ขนาดนั้น แต่โชคดีที่สาขาIBที่อุ้มเรียนมี House Project หรือ บริษัทจำลอง ทำให้มีประสบการณ์การทำธุรกิจอยู่บ้าง และรู้ความหมายของคำบางคำที่คณะกรรมการถาม จนทำให้เราสามารถตอบคำถามบางส่วนได้
นั่นจึงทำให้พวกเราก็ผ่านเข้ารอบ
และได้รับเงินรางวัลมา 25,000 บาท และอีก 10,000 บาท ซึ่งเป็นทุนสำหรับจัดบูธรอบ showcase หรือรอบถัดไปนั่นเอง

(ยังไม่จบนะคะมีต่อในคอมเมนต์)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่