เลี้ยงลูกอย่างไร ไม่เป็น RSV

.
RSV คืออะไร ทำไมเด็กถึงติดกันเยอะ
RSV เป็นไวรัสที่ชื่อว่า Respiratory Syncytial Virus เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจในเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี จะติดต่อกันได้ง่าย แต่ถ้ามีอาการรุนแรงมักจะเจอในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี ส่วนมากตัวเชื้อไวรัสนี้จะลงไปที่หลอดลมฝอย หรือลงไปที่ตัวเนื้อปอด ทำให้เป็นปอดอักเสบ หรือเป็นหลอดลมฝอยอักเสบ สิ่งที่อันตรายที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวัง ถ้าเจอเชื้อไวรัสนี้ในเด็กเล็ก ๆ อายุน้อยกว่า 3 เดือน อาจจะทำเกิดอาการหยุดหายใจได้ ซึ่งถือว่าเป็นเชื้อไวรัสที่อันตรายมากในเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กที่คลอดก่อนกำหนด ก็จะเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อ RSV มากกว่ากลุ่มอื่น หรือเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น ภาวะโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หรือเด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือมีภาวะขาดสารอาหาร ก็มักจะมีโอกาสติดเชื้อ RSV ได้มากกว่าเด็กกลุ่มอื่น เชื้อไวรัส RSV เป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อกันง่าย ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ โดยไวรัสเข้าสู่ร่างกายผ่านทาง ตา จมูก ปาก หรือสัมผัสเชื้อโดยตรงจากการจับมือ แพร่กระจายได้ง่าย ผ่านการไอหรือจาม
.
ผลเสียจาก RSV ในเด็กที่กระทบต่อระบบทางเดินหายใจ
1.      อาจรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบติดเชื้อ
2.      ต้องเข้ารับการรักษาตัวในห้องไอซียู
3.      ระบบหายล้มเหลว ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

เชื้อไวรัส RSV มักจะระบาดช่วงไหน
ช่วงที่ระบาดจะเป็นช่วงฤดูฝน ประมาณเดือนกรกฎาคม - ตุลาคม หรือบางทีอาจต่อเนื่องถึงช่วงต้นฤดูหนาว
.
เมื่อติดเชื้อ RSV จะมีอาการอย่างไร
-มีไข้สูง 39-40 องศา ติดต่อกันหลายวัน
-มีน้ำมูก ลักษณะของน้ำมูกจะมีความเหนียวมาก คล้ายกาว
-ไอเยอะ ไอแบบมีเสมหะมาก
-หายใจครืดคราด บางรายอาจจะมีอาการหายใจเร็ว หรือหายใจแรง
-หรือมีอาการหอบเหนื่อย
-บางรายเด็กอาจจะปากหรือตัวซีดเขียว ซึ่งเป็นภาวะที่ควรต้องรีบไปพบแพทย์โดยทันที
.
ความรุนแรงของ RSV ขึ้นกับอะไร
1.      อายุ
2.      โรคประจำตัว
3.      ภาวะเสี่ยงของเด็ก  เช่น เด็กที่คลอดก่อนกำหนด
.
RSV กับไข้หวัดต่างกันอย่างไร
RSV คล้ายไข้หวัดธรรมดา แต่แตกต่างกันตรงที่ RSV จะไข้สูง และระยะเวลาในการเป็นจะนานกว่าไข้หวัดธรรมดา อาจจะมีอาการอยู่ที่ 5-7 วัน ไอนาน มีน้ำมูกเยอะ มีเสมหะมากกว่าเด็กที่เป็นไข้หวัดธรรมดา ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลคือ พอเด็กมีน้ำมูกเยอะ หรือเสมหะเยอะ บางครั้งเขาเอาออกเองไม่ได้ เขาจะหายใจลำบาก

เลี้ยงลูกอย่างไรไม่เป็น RSV
1.     หากลูกต้องออกนอกบ้าน ไปโรงเรียน ควรฝึกให้ลูกใส่หน้ากากอนามัยให้เป็นนิสัย นอกจากจะป้องกันเชื้อไวรัส RSV ได้แล้ว ยังสามารถป้องกัน COVID19 ฝุ่น PM2.5 และโรดติดเชื้อต่างๆ ได้อีกด้วย นอกจากเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 1 ปี ที่ห้ามสวมหน้ากากอนามัย เพราะอาจทำให้ขาดอาการหายใจได้ หากต้องไปพบคุณหมอ หรือไปนอกบ้านควรมีผ้าคลุม เพื่อป้องกันละอองฝอยของเชื้อโรค
2.     ระมักระวังเรื่องความสะอาด และป้องกันการติดเชื้อ ก่อนจะให้ใครจับตัวเด็ก ควรให้ล้างมือ ฟอกสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ใหญ่ที่ไปทำงานนอกจาก อาจจะเป็นพาหะที่นำเชื้อจากนอกบ้านมาติดเด็กได้ เพราะฉะนั้นเมื่อออกไปนอกบ้านก่อนจับตัวหรือเล่นกับลูกหลาน ควรอาบน้ำให้สะอาด
3.     หลีกเลี่ยงอย่าให้ลูกคลุกคลี กับคนที่มีอาการหวัด ไอ จาม หรือมีน้ำมูก ควรอยู่ห่างประมาณ 90 ซม.
4.     ทำความสะอาดของเล่น หรือคอกเล่น หรือที่นอนของลูกบ่อย ๆ 
5.     หลีกเลี่ยงไม่พาลุกไปสถานที่แออัด เน้นพาไปสถานที่โล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก หลีกเลี่ยงให้เด็กจับสิ่งของสาธารณะต่าง ๆ หากจับต้องรีบล้างมือ
6.     หลีกเลี่ยงสถานทีที่เป็นจุดเสี่ยงที่ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย เช่น เนอสเซอรี่ แหล่งที่มีเด็กอยู่รวมกันหลาย ๆ คน เช่น บ้านบอล หรือสนามเด็กเล็น ถ้าช่วงเป็นช่วงที่โรคนี้ระบาด ก็ควรหลีกเลี่ยง
7.     ฝึกให้ลูกล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่
8.     ให้ลูกกินอาหารที่ดี มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ
9.     ถ้าลูกป่วยควรให้หยุดเรียน
10.   สังเกตอาการ หากลูกมีไข้สูง หายใจลำบาก มีน้ำมูก หรือเสมหะมากผิดปกติ ควรรีบพาไปหาคุณหมอทันที
.
การรักษาเมื่อลูกเป็น RSV
ปัจจุบันยังไม่มียาหรือวัคซีนที่จะรักษา RSV ที่โดยตรง 
คุณหมอจะรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ แก้ไข ละลายเสมหะ หรือบางรายที่มีเสมหะเหนียวมาก อาจต้องพ่นยาขยายหลอดลมผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย เคาะปอด และดูดเสมหะออก เพื่อช่วยลดความรุนแรงของอาการไอ และอาการหายใจหอบเหนื่อยได้ นอกจากนี้แนะนำให้เด็กดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เสมหะเหนียวและเชื้อไวรัสจะได้ไม่ลงปอด 
.
โรคติดเชื้อไวรัส RSV ใช้เวลาในการฟื้นไข้ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ ไวรัสชนิดนี้ทำให้เกิดอาการได้ตั้งแต่ไข้หวัดธรรมดา รวมถึงอาการรุนแรงเป็นปอดบวมซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตลูกน้อยได้ เชื้อไวรัสนี้มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีกหากร่างกายอ่อนแอ
.
.
ติดตามสาระข้อมูลสุขภาพดี ๆ
จาก รพ.วิชัยเวชฯ หนองแขม ได้ในบทความต่อไปครับ

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่