JJNY : 6in1 พม่าจัดม็อบลอยน้ำ│บัสนำเที่ยวร้องรัฐ│ญี่ปุ่นได้วัคซีน│หมอสุภัทรฟันธงถูกหักหลัง│การุณโต้สิระ│ชาวเมืองคอนสงสัย

พม่าจัดม็อบ 'ลอยน้ำ' บนเรือครั้งแรกของโลก ชูสามนิ้ว ประท้วงการทำรัฐประหาร 
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_5937742

เมื่อเช้าวันที่ 11 ก.พ. ที่ผ่านมา ได้มีการแชร์รูปภาพกันในวงกว้าง เมื่อชาวอินทาชนเผ่าพื้นเมือง ชาวประมง ประชาชน และผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับทะเลสาบอินเล เมืองยองชเว เขตตองยี ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ได้ออกมาแสดงอารยะขัดขืนและประท้วงการทำรัฐประหารที่นำโดยพลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่แท้จริง
 
แต่การประท้วงในครั้งนี้ต่างออกไปจากการเดินขบวนตามท้องถนน เพราะประชาชนชาวเมียนมาได้ออกมาประท้วงกันบนเรือที่จอดอยู่ในทะสาบร่วม 4,500 คน ซึ่งชาวเมียนมาบอกว่านี่คือ “การประท้วงแบบลอยน้ำครั้งแรกของโลก” เพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารชุดใหม่ของประเทศ
 
ประชาชนแต่งกายด้วยชุดท้องถิ่น พร้อมกับชูป้ายประท้วง ชูสามนิ้ว รวมถึงเขียนข้อความต่าง ๆ ไว้บนไม้พายและชูเรียกร้องประชาธิปไตย อาทิ “เผด็จการออกไป” “เราไม่ยอมรับรัฐประหาร” “save myanmar” “การแทรกแซงของจีนจงออกไป” “เราไม่ต้องการเผด็จการ” “เราต้องการใช้ชีวิตโดยปราศจากความกลัว” “เราไม่ต้องการให้ทหารขึ้นมามีอำนาจ” “ปล่อยผู้นำของเรา”
 

 
ธุรกิจรถบัสนำเที่ยวร้องรัฐอุ้ม ออกมาตรการช่วยลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้-กู้ดอกต่ำ
https://www.thairath.co.th/news/business/market-business/2031087
 
นายวสุเชษฐ์ โสภณเสถียร นายกสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.) กล่าวว่า สมาคมฯได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ก.พ.64 โดยมีนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับมอบหนังสือพร้อมรับทราบปัญหา และจะเร่งนำส่งถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป โดยกลุ่มธุรกิจรถโดยสารไม่ประจำทาง เดือดร้อนอย่างหนักจากวิกฤติโควิด-19 และยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐโดยตรง จึงมีข้อเรียกร้องให้ช่วย 3 เรื่องได้แก่ ช่วยลดรายจ่าย ช่วยเสริมสภาพคล่อง และช่วยเพิ่มรายได้แก่ผู้ประกอบการ สำหรับการลดรายจ่ายต้องการให้รัฐช่วยเรื่องหนี้สินของผู้ประกอบการกับธนาคารและไฟแนนซ์ รวมถึงให้รัฐร่วมจ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้าง 50% ของเพดาน 15,000 บาท หรือคนละ 7,500 บาท จำนวน 3 เดือน ราว 50,000 คน รวมถึงขอให้ช่วยเรื่องการยกเว้นภาษีประจำปีรถโดยสาร และค่าปรับต่างๆ ของรถและสถานประกอบการที่ค้างชำระ
 
ส่วนเรื่องเสริมสภาพคล่อง ขอให้รัฐให้เงินช่วยเหลือรถรับจ้างไม่ประจำทาง 40,000 คัน คันละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เท่ากับคันละ 15,000 บาท รวมเป็นเงิน 600 ล้านบาท และต้องการแหล่งเงินทุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด โดยขอให้ตั้งกองทุนที่ไม่ต้องผ่านระบบไฟแนนซ์หรือธนาคาร เพื่อนำมาปรับปรุงฟื้นสภาพรถคันละ 300,000 บาท โดยใช้ทะเบียนรถเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันด้วยการของบฯจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) นำมาใช้กับโครงการนี้ในดอกเบี้ยอัตราพิเศษ นอกจากนี้ ขอให้ช่วยสร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการ โดยให้รัฐบาลเร่งให้เกิดการเดินทางของหน่วยงานภาครัฐให้มากที่สุด หลังโควิด-19 ระลอกใหม่ลดลง และขอให้มีการจัดจ้างรถโดยสารไม่ประจำทางทั่วประเทศ จังหวัดละ 100 คัน พาประชาชนเดินทางท่องเที่ยวข้ามเขตจังหวัด เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้แต่ละพื้นที่ ซึ่งหากมีการเดินทางจังหวัดละ 4,000 คน รวมทั้งประเทศจะมีผู้เดินทาง 300,000 คน จะสร้างเงินหมุนเวียนได้กว่า 300 ล้านบาท จากการสนับสนุนงบเพียง 76 ล้านบาท โดยขอให้จัดจ้างกับผู้ประกอบการโดยตรง มิใช่ผ่านตัวแทนการท่องเที่ยว.
 

 
ญี่ปุ่นได้แล้ว วัคซีนต้านโควิดล็อตแรก 4 แสนโดส เริ่มฉีดกลางสัปดาห์หน้า
https://www.matichon.co.th/foreign/news_2575658

สื่อท้องถิ่นญี่ปุ่นรายงานเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ว่า วัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ล็อตแรก จำนวน 400,000 โดส ถูกส่งมาถึงประเทศญี่ปุ่นแล้วที่สนามบินนาริตะ ใกล้กับกรุงโตเกียว เมื่อช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ โดยเที่ยวบินที่มาจากกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ท่ามกลางรายงานว่า ทางการญี่ปุ่นเตรียมจะอนุมัติใช้วัคซีนต้านโควิดของบริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทคในเร็วๆนี้ ขณะญี่ปุ่นกำลังเร่งควบคุมการระบาดรอบ 3 ของไวรัสโควิด-19 ในประเทศ ก่อนหน้าที่ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในช่วงกลางปีนี้

ข่าวแจ้งว่า คณะทำงานด้านสาธารณสุขของรัฐบาลญี่ปุ่นจะเริ่มพิจารณาเรื่องวัคซีนในวันเดียวกันนี้ โดยสำนักข่าวเกียวโดรายงานว่าจะมีการอนุมัติใช้วัคซีนดังกล่าวภายในวันอาทิตย์( 14 ก.พ.)

ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ สึกะ ของญี่ปุ่น กล่าวว่า จะเริ่มให้มีการฉีดวัคซีนต้านโควิดได้ในกลางสัปดาห์หน้า โดยจะให้ฉีดกับกลุ่มบุคลากรด้านสาธารณสุขราว 10,000 คนก่อน ซึ่งรัฐบาลยังคาดหวังว่าจะมีวัคซีนเพียงพอสำหรับประชาชนในประเทศทั้งหมดในราวกลางปีนี้
 
ด้านกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อรายงานข่าวว่าวัคซีนต้านโควิดถูกส่งมาถึงมือญี่ปุ่นแล้ว โดยอ้างเหตุผลด้านความปลอดภัย
ญี่ปุ่นได้ทำข้อตกลงสั่งซื้อวัคซีนต้านโควิดจำนวน 144 ล้านโดส จากบริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทค ซึ่งเพียงพอสำหรับการฉีดให้กับประชาชนจำนวน 72 ล้านคน จากประชากรทั้งประเทศที่มีกว่า 126 ล้านคน นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังสั่งซื้อวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า, โมเดอร์นา และ โนวาแวกซ์ ด้วย โดยจนถึงขณะนี้มีเพียงไฟเซอร์และแอสตร้าเซนเนก้าที่ได้ยื่นขออนุมัติรับรองวัคซีนของบริษัทตนต่อทางการญี่ปุ่นแล้ว
 
ข่าวแจ้งว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นยังคงถูกคุมอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน หลังจากเกิดการระบาดรอบ 3 ของไวรัสโควิด-19 ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาซึ่งมีความรุนแรงที่สุด อย่างไรก็ดีในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตในญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดต่ำลง
 
สำหรับยอดผู้ติดเชื้อสะสมในญี่ปุ่นล่าสุดอยู่ที่ราว 410,000 ราย และมีผู้เสียชีวิต 6,772 ราย ส่วนมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์มีกำหนดจะเปิดฉากขึ้นในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่