8 สูตรสำเร็จ บ้านเย็นอยู่สบาย ประหยัดพลังงานอย่างยั่งยืน

        อากาศเมืองไทยร้อนขึ้นทุกวัน ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ร้อนจนแสบผิว ร้อนไม่เว้นแม้แต่ภายในบ้าน หลายบ้านดีหน่อยมีตัวช่วยเป็นเครื่องปรับอากาศดับร้อน แต่ก็ต้องแลกกับค่าไฟที่พุ่งกระฉูดจนหยุดไม่อยู่ จะจ่ายบิลแต่ละครั้งเหงื่ออาจตกเป็นถัง แม้จะอยู่ในห้องแอร์เย็นเฉียบ
        วันนี้ SCG HOME Expert พกพาสูตรสำเร็จมาแบ่งปันเพื่อน ๆ ที่กำลังวางแผนสร้างบ้านหรือปรับปรุงบ้านให้อยู่เย็นสบาย เป็นวิธีที่ช่วยประหยัดพลังงานและช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าอย่างยั่งยืนไปพร้อม ๆ กันครับ 

        1. ออกแบบบ้านให้ถูกทิศ 
        อันดับแรกที่ต้องทำคือ การออกแบบโดยยึดหลักการบ้านเย็นและการจัดตำแหน่งห้องตามทิศทางธรรมชาติ ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก ๆ หลายคนอาจสงสัยว่า เอ๊ะ..การออกแบบช่วยให้บ้านเย็นได้จริงเหรอ คำตอบคือ ช่วยได้จริง ๆ ครับ นั่นเป็นเพราะทิศทางของบ้านเป็นตัวกำหนดทิศทางของแสงจากดวงอาทิตย์และทิศทางของลมในฤดูกาลต่าง ๆ ซึ่งส่งผลโดยตรงให้บ้านหลังนั้น ๆ เย็นหรือร้อน 

        อธิบายง่าย ๆ แบบนี้ครับ ทิศทางของแสงแดดในไทยจะเดินทางจากทิศตะวันออกอ้อมไปทางทิศใต้ ทิศที่ได้รับแสงมากที่สุดตั้งแต่ช่วงบ่ายถึงเย็น คือ ทิศตะวันตกและทิศใต้ ดังนั้นหากผนังบ้านในทิศนั้นได้รับแสงมาก ไม่มีปราการกั้นแสงจะทำให้บ้านร้อนอบอ้าวมากเป็นพิเศษ ควรมีแนวต้นไม้สร้างร่มเงาหรือออกแบบเป็นห้องน้ำที่ต้องการแสงมากจะเหมาะสม ส่วนทิศใต้เป็นทิศที่ได้รับลมเข้าทางหน้าบ้านในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝนต่อเนื่องเกือบตลอดทั้งปี จึงเป็นทิศที่ควรติดตั้งหน้าต่างขนาดใหญ่เพื่อรับลม ทำให้บ้านเย็นสบายโดยไม่ต้องพึ่งเครื่องปรับอากาศมากนัก

        2. กันความร้อนบนหลังคา
        ทราบหรือไม่ว่ากว่า 70% ของความร้อนที่เข้าสู่ตัวบ้านมาจากช่องทางหลังคา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับแสงเยอะที่สุด การเพิ่มความเย็นในบ้านจึงต้องหาตัวช่วยลดหรือหน่วงความร้อนที่จะถ่ายเทจากหลังคาลงสู่ตัวบ้านให้ทำได้ช้าขึ้น เช่น การเลือกใช้วัสดุมุงหลังคาที่สามารถป้องกันความร้อนได้อย่าง กระเบื้องหลังคา ซึ่งในสมัยก่อนกระเบื้องหลังคาที่สะท้อนความร้อนได้ดีต้องเป็นสีอ่อนเท่านั้น แต่ในปัจจุบันเจ้าของบ้านชื่นชอบหลังคาเฉดสีเข้มมากขึ้น ก็มีนวัตกรรมกระเบื้องหลังคาคอนกรีตในบางรุ่นที่สามารถสะท้อนรังสีความร้อนได้ แม้เป็นเฉดสีเข้มครับ หรือการใช้แผ่นสะท้อนความร้อนบุใต้หลังคา หรือทาสีหลังคาสะท้อนความร้อน ก็จะช่วยกันความร้อนอีกแรงหนึ่ง อีกทั้งควรติดตั้งฝ้าที่มีรูระบายอากาศ เพื่อช่วยขับไล่ความร้อนที่สะสมอยู่ใต้โถงหลังคาให้ระบายออกไปอีกทางหนึ่งด้วย ควรเลือกรุ่นที่มีตาข่ายกันแมลง ป้องกันไม่ให้ใต้ฝ้าเป็นที่อยู่ของสัตว์ตัวเล็กตัวน้อย นอกจากจะได้ฟังก์ชันที่ตอบโจทย์การใช้งานแล้ว ยังใช้เป็นวัสดุปิดผิวได้ดีอีกด้วยครับ

        3. ฉนวนกันความร้อนช่วยได้
        หากใช้วิธีตามข้อ 2. แล้วยังกังวลว่าจะกันความร้อนไม่อยู่ เพิ่มความมั่นใจกันอีกสักหน่อยด้วยการติดตั้งฉนวนกันความร้อนบริเวณฝ้าเพดาน เนื่องจากโถงหลังคาเป็นส่วนที่เก็บความร้อนไว้มากที่สุด ฉนวนจะทำหน้าที่ป้องกันและชะลอความร้อนที่ส่งผ่านเข้ามาภายในบ้าน โดยทั่วไปฉนวนกันความร้อนมีหลากหลายประเภทให้เลือกใช้ เช่น อะลูมิเนียมฟอยล์, โพลีเอธิลีนโฟม, แอร์บับเบิ้ลและใยแก้ว ซึ่งควรพิจารณาคุณสมบัติค่ากันร้อน (ค่า R) ลักษณะการติดตั้ง รวมถึงข้อควรระวังต่าง ๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจนะครับ
        สำหรับคนที่สนใจติดตั้งฉนวนใยแก้วก็เป็นอีกทางเลือกที่ดีครับ เพราะเป็นฉนวนที่ห่อหุ้มด้วยอะลูมิเนียมฟอยล์รอบด้าน โดยอะลูมิเนียมฟอยล์ทำหน้าที่สะท้อนความร้อนและใยแก้วทำหน้าที่ป้องกันความร้อน มีความหนาให้เลือก 2 ขนาด คือ ความหนา 75 มม. (3 นิ้ว) มีค่า R ประมาณ 10.139 hr.ft2.F/Btu ช่วยกันความร้อนได้ 4 เท่า (เมื่อเทียบกับฝ้าที่ไม่ได้ติดฉนวน) ราคาประมาณ *146 บาทต่อตารางเมตร (*ราคาขึ้นอยู่กับแบรนด์ที่จัดจำหน่าย ในท้องตลาด) และสำหรับความหนา 150 มม. ( 6 นิ้ว) มีคุณสมบัติช่วยกันความร้อนได้ 6 เท่า (เมื่อเทียบกับฝ้าที่ไม่ได้ติดฉนวน) ค่า R ประมาณ (20.273 hr.ft2.F/Btu) ราคาประมาณ **188 บาทต่อตารางเมตร (**ราคาขึ้นอยู่กับแบรนด์ที่จัดจำหน่ายในท้องตลาด) ยิ่งความหนามากประสิทธิภาพในการป้องกันร้อนยิ่งมากขึ้น  สามารถติดตั้งได้ทั้งบ้านใหม่และบ้านที่อยู่อาศัยแล้ว แต่ทั้งนี้ต้องตรวจเช็กดูความแข็งแรงของโครงฝ้าและฝ้าประกอบด้วยนะครับ  เพราะหากเป็นบ้านที่อยู่อาศัยมานานหลายปี อาจมีการชำรุดได้ ซึ่งถ้าติดตั้งฉนวนไปแล้ว อาจจะรับน้ำหนักไม่ไหวเกิดความเสียหายตามมาได้ครับ

        4.เลือกวัสดุผนังกันร้อน 
        ผนังเป็นจุดที่ 2 รองจากหลังคาที่รับความร้อนได้มาก วัสดุที่ใช้ก่อผนังจึงมีส่วนสำคัญในการช่วยลดร้อนให้บ้านได้ดีขึ้นครับ โดยปกติบ้านเราจะใช้วิธีก่อผนังด้วยอิฐแดงหรืออิฐมอญชั้นเดียว ซึ่งจะมีข้อด้อยตรงที่สามารถดูดซับความร้อนไว้มากและคลายความร้อนค่อนข้างช้า ช่างจึงแก้ปัญหาด้วยการก่อผนังอิฐมอญ 2 ชั้นในบริเวณที่ได้รับแสงแดดจัด ๆ โดยให้มีระยะห่างระหว่างผนังชั้นนอกและชั้นในประมาณ 5 เซนติเมตรให้อากาศไหลเวียน วิธีนี้จะทำให้ผนังชั้นในไม่ได้รับความร้อนโดยตรง เพราะมีผนังชั้นนอกและช่องว่างเป็นปราการป้องกันอยู่ อุณหภูมิภายในบ้านจึงลดลง อยู่เย็นสบายมากยิ่งขึ้น
ส่วนวัสดุอื่น ๆ ที่มีคุณสมบัติด้านกันความร้อน คือ อิฐมวลเบา ซึ่งทำได้ดีกว่าอิฐมอญ แต่ก็มีข้อด้อยที่เป็นวัสดุมีรูพรุน ดูดซับน้ำได้ดี ซึ่งจะมีผลกับความชื้นและราคาแพงกว่าอิฐมอญก่อชั้นเดียว ทั้งนี้โดยเฉลี่ยแล้ว อิฐมวลเบาจะมีต้นทุนราว ๆ 360 - 400 บาท/ตร.ม. เมื่อเทียบกับอิฐมอญก่อ 2 ชั้น เฉลี่ยต้นทุนจะอยู่ที่ 400 – 420 บาท/ตร.ม. แต่ทั้งนี้ก็สามารถเลือกใช้เป็นบางห้อง บางพื้นที่ได้ครับ เพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณและความเหมาะสม 

        5. ติดตั้งระแนงบังแดดเพิ่มในทิศที่แสงเยอะ
        อย่างที่กล่าวไปตั้งแต่ต้น  ทิศใต้และตะวันตกเป็นทิศที่รับแสงได้เยอะ แต่บ้านบางหลังก็มีข้อจำกัดที่เลี่ยงไม่ได้ ทำให้ต้องหันหน้าออกหรือจัดตำแหน่งห้องนอนหรือห้องนั่งเล่นไว้ทิศที่ว่านี้ ยิ่งบ้านสไตล์โมเดิร์นยุคใหม่ มักออกแบบเป็นผนังกระจกเพื่อเพิ่มความโปร่งกว้างให้แก่บ้าน ส่งผลให้บ้านรับความร้อนมากขึ้น การใส่ระแนง ฉาก หรือฟาซาด เพิ่มเข้าไปจะช่วยลดความร้อนของแสงแดดที่ผ่านเข้าสู่ตัวบ้านได้และยังใช้เป็นงานตกแต่งที่ทำให้บ้านดูสวยขึ้น เพิ่มความเป็นส่วนตัวให้ผู้อยู่อาศัยได้อีกด้วย 
        ระแนงทำได้จากหลายวัสดุ แต่หากต้องการวัสดุที่มีความทนทานต่อสภาพอากาศ ความชื้นและแสงแดด ควรเลือกระแนงที่ทำจากไม้เทียม ไวนิล อลูมิเนียม จะช่วยตอบโจทย์ได้ดี ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ตารางเมตรละ 1,250 - 3,000 บาท ขึ้นอยู่กับชนิดเกรดของวัสดุ รูปแบบ ระยะห่างช่องไฟในการตีระแนงและความยากง่ายในการติดตั้ง

        6. ติดตั้งระบบระบายอากาศเพิ่ม 
        บ้านที่ตั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี หมายถึงมีทิศทางในการเลี่ยงแสงและอยู่ในจุดที่ลมพาดผ่านเข้าสู่บริเวณบ้านได้ ก็สามารถเปิดประตูหน้าต่างรับลมระบายอากาศร้อนได้ไม่ยาก แต่บางช่วงที่ลมนิ่ง ๆ หรือข้างบ้านมีอาคารสูงอยู่ใกล้ ๆ ทำให้ยิ้มศทางลม ช่องประตู หน้าต่างก็อาจไม่ช่วยอะไร ควรติดตั้งระบบระบายอากาศเพิ่ม เพื่อเร่งการไหลเวียนของอากาศ ไล่อากาศร้อนออกไปไม่ให้สะสมอยู่ภายใน เช่น การติดตั้งพัดลมผนัง, พัดลมดูดอากาศ, ลูกหมุน ซึ่งราคาไม่แพงมาก อาทิ ลูกหมุนขนาด 14 นิ้ว+หลังคาลอนคู่ ราคาชุดละ 1,000 กว่าบาทขึ้นไป ส่วนระบบถ่ายเทอากาศจะมีราคาแพงขึ้นมาอยู่ในหลักพันถึงหลักหมื่นขึ้นอยู่กับฟังก์ชันในการทำงาน ยิ่งทำงานได้หลากหลายรูปแบบ มีการทำงานแบบอัตโนมัติ สั่งการผ่านระบบดิจิตอล รวมถึงความสามารถในการกรองอากาศได้ด้วย ราคาก็จะสูงขึ้นตามไปครับ

        7. เลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า Inverter ช่วยประหยัดค่าไฟ 
        ช่วงหน้าร้อนทำให้คนเลือกอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้อัตราการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทเครื่องทำความเย็นเพิ่มขึ้นตาม เรื่องค่าไฟจึงไม่ต้องพูดถึง เมื่อเราไม่สามารถเลี่ยงการใช้งานได้ หนึ่งทางรอดจากมรสุมค่าไฟคือ การเลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าระบบ Inverter โดยเฉพาะตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศที่เปิดใช้บ่อย ๆ 

        ระบบ Inverter ดียังไง ? ระบบนี้มีความพิเศษตรงที่เมื่อสตาร์ทปุ๊บระบบจะสั่งงานให้คอมเพรสเซอร์วิ่งในรอบสูงที่สุดทันที และเมื่อถึงจุดที่มีระดับความเย็นที่เราตั้งค่าไว้ ระบบจะปรับลดความเร็วรอบของมอเตอร์ลงหรือปรับอุณหภูมิให้ไปในจุดที่ต่ำสุด การลดรอบของมอเตอร์เมื่ออุณหภูมิคงที่ลักษณะนี้ ช่วยให้เครื่องใช้ไฟฟ้าระบบ Inverter ประหยัดได้มากกว่าระบบทั่วไปถึง 20-30% สมมุติหากจ่ายค่าไฟปกติเดือนละ 1,500 บาท จะประหยัดลง 300-450 บาท คิดเป็นต่อปีก็ลดค่าใช้จ่ายได้หลายพันบาทเลยทีเดียวครับ

        8. ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ให้บ้านผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เอง 
        หลายข้อที่ผ่านมาเป็นการลดร้อนให้กับบ้าน แต่สำหรับข้อสุดท้ายคือการนำความร้อนจากแสงอาทิตย์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าเมืองไทยมีแสงแดดเหลือเฟือ นอกจากเหมาะกับการใช้ประโยชน์ในการถนอมอาหารประเภทเนื้อแดดเดียวแล้ว ยังเหมาะกับการนำมาใช้เป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าทางเลือกอีกด้วย  ซึ่งปัจจุบันนี้โซลาร์เซลล์กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น มีช่วงราคาจากแบรนด์ต่าง ๆ ให้เลือกมากมาย อีกทั้งยังได้รับการส่งเสริมจากรัฐให้ติดตั้งใช้งานมากกว่าในอดีต ซึ่งการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์นอกจากจะช่วยลดค่าไฟฟ้าในบ้านได้ถึง 60% แล้ว ในอนาคตหากบ้านสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเหลือใช้ ยังสามารถขายไฟฟ้าคืนให้การไฟฟ้าได้อีกด้วย นับเป็นการสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง ทั้งยังเป็นการประหยัดพลังงานอย่างยั่งยืนอีกด้วยครับ

        เป็นอย่างไรกันบ้างครับ กับ 8 ข้อที่จัดมาให้แบบไม่มีกั๊ก หากได้ลองนำไปทำตามรับรองว่า คำว่า “บ้านร้อน” จะไม่มีในพจนานุกรมส่วนตัวกันอีกต่อไป สำหรับใครที่สนใจระบบบ้านเย็นอยู่สบายและประหยัดพลังงาน สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากเอสซีจีได้เลย  คลิก https://bit.ly/2LAAG5C
 
เพี้ยนร้อน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่