ทำไมสร้างพระพุทธรูปต้องมีเส้นผม

กระทู้สนทนา
ทำไมสร้างพระพุทธรูปต้องมีเส้นผม

ถามว่า ทำไมสร้างพระพุทธรูป ถึงมีเส้นผม ทั้งๆ พระพุทธเจ้าก็ปลงผม หัวโล้นเหมือนกัน?

    การที่พระพุทธรูปจะมีพระเกศาหรือว่าศีรษะโล้นนั้นไม่สำคัญกับพระพุทธเจ้า แต่สำคัญกับบุคคลที่ได้พบเห็น หรือแม้แต่พระพุทธรูปหรือพระบรมสารีริกธาตุนั้นไม่สำคัญกับพระพุทธเจ้าเลย แต่สำคัญกับพุทธศาสนิกชน หรือบุคคลทั่วไป

    เราจะต้องมีสิ่งสรณะให้กับบุคคล ลูกศิษย์สาวกของพระพุทธเจ้าก็อยากจะมีอะไรไว้เป็นของที่ระลึก นึกถึง เพราะว่าพุทธศาสนิกชนจะได้เห็น จะได้กราบไหว้บูชา ถ้าไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ก็ไม่รู้จะไหว้บูชายังไง เราจะต้องเข้าใจตรงนี้

    สิ่งที่พระบางรูปกล่าวไว้นั้น ท่านมองเห็นแค่มุมเดียว แต่ยังมองไม่ครบองค์   เพราะจะเข้าใจว่า สิ่งที่กล่าวมานี้จะต้องมีอะไรมาเพิ่มเติม เช่น ตรงนี้ต้องเอาออก ตรงนี้จะต้องเอาเพิ่ม เราไม่มีเราดำเนินการต่อไม่ได้

    ยกตัวอย่าง ถ้าคิดตามสมัยพุทธกาล ปัจจุบันศาสนาพุทธไม่มีแล้ว เพราะถ้าไม่มีวัดแล้วจะไปชุมนุมที่ไหน ถ้าเราไม่มีพระบรมสารีริกธาตุเพื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้า ใครจะไปเห็นพระพุทธเจ้า ปานฉะนี้ผู้คนก็ลืมไปถึงไหนก็ไม่รู้ 

    เพราะเราไม่มีที่ให้เขา "สืบ" ถ้ามีอย่างนี้ก็จะมีต่ออยู่เรื่อยๆ 

    นี่แหละ ทำไมต้องมีพระพุทธรูป ก็เพราะว่า เพิ่มความศรัทธาที่มีต่อพระพุทธเจ้า เพราะบุคคลเขามีภูมิอย่างนั้ัน แล้วเราไม่เอาภูมิอย่างนั้น เราก็จะเสียคนภูมิเช่นนี้ไป

    บางคนบอกว่า ถวายพระพุทธรูป จะไม่ได้รับอานิสงส์ เพราะว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้กล่าวไว้?

    กล่าวอย่างนี้ผิดแล้ว เพราะว่า อานิสงส์นี้ไม่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าเลย 

    อานิสงส์ของการถวายพระพุทธรูปก็คือ ให้ผู้คนพบเห็นแล้วเกิดความศรัทธา อานิสงส์ไม่ได้อยู่กับพระพุทธเจ้าเลย อานิสงส์อยู่กับลูกศิษย์ สาวก ผู้คนที่มาศรัทธาพบเห็น ถ้าไม่มีสิ่งนี้ ก็จะไม่มีคนเหล่านี้ นี่แหละ เป็นอานิสงส์ไหม? เราต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ต้องวิเคราะห์แยกแยะให้ถูก 

    ที่ท่านอธิบายอย่างนี้ ทำให้คนเข้าใจผิดหมด 

    ถ้าคิดอย่างนี้ พระสงฆ์จะเข้าใจหมด แต่ถ้าไม่คิดอย่างนี้ อายุของศาสนาพุทธจะสั้น ไม่ยืนยาว เพราะว่าพระสงฆ์จะขัดแย้งกันเอง

    พระเถรานุเถระตั้งแต่ครั้นโบราณกาลท่านได้ก่อร่างสร้างพุทธานุสสติ ให้คนได้มีสิ่งให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า แต่ว่าพระสงฆ์บางรูปบอกว่าให้ทุบทิ้ง ทำลายทิ้งเสีย ล้มแนวคิดอย่างนี้แล้ว สิ่งที่เราล้มแนวคิดอย่างนี้ ใช่หรือไม่ว่าเราล้มบุคคล พุทธศาสนิกชนไปด้วยมากน้อยเท่าไหร่ลองคิดดู

    ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าตอนนี้เราไปรื้อพระธาตุดอยเวา พระปฐมเจดีย์ พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช พระธาตุพนม พระธาตุดอยสุเทพ รื้อออกไปซะไม่ต้องมี แล้วอะไรจะเกิดขึ้น จะกลายเป็นว่าผู้คนทั่วไปจะไม่นับถือพุทธศาสนา ศาสนาพุทธจะถอยไปเลย กลายเป็นว่า หากมีศาสนาหนึ่งที่ตอบสนองตรงนี้ได้ มีเทพเทวดาองค์ใดองค์หนึ่งมา คนทั้งหลายจะหันไปนับถือเทพเทวดาที่ได้เห็น แต่เมื่อทางพุทธไม่มีอะไรให้เห็นก็จะเสื่อมถอย กลายเป็นว่าไม่มีอยู่จริง เพราะคนเหล่านี้จะยึดอะไร? 

    เราจะต้องจำไว้ให้ดี ดังพระนาคารชุน อาจารย์ใหญ่ฝ่ายนิกายมหายาน ได้กล่าวไว้ว่า เราจะต้องเข้าใจว่า ถ้าหากว่าเราปฏิบัติแบบสุญญตาอยู่เรื่อยแล้วภูมิเรายังไม่ถึง กลายเป็นมิจฉาทิฏฐิทันทีเลย เพราะคนเขาไม่รู้จะทำยังไง จะเอาปรมัตถ์มาใช้กับภูมิปัจจุบันของบุคคลที่ยังไม่ถึงไม่ได้ ถ้าเอามาใช้แล้วเขาไม่มีสิ่งยึดเหนี่ยวไว้ ไม่มีสิ่งระลึกถึงไว้แล้วจะทำยังไง เพราะในภูมิชาวบ้านเขาจะต้องมีสิ่งที่ยึด สิ่งที่ให้เห็นเป็นรูปธรรม จับต้องได้ 

    ถ้าหากว่าผู้ที่เข้าใจ เข้าถึงปรมัตถ์แล้ว เขาจะใช้ปรมัตถ์ยังไง?

    ถ้าหากว่าผู้ที่เข้าสู่ปรมัตถ์แล้ว ขนาดเจอพระพุทธเจ้ายังต้องเผาทิ้ง เจอพระพุทธเจ้าต้องทุบทิ้งแล้ว เพราะว่าถ้ามีพระพุทธเจ้าอยู่ก็ยังไม่เป็นปรมัตถ์แล้ว 

    แต่ว่าภูมิคน ภูมิขาวบ้านปัจจุบันยังไม่ถึง คนที่ภูมิถึงก็ปล่อยให้ถึงไป แต่ภูมิที่ยังไม่ถึงต้องไม่ทิ้งเขา จะไปทิ้งภูมิบัวเหล่า ๑ เหล่าที่ ๒
 สืบ และยึดเหนี่ยวในพุทธานุสสติ

    ถ้าไม่มีพระพุทธรูป ไม่มีพระธาตุเจดีย์ แล้วจะเอาอะไรมา "สืบพระศาสนา"

    คิดง่ายๆ ถ้าหากว่าไม่มีพระพุทธรูป แล้วจะมีการตักบาตรหรือไม่? ก็ไม่มีการตักบาตรแน่นอน เพราะว่าชาวบ้านก็จะบอกว่าให้พระไปทำมาหากินเอง ขนาดพระพุทธเจ้ายังไม่ไหว้แล้วจะไปให้ท่านฉันทำไม? จบเลย!!

    ถ้าหากมีการทำลายพุทธานุสสติอยู่บ่อยๆ เดี๋ยวศาสนาพุทธจะสั้นลงเรื่อยๆ

    เพราะว่าจะไม่มีสิ่งที่ "สืบ" และไม่มีสิ่งที่ "ยึดเหนี่ยว" นี่แหละ เวลาเราทำบุญจึงให้มีการสืบพระศาสนา

    สิ่งที่สืบก็คือ "สิ่งที่ทำต่อเนื่อง" ที่ได้เห็น ได้สัมผัสอยู่

    ยกตัวอย่างเช่น เราเห็นว่าเก้าอี้นี้จะเสื่อมแล้ว เราก็จะซื้อเก้าอี้ตัวใหม่มาแทน หรือซ่อมเก้าอี้ตัวเดิมให้อยู่ในสภาพดีดังเดิม ก็เป็นการสืบให้คงอยู่ ก็จะมีเก้าอี้อยู่เรื่อยๆ ก็ให้รู้ว่าสิ่งนี้เป็นเก้าอี้ สิ่งนี้มีเก้าอี้อยู่ ก็จะสืบไปเรื่อยๆ ถ้าไม่อย่างนั้น ไม่มีตัวสืบ แล้วเราก็จะไม่รู้ว่าเก้าอี้เป็นตัวยังไง เวลานั้นถ้าเราไปพูดถึงเก้าอี้ให้ลูกหลานของเราฟัง เขาก็จะงงๆ เพราะไม่เคยเห็น

    ถ้าเรามีตัวสืบ เห็นตัวสืบอย่างนี้เขาก็จะอ๋อ!! นี่คือพุทธ

 ห่มผ้าพระธาตุเป็นการสืบพระศาสนา
    ทำไมเราไหว้พระธาตุเจดีย์ ห่มผ้าพระธาตุเจดีย์ จึงเรียกว่า สืบพระศาสนา เพราะว่าเราบำรุงพระธาตุเพื่อเป็นตัวชูพระธาตุขึ้นมาเพื่อให้คนทั่วไปให้รู้ว่านี่คือศาสนาพุทธนะ

    อาจารย์มองด้านเดียวแล้วไม่คิดคำนึงถึงผลกระทบ ผลที่ตามมา แล้วยังมีคิดว่าสิ่งนี้เด่น สิ่งนี้ดีที่สุด ดีที่สุดนั้นมันดีของคุณ แต่อีกกลุ่มหนึ่งเขาดีอย่างนั้นแต่ภูมิเขาไม่ถึง

    นี่แหละ ถึงต้องมีสิ่งที่เป็น "นิมิตหมาย" 

    อย่างเช่น "พระพุทธรูป" เป็นนิมิตหมาย หมายถึง พระพุทธเจ้า 

    "พระธาตุเจดีย์" ก็เป็นนิมิตหมาย ให้ระลึกถึง พระพุทธเจ้า อย่างเช่น คนที่มีจิตศรัทธา พอพระพุทธรูปเสื่อม ก็สร้างพระพุทธรูปถวายใหม่ถวาย เห็นไหมว่ามีต่อไปเรื่อยๆ

    ถ้ามี "การสืบ" แล้วก็จะมี "การแพร่" พอมีสืบ มีการแพร่ ก็จะมี "การดำรงอยู่" ถ้าไม่มีการสืบแล้วจะมีการดำรงอยู่ได้ยังไง

    ยกตัวอย่าง ธงชาติ ถ้าเราไม่เห็นธงชาติเราก็ไม่รู้ว่า สถานที่แห่งนั้นเป็นสถานที่ใด ของประเทศใด เราเห็นธงชาติไทย ปักอยู่ตรงนี้เราจึงรู้ว่านี่เขตของประเทศไทย แล้วถามว่าแค่ผ้าผืนเดียวมันจะสำคัญอะไร? ก็สำคัญนะสิ ก็เพราะว่าเป็นนิมิตหมาย หมายถึงอะไรๆๆ

 การกินเจเป็นนิมิตหมายสื่อถึงเจ้าแม่กวนอิม

    การกินเจ ก็มีนิมิตหมาย 

    แล้วการกินเจของประเทศไทย เกิดจากประเพณีกินผักที่ภาคใต้ของไทย ซึ่งไม่เกี่ยวกับเจ้าแม่กวนอิมที่ประเทศจีนเลย?

    การกินเจนั้นเป็นการสืบไปถึงเจ้าแม่กวนอิม คือ เจ้าแม่กวนอิม หรือพระโพธิสัตว์ทั้งหลายโปรดสัตว์ ไม่ฆ่าสัตว์ นี่แหละเอาตัวหลักธรรมะข้อนี้ เอาตัวปริศนาธรรมมาเชื่อมกัน ก็สืบไปถึงตัวนั้น แม้ว่าตรงนั้นไม่ได้ห้ามชัดเจนว่าห้ามอย่างนั้น แต่ว่าสืบไปแล้วคือสิ่งเดียวกัน หัวใจเดียวกัน

    ยกตัวอย่าง สมมติว่าเราเหาะได้ แล้วจะสร้างบันไดไว้ทำไม? 

    ก็สร้างบันไดให้กับคนที่ยังเหาะไม่ได้ไง นี่แหละเขาเรียกว่ามีน้ำใจ มีจิตมุทิตา จิตกรุณา ถ้าเราไม่มีจิตกรุณาแล้วเราจะสร้างบันไดให้คนทั้งหลายได้ขึ้นได้อย่างไร เหตุที่เราอยากให้เขาขึ้นมา เหตุตรงนี้ดี แล้วอยากให้เขาได้ขึ้นมาดีด้วย นี่เป็นความกรุณา มีมุทิตาจิต นี่แหละ ครบเลย

    นี่แหละ ที่เราห่มผ้าพระธาตุเจดีย์กัน เป็นการสืบพระศาสนา ก็สืบด้วยเจตนาอย่างนี้

    ห่มผ้าพระธาตุฯ เป็นการ "สืบพระศาสนา" ตรงไหน?

    ห่มผ้าพระธาตุก็เพื่อไม่ให้พระธาตุเสื่อมสลายหายไป เหมือนกับที่เขาไม่ยอมให้ใครมาตัดต้นไม้ ก็ต้องเอาผ้าไปห่ม บวชต้นไม้ คนก็ไม่กล้าตัด นี่แหละ เป็นการสืบให้ต้นไม้ต้นนั้นให้คงอยู่

    เราเอาผ้าไปห่มพระธาตุเจดีย์ ก็เพื่อต้องการให้พระธาตุเจดีย์นี้ยังคงอยู่ คนจะมาทำลายพระธาตุเจดีย์ก็ไม่กล้า เพราะศรัทธาเยอะแยะเต็มไปหมด 

    นี่แหละ เขาเรียกว่า "ดำรง" ดำรงตรงไหน ก็คือสืบ เราจะต้องสืบ เผยแพร่ แล้วถึงจะดำรง 

    ท่านอาจารย์เหล่านั้นมองอะไรแคบเกินไป ต้องมีแนวคิด วิสัยทัศน์ที่กว้างไกลกว่านี้ มองถึงบุคคลอื่นทะลุ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่