[จิตวิทยา] การวัดไอคิวมีเบื้องหลังอย่างไร : บทวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของการวัดไอคิว

หลายคนคงรู้จักไอคิวอย่างน้อยก็เคยได้ยินมาบ้าง ในบทความนี้เราจะมารู้จักไอคิวกันจริง ๆ สักทีว่าไอคิวคืออะไรกันแน่ บทความนี้แบ่งเป็น 3 ส่วน
- ส่วนที่ 1 เป็นการให้ความรู้เรื่องการวัดไอคิว ไอคิวคืออะไร? มีวิธีวัดอย่างไร? ตัวเลขที่ได้หมายถึงอะไร? (อยู่ในส่วนต้นของกระทู้)
- ส่วนที่ 2 คือบทวิเคราะห์การวัดไอคิว ผลการวัดไอคิวว่ามีความน่าเชื่อถือแค่ไหน? เราควรวัดไอคิวหรือไม่? มีการวัดแบบอื่นที่ดีกว่าการวัดไอคิวหรือไม่? (อยู่ในความคิดเห็นที่ 1)
- ส่วนที่ 3 คือการสรุปบทวิเคราะห์ว่ายังควรมีการวัดไอคิวต่อไปหรือไม่ (อยู่ในความคิดเห็นที่ 2)
 

1. ความรู้เรื่องการวัดไอคิว
1.1 ไอคิวคืออะไร?
ไอคิวหรือ IQ ย่อมาจาก Intelligence Quotient แปลว่าระดับปัญญา การวัดไอคิวเริ่มต้นในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 สมัยนั้นความหมายของคำว่าปัญญายังแคบอยู่ มุ่งเน้นที่ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การวัดไอคิวในสมัยนั้นคล้ายกับการสอบวัดความรู้ ผลการวัดไอคิวจึงสะท้อนความสามารถในการคิดวิเคราะห์
 
เมื่อการศึกษาเรื่องปัญญามีเพิ่มขึ้นมีทฤษฎีที่บอกว่าปัญญามีหลายมิติ ไม่ได้มีแค่ความสามารถในการคิดวิเคราะห์อย่างเดียว เช่น ความสามารถทางดนตรีถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญญาด้วย ทำให้การวัดไอคิวแบบเดิมถูกตั้งคำถามว่าสามารถวัดปัญญาได้จริงหรือไม่ (ปัญญาไม่ใช่ไอคิว อ่านต่อในความคิดเห็นที่ 1 หัวข้อที่ 2.1)


1.2 การสร้างแบบวัดไอคิว
การวัดไอคิวคือการเทียบผลการวัดกับคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน เริ่มจากการสร้างคำถามที่สามารถวัดปัญญาตามทฤษฎีและแนวคิดที่นำมาอ้างอิง รูปแบบของคำถามมีได้หลายแบบ เช่น อนุกรมตัวเลข ลำดับภาพ ความรู้รอบตัว ความสามารถทางภาษา การวิเคราะห์สถานการณ์ การระบุสาเหตุและผลลัพธ์ ความยากของคำถามต้องกระจายกัน มีทั้งข้อง่าย ข้อปานกลาง และข้อยากผสมกันในอัตราส่วนที่เหมาะสม
 
เมื่อสร้างคำถามได้ตามจำนวนข้อที่ต้องการแล้วขั้นตอนต่อไปคือการเก็บข้อมูลไอคิวของกลุ่มตัวอย่าง กลุ่มตัวอย่างนี้จะเป็นตัวแทนของคนปกติที่จะนำมาเปรียบเทียบ สมมติว่ากลุ่มตัวอย่างคือเด็กอายุ 10 ปี การวัดไอคิวของกลุ่มตัวอย่างจะทำให้รู้ว่าเด็กอายุ 10 ปีมีไอคิวเท่าไรตามแบบวัดไอคิวฉบับนี้ (แบบวัดไอคิวแต่ละฉบับวัดไอคิวได้ผลต่างกัน อ่านต่อในความคิดเห็นที่ 1 หัวข้อที่ 2.4)


1.3 การนำแบบวัดไอคิวไปใช้
การวัดไอคิวเป็นการเปรียบเทียบไอคิวของผู้ถูกวัดกับไอคิวเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่าง (ผู้ถูกวัดหมายถึงคนที่ทำแบบวัดไอคิว) แบบวัดไอคิวหนึ่งชุดจึงไม่สามารถวัดไอคิวของทุกคนได้ ต้องเลือกใช้แบบวัดไอคิวให้เหมาะสมกับผู้ถูกวัด เช่น ผู้ถูกวัดมีอายุ 25 ปีควรใช้แบบวัดไอคิวที่เก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างอายุ 25 ปีเหมือนกัน หากผู้ถูกวัดมีอายุ 25 ปีแต่ใช้แบบวัดไอคิวที่เก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างอายุ 7 ปี แบบนี้ไม่มีประโยชน์อะไรในการวัดไอคิว เพราะโดยทั่วไปปัญญาของผู้ใหญ่มากกว่าปัญญาของเด็กอยู่แล้ว กรณีนี้ผลการวัดไอคิวจะออกมาสูงมากเกินไป


1.4 การแปลงไอคิวเป็นตัวเลข
การวัดไอคิวมีข้อสมมติ (assumption) ว่าไอคิวของประชากรมีการกระจายแบบปกติ (normal distribution) สถิติที่นำมาใช้ในการวัดไอคิวโดยทั่วไปคือ z-score โดยกำหนดให้ค่าเฉลี่ย (mean) เท่ากับ 100 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) เท่ากับ 15 การคำนวณไอคิวคือการเทียบอัตราส่วนระหว่างไอคิวของผู้ถูกวัดกับไอคิวเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่าง ไอคิวเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่าง (คนปกติ) จะเท่ากับ 100 เสมอซึ่งเป็นตัวเลขที่ถูกล็อกไว้ตายตัว สูตรการคำนวณไอคิวอย่างง่ายคือ

ไอคิว = 100 × (จำนวนข้อที่ผู้ถูกวัดตอบถูก / ค่าเฉลี่ยของจำนวนข้อที่กลุ่มตัวอย่างตอบถูก)
 
สมมติว่าแบบวัดไอคิวฉบับนี้มีคำถามทั้งหมด 150 ข้อ ตอนสร้างแบบวัดเก็บกลุ่มตัวอย่างอายุ 20 ปี จำนวน 1,000 คน กลุ่มตัวอย่างตอบถูกเฉลี่ย 86.47 ข้อ เมื่อนำแบบวัดไอคิวฉบับนี้มาใช้ไม่ว่าจะในโรงพยาบาลหรือออนไลน์ ผู้ถูกวัดตอบถูก 105 ข้อ ไอคิวของผู้ถูกวัดคนนี้คือ 100 × (105 / 86.47) = 121.43 หมายความว่าผู้ถูกวัดคนนี้มีไอคิวมากกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่างอายุ 20 ปีอยู่ 21.43 จึงพออนุมานได้ว่าผู้ถูกวัดคนนี้มีไอคิวมากกว่าไอคิวของคนปกติ (แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ อ่านต่อในหัวข้อที่ 1.5)
 

1.5 ต่างแค่ไหนถึงเรียกว่าต่าง
แม้ว่าในระบบจำนวนของคณิตศาสตร์ที่เรียนกันมา 101 มีค่ามากกว่า 100 แต่ในทางสถิติไม่สามารถบอกได้ว่า 101 มากกว่า 100 หรือไม่หากยังไม่มีผลการวิเคราะห์ทางสถิติว่าไม่เท่ากัน เราไม่รู้ว่าไอคิวที่ต่างกัน 1 หน่วยนั้นเกิดมาจากอะไร อาจเกิดจากคนที่ได้ไอคิว 101 มีไอคิวมากกว่าคนที่ได้ไอคิว 100 จริง ๆ หรืออาจเกิดจากตอนทำแบบวัดเดามั่วถูกทำให้ได้ไอคิวเพิ่มขึ้นมา 1 ทั้งที่จริงมีปัญญาเท่ากัน หรืออาจเกิดจากความง่วง อารมณ์เสีย ไม่มีสมาธิ สภาพแวดล้อมขณะทำแบบวัดไอคิว ฯลฯ ตัวแปรแทรกซ้อนเหล่านี้อาจทำให้ผลการวัดไอคิวออกมาเป็น 101 กับ 100 อย่างที่เห็น ดังนั้นจึงไม่สามารถสรุปได้ว่าคนที่มีไอคิว 101 มีไอคิวมากกว่าคนที่มีไอคิว 100 โดยตรง
 
การบอกว่าไอคิวของสองคนต่างกันหรือไม่ต้องอาศัยการวิเคราะห์ทางสถิติ (ถ้าไม่เข้าใจสามารถข้ามหัวข้อนี้ได้) หากใช้ z-score แบบสองหาง (two-tailed) จะต้องมี z-score > 1.96 จึงจะได้ p-value < .05 เมื่อคำนวณย้อนกลับสูตร z-score จะได้ว่าต้องมีไอคิวต่างกันมากกว่า 29.40 จึงเรียกได้ว่าแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อกำหนดให้คนปกติมีไอคิว 100 ดังนั้นคนที่มีไอคิวน้อยกว่า 70.60 (100 - 29.40) และคนที่มีไอคิวมากกว่า 129.40 (100 + 29.40) ถือว่ามีไอคิวแตกต่างจากคนปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
 
จากข้อความข้างบนหมายความว่าถ้าคุณมีไอคิว 100 ซึ่งเท่ากับคนปกติ ส่วนเพื่อนของคุณมีไอคิว 129.40 คุณสามารถพูดกับเพื่อนได้ว่าไอคิวของคุณกับไอคิวของเพื่อนไม่แตกต่างกันในทางสถิติ เพื่อนไม่สามารถอวดเบ่งว่าเพื่อนมีไอคิวมากกว่าคุณได้ (หากมากกว่าแสดงว่าต้องแตกต่างกัน)
 

1.6 การแปลผลไอคิว
จากหัวข้อที่ 1.5 ได้อธิบายด้วยสถิติไปแล้ว แต่ในทางปฏิบัติไม่นิยมใช้การแบ่งด้วยเกณฑ์สถิติ เพราะในทางสถิติถือว่า p-value < .05 เป็นสิ่งที่หายากมาก ๆ จนแทบไม่มีโอกาสเกิดขึ้นในการสุ่มแบบอิสระ การใช้เกณฑ์สถิติจึงไม่สามารถอธิบายคนส่วนใหญ่ได้ (95% ของคนทั้งหมด) ดังนั้นจึงไม่มีประโยชน์ที่จะใช้สถิติเป็นเกณฑ์ในการแปลผลไอคิว ยกเว้นว่าต้องการแยกคนที่มีไอคิวแตกต่างจากคนปกติแบบสุดขั้วจริง ๆ
 
การแปลผลที่นิยมใช้เริ่มต้นจากการกำหนดให้ 100 คือไอคิวของคนปกติ แล้วแบ่งช่วงประมาณนี้
- ไอคิวตั้งแต่ 130 ขึ้นไป หมายถึงสูงกว่าคนปกติอย่างมากอย่างยิ่ง (มีคน 2.27% อยู่ในช่วงนี้)
- ไอคิวตั้งแต่ 120 ขึ้นไปแต่ไม่ถึง 130 หมายถึงสูงกว่าคนปกติอย่างมาก (มีคน 6.85% อยู่ในช่วงนี้)
- ไอคิวตั้งแต่ 110 ขึ้นไปแต่ไม่ถึง 120 หมายถึงสูงกว่าคนปกติ (มีคน 16.13% อยู่ในช่วงนี้)
ไอคิวตั้งแต่ 90 ขึ้นไปแต่ไม่ถึง 110 หมายถึงค่าเฉลี่ยหรือเท่ากับคนปกติ (มีคน 49.50% อยู่ในช่วงนี้)
- ไอคิวตั้งแต่ 80 ขึ้นไปแต่ไม่ถึง 90 หมายถึงต่ำกว่าคนปกติ (มีคน 16.13% อยู่ในช่วงนี้)
- ไอคิวตั้งแต่ 70 ขึ้นไปแต่ไม่ถึง 80 หมายถึงต่ำกว่าคนปกติอย่างมาก (มีคน 6.85% อยู่ในช่วงนี้)
- ไอคิวน้อยกว่า 70 หมายถึงต่ำกว่าคนปกติอย่างมากอย่างยิ่ง (มีคน 2.27% อยู่ในช่วงนี้)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่