มีหลายท่านที่ยังไม่ทราบว่าพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์กับเจ้าแม่กวนอิมเป็นองค์เดียวกัน

ประวัติความเป็นมาในคัมภีร์ฝ่ายมหายาน
     พระไตรปิฎกของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทไม่มีปรากฏเรื่องราวหรือแม้แต่พระนามของพระอวโลกิเตศวรอยู่เลย ทว่าในส่วนของนิกายมหายานแล้ว พระอวโลกิเตศวรมีบทบาทปรากฏอยู่มากในพระสูตรสำคัญ ๆ และยังมีเรื่องราวปรากฏในพระสูตรมหายานว่าพระพุทธเจ้าและพระสาวกยังได้เคยตรัสสนทนาธรรมกับพระโพธิสัตว์พระองค์นี้อยู่บ่อยครั้งทีเดียว ในพุทธศาสนามหายานยกย่องพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ว่าเป็นพระผู้ได้รับธรรมจักรมาโดยตรงจากพระพุทธเจ้า และเป็นผู้นำในการรักษาพระพุทธศาสนาและหมุนธรรมจักรต่อไป
การอุบัติของพระอวโลกิเตศวรนี้สันนิษฐานว่ามีขึ้นภายหลังการเกิดนิกายมหายานขึ้นแล้วในราวพุทธศตวรรษที่ ๖-๗ ภายหลังพุทธปรินิพพาน ซึ่งเมื่อตรวจสอบจากวรรณคดีสันสกฤตยุคต้น ๆ ของมหายานอย่าง ชาดกมาลา ทิวยาวทาน หรือลลิตวิสตระ ก็ยังไม่ปรากฏนามพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์แต่อย่างใด แต่มีปรากฏขึ้นครั้งแรกพร้อม ๆ กับพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ในพระสูตรปรัชญาปารมิตาซึ่งถือว่าเป็นพระสูตรมหายานรุ่นเก่าที่สุด และในพระสูตรรุ่นต่อ ๆ มาก็ได้มีเรื่องราวเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์พระองค์นี้ปรากฏขึ้นมากมาย
พระสูตรมหายานกล่าวว่าพระอวโลกิเตศวรประทับอยู่ ณ สุขาวดีพุทธเกษตร คอยช่วยพระอมิตาภะโปรดสรรพสัตว์ที่ตกอยู่ในห้วงทุกข์ และเนื่องจากทรงเป็นพระธยานิโพธิสัตว์จึงมีความเป็นมาอันยาวนานสุดจะคาดคำนวณได้ นับแต่สมัยของ พระวิปัสสีพุทธเจ้า เป็นต้นมาก็ทรงได้โปรดสัตว์มาเป็นลำดับจนถึงบัดนี้ อันเป็นกาลสมัยของพระสมณโคดมศากยมุนีพุทธเจ้า ก็เป็นระยะเวลาเนิ่นนานสุดจะพรรณนา ใน กรุณาปุณฑริกสูตร อธิบายว่า พระอวโลกิเตศวรเป็นพระธรรมกายโพธิสัตว์ สูงกว่าพระโพธิสัตว์สามัญอื่น ๆ และเป็นเอกชาติปฏิพัทธะเช่นเดียวกับพระโพธิสัตว์อารยเมตตรัย กล่าวคือเป็นผู้ที่ยังข้องอยู่กับการเกิดอีกเพียงชาติเดียวก็จะได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ กล่าวกันว่าพระอวโลกิเตศวรจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าภายหลังการดับขันธปรินิพพานของพระอมิตาภะ เพื่อเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ต่อไป ณ แดนสุขาวดี
นอกจากนี้ในพระสูตรมหายานอื่น ๆ ก็ยังมีปรากฏว่าอธิบายแตกต่างออกไปอีก กล่าวคือ บางพระสูตรกล่าวว่าพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์นั้นแท้จริงแล้วคืออวตารภาคหนึ่งของพระอดีตพุทธเจ้า ที่ได้ทรงบรรลุพุทธภูมิเป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธะแล้วในอดีตกาลอันยาวไกล ก่อนสมัยพระพุทธเจ้าของเรา แต่ด้วยพระมหากรุณาที่เล็งเห็นสรรพสัตว์ยังตกอยู่ในโมหะอวิชชา ทำให้ต้องทนทุกข์อยู่ในวังวนแห่งสังสารวัฏยากจะหลุดพ้นไปได้ จึงทรงแบ่งภาคมาเป็นพระอวโลกิเตศวรเพื่อโปรดปวงสัตว์ให้เห็นธรรมพ้นทุกข์ด้วยพระเมตตากรุณา ในบางแห่งก็กล่าวว่าพระอวโลกิเตศวรเป็นพุทธโอรสของพระอมิตาภะที่ทรงบันดาลด้วยพุทธาภินิหาริย์ให้อุบัติขึ้นมาเพื่อเป็นที่พึ่งแก่โลก แต่ทางฝ่ายทิเบตเชื่อว่าพระอวโลกิเตศวรอุบัติขึ้นมาพร้อม ๆ กับพระนางตาราด้วยอานุภาพของพระอมิตาภพุทธ จากแสงสว่าง (บางแห่งว่าเป็นน้ำพระเนตรจากความกรุณาสงสารสรรพสัตว์) ที่เปล่งออกมาจากพระเนตรเบื้องขวาของพระอมิตาภะได้บังเกิดเป็นพระอวโลกิเตศวรประทับบนดอกบัวที่ปรากฏขึ้นพร้อม ๆ กับมนตร์ โอม มณี ปัทเม หูม ส่วนแสงจากพระเนตรเบื้องซ้ายก่อให้เกิดพระนางตาราโพธิสัตว์ อย่างไรก็ตาม ในพระสูตรอื่นบางแห่งก็มีกล่าวว่าแท้จริงแล้วพระอวโลกิเตศวรก็คือภาคหนึ่งขององค์พระอมิตาภะนั่นเอง
ลักษณะทางประติมานวิทยา
ภาพเขียนหรือรูปเคารพของพระอวโลกิเตศวรเริ่มแรกนิยมสร้างเป็นรูปบุรุษหนุ่ม ทรงเครื่องอลังการวิภูษิตาภรณ์อย่างเจ้าชายอินเดียโบราณ และมีอยู่หลายปางด้วยกัน แต่สิ่งสำคัญคือศิราภรณ์บนพระเศียรพระอวโลกิเตศวรจะต้องมีรูปของพระอมิตาภะในปางสมาธิ หากเป็นปางที่มีหลายเศียร เศียรบนสุดจะเป็นเศียรพระอมิตาภะ นับเป็นข้อสังเกตในด้านปฏิมากรรมของพระโพธิสัตว์พระองค์นี้ ส่วนดอกบัวอันเป็นสัญญลักษณ์ของพระอวโลกิเตศวร คือ บัวสีชมพู ขณะที่สีขาวคือบัวของพระมัญชุศรีโพธิสัตว์เท่านั้น และด้วยดอกบัวสีชมพูในตระกูลปัทมะนี้เอง ทำให้พระองค์ได้รับการขนานพระนามว่าปัทมปาณีโพธิสัตว์
     เมื่อพระพุทธศาสนามหายานได้เข้าสู่ประเทศจีนในช่วงแรกคือสมัยก่อนราชวงศ์ถัง จีนได้แปลพระนามของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์เป็นภาษาจีนว่า  กวนซีอิม"ในภาษาจีนแต้จิ๋ว  แต่เนื่องจากในสมัยราชวงศ์ถัง อักษรคำว่า "ซี" ตรงกับชื่อเดิมของถังไท้จงฮ่องเต้ คือ "ลี้ซีเม้ง"จึงได้เลี่ยงมาเรียกย่อ ๆ ว่า "กวนอิม"  ในยุคนั้นรูปเคารพของพระอวโลกิเตศวรยังสร้างเป็นรูปบุรุษตามแบบพุทธศิลป์ของอินเดีย หากในกาลต่อมาช่างชาวจีนได้คิดสร้างเป็นรูปสตรีเพื่อแสดงออกถึงความอ่อนโยน และแสดงถึงความเมตตากรุณาให้เด่นชัดยิ่งขึ้น ดังเช่นความรักของมารดาที่มีต่อบุตร สะท้อนถึงความรู้สึกและความเชื่อของประชาชนพื้นถิ่นที่ห่างไกลแม่แบบซึ่งมาจากอินเดีย จนอาจจะเรียกได้ว่ากวนอิมในรูปลักษณ์ของสตรีเป็นสัญลักษณ์ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในจีน และแพร่หลายมากกว่าปางอื่น ๆ กระทั่งแผ่ขยายเข้าสู่ประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเชีย ทั้งนี้เพราะรูปลักษณ์ของฝ่ายหญิงแทนค่าในเรื่องความเมตตากรุณาได้ดี ในขณะที่รูปลักษณ์อย่างบุรุษเพศจะสะท้อนเรื่องคุณธรรมมากกว่าความเมตตา เมื่อพุทธศาสนาเผยแผ่เข้าไปยังเกาหลี ญี่ปุ่นและเวียดนาม พุทธศาสนิกชนในประเทศนั้นก็พลอยสร้างรูปพระอวโลกิเตศวรเป็นสตรีตามแบบอย่างประเทศจีนไปด้วย     
     พระอวโลกิเตศวร (Avalokiteśvara) หรือ พระปัทมปาณี (Padmapani) เป็นพระโพธิสัตว์ในรูปความกรุณาของบรรดาพระพุทธเจ้าทั้งปวง ปรากฏการสร้างรูปเคารพของพระองค์แตกต่างหลากหลายไปตามความเชื่อ ปรากฏทั้งในรูปสตรีเพศและบุรุษเพศ[1] ในทิเบต นับถือในพระนามเจนเรอซิก (Chenrezig) ในศาสนาพุทธแบบจีน แนวคิดของพระอวโลกิเตศวรได้พัฒนาเป็นเทพเจ้าสตรี พระแม่กวนอิม หรือ กานนอน ในเนปาลมณฑลรู้จักในนามชนะพหะทยา (Jana Baha Dyah), การุณามานา (Karunamaya), เสฌต มจิรทรนาถ
    พระอวโลกิเตศวรในฐานะเป็นพระธยานิโพธิสัตว์
พุทธศาสนามหายานได้จำแนกพระโพธิสัตว์ออกเป็น ๒ ประเภท อันได้แก่ พระมนุษิโพธิสัตว์ และ พระธยานิโพธิสัตว์
• พระมนุษิโพธิสัตว์ คือพระโพธิสัตว์ในสภาวะมนุษย์หรือเป็นสิ่งมีชีวิตในรูปแบบอื่น ๆ ที่กำลังบำเพ็ญสั่งสมบารมีอันยิ่งใหญ่เพื่อพระโพธิญาณอันประเสริฐ ถ้าตามมติของฝ่ายเถรวาทก็คือผู้ที่ยังเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสารเพื่อบำเพ็ญ ทศบารมี ๑๐ ประการให้บริบูรณ์ เหมือนเมื่อครั้งสมเด็จพระผู้มีพระภาคได้ทรงกระทำมาในอดีต โดยที่ทรงเสวยพระชาติเป็นทั้งมนุษย์และสัตว์จนได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระศากยมุนีพุทธเจ้า การบำเพ็ญบารมีดังกล่าวนี้เป็นความยากลำบากแสนสาหัส สำเร็จได้ด้วยโพธิจิต อีกทั้งวิริยะและความกรุณาอันหาที่เปรียบมิได้ ต้องอาศัยระยะเวลายาวนานนับด้วยกัปอสงไขย สิ้นภพสิ้นชาติสุดจะประมาณได้
• พระธยานิโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ประเภทนี้มิใช่พระโพธิสัตว์ผู้กำลังบำเพ็ญบารมีเพื่อแสวงหาดวงปัญญาอันจะนำไปสู่ความรู้แจ้งเหมือนประเภทแรก แต่เป็นพระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีบริบูรณ์ครบถ้วนแล้ว และสำเร็จเป็นพระธยานิโพธิสัตว์หรือพระโพธิสัตว์ในสมาธิโดยยับยั้งไว้ยังไม่เสด็จเข้าสู่พุทธภูมิ เพื่อจะโปรดสรรพสัตว์ต่อไปอีกไม่มีที่สิ้นสุด พระธยานิโพธิสัตว์นี้เป็นทิพยบุคคลที่มีลักษณะดังหนึ่งเทพยดา มีคุณชาติทางจิตเข้าสู่ภูมิธรรมขั้นสูงสุดและทรงไว้ซึ่งพระโพธิญาณอย่างมั่นคง จึงมีสภาวะที่สูงกว่าพระโพธิสัตว์ทั่วไป พระธยานิโพธิสัตว์มักจะมีภูมิหลังที่ยาวนาน เป็นพระโพธิสัตว์เจ้าที่สำเร็จเป็นพระโพธิสัตว์มาเนิ่นนานนับแต่สมัยพระอดีตพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ สุดจะคณานับเป็นกาลเวลาได้ พระธยานิโพธิสัตว์ที่พุทธศาสนิกชนมหายานรู้จักดี อาทิ พระมัญชุศรี พระอวโลกิเตศวร พระมหาสถามปราปต์ พระสมันตภัทร พระกษิติครรภ์ เป็นต้น
* พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ในเมืองไทย
ความจริงแล้วไทยเราเคยนับถือมหายานมาก่อนนับเป็นพันปี จากหลักฐานที่ค้นพบตามโบราณสถานและโบราณวัตถุสมัยศรีวิชัย เช่น พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์สมัยศรีวิชัย พระอวโลกิเตศวรดินเผาพบที่คูหาภิมุขยะลา พระอวโลกิเตศวรตามปราสาทขอมต่าง ๆ เพราะจริงๆ แล้วไทยเคยบูชาพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ในยุคสมัยที่ศาสนาพุทธนิกายมหายานเคยเจริญรุ่งเรือง ก่อนที่คนจีนโพ้นทะเลจะนำลัทธิบูชาเจ้าแม่กวนอิมซึ่งเป็นพระอวโลกิเตศวรในภาคสตรีเข้ามาเผยแพร่นั่นเอง
รูปข้างล่างนี้ล้วนเป็นรูปเคารพของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (กวนอิม) ทั้งสิ้น
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่