อย่าตระหนก! ฟังความเห็นสามหมอดัง วัคซีนชิโนแวคโอเคแค่ไหน

พลันที่ไทยสั่งซื้อวัคซีนจากแอสตร้า เซนเนก้า สัญชาติอังกฤษ-สวีเดน และชิโนแวค จากจีน ไปหมาด ๆ ก็มีข่าวตามมาว่า วัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาโดยชิโนแวค ไบโอเทค มีประสิทธิภาพโดยทั่วไปไม่ถึง 60% ในการทดลองขั้นสุดท้ายที่บราซิล ทำให้สังคมออนไลน์เกิดอาการผึ้งแตกรัง ส่งเสียงอื้ออึง กระโจนลงสนามโซเชียลโจมตีจีนชิโนแวคกันชนิดไม่แตะเบรค โดยยังไม่ทันพิจารณารายละเอียดข้อเท็จจริงให้ถ่องแท้ก่อนเลย
 
หากกลับไปอ่านข่าวดี ๆ จะพบว่า ต้นข่าวที่ถูกโหมกระพือมาจากสำนักข่าวรอยเตอร์ จากสหรัฐอเมริกา ที่อ้างข้อมูลจากสื่อท้องถิ่นในบราซิลที่อ้างลงไปอีกว่าได้ข้อมูลจาก 2 บุคคลที่เห็นผลการทดลอง โดยไม่มีรายละเอียดความน่าเชื่อถือของข่าวมากกว่านั้น 
 
หากมองในแง่การเมือง แน่นอนว่าเรื่องนี้ต้องเป็นการดิสเครดิตทางการเมืองระหว่างสองขั้วมหาอำนาจของโลก ซึ่งทางสหรัฐอเมริกาต้องการจะทำลายความน่าเชื่อถือของจีน ที่ตอนนี้กำลังมาแรงในทุก ๆ ด้าน แม้กระทั่งล่าสุดกับการผลิตวัคซีน เพื่อช่วยประชากรโลกให้รอดพ้นจากภัยพิบัติไวรัสโคโรน่า ซึ่งหากจีนทำสำเร็จ ก็จะได้เครดิตจากทั่วโลก ที่จะยิ่งตอกย้ำความพ่ายแพ้อย่างน่าอับอายของสหรัฐอเมริกาเข้าไปอีก จากที่ก่อนหน้านี้เชิดชูตัวเองทุกวิถีทางว่ายิ่งใหญ่ แต่กลับเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงที่สุดในโลก และยังไม่สามารถผลิตวัคซีนมาช่วยประชาชนของตัวเองได้ ในขณะที่จีน ซึ่งมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นรายแรก ๆ ของโลกและมีจำนวนมาก แต่สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้ในเวลาอันรวดเร็ว พร้อมกับยกระดับขีดความสามารถของตัวเองได้ จนสามารถผลิตวัคซีนที่มีประสิทธิภาพพอที่จะช่วยผู้คนทั่วโลกรอดพ้นภัยโควิด-19 ได้ 
 
แต่หยุดเรื่องการเมืองไว้แค่นั้นเถอะ หันมาพิจารณากันถึงข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ดีกว่า หากข่าวปล่อยนี้เป็นเรื่องจริง เรายังจะสามารถไว้วางใจวัคซีนชิโนแวคจากจีนได้อีกหรือไม่?


 
อ้างอิงข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกและสำนักงานอาหารและยาโลก ซึ่งกำหนดไว้ว่า วัคซีนที่ไว้ใจได้ ควรมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้อย่างน้อย 30% แต่ถ้ามีประสิทธิภาพถึง 50% ก็จะถือว่าดีทีเดียว ซึ่งการพิจาณาว่าควรจะใช้วัคซีนใดนั้น นอกจากประสิทธิภาพในการป้องกันโรคแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงความปลอดภัยและคุณภาพประกอบอีกด้วย 
 
ในเรื่องความปลอดภัยจากการฉีดวัคซีน หรือเรื่องผลข้างเคียงนั้น จะวิเคราะห์อย่างน้อยสองประเด็นคือ 1. เทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิต (ซึ่งเทคโนโลยีแบบวัคซีนเชื้อตายมีแนวโน้มที่จะปลอดภัยมากกว่า) และ 2. คุณภาพความน่าเชื่อถือของการเก็บรวบรวมการวิจัย และการเสนอรายงานให้สาธารณะรับทราบ
 
ชิโนแวคกับเทคโนโนยีการผลิตวัคซีน
 
สำหรับประเด็นของเทคโนโลยีในการผลิตนั้น วัคซีนชิโนแวคของจีน ใช้เทคโนโลยีวัคซีนเชื้อตาย (Inactivated Vaccine) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้ผลิตวัคซีนมาแล้วหลายตัว เช่น วัคซีนไข้สมองอักเสบ พิษสุนัขบ้า และไวรัสตับอักเสบเอ ซึ่งจัดว่ามีความปลอดภัยสูง วงการแพทย์มีความคุ้นเคย จึงสร้างความมั่นใจได้ดี นอกจากนั้นยังสะดวกในการขนส่งและเก็บรักษา เพราะสามารถอยู่ในอุณหภูมิตู้เย็น 2-8 องศาเซลเซียส ได้นานถึงสามปี 

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

ศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อเด็กแห่งประเทศไทย และประธานมูลนิธิส่งเสริมศึกษาไข้หวัดใหญ่ ให้สัมภาษณ์ Bluesky เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 ว่า เรื่องของวัคซีนจะเน้นความสำคัญด้านความปลอดภัยมากกว่าประสิทธิผล เพราะต้องฉีดเข้าไปในคน อย่างไรก็ตาม หากความปลอดภัยสูงแต่ประสิทธิผลต่ำก็ใช้ไมได้เช่นกัน ดังนั้นจึงต้องชั่งน้ำหนักกันระหว่างความปลอดภัยกับประสิทธิผลที่จะป้องกันโรคว่าจะคุ้มค่ากันหรือไม่ 
 
การใช้วัคซีนเชื้อตาย ใช้ในหลายวัคซีนมานานแล้ว และวัคซีนชิโนแวคของจีน ผลการศึกษาวิจัยทางบราซิลได้ผลประมาณ 78% มีความปลอดภัยสูง สามารถป้องกันกลุ่มคนฉีดวัคซีนโดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าภูมิคุ้มกันสูง ต้องรอศึกษาอีกสักระยะหนึ่ง 
 
“ส่วนที่หลายคนแคลงใจว่าวัคซีนจีนเชื่อถือได้หรือไม่ ต้องเข้าใจว่าปัจจุบันเทคโนโลยีจีนไปไกลมาก วัคซีนที่ฉีดในเด็กไทยปัจจุบันก็สั่งมาจากจีน เช่น ไข้สมองอักเสบ ตับอักเสบเอ พิษสุนัขบ้า มีเครดิตมากพอในรอบ 10-20 ปีมานี้”
 
ส่วนแอสตร้า เซนเนก้า ใช้เทคโนโลยีใหม่ โดยใช้เชื้อไวรัสที่ไม่แตกตัวในคน แล้วนำเชื้อโควิดแทรกเข้าไป ให้พาไปในร่างกาย เป็นแพลตฟอร์มใหม่ มีการวิจัยว่าปลอดภัยระดับหนึ่ง 
 
“ในโลกนี้ไม่มีอะไรดีหมด หรือเสียหมด ต้องชั่งน้ำหนักดูว่าอันไหนใช้ได้ มีความปลอดภัยสูง แต่ไม่มีใครกล้ารับประกันว่าปลอดภัย 100% ส่วนผลข้างเคียงปวดบวม แดง ร้อน มีเป็นปกติอยู่แล้ว เช่น ของแอสตร้ามีผลข้างเคียง 60%-70% ก็ถือว่าไม่เป็นไร หายเองได้ แต่สิ่งกังวลคือผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่นว่าหากทดสอบในคน 3 หมื่นกว่าคน แล้วเกิดผลข้างเคียงรุนแรงถึง 1 ใน 3”
 
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผ่านรายงานเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2564 ว่า วัคซีนที่จะมาฉีดได้ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก โดยผ่านการทดลองระยะที่ 3 ก่อน ผ่านประชากรจำนวนมากที่เป็นหลักหมื่น 
 
สำหรับกลุ่มวัคซีนที่ทำมาจากเชื้อตาย คือเอาไวรัสมาเพาะเลี้ยง แล้วทำให้ตาย แล้วเอามาทำเป็นวัคซีน ซึ่งจะทำในปริมาณมากได้ยาก และไม่มีใครอยากเล่นกับเชื้อตัวนี้ เพราะต้องเพาะเชื้อเป็นจำนวนมาก ในห้องที่มีชีวนิรภัยระดับสูง จึงทำให้เยอะและถูกลงได้ยาก วิธีนี้ทำมาแต่โบราณ เช่น วัคซีนพิษสุนัขบ้า ตับอักเสบเอ ข้อเสียเปรียบคือ กระตุ้นภูมิต้านทานสู้วัคซีนอีกสองประเภทไม่ได้ แต่เมื่อไปศึกษากับตุรกี ยกตัวอย่าง วัคซีนซิโนแวกซ์ มีประสิทธิภาพถึง 90%, ศึกษาในยูเออีกับประชากรกว่า 3 หมื่นคน มีประสิทธิภาพ 86%
 
“ด้วยความยุ่งยากทางด้านกฎหมายและอื่น ๆ จึงถือว่าตอนนี้โชคดีแล้ว ไทยเรามีมิตรภาพที่ดีกับจีน จึงยอมขายให้เรา 2 ล้านโดส แม้ว่าเขาไม่สามารถผลิตจำนวนมาก ๆ ได้ หลายคนบอกว่าวัคซีนจีนไม่ดี ผมคิดว่าไม่ใช่หรอก ตอนนี้ตลาดวัคซีนทั้งหลายเป็นของผู้ขายไม่ใช่ผู้ซื้อ ผู้ซื้อต่อให้มีเงิน บางทีซื้อไม่ได้หรอก ทุกคนแย่งกัน แต่หลังจากนี้อีก 1 ปี ตลาดจะเป็นของผู้ซื้อ เพราะแย่งกันผลิต ก็จะล้นตลาด แต่เราจะรอได้มั้ยอีก 1 ปี ถ้าเรารอได้ ก็รอซื้อของถูก ไทยไม่มีทางเลือก ถ้ามีมิตรภาพและมีเงินไปขอซื้อจากไฟเซอร์ตอนนี้ เขาก็ไม่มีวัคซีนให้ ส่วนแอสตร้า เซนเนก้า ก็ต้องรอหลังเดือน มิ.ย.” 
 


ผศ.น.พ. เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้ โพสต์ตอบข้อซักถามในเพจส่วนตัวว่า วัคซีนของจีนเป็นวัคซีนที่ใช้เทคนิคเชื้อตาย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มนุษย์เรา โดยเฉพาะทางวงการแพทย์คุ้นเคย รวมทั้งทำให้การเก็บดูแล และการขนส่งทำได้สะดวกและง่ายกว่าวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ของบริษัทไฟเซอร์และบริษัทโมเดิร์นนา (mRNA) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ยังไม่เคยใช้ผลิตวัคซีนฉีดในคนมาก่อน และทำให้การเก็บรักษาวัคซีน ต้องใช้อุณหภูมิความเย็นยิ่งยวด ลำบากในการเก็บรักษาและขนส่ง 
 
“ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคของวัคซีนเชื้อตาย ไม่ค่อยมีปัญหาจากเชื้อที่กลายพันธุ์ เพราะเป็นวัคซีนที่มีองค์ประกอบของไวรัสครบถ้วนทั้งตัว แต่กระนั้น การฉีดวัคซีนเป็นการลดความเสี่ยง ไม่ได้ป้องกัน 100% ยังต้องป้องกันตัวเองกันต่อไป”
 
ฟังคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางสามท่านให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ก็วางใจได้ระดับหนึ่งว่า วัคซีนชิโนแวคของจีน ไม่ได้ขี้เหร่ถึงขั้นพิการจนใช้งานไม่ได้ เพราะใช้เทคโนโลยีที่ไว้วางใจได้ ทางการแพทย์คุ้นเคย และใช้ได้ผลมาตลอด ส่วนข่าวที่ว่าประสิทธิผลลดลงนั้น ก็อย่าเพิ่งตื่นตระหนกเชื่อข่าวลือเกินไป ต้องฟังการแถลงข้อเท็จจริงอย่างเป็นทางการก่อน แต่ถึงแม้จะเป็นความจริงตามข่าว เปอร์เซนต์ที่ลดลงก็ยังไม่ได้ทำให้ชิโนแวคกลายเป็นวัคซีนที่ใช้การไม่ได้ เพราะประสิทธิผลยังอยู่ในระดับที่ดี เกินกว่าระดับต่ำสุดที่องค์การอนามัยโลกรับรองอยู่มาก 



[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่