📌📌 หมอทวีศิลป์ ขอโทษ ปม 'หมอชนะ' บิ๊กตู่ ไม่สบายใจ ศบค. ให้ข้อมูลสับสน

ต่อเนื่องจากข่าวนี้เมื่อวาน https://ppantip.com/topic/40433520/comment30
คอมเม้นท์เดือดทุก Platform

สรุปสั้นๆ ว่าใครไม่สะดวกหมอชนะ ไม่ใช่ก็ได้ แต่ถ้าติดโควิดจะต้องชี้แจง Timeline
ถ้าปกปิดถึงจะมีความผิด
..ก็ต้องงั้นแหละ จะบังคับทุกคนใช้ได้ไงละ
เพี้ยนกินมาม่า
*************************

หมอทวีศิลป์ เปิดใจขอโทษ ปม 'หมอชนะ' 
บิ๊กตู่ ไม่สบายใจ ศบค. แจงวุ่นให้ข้อมูลสับสน 
ข่าวสด 7 ม.ค. 2564 - 22:28 น. 
 


เผยเบื้องหลัง “ศบค.” พบ “สื่อ” กู้สถานการณ์วิกฤติโควิด หลังให้ข้อมูลสับสน หมอทวีศิลป์ เปิดใจ ขอโทษพูดคลาดเคลื่อน แอพ 'หมอชนะ' บิ๊กตู่ ไม่สบายใจ
เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. นำโดย พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นประธานการประชุมร่วมกับองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน อาทิ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และตัวแทนสื่อมวลชนจากสำนักต่างๆนอกจากนี้ยังมี นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย กสทช. สำนักงานรัฐบาลดิจิทัล ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กรมประชาสัมพันธ์ อสมท.
 
พล.อ.ณัฐพล กล่าวเปิดการประชุมโดยแนะนำโครงสร้างการทำงานของศบค. และยอมรับว่าตัวเองเป็นคนที่กลัวการให้ข่าวกับสื่อมวลชน แต่วันนี้ยินดีที่จะพบและต้องการรับฟังความคิดเห็นจากสื่อมวลชน และนับตั้งแต่รับตำแหน่งเลขาสมช.มา และรับราชการมา 37 ปี ยอมรับว่าโควิดเป็นสถานการณ์ที่หนักที่สุด เพราะเมื่อมีมาตรการเข้มไปก็โดนตำหนิ เมื่อผ่อนคลายก็ถูกตำหนิ ซึ่งเป็นการทำงานบนความคิดเห็นที่แตกต่างของสังคมในการแก้ไขสถานการณ์
 
พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า การแก้ไขสถานการณ์โควิดมีสองส่วน คือ 1.ความสำเร็จของการแพทย์ สาธารณสุข 2.การบริหารความรู้สึก ความเข้าใจของประชาชน หากทั้งสองส่วนทำได้มากกว่า 80% จะสามารถทำให้ช่วยควบคุมสถานการณ์และยืนระยะได้
"ตอนนี้เราต้องทำความสำคัญกับการทำความเข้าใจกับสังคม วันนี้ผมจึงต้องการคำแนะนำจากสื่อมวลชนเพื่อเป็นแนวทางในการทำงานของศบค.ต่อไป"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นเป็นการเปิดให้สื่อมวลชนได้แสดงความคิดเห็นการทำงาน การสื่อสารของ ศบค. เริ่มจากประเด็นของ Timeline ผู้ติดเชื้อโควิด ที่บางจังหวัดก็ไม่ทำ Timeline บางจังหวัดเขียนละเอียดมากจนสามารถรู้ชื่อ นามสกุล รู้ได้เลยว่าบ้านหลังไหน จึงมีการเสนอให้ ศบค.ให้นโยบายและกำหนดให้เป็น Template หรือ รูปแบบการเขียน Timeline แบบเดียวกันทั้งหมดจะได้หรือไม่
 
ขณะที่ หมอทวีศิลป์ ชี้แจงว่า เรื่องไทม์ไลน์ เป็นเรื่องที่พยามทำอย่างเต็มที่ แต่ด้วยสเกลของข้อมูลมีจำนวนมากในบางพื้นที่ก็จะใช้วิธีการกรุ๊ปกลุ่ม เพราะไม่สามารถทำไทม์ไลน์ได้ทุกคน เช่นเดียวกับหลายประเทศ รวมทั้งสิงคโปร์ที่ไม่สามารถรายงานไทม์ไลน์ได้ เนื่องจากข้อมูลเขาก็เยอะเหมือนเรา จึงทำเป็นกลุ่มก้อนเฉพาะ
ในส่วนประเด็นแอปพลิเคชั่น มีการพูดถึงแอปพลิเคชั่นเกี่ยวกับโควิดที่มีมากเกินไป ทั้งไทยชนะ หมอชนะ ถ้าไปเชียงใหม่ก็มี เชียงใหม่ชนะ อยู่กทม.ก็มีของตัวเองอีก จึงขอให้ศบค.ทำให้เหลือเพียงแอปพลิเคชั่นเดียวจะได้หรือไม่ นอกจากนี้ในที่ประชุมส่วนใหญ่ท้วงติงกรณีการแถลงข่าวของ โฆษกศบค. รอบวันที่ 7 ม.ค. ที่ระบุว่า ถ้าประชาชนในพื้นที่ควบคุม ไม่ดาวน์โหลดหมอชนะ จะมีความผิดและต้องรับโทษ
ซึ่ง นพ.ทวีศิลป์ ชี้แจง พร้อมกับขอโทษในการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน โดยระบุว่านายกรัฐมนตรีก็ไม่สบายใจ จึงขอยืนยันว่าไม่ได้มีความผิดขนาดนั้น เพราะเจตนาที่แท้จริงเป็นการขอความร่วมมือให้ประชาชนในพื้นที่ใช้แอปพลิเคชั่นหมอชนะ ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนหากประชาชนไม่มีสมาร์ทโฟนไม่สามารถโหลดแอปพลิเคชั่นหมอชนะได้นั้น ก็สามารถใช้กระบวนการแบบแอปพลิเคชั่นไทยชนะได้ในการจดบันทึกของตนเองด้วยมือได้
 
"ยืนยันที่แถลงศบค.ในเรื่องดังกล่าวเป็นการอ่านตามเอกสารที่ระบุในคำสั่ง แต่ความจริงไม่ได้ซีเรียสขนาดนั้น เพราะต้องการเพียงความร่วมมือกับประชาชนเท่านั้น"นพ.ทวีศิลป์ ชี้แจงในวงหารือ มีการท้วงติงการทำหน้าที่ของนพ.ทวีศิลป์ ที่ต่างจากช่วงการระบาดระลอกแรก ที่ดูจะสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจอย่างตรงไปตรงมามากกว่ารอบนี้ สังเกตได้จากการเลี่ยงใช้คำเพราะอาจจะกังวลการเมือง เช่น การระบุสีในพื้นที่ หรือการเอ่ยถึงบ่อนการพนัน ก็ไม่กล้ากล่าวตรงๆ
รวมทั้งมีการท้วงติงการทำงานของ ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร ที่สื่อมวลชนฝาก ศบค. สะท้อนปัญหา เพราะเมื่อนักข่าวถามข้อมูลในเชิงการแพทย์โฆษก กทม.มักจะตอบไม่ได้ จึงเสนอให้เมื่อโฆษกกทม.จะแถลง ให้เชิญ แพทย์จากสำนักอนามัย และสำนักการแพทย์ ของ กทม. มาให้ข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งขอให้บูรณาการร่วมกับ ศบค.ด้วย
ซึ่ง นพ.ทวีศิลป์ รับข้อเสนอแนะและชี้แจงว่า การทำงานของตัวเองยึดหลักสามข้อ คือ 1.true - ข้อเท็จจริง 2. transparency โปร่งใส 3. Timing เวลา พร้อมกับอธิบายว่า เมื่อครั้งการระบาดในครั้งที่แล้ว มีเคสที่สูงสุดคือวันที่มี 188 เคส ที่ต้องขอบคุณทีมระบาดวิทยาที่อดหลับอดนอน ทำงานดึกดื่นทุกวันเพื่ออัพเดทข้อมูล
แต่ครั้งนี้ ข้อมูลมหาศาล ครั้งแรกก็มา 500 ราย เมื่อข้อเท็จจริงมีมาก จึงทำให้ความโปร่งใสมีปัญหาจนทำให้หนักใจ เพราะข้อมูลจำนวนมากทำให้การรายงานที่ครบมีปัญหาด้วย ไม่ใช่ไม่อยากรายงานให้ครบ อย่างรอบแรกเกิดขึ้นในสนามมวย และผับทองหล่อเป็นแหล่งใหญ่ เจ้าหน้าที่ทำงานหนักเพราะข้อมูลเยอะในพื้นที่เองก็สาละวนกับการสอบสวนโรคจำนวนมาก
ส่วนที่ระบุกลัวการพูดในเชิงการเมืองและการใช้ภาษานั้น นะ.ทวีศิลป์ ยืนยันว่า ตัวเองพูดในสิ่งที่สบายใจที่จะพูด สบายใจที่ได้ทำงานกับเลขา สมช. เพราะไม่มีใครมาสั่งให้ต้องพูดอย่างนั้นอย่างนี้ นี่คือภาวะวิกฤติ แม้ประเทศที่ใหญ่เขาก็เจอยิ่งกว่านี้ ไม่ใช่ว่าไม่มีปัญหา"
 
สำหรับการจัดการข้อมูลของรัฐบาล มีการพูดถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงหักข้อมูลของประกาศกทม. ที่ห้ามรับประทานอาหารในร้านหลังเวลา 19.00 น. ภาพออกมาเหมือน กทม.กับศบค. ไม่ได้คุยกัน และการแก้ปัญหาสามารถทำได้หลังไมค์ ด้วยการที่สื่อสารกันภายในไม่ต้องแถลงให้เกิดภาพความขัดแย้ง
รวมทั้งกรณี นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ศบค.ล็อกดาวน์ 5 จังหวัด แต่สุดท้ายต้องรอการชี้แจงในวันต่อไปทำให้เกิดความสับสนของข้อมูล แต่ไม่มีใครกล้าออกมาแก้ข่าวได้ทันท่วงนี้ และยังพูดถึงกรณีที่จังหวัดต่างๆ ให้ข่าวการพบผู้ติดเชื้อรายพื้นที่ของตัวเอง ทำให้มีข้อมูลมหาศาลตลอดทั้งวัน
 
นอกจากนี้ ยังมีการเสนอว่า หาก นพ.ทวีศิลป์แถลงคนเดียวไม่หมด ขอให้ถอยกลับไปใช้หลักการแถลงแบบ ศบค. รอบแรก คือ นพ.แถลงสถานการณ์ หน่วยงานไหนเกี่ยวข้องกับเรื่องใด ให้มีตัวแทนมาแถลงเช่น เรื่องความมั่นคง มีสมช. สำนักงานตำรวจ มหาดไทย มาแถลง เรื่องแรงงาน มีกระทรวงแรงงานมาแถลง เรื่อง แอปพลิเคชั่น กระทรวงดีอีมาแถลง ไม่เช่นนั้น นพ.ทวีศิลป์จะแบกภาระอยู่คนเดียว
 
ก่อนจบการประชุมที่ใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง เลขา สมช.ในฐานะประธานการประชุม แสดงความขอบคุณ และน้อมรับทุกคำแนะนำจากสื่อมวลชน และหลายเรื่องเป็นความจริงที่ต้องรีบแก้ไข หากสิ่งใดทำได้ทันทีก็จะทำ สิ่งใดที่ทำไม่ได้ก็จะพยายามทำให้ดี และเมื่อเราจะปรับปรุงการสื่อสารอย่างไรก็จะแจ้งให้สื่อทราบ หรือ ให้ติดตามดูว่า ศบค.ได้ปรับการสื่อสารตามที่เสนอแนะมาแล้วหรือไม่
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่