คอนเซ็ปท์ปีนี้ของไร่จิมทอมสันคือ “ดอกไม้บาน อีสานม่วนซื่น” (Jim Thompson Farm – ISAN flowers fest) ปีนี้เขาเปิดฟาร์ม 5 ธันวาคม 2563 – 3 มกราคม 2564 และเปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 9.00 น.- 17.00 น.สามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ที่หน้างาน แต่สำหรับเรา เราซื้อล่วงหน้าทางเว็ปไซต์ในราคาผู้ใหญ่คนละ 150 บาท
วันนี้คือวันที่ช่วงเช้าเราแวะเข้าไปที่งานเกษตร 100 ไร่ ของสถาบันราชภัฏนครราสีมามาก่อน เราวางแผนให้เข้ามาถึงฟาร์มจิมฯ สัก 9 โมง เพื่อให้ได้เวลาเปิดให้เข้าชมพอดีแบบไม่ต้องรอนาน และมันก็เป็นแบบนั้นจริงๆครับ เรามาถึงราว 9 โมงครึ่ง การจราจรคล่องตัว เจ้าหน้าที่ของทางฟาร์มจัดการได้ดี โดยให้เรานำรถจอดในบริเวณของรถนักท่องเที่ยวขนาดเล็ก ในขณะที่ถ้าเรามองไปรอบๆ จะเห็นว่าวันนี้ที่เป็นวันศุกร์ และเป็นวันคริสต์มาสซึ่งเป็นวันศุกร์สุดท้ายก่อนที่ฟาร์มจะปิด (ศุกร์ถัดไปคือวันที่ 1 มกราคม ซึ่งเป็นวันหยุด และฟาร์มจะปิดวันที่ 3 และจากประสบการ์ของเราๆ วันศุกร์คือวันทัศนศึกษาของเด็กนักเรียน) ลานจอดรถบัสคลาคล่ำไปด้วยรถบัสขนาดใหญ่นับสิบคันซึ่งแต่ละคัน แต่ละคณะคือบรรดานักเรียนที่มีตั้งแต่เด็กปฐมวัย จนถึงมัธยม แต่ทางฟาร์มจะจัดทางเข้าสำหรับหมู่คณะไว้ต่างหากกับนักท่องเที่ยวทั่วไป อันนี้ถือว่ามืออาชีพ
ใช่ครับ ฟาร์มจิมทอมป์สันแห่งนี้จัดการท่องเที่ยวแบบมืออาชีพจริงๆ ตั้งแต่ระบบการจองตั๋ว (ที่มีทั้งออนไลน์ และมาซื้อที่หน้าทางเข้า) การจัดการนักท่องเที่ยวตั้งแต่ทางเข้า การเวียนรถภายในฟาร์ม ระบบประชาสัมพันธ์ และมาตรฐานของระบบการจำหน่ายอาหารและคุณภาพของอาหารทั้งด้านราคาและสาธารณะสุข
รถเวียน 1 คันจุคนได้ค่อนข้างเยอะ เวียนรถค่อนข้างถี่โดยเฉพาะช่วงที่มีผู้เข้าชมมาก มีไกด์ประจำ และจุดจอดที่ไม่ห่างกันมาก เราสามารถลงที่จุดที่ 1 แล้วเดินถ่ายรูปยาวๆ ไปจนไปรอขึ้นรถที่จุดที่ 2 หรือ 3 ได้แบบไม่เหนื่อยนัก และจุดก่อนสุดท้ายเป็นร้านขายผลิตภัณฑ์ในแบรนด์ของฟาร์มที่มีผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมให้เลือกหลากหลายละลานตา ที่สำคัญลดราคาค่อนข้างมากจนถึงแม้จะตั้งใจไม่ซื้อ ก็เผลอติดไม้ติดมือมามากโข
เริ่มต้นด้วยด้วยการรับสายรัดข้อมือที่ทางเข้าพร้อมตรวจวัดอุณหภูมิเพื่อคัดกรองโควิดตามมาตรการของรัฐ แล้วเดินปะปนไปกับเด็กเล็กเด็กโตที่ส่วนใหญ่จะใส่ยูนิฟอร์มเหมือนกันเป็นกลุ่มๆ พร้อมความร่าเริงแห่งวัยเด็กที่ผนวกเข้ากับช่วงเวลาของการทัศนศึกษานอกสถานที่และวันนี้ก็เป็นวันคริสต์มาส เจ้าหน้าที่จัดให้เรารอรถเวียนของฟาร์มเพื่อไปยังจุดต่างๆ แยกต่างหากจากเด็กๆที่มาเป็นกลุ่มเหล่านั้น และเหมือนครูและคณะทัศนศึกษาก็พร้อมจัดระเบียบกลุ่มของตนและเว้นที่ไว้เพื่อแขกท่านอื่น คันที่เรานั่งก็มีแค่ 2 แถวหลังสุดนั่นแหล่ะที่เป็นนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้มากับกลุ่มทัศนศึกษา รถเคลื่อนไปข้างหน้าพร้อมเสียงประชาสัมพันธ์ ปนกับเสียงพูดคุยกันอย่างสนุกสนานของเด็กๆ
จุดแรกเป็นทุ่งทานตะวัน ที่สามารถเดินผ่านไปยังทุ่งคอสมอส ซึ่งเป็นจุดลงรถจุดถัดไป เราไม่ได้ลงที่จุดแรกแต่เราไปลงที่จุดที่ 2 (ทุ่งคอสมอส และเนินฟักทอง)และจริงๆแล้ว เนินฟักทองที่เป็นหนึ่งในจุดเช็คอินที่งานสร้างขึ้นก็ถือว่าได้รับความนิยมจากเด็กๆค่อนข้างมาก รอจนคณะทัศนศึกษาผ่านไปแล้วนั่นแหล่ะ เราถึงจะได้ถ่ายรูปฟักทองแบบที่ไม่มีตัวประกอบมากนัก
ทุ่งธุงใยแมงมุม จะอยู่ถัดจากทุ่งดอกทานตะวันและคอสมอสถ้าเราลงรถที่จุดที่ 1 นับเป็นจุดถ่ายรูปยอดนิยมอีกจุดของงาน
ธุงใยแมงมุม มีลักษณะสำคัญ คือ ทำด้วยเส้นด้ายหรือเส้นไหมผูกคล้ายใยแมงมุม ทั้งแบบสี่ด้านหรือหกด้าน ทำมาจากเส้นไหมหรือเส้นด้ายหลากหลายสีสันมัดกับไม้ไผ่เหลาแล้ว มัดและม้วนจนเป็นวงรอบคล้ายใยแมงมุมที่โยงไปโยงมา เมื่อเสร็จก็นำมาร้อยเข้าเป็นสายเดียวกันหรือตามรูปแบบต่างๆ ที่ออกแบบให้สวยงาม แล้วจึงนำไปตกแต่งมณฑลพิธีหรือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ธง เป็นภาษามาตรฐานในประเทศไทย ภาคอีสาน เรียกว่า ธุง
ธุง เป็นเครื่องประกอบพิธีกรรมสำคัญของชาวอีสานมาอย่างยาวนาน เชื่อกันว่าสามารถใช้ป้องกันสิ่งนิสัยไม่ดีร้ายหรือสิ่งไม่ดีที่มองไม่เห็นหรือภูตผีวิญญาณที่จะมารบกวนงานบุญ หากเห็นธุงแล้วจะถอยออกไป พร้อมกันนั้นยังเป็นการบอกกล่าวบวงสรวงเทพยดาในพื้นที่ว่ามีการทำบุญและมีพิธีการสำคัญให้มาช่วยปกป้องคุ้มครอง
ธุงใยแมงมุม ยังสะท้อนความเชื่อหลายอย่างด้วยกัน อาทิ แทนการเชื่อมโยงวิญญาณหลังความตาย รวมถึงเป็นกุศโลบาย หมายถึง สายใยนำสู่พระธรรม เป็นบุญเป็นกุศลให้คนที่ประดิษฐ์ธุงแมงมุมถวายเป็นพุทธบูชา ได้ยึดเกาะสายใยนี้สู่ภพแห่งพระศรีอริยเมตไตรยหรือสู่นิพพาน เป็นต้น
เราเดินถ่ายรูปไปพร้อมกับเด็กๆ และขออนุญาตถ่ายรูปดอกไม้ที่มีเด็กๆ เป็นองค์ประกอบที่น่ารักของเรา ก็ถือว่าได้รูปที่มีมุมมองแตกต่างไปจากเดิม
ถัดจากทุ่งคอสมอสสีส้มขนาดใหญ่ จะเป็นกลุ่มบ้านไทยภาคอีสาน (บริเวณนั้นจะมีห้องน้ำให้นักท่องเที่ยวด้วย) ทุ่งนาข้าว บ่อบัว ถนนต้นไผ่ ลานพักผ่อนและแสดงวัฒนธรรม และร้านอาหาร (ที่ต้องซื้อบัตรเงินสดก่อนนำไปใช้จ่าย)
เราขึ้นรถอีกครั้งก็หลังจากทานอาหารกลางวัน ที่เป็นเมนูม่วนซื่นสมชื่องาน และซื้อของที่ระลึกที่จุดจำหน่ายบริเวณนั้นแล้ว
14.47 น. คือเวลาที่บันทึกลงในไฟล์ภาพ ภาพสุดท้าย ณ นิทรรศการภาพวาดกลางทุ่งคอสมอสสีม่วงที่ด้านข้างเป็นทุ่งข้าวบาร์เล่ย์ที่กั้นด้วยทิวสนประดิพัทธ์
----------
คุณหมูยอ
25 ธันวาคม 2563
บันทึกไว้ 4 มกราคม 2564
----------
โคราชฤดูดอกไม้ตอนอื่นๆ
----------
[CR] โคราชฤดูดอกไม้ ตอน 3 จิม ทอมป์สัน ฟาร์มทัวร์ 2563 ในวันคริสต์มาส
CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้