ปวดหลัง ร้าวลงขา สัญญาณเตือนหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท

ปวดหลัง ร้าวลงขา สัญญาณเตือนหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท 
 
     อาการปวดหลังเป็นอาการที่ใครๆ ก็ต้องเจอ แต่จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับอายุของแต่ละคน รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราด้วย โดยเฉพาะพวกที่ต้องยืน 🧍‍♀️ หรือนั่งทำงานเป็นเวลานานๆ คนทำงานที่ต้องยกของหนักโดยไม่มีอุปกรณ์ซัพพอร์ท และพวกที่ไม่ชอบออกกำลังกายเลย กล้ามเนื้อก็จะยึด ทำให้รู้สึกปวดหลังได้ง่าย
     ซึ่งอาการปวดหลังก็มีทั้งการปวดแบบทั่วไปที่มีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้ออักเสบ และการปวดหลังที่มีสาเหตุมาจากหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท ซึ่งแน่นอนว่าการปวดแบบหลังสร้างความทรมานและความเจ็บปวดให้กับเราได้มากกว่า เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจะไม่ได้มีเพียงแค่อาการปวดหลังเท่านั้น แต่จะปวดร้าวลงไปที่ขา (อาจจะ 1 หรือ 2 ข้างก็ได้) จนทำให้บางคนถึงขั้นกล้ามเนื้อขาอ่อนแรงจนไม่สามารถเดินได้ตามปกติ 
     แล้วสงสัยกันมั้ยครับว่าหมอนรองกระดูกสันหลังคืออะไร ทำไมถึงทำให้เราปวดหลังได้ แล้วแบบที่เราปวดอยู่เสี่ยงเป็นโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทหรือไม่ พี่หมอไปสอบถามและรวบรวมข้อมูลจากอาจารย์หมอด้านออร์โธปิดิกส์มาให้แล้วครับ 👇 
 
หมอนรองกระดูกสันหลังคืออะไร❓ ทำไมถึงทำให้เราปวดหลัง❓
     หมอนรองกระดูกสันหลังเป็นกระดูกอ่อนชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเป็นเมือกใสคล้ายเจลลี่และมีความยืดหยุ่นสูง โดยกระดูกสันหลังแต่ละชิ้นจะมีหมอนรองกระดูกคั่นกลางอยู่
     โดยหมอนรองกระดูกจะทำหน้าที่เหมือนกับโช๊คอัพของรถยนต์ คือทำให้กระดูกสันหลังมีความยืดหยุ่น และรับแรงกระแทกของน้ำหนักตัวจากการเคลื่อนไหว เช่น การเดิน การยกของ หรือการบิดตัว ดังนั้น ถ้าหมอนรองกระดูกได้รับความกระทบกระเทือนจนฉีกขาดก็จะทำให้ชั้นด้านในที่เป็นเมือกใสๆ เคลื่อนที่ออกมาจนไปกดทับเส้นประสาท เป็นที่มาของอาการปวดหลังของเรานั่นเอง 
 
ปัจจัยที่ทำให้เกิดหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท 
     หนึ่งในสาเหตุหลักของหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทก็คือ การเสื่อมของหมอนรองกระดูกซึ่งเป็นผลมาจากอายุที่เพิ่มขึ้น 👴 เพราะเมื่ออายุมากขึ้น หมอนรองกระดูกที่เป็นเมือกใสๆ ก็จะสูญเสียความยืดหยุ่นไป ทำให้มีโอกาสที่จะเคลื่อนที่ไปโดนเส้นประสาทได้ 
     ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งก็คือ ไลฟ์สไตล์หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา เพราะบางคนที่ต้องทำงานยกของหนัก แต่ใช้ท่าที่ไม่ถูกต้อง ก็อาจทำให้หมอนรองกระดูกรับน้ำหนักมากเกินไป หรือบางคนชอบเล่นกีฬาที่ต้องส่งแรงกระแทกซ้ำๆ ไปที่หมอนรองกระดูก อุบัติเหตุ รวมถึงการเคลื่อนไหวแบบผิดท่าโดยฉับพลัน นอกจากนี้ น้ำหนักตัวที่มากเกินไปและพันธุกรรม ก็เป็นตัวเร่งให้หมอนรองกระดูกเสื่อมและฉีกขาดได้เช่นกัน 
 
รู้ได้อย่างไรว่าเริ่มมีอาการหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท 
     ผู้ที่มีอาการหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท จะเริ่มจากอาการปวดหลัง แต่จะปวดไปทั่วบริเวณหลัง และปวดหนักตั้งแต่บั้นเอวลงไปจนถึงขา นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังอาจรู้สึกชา เสียวปลาบ แขนขาอ่อนแรง หรือปวดแสบปวดร้อนที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เนื่องจากเส้นประสาทส่วนนั้นถูกกดทับ ซึ่งถ้ามีอาการแบบนี้เรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ พี่หมอแนะนำให้รีบไปพบคุณหมอเพื่อตรวจเช็คทันทีนะครับ 
              
วิธีการรักษาหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท
     ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงมาก คุณหมอก็จะให้กินยาและทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดรุนแรงจนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ วิธีการรักษาที่คุณหมอจะแนะนำก็คือ การผ่าตัดหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทแบบผ่านกล้อง (Full Endoscopic Spinal Surgery) ซึ่งเป็นเทคนิคการผ่าตัดแบบ MIS (Minimal Invasive Surgery) โดยวิธีนี้จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายใจมากขึ้น เพราะผู้ป่วยจะเจ็บตัวน้อยมาก แผลผ่าตัดที่เกิดขึ้นก็มีขนาดเล็กเพียงแค่ปลายนิ้วเท่านั้น ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อก็ต่ำ ที่สำคัญ ใช้เวลาพักฟื้นไม่มาก ลืมเรื่องที่จะต้องนอนโรงพยาบาลนานๆได้เลย บางคนสามารถกลับบ้านได้ภายใน 24 ชม.เลยก็มีนะครับ 😃
     นอกจากนี้ อาจารย์หมอยังฝากมาบอกอีกด้วยว่า แม้ว่าโรคนี้จะสามารถรักษาให้หายได้ แต่ถึงอย่างไรวิธีที่ดีกว่าก็คือ การป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ โดยหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้ปวดหลังและเสี่ยงทำให้หมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท ซึ่งแนวทางการป้องกันก็สามารถทำได้ง่ายๆ ดังนี้ 
 
    📌 ออกกำลังกาย การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยชะลอความเสื่อมของหมอนรองกระดูกบริเวณหลัง และยังช่วยให้กล้ามเนื้อหลังแข็งแรงและยืดหยุ่น ที่สำคัญ ต้องอย่าลืมวอร์มอัพร่างกายก่อนออกกำลังกายและคูลดาวน์ทุกครั้งหลังออกกำลังกายเสร็จด้วยนะครับ
    📌 จัดระเบียบท่าทางร่างกายให้เหมาะสม การจัดระเบียบท่าทางร่างกายจะช่วยลดแรงกดทับที่กระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูก โดยเฉพาะเมื่อต้องนั่งนานๆ ควรยืดหลังให้ตรงและอยู่ในแนวขนาน และควรลุกขึ้นมาเปลี่ยนอิริยาบถทุกๆ ครึ่ง – 1 ชม. หรือถ้าต้องยกของหนัก ควรค่อยๆ ย่อตัวลง โดยให้น้ำหนักลงที่ขา ไม่ใช่ที่หลัง แล้วค่อยๆยกของขึ้นมา 
    📌 ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากจะทำให้เกิดแรงกดทับที่กระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูก เสี่ยงต่อการเกิดหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทได้
    📌 งดสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้หมอนรองกระดูกสูญเสียความยืดหยุ่นและเสื่อมเร็วกว่าปกติ 
 
     เห็นมั้ยครับว่า โรคนี้ไม่ได้อยู่ไกลตัวเราเลย แถมสาเหตุก็มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราเอง ดังนั้น ถ้าไม่อยากหมอนรองกระดูกเสื่อมก่อนวัย ก็ต้องหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพของตัวเองให้มากขึ้นด้วยนะครับ 
 
     อีกไม่ถึง 2 อาทิตย์ก็จะปีใหม่แล้ว พี่หมอขอถือโอกาสนี้อวยพรให้ทุกคนที่ติดตามพี่หมอมาตลอดทั้งปี มีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง พร้อมเผชิญกับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ส่วนใครที่กำลังเจ็บป่วยหรือไม่สบาย ก็ขอให้หายไวๆ นะครับ พี่หมอเป็นกำลังใจให้ 😘 😘 😘
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่