ระหว่างให้ปู่กับย่าเลี้ยงลูก VS ส่งลูกเข้าเนอสเซอรี่

สวัสดีค่ะ นี่เป็นกระทู้เเรกที่เขียนมาสอบถามเพื่อนๆชาวพันทิป มีเรื่องร้อนใจเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกอยากจะนำมาปรึกษาและหาทางออก ซึ่งตอนนี้เรามีลูก 1 คน อายุ 1 ขวบ ก่อนหน้านี่ได้ฝากให้ปู่กับย่าเลี้ยงที่ต่างจังหวัดตั้งแต่อายุ 4 เดือน ซึ่งตอนนี้น้องอายุได้ 1 ขวบแล้ว มีความคิดว่าอยากจะพามาอยู่ด้วย ทำความคุ้นเคยกัน โดยอาศัยการปรับสภาพ เพราะตอนนี้เราและสามียังทำงานอยู่ไม่สามารถออกจากงานมาเลี้ยงลูกได้เต็มตัวด้วยภาระการเงินของที่บ้านทำให้เราทั้งคู่ไม่สามารถตัดสินใจออกจากงานเพื่อมาเลี้ยงลูกได้ 100% จึงมีเเนวทางร่วมกันโดยการพาลูกมาอยู่ด้วยช่วงวันหยุด เมื่อถึงวันทำงานก็จะนำกลับไปส่งปู่กับย่า ซึ่งไม่ได้ไกลกันมากใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมงครึ่ง จาก กทมไปบ้านปู่กับย่า แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเราโดยทางปู่กับย่ามีการยื่นข้อเสนอดังนี้
1. ถ้าจะรับไปอยู่ด้วยตามลำพังในช่วงวันหยุด ให้เอาไปเลี้ยงเต็มตัวไปเลย เหตุผล ไม่ต้องการให้ลูกรู้สึกว่าเปลี่ยนคนเลี้ยงไปมา อาจจะทำให้เด็กมีภาวะหวาดกลัวและพฤติกรรมการเลี้ยงที่เปลี่ยนไป 
- ต้องท้าวความก่อนว่าพฤติกรรมการเลี้ยงหลานของปู่กับย่าไม่เเมตซ์กับพฤติกรรมของการเลี้ยงเด็กทั่วไป เช่น พาเข้านอนดึก ตื่นสาย และนอนไม่เป็นเวลา ไม่ได้ส่งเสริมวินัยในการนอน นอนไม่ครบเวลาตามที่พฤติกรรมเด็กเล็กควรจะเป็น กินอาหารไม่เป็นมื้อ ต้องรอให้เด็กหิวจัดๆถึงจะป้อนข้าวเพื่อให้เด็กได้กินอาหารทีละมากๆ ซึ่งทางหมอเองก็เตือนมาว่ามันอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโดตของเด็ก ซึ่งตรงนี้เราได้ปรึกษาและพูดคุยกันแล้ว แต่ทางฝั่งปู่กับย่าไม่สามารถปรับตัวได้เพราะกิจวัตรประจำวันไม่เอื้อต่อการเลี้ยงดูเด็ก เป็นเรื่องหลักๆที่เรามีความคิดอยากจะพาลูกกลับมาเลี้ยงเอง
2. ถ้าออกจากงานมาเลี้ยงไม่ได้ ก็ต้องมาหาลูกที่ต่างจังหวัด ให้อยู่ในสายตาปู่กับย่า ไม่สามารถพาลูกไปไหนได้โดยลำพัง และระหว่างที่เลี้ยงดูนี้พร้อมออกค่าใช้จ่ายให้หลานทั้งหมดซึ่งเป็นเรื่องที่กดดันมาก
- เราขอพาลูกเข้านอนเอง ลูกก็จะมีอาการร้องไห้เพราะเขายังไม่คุ้นชิน ซึ่งเด็กต้องค่อยปรับกันไป แต่ทางปู่กับย่าคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่และไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ต้องเป็น 2 ท่านเท่านั้นที่จะเอาหลานอยู่
- เราซื้อเสื้อผ้า ของเล่นให้ลูกไม่เคยถูกใจเขาสักครั้งอ้างว่าหลานใส่เนื้อผ้าแบบนี้ไม่ได้ เล่นของเล่นแบบนี้เกินวัยไปหน่อยไหม รอให้พูดได้ก่อนค่อยเล่น ซึ่งของเล่นที่เราซื้อให้คือจิ๊กซอว์ไม้รูปอักษรภาษาอังกฤษ เราไม่ได้ตั้งใจให้ลูกพูดได้เลย แค่ให้เค้าจดจำและหยิบจับอักษรใส่ในช่องจิ๊กซอว์ตามรูป ฝึกพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อและการจดจำเท่านั้น
- เราขอป้อนข้าวลูก ลูกเบือนหน้าหนีซึ่งเป็นเรื่องปกติที่มีคนอื่นมาป้อนเด็กก็ต้องมีอาการบ้าง แต่ก็อ้างว่าเด็กจะไม่ทานถ้าไม่ใช่ย่าป้อน
- เราเล่นกับลูกอยู่ซึ่งเขารู้ดีว่าถ้าเขาเข้ามาให้หลานเห็นหน้าหลานต้องร้องหา เค้าก็ยังมาเดินวนๆส่งเสียงให้เด็กได้ยินแล้วร้องเรียกหา แล้วก็มาพูดว่าเห็นไหม สุดท้ายก็ไม่พ้นย่า
- บางครั้งเราแพลนไว้และบอกเขาล่วงหน้าว่าจะขอพาหลานไปหายายบ้าง พาไปเจอญาติฝั่งเราบ้าง เขาก็ทำเหมือนรับรู้แต่พอถึงเวลาก็ยื้อหลานไว้จนสุดท้ายก็ไม่ได้ไป ซึ่งตั้งแต่แรกเกิด-4เดือน แม่เราเป็นคนมาเลี้ยงให้เเต่ด้วยภาระทางบ้านเรา แม่เราไม่สามารถมาช่วยเลี้ยงต่อได้ จึงต้องฝากปู่กับย่าเลี้ยงต่อ

จนบางครั้งเราคิดในใจว่าเราไม่สามารถทำอะไรได้เลยแค่คอยซัพพอร์ตอยู่ห่างๆจนมันมีคำถามในใจว่าเราเป็นแม่เข้ารึป่าว?

ตอนนี้เราจึงคิดว่าต้องมีเงื่อนไขใหม่เพื่อมาต่อรองขอสิทธิ์ในการเลี้ยงดู คือการเอาลูกกลับมาอยู่กับเรา 100% โดยไม่เอากลับไปกลับมาเหมือนที่เสนอไปแต่เเรก แต่ประเด็นมันอยู่ที่ ถ้าเราออกจากงานจะมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายตามมา จึงคิดว่าด้วยสถานการณ์ปัจจุบันเราไม่สามารถเชื่อมั่นในสภาพคล่องของการเงินในครอบครัว จึงจำเป็นต้องช่วยกันทำงานและเอาลูกไปฝากเนอสเซอรี่ คิดในทางที่ดี 
1. ลูกได้อยู่กับพ่อแม่มากขึ้น มีความสัมพันธ์ พ่อ แม่ ลูก มากขึ้น
2. เนอสเซอรี่ที่ดีจะช่วยเสริมพัฒนาการของลูกได้
3. เราสามารถดูแลลูกได้เต็มที่ และฝึกวินัยก่อนที่จะเข้าเรียนเตรียมอนุบาล รู้จักช่วยเหลือตัวเองได้บ้างในบางเรื่อง
แต่การที่จะนำไปฝากเนอสเซรี่ใช่ว่าจะไม่มีข้อเสีย เพราะเราเองก็ไม่สามารถไว้ใจคนเลี้ยงได้ 100% ต่อให้จะเป็นเนอสเซอรี่ที่ดีที่สุด คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็ยังทิ้งความกังวลไปไม่ได้ และปัญหาเรื่องสุขภาพที่ตามมา เมื่อเด็กไปอยู่ด้วยกันในหมู่มาก เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ  

ครั้นจะแก้ปัญหาโดยการให้ย่ามาเลี้ยงที่ กรุงเทพฯ ทางเขาก็ปฎิเสธจะมาเพราะทางบ้านยังมีกิจการที่ต้องทำ ไม่สามารถมาดูแลได้ 

เราจึงอยากขอคำแนะนำจากเพื่อนๆว่าพอจะมีวิธีไหนหรือความคิดใดที่ทำให้เราสามารถตกลงกันได้บ้าง  

ขอบคุณสำหรับคำแนะนำล่วงหน้าค่ะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่