ลำเต้ยประยุกต์

กระทู้สนทนา
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

ได้รับแรงบันดาลใจจาก ลำเต้ย ของคุณ ฉวีวรรณ ดำเนิน



lovelovelovelovelovelove 

 
โอว่า พี่ชายเอย          อย่างนี้นะพี่ชายเอ๋ย
ลำทางสั้น ผ่านเลย      แล้วรีบเข้าทางลำยาว
ลำเต้ย กระชั้นมา         มองเห็นหน้าฟ้าอะคร้าว
จันทร์เพ็ญ เด่นสกาว    ไม่เคยเบื่อเมื่อเมียงมอง
 
พบหน้าบ่าวคนโก้         อยากมาโชว์เป็นเจ้าของ  
พาไป บ้านแม่น้อง        ให้ผู้คนยลพี่ชาย
บ้านน้อง ไร้หมาแมว       ร้องแง้วแง้วกันง่ายง่าย
แมวหมา มากล้ำกราย      เหมียวบ้านอื่นตื่นมากวน
 
อยากเป็น แหใช้งาน        ทอดเหวี่ยงหว่านใจปั่นป่วน    
เปื่อยขาด ปาดรัญจวน     คือสิ่งหวังความตั้งใจ
สิบปี ก็จะรอ                    จะไม่ขอหนีไปไหน
ยี่สิบ ไม่เป็นไร                กี่พรรษาก็จะคอย
 
ลูกหนึ่ง ก็จะมอง               ถึงลูกสองก็รอสอย
ลูกห้า ก็ไม่ปล่อย               ถ้าหย่าเมียมาหาน้อง
รักพี่ ไม่มีเปลี่ยน                ปีวันเดือนตามครรลอง
หัวใจ จารจดจ้อง                 พี่คนดีให้มีใจ
 
 
คนรัก เพียงความคิด            ในชีวิตจริงหาใช่
สายตา พาฤทัย                    ในความฝันอันเลิศเลอ
พี่ชาย มีเจ้าของ                    คงไม่มองคนใจเผลอ
กอดฝัน วันละเมอ                 เพียงพร่ำเพ้อละเมอครวญ  

 
ผีตานีผีตานีผีตานีผีตานีผีตานี 


 
             ถ้าคิดถึงตำนานร็อกแอนโรล เราอาจนึกถึงชัค เบอร์รี  ถ้านึกถึงตำนานเพลงเฮฟวี่ คงต้องนึกถึง แบล็กแซ็บบาธ  แต่ถ้านึกถึงตำนานราชินีหมอลำ เราคงต้องนึกถึง ฉวีวรรณ ดำเนิน ราชีนีหมอลำคนแรกของจักรวาล

             (พวกมนุษย์ต่างดาว คงไม่มีหมอลำฟัง  ฮา)
 
             คุณป้าฉวีวรรณ ดำเนิน  ตำนานที่ยังมีชีวิต ยังเคยเป็นนางเอกหมอลำคณะรังสิมันต์ คู่กับ ทองคำ เพ็งดี  ราชาหมอลำในตำนานอีกคน  น้ำเสียงไพเราะจับใจหลายแนวทาง  
 
             (แคน พิณ ติดดิสทอร์ชั่น วาววาว เสียงแตกสนั่น หมอพิณแต่งหน้าแบบเดทเมทัล จะเป็นอย่างไรหนอ แค่นึกก็สยองแล้ว) พูดถึงหมอลำ  หมายถึงศิลปินทางคำร้อง บทหลอนทางภาคอีสาน เครื่องดนตรีที่สำคัญที่สุดคือ แคน ทั้งหญิง – ชาย ที่ร้องเพลงพื้นเมือง คือ หมอลำ (แพทย์ลำ ไม่ได้หมายถึงหมอลำฝ่ายหญิง  และก็ไม่เคยมีพยาบาลลำ  เพราะคำว่า หมอ หมายถึงคนที่เชี่ยวชาญทางใดทางหนึ่ง เช่น หมอผี (ไม่เคยมีพยาบาลผี))  หมอยา   หมอลำ  หัวหมอ  เป็นต้น)

            กลอนลำก็ต้องมีคนแต่ง คนลำจะมาขอซื้อหรือมาขอไป แล้วท่องจนขึ้นใจกว่าจะลำได้ ไม่ใช่ง่ายทั้งคนเขียนและคนร้อง ครูเขียนกลอนลำเก่ง ๆ ความเห็นส่วนตัวคิดว่าความสามารถไม่แพ้สุนทรภู่แน่นอน เพราะกลอนลำไม่ใช่มีเพลงสัมผัสนอกสัมผัสในเท่านั้น ยังเกี่ยวข้องกับบรรยากาศเนื้อหา การเอื้อนเสียง แนวกลอน สารพัดที่จะให้ลงตัว  เพียงแต่พวกท่านเหล่านั้นมักพอใจอยู่เบื้องหลังมากกว่าตามนิสัยถ่อมตนคนเก่ง  เราจึงรู้จัก หมอลำ มากกว่าคนเขียนกลอนลำ ยกเว้นหมอลำดัง ๆ หลายท่าน ที่ได้ทั้งเขียนกลอนลำและลำเอง แบบคนเดียวจบ
 
             กลอนลำ แบ่งออกเป็นประเภท  (ความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้า) คือ
 
             ลำทางสั้น    
             หมายถึงการ ลำ ที่ทำนองสนุก รวดเร็ว กระชับ ไม่มีเอื้อนเสียง ยกเว้นตอนอินโทรและลงท้าย เนื้อหาไม่ยาว เช่น ลำเต้ย

             ลำทางยาว    
             หรือลำล่อง หมายถึงการ ลำ ที่เชื่องช้า นาบนาบ อ่อนโยน มีการเอื้อนเสียงยาว ๆ เพื่อความไพเราะจับใจใส่อารมณ์ (บางทียาวเกือบนาที) เป็นเรื่องเป็นราว  บรรยายธรรมชาติ โศก ซึ้ง
 
             ทีนี้เวลาหมอลนำไปแสดง ก็อาจมีการเอา กลอนลำ ดังกล่าว ไปผสมกัน แบบผสมแม่สีแม่แสง  จนเกิดหมอลำหลากหลายมากขึ้น ตามกระแสวัฒนธรรมที่ไม่เคยหยุดนิ่ง (แต่อาจวนกลับมาที่เดิมได้)
 
             เช่น

             ลำโบราณ ไม่มีเครื่องดนตรีประกอบ คนเดียวก็ลำได้ น่าจะไม่มีฟังกันแล้ว
 
             ลำคู่ (ลำกลอน)  สองคนกับหมอแคน ก็ลำได้ทั้งคืน ใช้อุปกรณ์น้อยที่คนลำต้องเก่งมาก ๆพราะร้องกันสองคนสลับกันไปมา มักเป็นชายและหญิงคู่กัน (ผู้เขียนยังไม่เคยเจอลำคู่แนววาย)
 
             ลำเรื่องต่อกลอน  จะให้บรรยากาศแบบฟังนิยาย มีหลายรส ไม่เน้นจังหวะเร็ว เน้นเนื้อหากินใจคติธรรม
 
             ลำหมู่  เครื่องดนตรีเยอะขึ้น คล้ายลำเรื่อง  การแสดงหลากหลายขึ้น
 
             ลำเพลิน อยู่ระหว่างลำหมู่กับลำซิ่ง พิณมีบทบาทมากขึ้น
 
             ลำซิ่ง  หมอลำประยุกต์ จังหวะเร็วขึ้น เครื่องดนตรีมาเต็ม  มวนมันส์กว่าปกติ เด้อนางเดอ เด้อเด้อนางเดอ ฮั่นหนั่นเด๋อ ฮั่นหนั่นเด่อ  ได้รับความนิยมมากที่สุดเพราะจังหวะโจ๊ะถูกใจวัยโก๋ หางเครื่องน่าชมวีดวิ๊ว
 
             จังหวัดที่ถือว่าสร้างตำนานหมอลำแห่งจักรวาล คือ จังหวัดขอนแก่น กับจังหวัดอุบลราชธานี  สองจังหวัดนี้สร้างหมอลำออกมามากและโด่งดังที่สุด  ต่างก็มีรูปแบบกลอนลำที่เป็นเอกลักษณ์

             เช่น ถ้ากลอนลำ ทางอุบล มักจะเริ่มด้วยการเอ่ยถึง ‘ฟ้า’ เสมอ เช่น ฟ้าเอย ฟ้าร้องท่วม...บลา ๆ  ส่วนกลอนลำทางขอนแก่น มักจะเริ่มด้วยคำเกรินที่ว่า  ‘เอ๋อ’!  เอ๋อ… ในที่นี้ไม่ใช่อาการเอ๋อ ไม่ใช่คำอุทานเพราะตกใจ  แต่เป็นคำเกริ่นของกลอนลำ   ดังนั้น นักฟังลำจะรู้ทันทีว่า กลอนลำที่ฟัง เป็นกลอนลำจากจังหวัดใด    
 
             หมอลำเร็กเก้  ซิมโฟนี  ออร์เคสตรา ฟิวชัน บลูส์ แจ๊ส โปรเกรสซีส กรันจ์ เดท แนวซาตาน  ยังไม่เคยเห็นครับ ไม่น่ามี.....
 
              ไม่ว่าอย่างไร กลอนลำ หมอลำ คือสุดยอดแห่งศิลปะวัฒนธรรมอันงดงามล้ำค่าในใจของข้าพเจ้าเสมอ

              โอย มวนหลานเด้^^


 
                                                            ถอดรหัสใจถอดรหัสใจถอดรหัสใจถอดรหัสใจถอดรหัสใจถอดรหัสใจถอดรหัสใจถอดรหัสใจถอดรหัสใจถอดรหัสใจ


 
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่