ข้อดีข้อเสีย วัสดุเคาน์เตอร์ครัวคอนโด ตกแต่งอย่างไรให้คุ้มค่า

         

          แม้ว่าไลฟ์สไตล์ของคนที่อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมสมัยนี้จะไม่ค่อยเน้นการทำครัวหรือทำอาหารมื้อหนัก ๆ เท่าไหร่นัก จะเข้าครัวก็เพียงแค่ปรุงเมนูง่าย ๆ เล็กน้อย หรือซื้ออาหารปรุงสำเร็จมาอุ่นก็ทานได้ทันที พื้นที่ครัวในคอนโดจึงมักถูกออกแบบมามีขนาดกะทัดรัดและใช้วัสดุที่ทนทานพอประมาณเท่านั้น
     แต่สำหรับคนที่มีไลฟ์สไตล์ชื่นชอบการทำอาหารเอง หรือเข้าครัวเป็นประจำแล้วละก็ จะเลือกโครงการที่ให้เคาน์เตอร์ครัวคอนโดมาแบบไหนดี หรือหากจะรีโนเวทปรับปรุงครัวคอนโดมือสอง วัสดุสำหรับหน้าท็อปเคาน์เตอร์ควรเลือกเป็นประเภทไหน แล้วแต่ละชนิดเหมาะกับการใช้งานอย่างไรบ้าง วันนี้คอนโดนิวบ์จะขอพาผู้อ่านไปสำรวจถึงข้อดีข้อเสียของวัสดุเคาน์เตอร์ครัวคอนโดประเภทต่าง ๆ แล้ววัสดุอะไรเหมาะกับการทำครัวมากน้อยแค่ไหนบ้างกันครับ
 
รูปแบบครัวคอนโดที่พบเห็นทั่วไปในปัจจุบัน
          สำหรับโครงการคอนโดมิเนียมในปัจจุบันช่วงไม่เกิน 5 ปีที่ผ่านมา มีการออกแบบและติดตั้งพื้นที่ครัวให้ตอบสนองการใช้งานและการอยู่อาศัยในคอนโดมากขึ้น โดยอาจแบ่งสเปกของครัวตามระดับ Segment ของโครงการ หรือตามรูปแบบยูนิตและไลฟ์สไตล์ของกลุ่มผู้อยู่อาศัยนั่นเองครับ โดยสามารถแบ่งได้คร่าว ๆ เป็นสองกลุ่ม ได้แก่
1.      ครัวแบบเตรียมอาหารและเก็บอาหารได้เล็กน้อย (Pantry)
ซึ่งมักจะเป็นพื้นที่เคาน์เตอร์ครัวแคบ ๆ เพียงช่วง 2 บานประมาณ 120 – 150 ซม. แค่เพียงพอสำหรับหน้าเคาน์เตอร์ว่าง ๆ ให้ใช้เตรียมอาหารและเป็นหลุ่มซิงค์อ่างล้างจานขนาดเล็ก ๆ เท่านั้น รวมถึงพื้นที่สำหรับวางเตาไมโครเวฟสำหรับอุ่นอาหารได้เล็กน้อย ส่วนใหญ่โครงการในระดับย่อมเยาว์ราคาไม่เกิน Main Class หากต้องการประกอบอาหารก็จะต้องใช้เตาไฟฟ้าแบบวางลอย ทำให้เกะกะบ้างเพราะระยะของเคาน์เตอร์ไม่พอนั่นเอง
2.      ครัวแบบใช้ประกอบอาหารมื้อได้ (Kitchen)
จะมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นจากแบบ Pantry เล็กน้อยจนถึงแบบจัดเต็ม Full Function โดยคอนโดหลาย ๆ โครงการจะมีเคาน์เตอร์ครัวขนาด 150 ซม.ขึ้นไปทั้งรูปทรงแถวเดียว หรือแบบเข้ามุมตัว “L” หรือ มีเคาน์เตอร์เกาะกลางห้องแบบ Island ก็ตาม พร้อมติดตั้งให้ทั้งเตา (Hob) และเครื่องดูดควัน (Hood) มาให้ โดยที่ยังมีพื้นที่เคาน์เตอร์เหลือพอในการเตรียมอาหารโดยไม่รบกวนหรือเกะกะกันอีกด้วย ส่วนใหญ่จะอยู่ในคอนโดในระดับ Main Class ขึ้นไป จึงจะได้ครัวแบบครบวงจรครับ

องค์ประกอบของพื้นที่เคาน์เตอร์ครัวในคอนโด
          ทีนี้เรามาดูองค์ประกอบของพื้นที่ครัวและวัสดุต่าง ๆ ของครัวในคอนโดปัจจุบันกันครับ ว่าทุกวันนี้ห้องครัวคอนโดจะมีอะไรไว้ให้เราบ้าง รวมถึงหากเราจะปรับปรุงครัวคอนโดเอง วัสดุอะไรจะเหมาะกับการใช้งานหนักเบาเท่าไหร่บ้าง
1. ผิวหน้าท็อปเคาน์เตอร์ (Counter Top)
          เรามาเริ่มในส่วนของครัวที่ถูกใช้งานหนักที่สุด ก็คือผิวหน้าท็อปเคาน์เตอร์ครัวนั่นเองครับ ไม่ว่าจะเพื่อวางอุปกรณ์เครื่องครัวต่าง ๆ หรือจัดเตรียมและประกอบอาหารก็ต้องใช้พื้นที่ผิวเคาน์เตอร์ครัวนั่นเอง

วัสดุผิวหน้าท็อปเคาน์เตอร์ 
หากสังเกตโดยรวมแล้วก็มีอยู่ไม่กี่ประเภทให้พอจำแนกได้ง่าย ๆ ดังนี้ครับ
ลามิเนต : เป็นวัสดุหุ้มผิวเคาน์เตอร์ที่แปะทับบนแผ่นไม้ ซึ่งพบได้ค่อนข้างทั่วไปในคอนโดระดับ Segment ไม่เกิน Main Class หรือโครงการระดับ High Class บางแห่งก็ยังใช้ เพราะมีต้นทุนไม่แพงมาก โดยเป็นวัสดุที่มาจากพลาสติกเคลือบลายไม้หรือสีสันหลากหลายให้ดูสวยงาม และหากใช้งานอย่างทะนุถนอมก็ค่อนข้างทนทานต่อการใช้งานแต่หากไม่ระมัดระวังก็จะเสียหายง่ายกว่าวัสดุอื่น ๆ ครับ
ข้อดี : ต้นทุนต่ำ มีลวดลายหลากหลาย ง่ายต่อการรักษาความสะอาด
ข้อเสีย : ความทนทานขึ้นอยู่กับความทะนุถนอมในการใช้งาน หากไม่ระวังอาจเกิดรอยขีดข่วนจากมีด รอยด่างจากเตาร้อน หรือบวมน้ำจากความชื้นได้
 
หินแกรนิต : เป็นวัสดุผิวเคาน์เตอร์ที่มักจะพบในคอนโดกลุ่ม Segment ระดับบน ๆ ตั้งแต่ High Class ขึ้นไป หรือเป็นตัวเลือกในการปรับปรุงรีโนเวทห้องครัวเอง เนื่องจากวัสดุอย่างหินค่อนข้างทนทานต่อการใช้งาน ทำความสะอาดง่าย แต่จะมีต้นทุนค่อนข้างสูง ทำให้รู้สึกว่าครัวที่ใช้ผิวเคาน์เตอร์เป็นหินจะดูมีฐานะ และรู้สึกว่าหรูหรากว่าวัสดุประเภทอื่น ๆ นั่นเองครับ
ข้อดี : มีความคงทนต่อการใช้งาน ดูแลรักษาง่าย
ข้อเสีย : ต้นทุนสูง คอนโดใหม่ทั่วไปไม่ค่อยทำไว้ให้
 
หินอ่อน : เป็นวัสดุผิวเคาน์เตอร์ที่จะพบในคอนโดระดับ Luxury ขึ้นไป เนื่องจากเป็นการใช้หินธรรมชาติที่มีลวดลายเฉพาะตัวเป็นเอกลักษณ์ เพิ่มให้ครัวดูสวยงามไม่เหมือนใคร แต่ด้วยวัสดุมีจำกัดจึงทำให้มีต้นทุนที่สูงมาก อีกทั้งหินอ่อนยังดูแลรักษายากและสะสมคราบสิ่งสกปรกได้ง่าย ซึ่งต้องการการดูแลที่สม่ำเสมอและพิถีพิถันครับ
ข้อดี : มีความสวยงามเฉพาะตัว ช่วยให้ครัวดูหรูหรา
ข้อเสีย : ต้นทุนสูงมาก สะสมความสกปรกง่าย และดูแลรักษายาก
 
หินสังเคราะห์หรือหินเทียม : เป็นวัสดุผิวเคาน์เตอร์ที่ทดแทนตัวหินธรรมชาติอย่างวัสดุหินแกรนิตที่กล่าวไปก่อนหน้า เนื่องจากเป็นวัสดุที่มาจากการสังเคราะห์ทำให้สามารถควบคุมต้นทุนและรูปแบบการผลิตได้ คอนโดในระดับกลางตั้งแต่ Upper Class ขึ้นไปเริ่มนิยมใช้มากขึ้น เพื่อความทนทานในการใช้งาน และยังดูดีมีระดับไม่แพ้เคาน์เตอร์จากหินธรรมชาตินั่นเอง แต่เนื่องจากผลิตมาเป็นชิ้นเดียว หากชำรุดหรือเสียหลายก็ต้องรื้อเปลี่ยนใหม่ทั้งแผงเคาน์เตอร์เลยทีเดียวครับ
ข้อดี : คุมต้นทุนได้ตามระดับ Segment คอนโด, ใช้งานทนทาน, ดูแลรักษาง่าย
ข้อเสีย : สั่งผลิตพิเศษเป็นชิ้นเดียว ต้องรื้อเปลี่ยนทั้งชิ้นหากชำรุด
 
สเตนเลส : เป็นวัสดุที่โครงการคอนโดใหม่มือหนึ่งทั่วไปไม่ได้เลือกจัดสรรมาให้ แต่อาจเป็นการรีโนเวทเองของผู้อยู่อาศัยตามสไตล์การตกแต่งที่ชื่นชอบ ซึ่งจะให้อารมณ์แบบครัวอุตสาหกรรมหรือครัวร้านอาหาร สามารถใช้งานเตรียมอาหารอย่างหนัก ๆ ได้ และสะดวกต่อการดูแลรักษาความสะอาดอีกด้วย เพียงแต่อาจจะไม่ได้สวยงามตามสไตล์ครัวบ้านหรือคอนโดเท่านั่นเองครับ
ข้อดี : ทนทานต่อการใช้งาน ดูแลรักษาง่าย
ข้อเสีย : ไม่ค่อยสวยงาม และครัวอาจดูจืดชืดเหมือนครัวภัตตาคาร
 
คอนกรีตขัดมัน : เป็นอีกวัสดุที่พบไม่ค่อยบ่อยในคอนโด โดยมักจะมาจากการรีโนเวทตกแต่งเองโดยผู้อยู่อาศัย ซึ่งจะให้อารมณ์สไตล์ลอฟต์ (Loft) แบบดิบ ๆ ตามรสนิยมของผู้ที่ชื่นชอบครับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผิวเคาน์เตอ์แบบคอนกรีตมักจะเสื่อมสภาพตามการใช้งาน สะสมสิ่งสกปรกเมื่อผิวเคลือบเสื่อม และซ่อมแซมยากหากชำรุด
ข้อดี : ทำให้ครัวดูมีสไตล์เฉพาะตัว เป็นเอกลักษณ์
ข้อเสีย : ต้องสั่งทำพิเศษ และซ่อมแซมยากหากชำรุด
 
2. ผนังกันเปื้อน (Backsplash)
ถัดมาในองค์ประกอบอีกชิ้นของครัวคอนโด ก็คือผนังกันเปื้อนบนเคาน์เตอร์นั่นเอง ซึ่งหากมีติดตั้งเอาไว้จะทำให้ครัวง่ายต่อการรักษาความสะอาดกว่าการไม่มีไว้มาก เพื่อที่คราบน้ำมันและความสกปรกจากการเตรียมอาหารจะได้ไม่เปื้อนฝังไปในผิวของผนังปูนเปล่า ๆ นั่นเอง โดยทั่วไปคอนโดระดับ Upper Class ถึง High Class ขึ้นไปจะมีการติดตั้งผนังกันเปื้อนมาให้ ขณะที่โครงการระดับย่อมเยาวน์กว่าจะต้องติดตั้งเพิ่มเติมเอง
 
วัสดุผนังกันเปื้อน
          เรามาดูในส่วนของวัสดุที่ใช้ในการใช้เป็นผนังกันเปื้อนบนเคาน์เตอร์ครัวคอนโดกันครับ ซึ่งคอนโดทั่วไปจะจัดสรรวัสดุให้ตามระดับ Segment โครงการเป็นหลัก หรืออาจจะรีโนเวทหามาติดตั้งเองก็ได้เช่นกันนั่นเองครับ

กระเบื้องผนัง : เป็นรูปแบบการทำผนังกันเปื้อนบนเคาน์เตอร์ครัวที่หาซื้อวัสดุและสั่งทำได้ง่ายที่สุด สามารถเลือกรูปแบบได้ตามใจชอบ และยังง่ายต่อการดูแลรักษาความสะอาดอีกด้วยครับ
กระจก : เป็นวัสดุที่ช่วยให้ผนังเหนือเคาน์เตอร์ครัวดูเรียบหรู ด้วยแผ่นกระจกมีความเรียบง่าย และยังดูแลความสะอาดได้ง่ายอีกด้วย ซึ่งคอนโดระดับประมาณ High Class ขึ้นไปจะเริ่มมีติดตั้งมาให้ครับ โดยรูปแบบที่นิยมและเห็นได้ทั่วไปก็มักจะเป็น Backsplash แบบสีขาวขุ่นหรือเจือสีให้ดูสวยงามไม่จืดชืดครับ
กระจกเงา : จะคล้ายคลึงกันกับวัสดุผนังกันเปื้อนที่เป็นกระจก แต่ชนิดนี้จะเป็นแบบกระจกเงาที่สามารถส่องและสะท้อนแสงเงาได้ ซึ่งมักจะพบในคอนโดระดับ Luxury ขึ้นไป และมีต้นทุนการตกแต่งที่สูง ส่วนมากผนังกันเปื้อนแบบกระจกเงามักจะมีการเจือสีเล็กน้อยเช่นสีเทาแบบสแตนเลส หรือเหลืองน้ำตาลแบบสีชา เป็นต้นครับ
สแตนเลส : ในส่วนนี้ก็จะขึ้นอยู่กับการตกแต่งรีโนเวทใหม่ตามรสนิยมของแต่ละคนได้ครับ ซึ่งก็จะได้อารมณ์คล้าย ๆ ครัวภัตตาคารเช่นกัน ซึ่งจะง่ายต่อการดูแลละรักษาความสะอาดครับ

          ซึ่งวัสดุสำหรับผนังกันเปื้อนสำหรับคอนโดระดับย่อมเยาว์และไม่มีติดตั้งไว้ให้จากทางโครงการ ก็สามารถลงทุนติดตั้งเพิ่มเติมได้เองตามกำลังทรัพย์ด้วยวัสดุที่ต้นทุนไม่สูงมาก อย่างการบุด้วยกระเบื้องหรือสั่งเป็นกระจกก็ได้ครับ ในส่วนอื่น ๆ เช่น โครงสร้างของตู้เคาน์เตอร์และหน้าบานต่าง ๆ มักใช้วัสดุแบบมาตรฐานและไม่ค่อยมีผลในเรื่องของการใช้งานทำครัวมากนัก แต่หากต้องการเน้นความสะดวกในการรักษาความสะอาด ก็อาจจะเลือกเป็นหน้าบานตู้ที่มีการเคลือบแบบ Hi-Gloss ให้สามารถเช็ดถูได้สะดวกนั่นเองครับ
 
การใช้สอยห้องครัวตามไลฟ์สไตล์

1. เตรียมอาหารเพียงเล็กน้อยบางครั้งบางคราว
        หากส่วนตัวมั่นใจว่าเป็นคนไม่ค่อยทำอาหารเอง สะดวกแค่ใช้สอยพื้นที่ในครัวแบบ Pantry เพียงเพื่ออุ่นอาหารสำเร็จรูป หรือเตรียมอาหารเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นบางมื้อเท่านั้น ก็อาจเลือกครัวคอนโดที่ไม่ต้องครบครันมาก และจัดสรรพื้นที่เท่าที่จำเป็น โดยวัสดุเคาน์เตอร์ครัวขั้นต่ำที่พอรองรับการใช้งานเบา ๆ แบบนี้ได้ ก็อาจเลือกผิวหน้าท็อปเคาน์เตอร์ครัวประเภทลามิเนต ส่วนผนังกันเปื้อนจะติดตั้งด้วยหรือไม่ก็ได้เพราะอาจยังไม่จำเป็น เพียงเท่านี้ก็เพียงพอต่อการใช้งานไม่หนักมากแล้วนั่นเองครับ ส่วนหากจะใช้วัสดุที่คุณภาพและราคาสูงกว่านี้ก็ได้แต่ก็จะเกินจำเป็นไปนั่นเองครับ
ผิวเคาน์เตอร์ครัว : ลามิเนต หรือ วัสดุอื่น ๆ ที่คงทนกว่า
ผนังกันเปื้อน : ไม่จำเป็น
 
2. ประกอบอาหารทั้งมื้อหรือเข้าครัวเป็นประจำ
          หากส่วนตัวเป็นคนที่มีไลฟ์สไตล์ชอบเข้าครัวเอง และทำอาหารเองเป็นประจำ อาจจะต้องเลือกเคาน์เตอร์ครัวคอนโดที่มีความทนทานต่อการใช้งานมากขึ้น และอาจจะเน้นวัสดุที่ดูแลรักษาง่ายอีกด้วย โดยอาจจะเลือกผิวท็อปเคาน์เตอร์ครับที่ทำจากหิน หรือ หินสังเคราะห์ เป็นต้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่คอนโดระดับ Upper Class ขึ้นไปก็จะมีการติดตั้งเคาน์เตอร์ครัวด้วยวัสดุเหล่านี้มาให้แล้ว แต่หากตั้งใจจะรีโนเวทครัวใหม่ก็แนะนำเป็นวัสดุเคาน์เตอร์ที่เป็นหิน หินสังเคราะห์ หรือใช้เป็นสแตนเลสไปเลยก็ยังได้นั่นเองครับ นอกจากนี้นิวบ์ยังขอแนะนำว่าหากเข้าครัวบ่อยมาก และใช้เตาทอดเป็นประจำ ควรมีการติดตั้งวัสดุผนังกันเปื้อนด้วย เพื่อความสะดวกในการดูแลความสะอาดนั่นเอง
ผิวเคาน์เตอร์ครัว : หินแกรนิต หรือ หินเทียมสังเคราะห์ (ไม่แนะนำหินอ่อนเพราะดูแลยาก)
ผนังกันเปื้อน : ควรติดตั้ง โดยอาจเลือกได้ตามความชอบและแนวการตกแต่งห้อง

          เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับข้อดีข้อเสียของวัสดุเคาน์เตอร์ครัวคอนโดแต่ละประเภท และวัสดุชนิดไหนตกแต่งอย่างไรให้คุ้มค่ากับการใช้งานครัวหนักแยกตามไลฟ์สไตล์ของเราเพื่อไม่เป็นการตกแต่งจนเกินจำเป็น หรือในทางกลับกันหากเคาน์เตอร์ครัวคอนโดที่ทางโครงการมีมาให้ไม่ตอบโจทย์การใช้งานครัวหนักของเรา โดยอาจเป็นสเปกที่เบากว่า เราก็อาจเลือกตกแต่งใหม่ได้ตามไลฟ์สไตล์การใช้งานที่เราต้องการได้นั่นเองครับ

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ : [url=https://www.condonewb.com/talk/494/%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2-%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%94%E0%B8%B8%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%84%E0%B
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่