ความลับที่ซ่อนอยู่ของสัตว์โลก


 ผึ้งอ้วน (Bubblebees) 


สิ่งมีชีวิตก้อนกลมสีเหลือง-ดำบินได้คือ “ผึ้งอ้วน” (Bubblebees) ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Bombus terrestris” เป็นผึ้งชนิดหนึ่งที่มีปีกสั้นและมีขนาดใหญ่กว่าผึ้งทั่วไป ด้วยลักษณะที่ดูไม่สมส่วนนี้ ทำให้นักวิจัยต่างสงสัยว่าพวกมันบินได้ยังไง ?

Michael Dickinson ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านแมลงจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ได้ให้คำตอบไว้ว่า “การทำงานของปีกผึ้งอ้วนจะต่างจากผึ้งทั่วไปที่จะกระพือปีกขึ้นลง แต่พวกมันจะกระพือไปในแนวระนาบแบบหน้า-หลัง เพื่อสร้างกระแสลมวนใต้ปีกช่วยพยุงตัวลอยอยู่กลางอากาศได้ ซึ่งเป็นกลไกเดียวกันกับการหมุนใบพัดของเฮลิคอปเตอร์”

ผึ้งอ้วนมีมากกว่า 255 สายพันธุ์ มีมากมายหลายขนาดแต่สายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือ Bombus dahlbomii มีขนาดยาว 4 เซนติเมตร ใหญ่กว่าผึ้งทั่วไปถึง 3-4 เท่าเลยทีเดียว โดยสามารถพบพวกมันได้ทั่วทุกมุมโลกและจะสร้างรังอยู่ตามพื้นดิน (ไม่เหมือนกับผึ้งนำ้หวานที่จะสร้างรังตามกิ่งไม้)

พวกมันเป็นสัตว์สังคมโดยจะอาศัยอยู่รวมกันและสร้างอาณาจักรขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งใน 1 อาณาจักรจะประกอบไปด้วยสมาชิกประมาณ 50-500 ตัว มีราชินีผึ้ง 1 ตัวคอยปกครองอาณาจักร โดยผึ้งแต่ละตัวจะมีหน้าที่คอยป้อนอาหารให้กับราชินีและดูแลตัวอ่อนที่ออกมา ซึ่งเมื่อถึงปลายฤดูใบไม้ร่วง ผึ้งทุกตัวในอาณาจักรจะตายกันหมด ยกเว้นราชินีที่รอดจะหนีไปจำศีลอยู่ใต้ดินจนถึงฤดูใบไม้ผลิและจากนั้นจึงเริ่มสร้างอาณาจักรใหม่อีกครั้ง

ในช่วงแรกหลังจากออกจากภาวะจำศีล ราชินีผึ้งจะออกหาอาหาร สร้างรัง วางไข่ รวมถึงดูแลตัวอ่อนรุ่นแรกด้วยตัวเอง เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ และเมื่อตัวอ่อนรุ่นแรกโตเต็มที่ จากนั้นหน้าที่ของราชินีจะมีเพียงแค่วางไข่เพิ่มเท่านั้น ส่วนเรื่องการดูแลตัวอ่อนและการหาอาหารจะเป็นหน้าที่ของผึ้งรุ่นแรกและผึ้งรุ่นต่อ ๆ ไป

(Bombus dahlbomii Cr.ภาพ commons.wikimedia.org/)
ภาพวาดวงจรชีวิตตัวอ่อนในรังของ “Bombus terrestris” ในปี 1840
โดย William Home Lizars 
ภาพวาด Bumblebees สายพันธุ์ต่างๆ โดย Moses Harris จากนิทรรศการแมลงในอังกฤษปี 1782
แม้ว่าพวกมันจะตัวอ้วนแต่กลับผลิตน้ำหวานได้ไม่มากนัก อย่างไรก็ตามผึ้งชนิดนี้ก็นับว่าเป็นนักผสมเกสรชั้นยอด เพราะ 2 ใน 3 ของอาหารบนโลกที่มนุษย์บริโภคอยู่นั้น ล้วนมาจากการผสมเกสรของผึ้งทั้งสิ้น และด้วยจำนวนที่ลดลงอย่างต่อเนื่องทำให้นักวิจัยต่างเป็นกังวลว่า “หากผึ้งสูญพันธุ์ มนุษย์ก็อาจสูญพันธุ์ด้วย”
จากการรายงานของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ระบุว่า ปัจจุบันผึ้งอ้วนหลายสายพันธุ์กำลังตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ และส่วนใหญ่กำลังถูกคุกคาม โดยในปี 2017 พวกมันเป็นผึ้งป่าชนิดแรกที่ถูกรัฐบาลออกมาประกาศให้เป็นสัตว์คุ้มครองเนื่องจากเสี่ยงสูญพันธุ์ ซึ่งสาเหตุการลดลงของจำนวนผึ้งชนิดนี้มาจากโรคที่ติดต่อกันในหมู่ผึ้ง หรือบ้างก็ว่ามาจากภาวะโลกร้อนและจำนวนดอกไม้ลดลง
Cr.https://www.flagfrog.com/blog/
Cr.https://en.wikipedia.org/wiki/Bumblebee

 “หนอนกระทู้ยาสูบ” (Tobacco Hornworms)
หนอนผีเสื้อ(Caterpillars) สามารถเกาะอยู่บนกิ่งไม้หรือใบไม้ได้ โดยขาที่เล็กจิ๋วของมันซึ่งดูไม่สมส่วนและไม่น่าแข็งแรงพอที่จะปีนต้นไม้ได้ ความลับก็คือ ขาของพวกมันมีแผ่นกาวพิเศษที่เรียกว่า “โครเชต์” (Crochets) ซ่อนอยู่

Michael A. Simon นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทัพท์และเวอร์จิเนียร์ (Tufts University and Virginia Tech) ได้ตีพิมพ์งานวิจัยของเธอเกี่ยวกับกายวิภาคของหนอนผีเสื้อลงใน Biological Review ปี 2014 ซึ่งหนอนที่เธอใช้ศึกษานั้นคือ “หนอนกระทู้ยาสูบ” (Tobacco Hornworms) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับหนอนผีเสื้อส่วนใหญ่ 

จากการศึกษาระบุว่า หนอนผีเสื้อมี “ขาจริง” (true legs) จำนวน 6 ขา อยู่ถัดมาจากส่วนหัวและจะพัฒนากลายเป็นขายาว ๆ ตอนวิวัฒนาการเป็นผีเสื้อ ซึ่งระหว่างช่วงที่เป็นหนอนนั้นขาจริงนี้จะไม่ได้มีส่วนช่วยในการเคลื่อนที่เลย  แต่อวัยวะที่ใช้ในการเคลื่อนที่จริง ๆ คือ “ขาปลอม” ที่มีชื่อเรียกว่า Prolegs จำนวน 2-5 คู่ (แล้วแต่ชนิด) โดยมีลักษณะเหมือนนิ้วจิ๋วอ้วนกลมอยู่บริเวณหน้าท้องใช้ในการยึดติดพื้นผิวต่าง ๆ เช่นกิ่งไม้ ใบไม้ ซึ่งจะหายไปเมื่อกลายเป็นผีเสื้อ 

หนอนผีเสื้อเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง พวกมันจึงเคลื่อนที่ด้วยการยืดและหดตัว โดยขาปลอมที่มีส่วนสำคัญที่สุดในการเคลื่อนที่คือ “ขาที่อยู่บริเวณก้น” (Anal Proleg) เพราะจุดนี้จะทำงานร่วมกับแผ่นกาวใส Crochets ที่คอยทำหน้าที่เหมือนกาวผลิตของเหลวเหนียวส่งไปยังตะขอเล็ก ๆ นับพัน จึงช่วยให้การยึดเกาะนั้นแน่นหนึบยิ่งขึ้น 
กระบวนการเคลื่อนที่ของหนอนผีเสื้อ เริ่มจาก : คลายขาปลอมส่วนก้น – หดตัว – ขยับขาปลอมส่วนก้นมาใกล้กับส่วนหัว – จากนั้นคลาย Prolegs ส่วนหัวและยืดไปข้างหน้า – ทำวนแบบนี้ไปเรื่อย ๆ

และมันยังมีอวัยวะพิเศษ ที่เรียกว่า Planta Hairs  คือขนสีน้ำตาลที่อยู่ส่วนปลายของขาปลอม ทำหน้าที่เหมือนเส้นประสาทในการรับรู้ถึงสิ่งกีดขวางและพื้นผิวที่มันสัมผัส จากนั้นจะส่งข้อมูลไปยังกล้ามเนื้อเพื่อยกขาปลอมข้ามสิ่งกีดขวางให้เคลื่อนที่ต่อไปได้เรื่อย ๆ 

หนอนกระทู้ยาสูบ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Manduca sexta หนอนผีเสื้อกลางคืนในวงศ์ Sphingidae รู้จักกันในชื่อ Hornworms สามารถพบได้ง่ายในทวีปอเมริกา และที่มันถูกเรียกว่าหนอนกระทู้ยาสูบ เพราะพวกมันมีความสามารถในการปล่อยสารนิโครตินได้เหมือนยาสูบนั่นเอง
โดยก่อนที่หนอนจะกลายเป็นดักแด้ พวกมันจะลอกคราบราว 4-5 ครั้ง และทุกครั้งมันจะกินผิวหนังอันเก่า เพราะอุดมไปด้วยสารอาหารและโปรตีนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต จึงทำให้พวกมันตัวใหญ่ขึ้น แข็งแรงขึ้น พร้อมที่จะกลายเป็นดักแด้และผีเสื้อต่อไป

Tobacco Hornworms มักจะตกเป็นเป้าหมายของตัวต่อ Brachonid ที่เป็นปรสิตของแมลง โดยตัวต่อที่โตเต็มวัยจะวางไข่ไว้บนตัวมัน เมื่อไข่ฟักเป็นตัว ตัวอ่อนตัวต่อก็จะกินหนอนผีเสื้อนั้น  ในที่สุดตัวอ่อนตัวต่อก็โผล่ออกมาและก่อตัวเป็นดักแด้สีขาวบนผิวหนังของ Hornworm ที่กำลังจะตาย ซึ่งภายในพวกมันจะเปลี่ยนเป็นตัวเต็มวัยของตัวต่อ Braconid
Cr.https://www.flagfrog.com/blog/
Cr.https://naturallycuriouswithmaryholland.wordpress.com/2012/08/11/tobacco-hornworms-brachonid-wasps/

วาฬเบลูก้า (Beluga Whale)
เมื่อปี 2016 เกิดกระแสแชร์ภาพ “วาฬเบลูก้ามีขา” จนกลายเป็นไวรัลไปทั่วโลก เหตุนี้ทำให้นักชีววิทยาเกรงจะเกิดความเข้าใจผิด จึงต้องออกมาเฉลยว่า “นั่นไม่ใช่ขาของวาฬแต่มันคือชั้นไขมัน ที่เรียกว่า Blubber (บลับ-เบอะ) ” 

ชั้นไขมัน (Blubber) ที่ว่านี้อยู่ระหว่างกล้ามเนื้อและชั้นผิวหนัง (เหมือนสิ่งมีชีวิตทั่วไป) มีลักษณะเป็นท่อยาวพาดอยู่ข้างลำตัวเพื่อสร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย หนาประมาณ 15 เซนติเมตร คิดเป็น 40% ของน้ำหนักตัว และเนื่องจากเป็นสัตว์ไร้ขน ชั้นไขมันของพวกมันจึงหนากว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบนบกกว่า 100 เท่า (เพื่อทดแทนขนที่หายไป)
“รูปที่ทุกคนเห็นเหมือนขาของวาฬเบลูก้านั้น เกิดจากมุมกล้องที่ถ่ายขณะพวกมันกำลังว่ายน้ำ ทำให้ชั้นไขมันบริเวณหน้าท้องเกิดหดตัวเป็นก้อนจนดูเหมือนขานั่นเอง” – แครี่ ลิชาร์ด เจ้าหน้าที่ดูแลพิพิธภัณฑ์สัตว์อธิบายเสริม

ชื่อ Beluga เป็นภาษารัสเซียมีความหมายว่า “ขาวเท่านั้น” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Delphinapterus leucas เป็นวาฬขนาดเล็ก (ยาวประมาณ 4 ถึง 6 เมตร หนักเฉลี่ย 500 ถึง 1,000 กิโลกรัม) อาศัยอยู่ในแถบมหาสมุทรอาร์กติก หรือในทะเลกระแสน้ำเย็นอื่น ๆ โดยมักจะอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง ปัจจุบันประชากรวาฬเบลูก้าในธรรมชาติเหลือประมาณ 150,000 ตัว

ย้อนไปในปี1493 คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (ชายผู้ค้นพบทวีปอเมริกา) ได้จดบันทึกการเดินทางว่า “ตัวเขานั้นได้พบนางเงือก 3 ตัว ขณะกำลังแล่นเรือผ่านมหาสมุทรแคริเบียน ณ จุดที่ไม่ไกลจากเกาะฮิสปันโยลา (ตำแหน่งปัจจุบันคือประเทศเฮติและสาธารณรัฐโดมินิกัน) พวกมันมีหน้าตาน่ากลัวชวนสยอง ครึ่งบนก็ดูเหมือนผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ไม่เหมือนในจิตนาการที่นิยายวาดฝันเอาไว้เลย” ซึ่งมีการบอกเล่าว่าอาจเป็น “วาฬเบลูก้า (Beluga Whale)”

ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่า “นางเงือกที่โคลัมบัสพบเจอนั้น แท้จริงแล้วอาจเป็น “พะยูนหางกลม (Manatee)” หรือ “วัวทะเลชเตลเลอร์ (Sea Cow)” แต่ไม่มีทางที่จะเป็น “วาฬเบลูก้า (Beluga Whale)” ได้เพราะถิ่นอาศัยของมันอยู่ไกลจากในบันทึกมาก

วาฬเบลูกาตัวผู้ตัวนี้ชื่อ Noc สามารถเลียนแบบเสียงของมนุษย์ได้
นักวิทยาศาสตร์รายงานเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2012 ในวารสาร Current Biology
(ภาพ ©กองทัพเรือสหรัฐฯ)
นอกจากนั้นในปี 1984 นักวิทยาศาสตร์จาก National Marine Mammal Foundation ในซานดิเอโกเริ่มสังเกตเห็นเสียงผิดปกติที่เล็ดลอดออกมาจากจุดที่พวกเขาเก็บวาฬและโลมา สิ่งเหล่านี้คล้ายกับคนสองคนที่สนทนากันในระยะไกลซึ่งเกินขอบเขตความเข้าใจของผู้ฟัง โดยนักวิจัยสืบหาเสียงเหล่านี้และพบว่าเป็นเสียงของวาฬขาวเพศผู้ตัวหนึ่งชื่อ Noc  การค้นพบนี้เป็นครั้งแรกที่แสดงให้เห็นว่าปลาวาฬสามารถเลียนแบบเสียงของมนุษย์ได้ ซึ่งนักวิจัยจะทำการวิเคราะห์ความสามารถนี้ต่อไป

วาฬเบลูกาหรือที่เรียกว่าวาฬขาวเป็นที่รู้จักกันในนาม "นกคีรีบูนแห่งท้องทะเล" เป็นวาฬอีกชนิดหนึ่งที่ส่งเสียงร้องได้หลากหลาย ตั้งแต่เสียงผิวปาก ที่มีระดับเสียงที่แตกต่างกันมากมาย พวกมันไม่ใช่วาฬชนิดเดียวกับวาฬยักษ์ตัวมหึมาในเรื่อง " โมบี้ดิ๊ก " ซึ่งเป็นวาฬสเปิร์มขาวจริง ๆแต่เบลูกาจัดอยู่ในกลุ่มวาฬสปีชีส์ที่เล็กที่สุด
Cr.https://www.flagfrog.com/blog/
Cr.https://oceanmaidblog.wordpress.com/2016/01/12/วาฬเบลูกา/
Cr.https://www.livescience.com/24166-beluga-whale-mimics-human-voice.html

(ขอขอบคุณที่มาของข้อมูลทั้งหมดและขออนุญาตนำมา)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่