ไบโพลาร์

นายแพทย์โกวิทย์ นพพร
จิตแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์
 
คุณหกเหินเป็นอะไรถึงได้สร้างแต่ความปั่นป่วนและความเครียดให้ทุกคนในครอบครัว

คุณหกเหินเข้าโรงพยาบาลเพราะมีสภาพเหมือนคนไร้วิญญาณ วัน ๆ เอาแต่นั่งเหม่อลอย พร่ำพูดถึงความทุกข์สารพัดในอดีต พี่น้องคุณหกเหินบอกว่าคุณหกเหินกินไม่ได้ นอนไม่หลับ จนซูบซีดมาเป็นเดือนแล้ว ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเคยร่าเริง คุยไม่หยุด นั่งไม่ติดที่ อยากทำนั่นทำนี่ตลอดเวลา ใช้เงินเป็นเบี้ยจนเป็นหนี้บัตรเครดิตเหยียบเลข 7 หลัก พี่น้องเอือมระอา เนื่องจากคุณหกเหินไม่ฟังคำทัดทานจากใคร และแถมยังอาละวาดเมื่อถูกขัดใจ ญาติพี่น้องเพิ่งจะเข้าใจพฤติกรรมของคุณหกเหินดีขึ้น เมื่อคุณหมอบอกว่าคุณหกเหินป่วยเป็นโรคไบโพลาร์

ไบโพลาร์ แปลว่า “สองขั้ว” ขั้วทั้งสอง คือ อารมณ์ โรคไบโพลาร์จึงมีชื่อเรียกในภาษาไทยว่า “โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว” คุณหมออธิบายให้ฟังว่าที่ว่าอารมณ์แปรปรวนไม่ได้หมายถึง “คุ้มดีคุ้มร้าย ผีเข้าผีออก” คนปกติทั่วไปมีลักษณะอารมณ์ซึ่งเราอาจแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ อารมณ์ฝ่ายสุขและอารมณ์ฝ่ายทุกข์ เวลาพูดถึงอารมณ์ เราไม่ได้หมายเฉพาะความรู้สึก แค่รวมพฤติกรรมความคิดอ่าน ทัศนคติต่อชีวิตที่สอดคล้องไปกับความรู้สึกนั้นด้วย ใครจะมีอารมณ์แบบไหนมากน้อยกว่ากัน ขึ้นอยู่กับบุคลิกนิสัยใจคอ และจะมีเหตุการณ์แวดล้อมอะไรมาพาไป แต่ไม่ว่าจะมีอารมณ์แบบใด การแสดงออกก็ยังอยู่ในกรอบที่เหมาะสมพอดี ปัจจุบันนี้เราทราบว่าในสมองมีกลไกที่คอยควบคุมการแสดงออกของอารมณ์โดยอาศัยการทำงานของสารเคมีในสมองที่เราเรียกว่า สารสื่อประสาท เมื่อใดที่สารสื่อประสาทเหล่านี้ทำงานไม่ปกติ การแสดงออกของอารมณ์ก็จะหลุดออกนอกกรอบ กลายเป็นอารมณ์แปรปรวนได้ 2 แบบ คือ เป็นแบบทุกข์มากจนซึมเศร้า หรือสุขมากจนกลายเป็นความคึกคักที่ควบคุมไม่ได้

ญาติ ๆ ค่อย ๆ ลำดับเหตุการณ์ได้ว่าตอนแรกคุณหกเหินมีอาการคึกคักก่อน คือ มีอารมณ์ครื้นเครง พูดมาก และเร็วจนฟังไม่ทัน และส่วนมากจะเปลี่ยนเรื่องเร็วด้วย ชอบอวดว่าตนเก่งกว่าคนอื่น จึงฉุนเฉียวและโกรธมากเวลาถูกห้ามปราม ใช้เงินอย่างขาดสติ ทั้งซื้อของและเสี่ยงโชค คุณหกเหินเป็นแบบนี้อยู่ระยะหนึ่งก็ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นพูดน้อย หดหู่ซึมเศร้า ท้อแท้และหมดหวังกับชีวิต บ่นว่าสมองไม่สั่งงาน ไม่อยากทำอะไร หมกมุ่นแต่เรื่องทุกข์ในอดีตและอนาคต รู้สึกผิดกับทุกเรื่องที่เคยทำมา พี่น้องจำได้ว่าคุณหกเหินเคยเป็นแบบนี้ เมื่อหลายปีก่อน แต่ไม่รุนแรงนัก จึงไม่มีคนสนใจ ในที่สุดคุณหกเหินก็หายเป็นปกติไปเอง

คุณหมอได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยบางคน เวลาดึกอาจมีอาการหลงผิดคิดว่าตนเองเป็นผู้วิเศษ หรือบุคคลสำคัญ ความหุนหันพลันแล่นทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงอื่น ๆ ตามมา เช่น ถูกทำร้าย เป็นหนี้เป็นสิน หรือติดยาเสพติส่วนผู้ป่วยที่เศร้ามาก ๆ ก็อาจคิดว่าตนเองเคยทำผิดต่าง ๆ ที่ให้อภัยไม่ได้สมควรต้องรับโทษให้สาสม ระแวงและคิดอยากตาย

โดยทั่วไปผู้ป่วยอาจมีอาการแบบใดแบบหนึ่งก่อนแล้วเปลี่ยนเป็นอีกแบบหนึ่ง โดยอาจมีระยะเวลาที่มีอารมณ์ปกติมาคั่นกลาง ระยะที่มีอาการจะต้องใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ขึ้นไป ไม่ใช่ชั่วโมงนี้เป็นแบบหนึ่ง ชั่วโมงหน้าเป็นอีกแบบหนึ่ง บางคนก็อาจมีอาการแบบเดียวซ้ำๆ หลายครั้งก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นรักแบบหนึ่ง หรืออาจมีทั้งสองแบบปน ๆ กันในคราวเดียวกันได้

ญาติสงสัยว่าทำไมคุณหกเหินจึงป่วยโดยไม่มีสาเหตุชัดเจนคุณหมอบอกว่าสาเหตุทางพันธุกรรมเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการทำงานของสารสื่อประสาททำให้สารสื่อประสาทอาจทำงานผิดพลาดจนส่งผลให้เกิดอาการป่วยโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีสิ่งกระตุ้นจากสภาพแวดล้อม ในบางกรณีการมีวิกฤตใหญ่ ๆ ในชีวิตที่ทำให้เกิดอาการเครียดมาก ๆ ซ้ำ ๆ ก็อาจทำให้เกิดผลสะสมจนสารสื่อประสาททำงานผิดพลาดได้เช่นกัน มีหลายกรณีที่ผู้ป่วยหรือญาติพยายามโยงอาการป่วยกับเหตุการณ์บางอย่าง และพยายามเข้าไปแก้ไขเหตุการณ์นั้น ๆ โดยไม่ได้สนใจที่ตัวโรคเอง

จะรักษาคุณหกเหินให้หายได้หรือไม่ โชคดีที่ปัจจุบันทางการแพทย์รู้สาเหตุทางชีววิทยาของโรคนี้ ผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดอย่างถูกวิธีก็จะหายเป็นปกติได้ การใช้ยาที่ทำหน้าที่ปรับสภาพสารสื่อประสาทซึ่งมีอยู่มากมายหลายขนาน และได้รับการยอมรับว่าประสิทธิภาพสูง จึงเป็นวิธีรักษาที่สำคัญควบคู่ไปกับการบำบัดทางจิตวิทยาเพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงสาเหตุและขบวนการบำบัดรักษา สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมหลังจากทุเลาจากอาการป่วยแล้ว

แล้วคุณหกเหินจะหายขาดได้หรือไม่ การเกิดโรคซ้ำในไบโพลาร์เป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่พบบ่อย ผู้ที่เคยป่วยซ้ำมีโอกาสที่จะป่วยอีกสูงกว่าผู้ที่เพิ่งป่วยเพียงครั้งเดียว ดังนั้นการมีวินัยในการรับประทานยา หมั่นติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด จึงมีส่วนช่วยป้องกันการเกิดโรคซ้ำได้ นอกจากนั้นผู้ใกล้ชิดที่เข้าใจ คอยให้กำลังใจและสังเกตุอาการที่เปลี่ยนแค่เนิ่น ๆ ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิผลของการรักษาและป้องกันโรคไบโพลาร์ได้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่