ตอนนี้หลายๆ คนเริ่มหันมาทำอาหารกันเองที่บ้าน ไม่ว่าจะต้ม ผัด แกง ทอด แถมบางบ้านยังมีการถ่ายโชว์ฝีมือผ่านออนไลน์กันอีกด้วย เพราะฉะนั้นการเตรียมห้องครัวหลังบ้านให้รองรับการทำอาหารที่มีทั้งน้ำมันกระเด็น ควัน หรือกลิ่น แต่ยังต้องสวยและมีแสงธรรมชาติพร้อมสำหรับการถ่าย VDO โชว์ทักษะขั้นเทพของพ่อบ้านแม่บ้านยุคใหม่ก็เป็นอะไรที่ขาดไม่ได้จริงๆ
โดยการต่อเติมครัวหลังบ้าน มีเรื่องต่างๆ ที่ทุกคนต้องคำนึงถึง ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้น รูปแบบหลังคา ซึ่งอาจเป็นหลังคาที่ต้องใช้โครงสร้างเสารองรับหรือหลังคากันสาดสำเร็จรูป รวมไปถึงวัสดุที่ใช้มุงก็ควรเป็นแบบที่ช่วยให้ห้องครัวที่แคบดูโล่ง โปร่ง สบายตา นอกจากนี้ยังมีส่วนของงานระบบทั้งประปาและไฟฟ้าสำหรับห้องครัวอีกด้วย
ก่อนอื่นขอเริ่มจากงาน “พื้น” โดยถ้าหลังบ้านที่ต้องการต่อเติมเป็นพื้นดิน ควรเทพื้นคอนกรีต ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็น Slab on Ground หรือถ้าต้องการชะลอการทรุดตัวอาจลงเสาเข็มสั้นแบบปูพรม โดยทั่วไปหลังบ้านที่เรามักจะใช้ต่อเติมครัวนั้น จะเป็นแหล่งรวมอุปกรณ์งานระบบของบ้าน ทั้งถังบำบัดน้ำเสีย ถังเก็บน้ำ ปั๊มน้ำ พร้อมแนวท่อน้ำดีน้ำเสียอีกต่างหาก สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่เพื่อนๆ ทุกคนต้องคำนึงก่อนจะเทพื้น เช่น จะเลี่ยงตำแหน่งฝาเปิดของถังบำบัดน้ำเสียหรือถังเก็บน้ำใต้ดินได้อย่างไร หรือหากต้องการลงเสาเข็มแบบปูพรม ก็ต้องเช็คว่า ใต้พื้นดินมีแนวท่อหรืออุปกรณ์อื่นๆ ขวางอยู่หรือไม่?
เมื่อเทพื้นเสร็จแล้ว ก็มาต่อด้วยการทำโครงสร้างเสาอีกชุดสำหรับรองรับโครงหลังคาใหม่โดยไม่ฝากกับโครงสร้างบ้านเดิม เพื่อที่เวลาพื้นส่วนต่อเติมทรุดตัว จะได้ไม่ดึงรั้งโครงสร้างบ้านเดิมจนเสียหาย (แต่ถ้าจำเป็นต้องยึดโครงหลังคาใหม่เข้ากับโครงสร้างบ้านเดิม ควรทำจุดเชื่อมต่อให้สามารถขยับได้)
ภาพ : กรณีเทพื้นใหม่ ควรทำโครงสร้างใหม่สำหรับรองรับหลังคาโดยเฉพาะ (ภาพบน)
เพื่อป้องกันมิให้โครงสร้างส่วนต่อเติมซึ่งทรุดตัวเร็วกว่า ดึงรั้งโครงสร้างบ้านเดิมจนเสียหาย (ภาพล่าง)
ภาพ : หากจำเป็นต้องฝากโครงหลังคาใหม่ไว้กับโครงสร้างบ้านเดิม ควรทำจุดเชื่อมต่อให้ขยับได้เผื่อรองรับการทรุดตัว
แต่ถ้าตำแหน่งที่เพื่อนๆ ต้องการต่อเติมครัวเป็นพื้นคอนกรีตอยู่แล้ว ให้เช็คเรื่องโครงสร้างที่รองรับพื้น ถ้าเป็นพื้น Slab on Ground โดยไม่มีเสาเข็มหรือมีแค่ฐานเข็มปูพรมรองรับ ให้ทำโครงสร้างเสาแยกอีกชุดสำหรับรองรับโครงหลังคาส่วนต่อเติมเหมือนกับกรณีเทพื้นใหม่ แต่ถ้าพื้นนั้นถ่ายน้ำหนักไปที่โครงสร้างชุดเดียวกับโครงสร้างบ้าน ก็อาจฝากโครงหลังคาส่วนต่อเติมใหม่เข้ากับโครงสร้างบ้านเดิมได้เลย
ซึ่งในการต่อเติมครัวหลังบ้าน ไม่ว่าจะใช้พื้นเดิมหรือเทพื้นใหม่ก็ตาม ถ้าต้องการต่อหลังคายื่นจากตัวบ้านไม่เกิน 2 เมตร อาจใช้วิธีที่ง่ายขึ้น คือ ติดตั้งหลังคากันสาดเข้ากับโครงสร้างบนผนังบ้านเดิม โดยสามารถเลือกได้ว่าจะทำหลังคากันสาดขึ้นมาหรือหาซื้อหลังคากันสาดสำเร็จรูปมาติดตั้งก็ได้
ภาพ : การทำหลังคากันสาดติดกับผนังบ้านเดิม
สำหรับวัสดุมุงหลังคา ถ้าเป็นแบบที่มีน้ำหนักเบาจะมีข้อดีคือช่วยลดภาระให้กับโครงสร้างส่วนต่อเติม ก็จะมีทั้งแบบทึบแสง อย่าง หลังคาเหล็กรีดลอน (Metal Sheet) หลังคาไวนิล (PVC หรือ Poly Vinyl Chloride) หลังคา UPVC (Unplastizide Poly Vinyl Chloride) หรือแบบโปร่งแสง ที่ยังได้แสงธรรมชาติลอดผ่าน แต่ยังช่วยป้องกันรังสียูวีและความร้อนได้ อย่าง โพลีคาร์บอเนต (Polycarbonate) อะคริลิก (Acrylic) ไฟเบอร์กลาส (Fiberglass)
ภาพ : แผ่นหลังคาโปร่งแสงอะคริลิก
ภาพ: แผ่นโปร่งแสง สำหรับมุงหลังคา (ผลิตจากไฟเบอร์กลาส)
นอกจากเรื่องพื้นและหลังคาแล้ว ยังมีเรื่องงานระบบที่จำเป็นสำหรับห้องครัวด้วย ไม่ว่าจะเป็นระบบน้ำดีสำหรับใช้กับอ่างล้างจาน การบำบัดน้ำเสีย โดยใช้ถังดักไขมันก่อนจะเดินท่อน้ำทิ้งต่อไปยังท่อระบายน้ำสาธารณะ รวมถึงระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ทั้งตำแหน่งปลั๊กที่เหมาะสมสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น กระติกน้ำร้อน เตาไฟฟ้า การติดตั้งไฟให้แสงสว่างทั้งบนฝ้าเพดานและพื้นที่ใช้งานต่างๆ เช่น ใต้ตู้ลอย เหนือเคาน์เตอร์ครัวและเคาน์เตอร์อ่างล้างจาน เป็นต้น
เป็นยังไงบ้างครับ หากเพื่อนๆ กำลังจะต่อเติมห้องครัวหลังบ้าน สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้เลยครับ https://bit.ly/2RWsYSL
ต่อเติมครัวหลังบ้านแบบโปร่ง โล่ง สบาย