[CR] [Review] Girl (2018)


ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 8 ปีก่อน นก ยลลดา ถูกโจมตีอย่างหนัก หลังไปออกรายการ “วู้ดดี้เกิดมาคุย” ด้วยข้อหาเป็นบ้า เพราะเธอนิยามตัวเองด้วยคำใหม่ว่า “ผู้หญิงข้ามเพศ” พร้อมเสนอแนวคิดว่าคนแบบเธอก็คือผู้หญิงที่ติดอยู่ในร่างผู้ชาย และการรักษาช่วยเหลือได้ก็คือการผ่าตัดแปลงเพศ เพื่อให้เธอได้ “ข้ามเพศ” ได้สมบูรณ์ ซึ่งเป็นแนวคิดที่สร้างกระแสโจมตีอย่างรวดเร็ว ไม่เฉพาะแค่กับผู้ชายผู้หญิงทั่วไปที่ไม่เข้าใจ แต่รวมถึงชาว LGBT เองที่มองว่าเธอเพี้ยน เพราะ ณ เวลานั้น คนแบบเธอก็คือกะเทยที่อยากจะผ่าตัดแปลงเพศเพื่อเป็นผู้หญิง เพื่อความสวยงาม ก็เท่านั้น จะมาเป็นผู้หญิงที่ติดอยู่ในร่างผู้ชาย จะมาบอกว่าทนทุกข์ทรมานอะไร พวกฉันไม่เข้าใจเธอหรอก! มากไปกว่านั้นแนวคิดของเธอยังขัดแย้งกับนักวิชาการ LGBT ที่ต่อสู้กันมายาวนานว่า การเป็น LGBT ไม่ใช่โรคที่ต้องรักษา แล้วเธอมาบอกว่าเธอต้องการการรักษา นี่มันถอยหลังลงคลองชัดๆ

.
ช่วงเวลานั้น เราได้มีโอกาสสัมภาษณ์พูดคุยกับนก ต่อยอดสู่การเป็นส่วนหนึ่งในการทำหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊ก “ผู้หญิ๊งผู้หญิง” ของเธอ เพื่อล้อกับหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊ก “กะเท๊ยกะเทย” ที่เธอเคยทำมาก่อนหน้านี้ แล้วตามมาด้วยการนั่งสัมภาษณ์พูดคุยเก็บข้อมูลเกือบสิบครั้งกับเหล่าผู้หญิงข้ามเพศนับสิบชีวิต เพื่อทำซีรี่ส์พ็อกเก็ตบุ๊ก (ทว่าโปรเจ็กต์ก็กลายเป็นหมันไปเสียก่อน) นั่นทำให้เรานั่งดู Girl ด้วยความเข้าอกเข้าใจ และย้อนคิดถึงเหล่าผู้หญิงข้ามเพศที่เราเคยพูดคุยด้วย ทั้งคนที่อยู่ในภาวะซึมเศร้า หดหู่ สิ้นหวัง คนที่กำลังจะก้าวข้ามผ่านสู่การเป็นคนใหม่อย่างที่เธอต้องการ และคนที่มีความสุขเต็มเปี่ยมหลังจากชีวิตได้เปลี่ยนไปแล้ว ... รู้ไว้เถอะว่า สำหรับผู้หญิงข้ามเพศแล้วมันไม่ใช่แค่เรื่องการตัดเอาไอ้จู๋ทิ้งไปเฉยๆ หรอก

.
Girl เป็นภาพยนตร์เจ้าของรางวัล Camera D’Or สำหรับผู้กำกับหนังครั้งแรกยอดเยี่ยม และ รางวัล Queer Palm จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ปีล่าสุด ตัวแทนหนังชิงออสการ์ของเบลเยี่ยม พร้อมกับดีกรีการได้เข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำ สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมปีนี้ เล่าเรื่องราวของ Lara เด็กหนุ่มที่กำลังก้าวข้ามสู่การเป็นเด็กสาว ด้วยกระบวนการทางการแพทย์ เธอกำลังเริ่มเทคฮอร์โมน และกำลังใจจดใจจ่ออยู่กับการจะได้เข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศ ขณะเดียวกัน เธอก็ต้องปรับตัวเข้ากับชีวิตใหม่ หลังจากย้ายบ้านมาอยู่ที่ใหม่และเข้าเรียนในโรงเรียนสอนบัลเล่ต์ โดยต้องปรับเปลี่ยนทักษะที่เคยฝึกมาเพื่อเล่นเป็นตัวพระมาเป็นตัวนาง ซึ่งโหดหินแบบต้องเสียเลือด ยังดีที่เธอมีพ่อที่พร้อมจะสนับสนุนและดูแลด้วยความเข้าอกเข้าใจทุกอย่าง แต่ทุกอย่างรอบตัวเธอก็ดูเหมือนจะไม่ง่ายเอาเสียเลย

.
ในความเรียบเรื่อยของเรื่องราวตรงหน้า เราพบว่ามันเต็มไปด้วยความกดดัน เคร่งเครียด และราวกับมีระเบิดเวลาที่พร้อมจะปะทุตลอดเวลา แม้กระทั่งฉากซ้อมเต้นบัลเล่ต์ธรรมดาๆ เพราะ Lara เป็นเด็กสาวที่ต้องเก็บความรู้สึกภายในไว้ในใจ และเธอไม่ใช่เด็กสาวที่วี๊ดว๊ายแบบสาวทรานส์ที่เราคุ้นเคยในเมืองไทย เธอไม่มีเพื่อนที่เปิดใจคุยได้ทุกเรื่อง เธอสร้างกำแพงไว้กับพ่อที่แม้จะเข้าใจเธอ แต่เรื่องบางเรื่อง เราก็ต้องก้าวข้ามผ่านด้วยตัวเอง เพราะเรารู้ดีว่า ไม่มีใครเข้าใจได้หรอกถ้าไม่ได้เป็นเหมือนกับเรา นั่นแหละทำให้ทุกคนได้ที่ดู Girl ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า Lara จะไม่ทุกข์ใจเท่านี้เลยถ้าเกิดในเมืองไทย!

.
เรานั่งน้ำตาไหลตั้งแต่ฉากแรกๆ ที่ผู้เป็นพ่อพยายามประคับประคองความรู้สึกและโอบกอดลูกสาวคนนี้ด้วยความรัก น้ำตาอาบเมื่อได้เห็นความพยายามดิ้นรนเพื่อมีชีวิตอยู่อย่างเด็กผู้หญิงคนหนึ่งของ Lara และร้องไห้หนักขึ้นไปอีก เมื่อได้เห็นว่าเธอพยายามถึงที่สุดแล้วจริงๆ ให้เครดิตน้อง Victor Polster ที่รับบทเป็น Lara ได้อย่างหมดจดงดงาม น้องเล่นได้ลึกมากละเอียดมาก จนเราเห็นตัวละคร Lara ได้กระทั่งในแววตาที่สั่นระริกของเค้า น่าทึ่งมากขึ้นไปอีก เมื่อชีวิตจริงของน้อง Victor ไม่ได้เป็นสาวทรานส์ เป็นเพียงเด็กหนุ่มนักเต้นบัลเล่ต์ที่มาลองเล่นหนังเป็นครั้งแรก!

อ่านบทความอื่นๆ ได้ที่ เพจ ชีวิตผมก็เหมือนหนัง
ชื่อสินค้า:   Girl
คะแนน:     

CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้

  • - จ่ายเงินซื้อเอง หรือได้รับจากคนรู้จักที่ไม่ใช่เจ้าของสินค้า เช่น เพื่อนซื้อให้
  • - ไม่ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ใดๆ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่