บทความวันจันทร์ (24 ส.ค. 63) : เด็กน้อยกับการเจริญสติ

บทความวันจันทร์  เด็กน้อยกับการเจริญสติ
โดย  วรา  วราภรณ์

           

            ไม่ใช่ช็อตเด็ดโดนใจ หรือแอ๊กชั่นส่งประกวด 

            เด็กหญิงชาวไทยตัวเล็กๆ ในภาพนี้ชื่อ “ผิงอัน” เธอเพียงแต่อยากเข้ามาช่วยจับไม้กวาดตามแบบย่าของเธอที่กำลังทำความสะอาดพื้นศาลาธรรมที่วัดบ้านพระ วัดประจำหมู่บ้านเก่าแก่ในตำบลของผู้เขียน เป็นการตระเตรียมสถานที่สำหรับกิจกรรมการเจริญสติที่จะจัดขึ้นในวันที่ 9-16 กันยายน 2563 ภายใต้ชื่อการอบรมหลักสูตรพัฒนาจิตให้เกิดปัญญาและสันติสุข ของคุณแม่ ดร.สิริ  กรินชัย ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกในพื้นที่ตำบลของเรา

             ทำไมหนูผิงอันจึงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ? 

            อยากเล่าว่า เด็กน้อยคนนี้เคยเข้ามาอยู่ในบรรยากาศแห่งการเจริญสติตั้งแต่เธออยู่ในท้องแม่ เพราะแม่ของเธอได้เข้ามาร่วมอบรมหลักสูตรนี้ตอนตั้งครรภ์ได้เจ็ดเดือน หลังจากนั้นเมื่อลืมตาดูโลกแล้ว หนูผิงอันในวัยหกเดือนยังได้มาร่วมกิจกรรมนี้อีกครั้งหนึ่งกับย่าซึ่งเป็นผู้ดูแลเธอ โดยที่มีเปลติดมาด้วยพร้อมสรรพ ถึงเวลานอนก็ให้เธอนอนในเปล ส่วนย่าก็เจริญสติไปด้วยการนั่งฟังธรรมบ้าง เดินจงกรม หรือนั่งสมาธิบ้างตามกิจวัตรในแต่ละวัน หากหลานตื่น ก็อุ้มมาอยู่ด้วยกัน หรือไม่ก็ปล่อยให้คืบคลานเล่นใกล้ๆ กับบางครั้งก็มีคณะทำงานหรือผู้ร่วมกิจกรรมด้วยกันช่วยเป็นพี่เลี้ยงด้วยความเอ็นดู เป็นอันว่าหนูน้อยผิงอันได้อยู่ในบรรยากาศของการเจริญสติไปด้วยโดยปริยาย 

             สำหรับผู้เขียน นี่คือเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะว่าวิถีชีวิตผู้ปกครองไทยที่คนเลี้ยงเด็กมักเป็นปู่ย่าตายาย หรือแม้แต่พ่อแม่เลี้ยงเองก็ตาม มักเข้าใจว่าเด็กคืออุปสรรค เป็นตัวปัญหาที่ทำให้ผู้ปกครองร่วมกิจกรรมธรรมะไม่ได้ ซึ่งเป็นการปิดโอกาสทางสติและปัญญาของตนเองไปอย่างน่าเสียดายยิ่ง 

             โปรดสังเกตว่า คำว่า “ไม่ได้” กับ “ไม่สะดวก” นั้นต่างกัน 

             อยากให้คิดว่า การนำเด็กไปร่วมปฏิบัติธรรมนั้นทำได้และเป็นไปได้ในหลายสำนัก เช่น ในคณะวิทยากรลูกศิษย์ของคุณแม่สิริ  กรินชัย ที่ผู้เขียนได้ร่วมกิจกรรมมาแล้วแปดครั้งภายในเวลาสามปี (ครั้งละ 7 คืน 8 วัน) หลักสูตรนี้วิทยากรจะใช้คำว่าให้นำลูกหลานมาเลี้ยงด้วย มาอยู่ในกรรมฐานด้วย เด็กๆ จะได้อยู่ในบรรยากาศของความสงบและความเมตตา ได้ฟังบทสวด ได้ฝึกกราบพระ เรียนรู้มรรยาทในที่ประชุม มรรยาทบนโต๊ะอาหาร การใช้พื้นที่ร่วมกับผู้อื่น เช่น สุขา อ่างล้างมือ อ่างล้างแก้ว ส่วนเรื่องความซุกซนดื้อรั้นต่างๆ นั้นคือธรรมชาติของเด็ก ไม่ให้ถือเป็นอารมณ์ แต่ให้รับมือด้วสติ ดังนั้น ผู้ใหญ่ทั้งหลายที่ทำกิจกรรมพร้อมกับเด็กก็จะได้มีโอกาสฝึกฝนการเจริญสติที่ดีมาก โดยมีเด็กๆ นี่เองที่เป็นโจทย์แสนท้าทาย 

             สำหรับหนูผิงอัน ผู้เขียนได้สังเกตหนูน้อยคนนี้จากการที่ได้พบปะกันบ้างตามโอกาสต่างๆ ทึ่งมากอย่างหนึ่งที่เด็กคนนี้ไม่มีนิสัยงอแงหรือโยเยเลย เธอมักส่งยิ้มหวานเมื่อคนทักทาย ทำให้หน้าตาที่น่ารักอยู่แล้วยิ่งมีเสน่ห์มากขึ้นอีก เธอจึงกลายเป็นขวัญใจของทุกคนที่ได้พบเห็น มีแต่คนรักและเอ็นดู (ชื่อ “ผิงอัน” เป็นภาษาจีน แปลว่า โชคดี ซึ่งวิทยากรคือ อาจารย์นิศารัตน์  ลาวัณยากุล เป็นผู้ตั้งให้)

             น่ายินดีมากที่เวลานี้ในชุมชนของผู้เขียน นอกจากผิงอันแล้ว ยังมีลูกหลานคนอื่นในครอบครัวเครือข่ายผู้ร่วมอบรมหลักสูตรนี้ที่เห็นคุณค่าของการนำเด็กๆ มาซึมซับบรรยากาศแห่งการเจริญสติตั้งแต่เยาว์วัย และพยายามจะรักษาความต่อเนื่องไว้ด้วยการที่นำเด็กๆ ร่วมกิจกรรมทุกครั้งที่มีโอกาส อย่างน้อยคือปีละหนึ่งครั้ง 

             ผู้เขียนอยากให้ผู้นำหมู่บ้านพาชาวบ้านทำกิจกรรมโดยที่นำเด็กเข้ามามีส่วนร่วมด้วยเช่นนี้ให้เป็นเรื่องปกติ เพื่อถ่ายทอดสิ่งที่เราอยากสืบสาน และบ่มเพาะจิตใจกับปัญญาของเขา ให้อยู่ในวิถีความเจริญงอกงามในสังคมของเราต่อไปนานๆ 

             รอบนี้เล่าเรื่องรุ่นจิ๋วไปก่อน รอบหน้าค่อยเล่าเรื่องเยาวชนรุ่นใหญ่นะคะ 



สายฟ้า วัยเจ็ดขวบก็มาช่วยล้างพื้นด้วย เขาเป็นหลานอีกคนหนึ่งในครอบครัวนี้ที่เคยตามตากับยายไปเจริญสติมาแล้วสองครั้ง 


ผิงอันวัยละอ่อนกับพี่เลี้ยงคนพิเศษ คุณแม่นภา  ธำรงกิจสิริ ระหว่างพักจากกิจกรรมเจริญสติ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่