สังฆเภทคาทอลิกและอีสเทิร์นออร์โธด็อกซ์ ค.ศ.1054

สังฆเภทคาทอลิกและอีสเทิร์นออร์โธด็อกซ์ ค.ศ.1054

วันนี้ วันที่ 16 กรกฎาคม เป็นวันครบ 963 ปี การแยกนิกายของทั้งสองศาสนจักรพอดี วันนี้แอดจะขอมาพิมพ์เกี่ยวกับแตกแยกของทั้งสองศาสนจักรนี้เสียหน่อย จริงๆแล้วผู้นำทั้งสองศาสนจักรในยุคนั้นก็ไม่ได้อยู่ๆเกิดนึกไม่ชอบแล้วมาบัพพาชนียกรรมกันเฉยๆในปีนั้นนะครับ หากแต่รอยร้าวมันเริ่มร้าวก่อนหน้านั้นมาหลายร้อยปีแล้วจนมาถึงฟางเส้นสุดท้ายเมื่อปี 1054 นั่นเอง 

อย่างที่แอดเคยเล่าถึงสาเหตุหรือปัจจัยหลักสองเรื่องของการแยกศาสนจักรมาแล้วในบทความ "ศาสนจักรอีสเทิร์นออร์โธด็อกซ์กับศาสนจักรออเรียนทัลออร์โธด็อกซ์นั้นต่างกันอย่างไร?" แต่ในบทความนี้แอดจะเพิ่มปัจจัยให้ทุกท่านได้อ่านกันมากขึ้นนะครับ (บางข้อแอดจะขอก๊อปจากบทความก่อนนี้มาเลยละกัน เผื่อใครที่ยังมาได้อ่านจะได้ทราบด้วย)

1.คำว่า "Fillioque" (พระบุตร) - ในหลักข้อเชื่อไนเซียหรือบทแสดงความเชื่อที่คริสตชนตะวันตกและตะวันออกท่องกัน จะในพิธีหรือแค่อ่านผ่านตาก็แล้วแต่ ซึ่งหลักข้อเชื่อไนเซียที่เราเห็นกันนั้นสำเร็จเป็นรูปร่างเมื่อสภาสังคายนาสากลแห่งคอนสแตนติโนเปิลครั้งที่ 1 ค.ศ.381 โดยเพิ่มส่วนของพระจิตเข้าไป ตรงส่วนพระจิตเจ้านี่ล่ะครับจะมีกล่าวไว้ว่า 

"ข้าพเจ้าเชื่อในพระจิต พระเจ้าผู้ทรงบันดาลชีวิต ทรงเนื่องมาจากพระบิดา (และพระบุตร) "
คงคุ้นๆกันแน่นอนโดยเฉพาะชาวคาทอลิกไทยจะคุ้นเป็นพิเศษเพราะท่องอยู่ทุกมิสซา แต่อยากจะบอกว่าของเดิมน่ะ มันไม่มีคำว่า "และพระบุตร" ใส่เอาไว้หรอกครับ ทางศาสนจักรตะวันตก(โรม)เพิ่มลงไปจากของเดิมอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อครั้งสภาสงฆ์แห่งโตเลโดครั้งที่ 3 ค.ศ.589 การกระทำนี้เป็นอะไรที่ทางตะวันออกรับไม่ได้อย่างถึงที่สุดเลยครับเพราะเชื่อว่าเป็นการบิดเบือนคำสอนเดิมและเปลี่ยนแปลงหลักข้อเชื่อโดยพลการ เลยเป็นหนึ่งในเหตุสำคัญที่สองศาสนจักรแยกกัน

(เผื่อใครสงสัย):แต่ถ้าถามว่า อ้าว แบบนี้ก็เท่ากับโรมนึกอยากจะเปลี่ยนก็เปลี่ยนตามใจชอบหรือไม่? ก็ต้องขอตอบว่า "ไม่" ครับ มันมีการตีความว่าพระจิตมาจากทั้งพระบิดา "และพระบุตร" มาตั้งแต่สมัยปิตาจารย์ยุคแรกๆแล้วล่ะครับ โดยส่วนใหญ่มักเป็นปิตาจารย์ตะวันตกเช่นนักบุญออกัสตินหรือนักบุญแอมโบรสแห่งมิลาน เป็นต้น และการใส่เพิ่มไปตอนสภาสงฆ์แห่งโตเลโดนี้ ก็เป็นการช่วยเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องพระจิตอันทำให้ชาววิสิกอธในสเปนกลับใจออกจากลัทธิอาเรียน(ปฏิเสธพระตรีเอกนุภาพ)มาสู่คริสตศาสนจักรหลักได้ในที่สุดครับ 

2. .Papal Primacy หลักสังฆราชแห่งโรมที่เป็นหนึ่ง - คริสตศาสนายุคแรกจะมีศูนย์กลางอยู่ห้าแห่งที่เรียกกันว่า "Pentarchy" มีโรม คอนสแตนติโนเปิล อันติออก เยรูซาเล็มและอเล็กซานเดรีย ทางตะวันตกเลยถือพระสันตะปาปาแห่งโรมเป็นหนึ่งและมีอำนาจสูงสุดโดยสืบมาจากนักบุญเปโตร ซึ่งอำนาจสูงสุดของพระสันตะปาปาเริ่มปรากฏเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆโดยเฉพาะสมัยพระสันตะปาปาลีโอที่ 1 ส่วนทางตะวันออกบอกไม่เอา! เราไม่ยอม! เราจะถือหลักสูงสุดท่ามกลางเท่าเทียม ให้พระสันตะปาปามีเกียรติสุด(เป็นที่หนึ่งนั่นล่ะ)แต่ไม่ให้มีอำนาจสูงสุดและประณามพระสันตะปาปาในเรื่องนี้ด้วย

3. Leavened bread or Unleavened bread!? ขนมปังจะเอาใส่เชื้อหรือไม่ใส่เชื้อกันแน่!? -  ดูไม่น่าจะทะเลาะกันได้เลยนะสำหรับเรื่องนี้แต่ก็กลายเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักไปด้วยเช่นกันเมื่อสองศาสนจักรระหว่างละติน(โรม)ที่ไม่ใส่เชื้อสื่อถึงพระกระยาหารครั้งสุดท้ายกับกรีก(คอนสแตนติโนเปิล)ที่ใส่เชื้อสื่อถึงการฟื้นคืนพระชนม์ของพระคริสต์ ทำให้เกิดการถกเถียงกันอย่างรุนแรงว่าขนมปังแบบไหนคือขนมปังที่พระเยซูเสวยตอนพระกระยาหารครั้งสุดท้าย ปังแบบไหนที่ต้องใช้ในพิธีศีลมหาสนิท ทางกรีกก็เลยด่าทางละตินซะเละเลยเพราะเชื่อว่าใช้ขนมปังที่ไม่ใส่เชื้อเรียบๆแบนๆมันไม่ถูกต้อง มันผิด! มันไม่ดั้งเดิม! ทางละตินก็งง อะไรของเอ็ง มันก็ใช้ได้เหมือนกันหมดมิใช่หรือ!?
ซึ่ง...ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อล่ะครับว่านี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งเช่นกันและยังเถียงกันไม่จบไม่สิ้นมาจนถึงตอนนี้

4.Photius Schism and Jurisdiction การแตกแยกศาสนจักรโดยพระอัยกาโพธีอุสและเขตอำนาจศาสนจักร - สืบเนื่องจากข้อ 2 ในปีค.ศ. 858 พระอัยกาอิกเนเชียสแห่งคอนสแตนติโนเปิลถูกไล่ลงจากตำแหน่งโดยจักรพรรดิมิคาเอลที่ 3 แห่งไบแซนไทน์และจักรพรรดิก็ตั้งโพธีอุส นักเทววิทยาที่เป็น "ฆราวาส" ขึ้นเป็นพระอัยกาแทน พระสันตะปาปานิโคลัสที่ 1 ในสมัยนั้นทรงไม่พอพระทัยอย่างยิ่งและไม่ยอมรับพระอัยกาองค์นี้เพราะพระอัยกาองค์นี้ได้ขึ้นครองตำแหน่งอย่างไม่ถูกต้อง อีกทั้งพระอัยกาโพธีอุสยังกล่าวโจมตีพระสันตะปาปาว่านอกรีตและบัพพาชนียกรรมเขาอีกในเรื่องพระจิตเจ้ามาจากพระบุตรในหลักข้อเชื่อไนเซียของศาสนจักรตะวันตก(ข้อ 1)นี่ล่ะครับ 

นอกจากนี้การแตกแยกโดยพระอัยกาโพธีอุสนั้นยังมีเรื่องของอำนาจศาสนจักรด้วยนะครับ คือช่วงนั้นชาวสลาฟในยุโรปตะวันออกหันมานับถือคริสตศาสนากันเยอะอย่างดินแดนโมเรเวียและบัลแกเรีย ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาอีกว่าชนสลาฟตามที่ต่างๆนั้นจะอยู่ใต้อำนาจศาสนจักรไหน โดยเฉพาะบัลแกเรียที่วิ่งแจ้นไปหาพระอัยกาตอนสแตนติโนเปิลเพื่อขอให้ตั้งพระอัยกาของพวกเขาเองหน่อย แต่ไม่ได้ ทางนั้นเขาไม่ให้ เลยไปหาทางโรมแทน ซึ่งโรมก็ไม่ให้อีก เลยคอตกกลับไปหาคอนสแตนติโนเปิลซึ่งก็ให้แทบจะทันที (รีบเลยนะ เดี๋ยวเขาไปอยู่กับโรม 555) ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองศาสนจักรเลวร้ายลงไปอีก

5. Pope crowned Charlemagne พระสันตะปาปาสวมมงกุฎให้ชาร์ลเลอมาญ - ในปีค.ศ.800 พระสันตะปาปาลีโอที่ 3 สวมมงกุฎให้ชาร์ลเลอมาญ กษัตริย์แห่งชาวแฟรงค์ให้เป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ทำหน้าที่คุ้มครองศาสนจักรตะวันตก นี่ก็เป็นอีกเหตุหนึ่งเพราะทำให้จักรพรรดิไบแซนไทน์ทรงไม่พอพระทัยอย่างยิ่งเพราะตนเป็นจักรพรรดิโรมัน(ตะวันออก)อยู่แล้ว และชาวศาสนจักรตะวันออกยังมองชาร์ลเลอมาญเหมือนเป็นผู้สนับสนุนความเชื่อนอกรีตในมุมมองของพวกเขาด้วย

นอกเหนือจากนี้แล้ว ความแตกต่างสองศาสนจักรเองก็มีส่วน เทววิทยาต่างกัน จารีตพิธีกรรมก็ต่างกัน ทางตะวันตกใช้ละตินเป็นหลัก ทางตะวันออกใช้กรีกเป็นหลัก อำนาจการเมือง วัฒนธรรม หลักความเชื่อ ทุกอย่างพร้อมจะปะทุ ศาสนจักรทั้งสองพร้อมจะแตกเป็นสองเสี่ยง
ทีนี้มาช่วงที่เหตุการณ์ที่เป็นฟางเส้นสุดท้ายกันบ้าง แม้ว่าการแตกแยกโดยพระอัยกาโพธีอุสจะจบลงเพราะโพธีอุสโดนไล่ลงจากตำแหน่งหลังจักรพรรดิมิคาเอลที่ 3 ถูกลอบปลงพระชนม์แต่รอยร้าวยังคงมีอยู่เป็นรอยใหญ่จนใกล้จะฉีกเป็นสองชิ้น 

แล้วฟางเส้นนั้นก็มาถึงครับ ในปีค.ศ.1053 ช่วงที่ชาวนอร์มันเข้ายึดครองแถบซิซิลีและพวกเขาพยายามทำให้โบสถ์กรีกที่อยู่ทางตอนใต้อิตาลีหันมาใช้ประเพณีแบบละติน(เช่นการใช้ขนมปังไม่ใส่เชื้ออันเป็นเรื่องที่ทางกรีกรับไม่ได้) พระอัครสังฆราชลีโอแห่งออริด(Leo of Ohrid)เลยส่งจดหมายถึงพระสังฆราชจอห์นแห่งทรานีซึ่งเป็นพระสังฆราชองค์หนึ่งทานตอนใต้ของอิตาลีโดยเป็นจดหมายร้องทุกข์ถึงการใช้วิถีประเพณีแบบละติน ทั้งการใช้ขนมปังแบบไม่ใส่เชื้อและวันอดอาหารที่ต่างกันกับทางคอนสแตนติโนเปิล พระอัยกามิคาเอลที่ 1 เครูลาริอุสแห่งคอนสแตนติโนเปิลจึงสั่งปิดโบสถ์ละตินในกรุงคอนสแตนติโนเปิลทั้งหมดเลย

พระสันตะปาปาลีโอที่ 9 จึงไม่รอช้ารีบส่งจดหมายให้คำตอบกลับไปให้พระอัครสังฆราชลีโอแห่งออริดและส่งจดหมายไปให้พระอัยกาแห่งคอนสแตนติโนเปิลด้วยโดยส่งไปกับพระคาร์ดินัล 3 องค์ หนึ่งในพระคาร์ดินัล 3 องค์นั้นชื่อพระคาร์ดินัลฮัมเบิร์ตแห่งซิลวา แคนดิดา 

คณะผู้แทนของพระสันตะปาปาได้รับการต้อนรับอย่างดีจากจักรพรรดิแต่พระอัยกากลับไม่สนใจ ไม่แยแสใดๆกับคณะผู้แทนเลยเสมือนหนึ่งจะมีท่าทีจะแยกศาสนจักร จนในที่สุด วันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ.1054 สามเดือนหลังพระสันตะปาปาลีโอที่ 9 สิ้นพระชนม์ เมื่อคุยกันไม่รู้เรื่องแล้ว คณะผู้แทนทั้งสามจึงวางหมายบัพพาชนียกรรมบนพระแท่นในมหาวิหารฮาเกีย โซเฟียที่คอนสแตนติโนเปิล ตัดขาดพระอัยกามิคาเอลที่ 1 เครุลาริอุส พระอัครสังฆราชลีโอแห่งออริดและผู้สนับสนุน ทางพระอัยกาก็ไม่รอช้า หลังจากนั้นไม่นานก็ประกาศบัพพาชนียกรรมคณะผู้แทนนั้น เป็นการแยกและตัดขาดศาสนจักรกันโดยสมบูรณ์

เป็นอันว่ารอยร้าวที่แยกจากกันมานานก็ได้ขาดสะบั้นลงในปีนั้น ศาสนจักรแตกออกเป็นสองศาสนจักร ทางโรมเรียกตนว่า "คาทอลิก"ร้องไห้Catholic)ทางคอนสแตนติโนเปิลเรียกตนเองว่า "อีสเทิร์นออร์โธด็อกซ์"ร้องไห้Eastern Orthodox) นับตั้งแต่วันนั้นมาจนถึงวันนี้สองศาสนจักรยังไม่ได้รวมเป็นหนึ่งเดียวกันเสียที ยิ่งช่วงหลังเกิดสงครามครูเสดครั้งที่ 4 ที่ทหารครูเสดและชาวเวนิสบุกเข้าปล้นสะดมคอนสแตนติโนเปิลในปีค.ศ.1204 ทำให้ความสัมพันธ์ของสองศาสนจักรยิ่งย่ำแย่ลงไปอีกและทำให้การรวมศาสนจักรแทบจะเป็นไปไม่ได้แต่กระนั้นก็มีความพยายามจะรวมศาสนจักรอยู่หลายครั้งซึ่งก็สำเร็จอยู่บ้าง และมีการยกเลิกหมายบัพพาชนียกรรมไปแล้วในสมัยพระสันตะปาปาปอลที่ 6 กับพระอัยกาอธีนากอรัสแห่งคอนสแตนติโนเปิลในปีค.ศ.1965 แม้ว่าจะยังไม่สมบูรณ์แต่ก็นับเป็นสัญญาณที่ดีและแอดหวังว่าเราคงจะได้เห็นรอยร้าวใหญ่นี้ถูกผสานรวมเป็นหนึ่งกันใหม่เสียที

/AdminMichael

แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
http://www.newadvent.org/cathen/13535a.htm
https://www.britannica.com/event/Photian-Schism
https://www.britannica.com/biography/Saint-Photius
https://www.rferl.org/a/explainer-great-schism/27534730.html
http://www.newadvent.org/cathen/10273a.htm
ปังศีลมหาสนิท: http://www.newadvent.org/cathen/01349d.htm



CR. : ประวัติศาสตร์คริสตศาสนา - ทั้งตะวันตกและตะวันออก
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่