สอบถามข้อมูลประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาสำหรับการเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์ ไทมไลน์ พ.ศ. 2,122 - 2,127

พอดีผมได้เปิดโอกาสให้นักอ่านหรือนักเขียนในกลุ่มนักเขียนเข้ามาอ่านและวิจารณ์นิยายของผมซึ่งตอนนี้เพิ่งลงไป 8 ตอนราวๆ 30,000 กว่าคำ พบว่าเริ่มมีคนมาคอมเม้นเกี่ยวกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ผมได้หยิบยกมาใช้ในนิยาย แต่ส่วนใหญ่จะไม่บอกกันว่าผิดตรงไหนผมเลยจะนำลิ้งนิยายและตัวอย่างข้อมูลที่ใช้ในนิยายมาสอบถามว่ามีตรงไหนผิดอะครับ
 
ลิ้งค์นิยาย https://writer.dek-d.com/dek-d/writer/view.php?id=2123285

"วังหน้า" คำเรียก วังหน้า ในที่นี้หมายถึงตำแหน่งรัชทายาทในยุคสมัยนั้นในที่นี้หมายถึงพระนเรศวรมหาราช
"พระราชมณู" ก่อนขึ้นเป็นพระราชมณูเข้าใจว่าเป็นมหาดเล็กของพระนเรศ ที่ค้นข้อมูลมามีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์และในยุคนี้มีชื่อเดิมว่า "เพ็ชร" เป็นทหารเอกของพระนเรศวร แต่ในหนังเรื่องพระนเรศวรมหาราชของ ม.จ. ชาตรี เฉลิมยุคล ชื่อว่า บุญทิ้ง

"วิชาตำราพิชัยสงคราม" วิชาที่ว่าด้วยศาสตร์การทำสงคราม

"วิชาดาบอาทมาต" เป็นชื่อเรียกวิชาดาบแขนงหนึ่งของไทย เชื่อกันว่าตกทอดมาครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตั้งแต่ยังมีพระอิสริยยศ เป็น พระอุปราชวังหน้ารั้งเมืองพิษณุโลก วิชาดาบอาทมาฏ มีจุดเด่นอยู่ที่ความรวดเร็วและรุนแรง สามารถสู้ได้เพียงคนเดียวต่อคู่ต่อสู้หลายคน มีท่ารุกเป็นท่าเดียวกับท่ารับ เมื่อคู่ต่อสู้ฟันมาจะรับและฟันกลับทันที ไม่มีอะไรตายตัว มีแม่ไม้ 3 ท่า คือคลุมไตรภพ ตลบสิงขร และย้อนฟองสมุทร และมีท่าไม้รำ 12 ท่า

"พระพิชัยรณฤทธิ" เป็นราชทินนามที่พระเจ้าอยู่หัวแต่งตั้งให้ให้สำหรับ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมเขนทองขวา เป็นขุนนางฝ่ายทหาร ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นคุณพระหรือเรียกออกพระก็ได้ ถือศักดินา 5,000 กรมเขนทองขวาใช้อาวุธประเภทดาบคู่กับเขน (โล่กลม) และมีการใช้ปืนด้วย เพราะมีการแบ่งตำแหน่งข้าราชการในกรมเป็นตำแหน่ง "เขน" และ "ปืน"
 
"สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า" กษัตริย์องค์ที่ 18 ของกรุงศรีอยุธยา มีพระราชบิดาเป็นเชื้อสายราชวงศ์พระร่วง ส่วนพระราชมารดาเป็นเชื้อสายราชวงศ์สมเด็จพระไชยราชาธิราช สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า พระราชสมภพในปี พ.ศ. 2057 มีราชโอรสคือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ

"แม่น้ำน่าน" มีต้นกำเนิดอยู่ในเทือกเขาหลวงพระบาง จังหวัดน่าน มีความยาวตลอดลำน้ำ 740 กิโลเมตรผ่านใจกลางเมืองพิษณุโลกด้วย ซึ่งยาวที่สุดในบรรดาแควต้นน้ำเจ้าพระยาด้วยกัน นับเป็นหนึ่งในแม่น้ำสายหลักในภาคเหนือและภาคกลางของไทย

"อุปลิขิต" หมายความว่าสายลับหรือจารชน
"พระเจ้าชนะสิบทิศ" หมายถึงพระเจ้าบุเรงนอง หรือพระนามเต็มว่า พระเจ้าบุเรงนองกะยอดินนรธาเป็นพระมหากษัตริย์พม่าจากราชวงศ์ตองอู เสวยราชย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2093 ถึงปี พ.ศ. 2124 อาณาจักรของพระองค์เป็นอาณาจักรที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีอาณาเขตแผ่ไปถึงอาณาจักรล้านนา อาณาจักรล้านช้าง รัฐมณีปุระ และอาณาจักรอยุธยา
 
"พระมหาเถรคันฉ่อง" ผมหาข้อมูลมาว่ามีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์จำวัดอยู่ที่เมืองแครง แต่ข้อมูลการเป็นพระอาจารย์ของพระเจ้าบุเรงนอง และ สมเด็จพระเรศวรมหาราชตามภาพยนตร์ของ มจ.ชาตรี เฉลิมยุคล ไม่ปรากฏ แต่ในเนื้อเรื่องผมก็ให้พระมหาเถรฯเป็นพระอาจารย์ของพระนเรศเช่นกันครับ 
 

ในเรื่องพระเอกย้อนกลับมา พ.ศ. 2122 ก่อนพระนเรศหลั่งน้ำทักษิโณทกประกาศเอกราชที่เมืองแครงปี พ.ศ. 2,127 การดำเนินเรื่องจะเกิดขึ้นเป็นไทมไลน์ระหว่างปี 2122 - 2127 ช่วงนี้หาข้อมูลมาจะมีกบฏญาณพิเชียรเกิดขึ้นและอาณาจักรกัมพูชามักส่งกองทัพเข้ามาปล้นชิงเมืองจันทบุรี แต่หาข้อมูลไม่ได้ว่าแม่ทัพหรือขุนนางคนใดจากอโยธาได้ไปช่วยเมืองจันทบุรีหรือไม่ จนไปถึงก่อนเกิดเหตุการณ์ประกาศเอกราชที่เมืองแครงพระนเรศถูกพระเจ้านันทบุเรงเรียกตัวไปช่วยศึกที่หงสาวดี
 
อย่างไรรบกวนพี่ๆที่มีความรู้ช่วยแนะนำทีครับว่าข้อมูลที่ผมใช้ในเรื่องผมเข้าใจถูกต้องหรือมีจุดใดผิดครับ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 2
นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่แต่งขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อความบันเทิงจะคาดหวังให้ตรงกับหลักฐานประวัติศาสตร์ทั้งหมดไม่ได้อยู่แล้วครับ  การดัดแปลงเสริมแต่งเพื่อเสริมอรรถรสจึงเป็นเรื่องปกติ  อาจจะมีคลาดเคลื่อนบ้างแต่ถ้าไม่ได้จงใจบิดเบือนอย่างรุนแรงก็ไม่น่าเป็นปัญหาครับ

ในประเด็นที่ยกมาโดยรวมก็สอดคล้องกับข้อมูลประวัติศาสตร์ทั่วไปที่คนรับรู้กันครับ  อาจจะมีการคลาดเคลื่อนในรายละเอียดปลีกย่อยซึ่งหากไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ลงลึกจริงๆ ก็อาจจะไม่ทราบ  ในที่นี้ผมขอเสริมบางประเด็นที่อาจจะปรับเล็กน้อยให้สอดคล้องกับบริบทของเหตุการณ์ในนิยายมากขึ้นครับ


"วังหน้า" คำเรียก วังหน้า ในที่นี้หมายถึงตำแหน่งรัชทายาทในยุคสมัยนั้นในที่นี้หมายถึงพระนเรศวรมหาราช

วังหน้าเป็นคำเรียกตำแหน่งพระมหาอุปราชจริงครับ  แต่เท่าที่ศึกษาจากเอกสารสมัยอยุทธยาตอนกลางนิยมเรียกว่า "ฝ่ายหน้า" มากกว่า เช่น ในพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาของเยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias Van Vliet) สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองระบุว่าในรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชา สมเด็จพระนเรศทรงเป็น "ฝ่ายหน้า" (fai na)  สมเด็จพระเอกาทศรถ (พระราเมศวร) ทรงเป็น "ฝ่ายหลัง" (fai lang)   และฟาน ฟลีต ก็เรียกพระมหาอุปราชในรัชกาลพระเจ้าปราสาททองว่า "ฝ่ายหน้า" เช่นเดียวกัน   สอดคล้องกับพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ สมัยสมเด็จพระนารายณ์กล่าวถึง "พระเจ้าฝ่ายหน้า" ผู้ยกทัพไปตีเมืองขอมใน พ.ศ. ๒๑๔๖ ครับ



"พระราชมณู" ก่อนขึ้นเป็นพระราชมณูเข้าใจว่าเป็นมหาดเล็กของพระนเรศ ที่ค้นข้อมูลมามีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์และในยุคนี้มีชื่อเดิมว่า "เพ็ชร" เป็นทหารเอกของพระนเรศวร แต่ในหนังเรื่องพระนเรศวรมหาราชของ ม.จ. ชาตรี เฉลิมยุคล ชื่อว่า บุญทิ้ง

สำหรับเรื่องเจดีย์วัดช้างให้ จ.อ่างทอง ที่อ้างว่าเป็นเจดีย์บรรจุอัฐิของพระราชมนู หรือที่มีชื่อจริงว่าเพชร (ซึ่งบังเอิญไปเหมือนกับชื่อจริงพระราชมนูในนิยายเรื่อง “พ่อ” กับ “มหาราชโสด”) เท่าที่ทราบยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนมากเพียงพอนอกจากหลักฐานประเภทคำบอกเล่า อาจจะต้องพิจารณาของความน่าเชื่อถือต่อไป โดยอาจต้องให้ทางกรมศิลปากรเข้าไปตรวจสอบลักษณะศิลปะและอายุของเจดีย์ว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ แต่ถึงพิสูจน์ได้ว่ามีอายุเก่าแก่ถึงสมัยอยุทธยาจริง ก็ยังคงยากจะกล่าวได้ว่าเป็นเจดีย์บรรจอัฐิของพระราชมนูจริงครับ

นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในเรื่องความพยายามของท้องถิ่นในการสร้างประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ในชุมชนของตน โดยการพยายามเชื่อมโยงให้เข้ากับประวัติศาสตร์หรือข้อมูลของส่วนกลางด้วย ซึ่งก็มีตัวอย่างปรากฏให้เห็นอยู่ในหลายแห่ง



"วิชาดาบอาทมาต" เป็นชื่อเรียกวิชาดาบแขนงหนึ่งของไทย เชื่อกันว่าตกทอดมาครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตั้งแต่ยังมีพระอิสริยยศ เป็น พระอุปราชวังหน้ารั้งเมืองพิษณุโลก วิชาดาบอาทมาฏ มีจุดเด่นอยู่ที่ความรวดเร็วและรุนแรง สามารถสู้ได้เพียงคนเดียวต่อคู่ต่อสู้หลายคน มีท่ารุกเป็นท่าเดียวกับท่ารับ เมื่อคู่ต่อสู้ฟันมาจะรับและฟันกลับทันที ไม่มีอะไรตายตัว มีแม่ไม้ 3 ท่า คือคลุมไตรภพ ตลบสิงขร และย้อนฟองสมุทร และมีท่าไม้รำ 12 ท่า

เรื่องวิชาอาทมาตมาจากสมเด็จพระนเรศเป็นเพียงความเชื่อในสมัยหลังที่ไม่มีหลักฐานรองรับอย่างชัดเจน  และจากการศึกษาพบว่าอาทมาตไม่ได้เกี่ยวข้องกับวิชาดาบ แต่เป็นชื่อหน่วยงานลาดตระเวนสืบข่าวในสมัยโบราณครับ  ในสมัยรัตนโกสินทร์จัดตั้งขึ้นเป็นกรมอาทมาตในสังกัดกรมอาสามอญ  ข้าราชการในกรมส่วนใหญ่เป็นชาวมอญเนื่องจากต้องส่งไปสืบราชการในหัวเมืองมอญพม่าครับ

รายละเอียดอ่านเพิ่มเติมที่บทความเรื่อง "อาทมาต" ของผมครับ https://www.facebook.com/WipakHistory/posts/2836994493030669



"สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า" กษัตริย์องค์ที่ 18 ของกรุงศรีอยุธยา มีพระราชบิดาเป็นเชื้อสายราชวงศ์พระร่วง ส่วนพระราชมารดาเป็นเชื้อสายราชวงศ์สมเด็จพระไชยราชาธิราช สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า พระราชสมภพในปี พ.ศ. 2057 มีราชโอรสคือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ

ปีพระราชสมภพเป็นการคำนวณหักลบแบบหยาบๆ โดยเทียบจากพระชนมายุและปีที่สวรรคตเท่านั้นครับ อาจจะมีความคลาดเคลื่อนได้ ทั้งที่คนไทยในสมัยโบราณนิยมบันทึกอายุแบบนับย่างปีด้วย  จึงอาจไม่ได้ตรงกับอายุจริงก็ได้



"อุปลิขิต" หมายความว่าสายลับหรือจารชน

อุปนิกขิต ไม่ใช่ อุปลิขิต ครับ



"พระเจ้าชนะสิบทิศ" หมายถึงพระเจ้าบุเรงนอง หรือพระนามเต็มว่า พระเจ้าบุเรงนองกะยอดินนรธาเป็นพระมหากษัตริย์พม่าจากราชวงศ์ตองอู เสวยราชย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2093 ถึงปี พ.ศ. 2124 อาณาจักรของพระองค์เป็นอาณาจักรที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีอาณาเขตแผ่ไปถึงอาณาจักรล้านนา อาณาจักรล้านช้าง รัฐมณีปุระ และอาณาจักรอยุธยา

พระนามทางการของพระเจ้าบุเรงนองคือ สีริสุธรรมราชา (သီရိ သုဓမ္မ ရာဇာ) ซึ่งย่อมาจากพระนามเต็มอย่างยาวอีกต่อหนึ่ง   เอกสารพม่าบ่อยครั้งก็เรียกว่า พระเจ้าหงสาวดีช้างเผือก (ဟံသာဝတီ ဆင်ဖြူများရှင်)  ส่วน บุเรงนองกะยอดินนรธา เป็นพระยศเดิมเมื่อยังไม่ได้เป็นกษัตริย์  ซึ่งออกเสียงไม่ถูกเสียทีเดียวเพราะเป็นการถอดเสียงมาจากหนังสือภาษาอังกฤษอีกต่อหนึ่ง  และเป็นพระนามที่ไม่พบในเอกสารภาษาไทยโบราณด้วยครับ แต่ถ้าจะใช้แค่บรรยายเหตุการณ์หรืออธิบายเสริม โดยไม่ได้ใช้เป็นบทสนทนาขอตัวละครก็ไม่มีปัญหาครับ

พระนามของพระเจ้าบุเรงนองที่คนอยุทธยาเรียกขานพิจารณาจากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาฉบับหลวงประเสริฐออกพระนามว่า "พร่เจาหงษานีพันตร"   ในพงศาวดารฉบับอื่นๆ ออกพระนามเพียงว่า "พระเจ้าหงสาวดี" หรือ "พระเจ้าหงสา"   ตอนหนึ่งเรียกว่า "สมเด็จพระเจ้าหงสาวดีลิ้นดำ" (ใช้เรียกพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ด้วย เพราะพงศาวดารสมัยรัตนโกสินทร์จับรวมเป็นองค์เดียวกับบุเรงนอง)      และพบในพระไอยการกระบดศึก พ.ศ. ๒๑๓๖ ออกพระนามว่า "พระเจ้าไชยทศทิศเมืองหงษาวดี"

คำว่า "พระเจ้าชนะสิบทิศ" เป็นคำที่แปลมาจากภาษามอญอีกต่อหนึ่งครับ https://ppantip.com/topic/38021983



"พระมหาเถรคันฉ่อง" ผมหาข้อมูลมาว่ามีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์จำวัดอยู่ที่เมืองแครง แต่ข้อมูลการเป็นพระอาจารย์ของพระเจ้าบุเรงนอง และ สมเด็จพระเรศวรมหาราชตามภาพยนตร์ของ มจ.ชาตรี เฉลิมยุคล ไม่ปรากฏ แต่ในเนื้อเรื่องผมก็ให้พระมหาเถรฯเป็นพระอาจารย์ของพระนเรศเช่นกันครับ

ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาเพียงว่าอยู่ในพระอารามที่เมืองแครง เป็นอาจารย์ของพระยาเกียรติ พระยาพระรามครับ

เรื่องเป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระนเรศไม่ปรากฏชัดเจน แต่ก็มีความเชื่อเช่นนี้มาตั้งแต่โบราณแล้ว ปรากฏในประกาศหอเสถียรธรรมปริต พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๔ ว่า ในราชสำนักมีประเพณีให้พระสงฆ์รามัญสวดพระปริตรอย่างรามัญในพระมหามณเฑียรเนื่องจาก "มีแต่คำกล่าวเล่าต่อๆ กันมาว่าต่างๆ บางพวกว่าเมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเจ้านั้น ทรงนับถือพระมหาเถรกันชองว่าเป็นครูอาจารย์มาแต่เมืองหงสาวดีแลได้มีความชอบมาก จึงพระราชทานถานันดรยศให้เป็นสมเด็จพระสังฆราช แล้วทรงนับถือพระสงฆ์รามัญมาก แต่นั้นมาจึงได้ฉะเพาะให้อาราธนาแต่พระสงฆ์รามัญสวดปริตในพระราชวังดังนี้บ้าง"


เสริมเรื่องหนึ่งคือเลขปีไม่ต้องใส่จุลภาคครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่