💛💛/มาลาริน/ข่าวรถไฟมาแล้วค่ะ....ร.ฟ.ท.กางผังรถไฟ “ไทย-จีน” ระยะ 2 ช่วงโคราช-หนองคาย เปิดฟังความเห็นชาวอีสาน

ร.ฟ.ท.กางผังรถไฟ “ไทย-จีน” ระยะ 2 ช่วงโคราช-หนองคาย เปิดฟังความเห็นชาวอีสาน



ร.ฟ.ท.กางผังออกแบบแนวเส้นทางรถไฟ “ไทย-จีน” ระยะ 2 “นครราชสีมา-หนองคาย” เปิดเวทีฟังเสียงประชาชน 4 จังหวัดอีสานครั้งที่ 1 ประเดิมชาวโคราช ก่อนเดินสาย 14-16 ก.ค.ที่ขอนแก่น-อุดรธานี-หนองคาย 

วันนี้ (13 ก.ค.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้จัดประชุมฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย) โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุมฯ โดยมีการนำเสนอสาระสำคัญวัตถุประสงค์ ขอบเขตการดำเนินการ แผนการดำเนินโครงการ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับของโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน หน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน ที่เข้าร่วมประชุม

ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างดำเนินโครงการศึกษาและออกแบบรายละเอียดงานโยธารถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทางประมาณ 356 กิโลเมตร แนวเส้นทางครอบคลุม 4 จังหวัด
คือ....💛

จ.นครราชสีมา จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี และ จ.หนองคาย 
มีจำนวน 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี สถานีหนองคาย และมีสถานีขนถ่ายสินค้า 1 แห่งบริเวณสถานีรถไฟนาทา จ.หนองคาย มีศูนย์ซ่อมบำรุงที่เชียงรากน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และศูนย์ซ่อมบำรุงเบาที่นาทา จ.หนองคาย พร้อมด้วยหน่วยซ่อมบำรุงทาง 4 แห่ง ที่สถานีบ้านมะค่า จ.นครราชสีมา สถานีหนองเม็ก จ.ขอนแก่น สถานีโนนสะอาด จ.อุดรธานี และสถานีนาทา จ.หนองคาย โดยออกแบบขนาดรางเป็น 1.435 เมตร มีจุดตัดทางรถไฟ 241 แห่ง ระยะเวลาการเดินทางจากกรุงเทพมหานครถึงหนองคาย 3 ชั่วโมง 15 นาที ซึ่งเป็นการพัฒนาเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมต่อการค้าการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว และจีน อีกด้วย

ส่วนสถานีมีแนวคิดในการออกแบบให้ผสมผสานแสดงถึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นภาคอีสานและให้สอดคล้องกับสถานีรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 กรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา และสถานีรถไฟทางคู่ปัจจุบัน
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ยังจะต้องออกแบบให้สอดคล้องกับโครงการระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ซึ่งออกแบบตามมาตรฐานระบบรถไฟความเร็วสูงของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งอาจทำให้รายละเอียดของโครงการระยะที่ 2 เปลี่ยนแปลงไปจากที่นำเสนอไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดทำไว้ จึงจำเป็นต้องทบทวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงไป พร้อมทบทวนมาตรการป้องกันและแก้ไขสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งจัดให้มีการประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียตามกระบวนการมีส่วนร่วม

โดยได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นในทุกจังหวัดตามแนวเส้นทางโครงการ โดยวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 จะจัดการประชุมที่ จ.ขอนแก่น วันที่ 15 กรกฎาคม 2563 จะจัดการประชุมที่ จ.อุดรธานี และวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 จะจัดการประชุมที่ จ.หนองคาย จากนั้นจะมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอีก 1 ครั้ง เพื่อนำเสนอผลการศึกษาโครงการฯ ในขั้นตอนต่อไปให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบ



https://mgronline.com/business/detail/9630000071701

💛รถไฟไทย-จีนไม่ล้มเลิกแน่ค่ะ  บางคนที่อยากให้ล้มเหลวคงผิดหวัง

คราวนี้ฟังเสียงประชาชน  รับฟังความคิดเห็นต่างๆ เพื่อดำเนืนการต่อไป

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่