การค้นพบต่างๆบนดวงดาวในอวกาศ


อุกกาบาตที่ทำให้โลกกลายเป็นยุคน้ำแข็งเมื่อหมื่นปีก่อน อาจเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2030


ทฤษฎีที่ว่าโลกนี้อาจถูกกวาดล้างด้วยอุกกาบาตหรือดาวหางเช่นเดียวกับเมื่อราว 13,000 ปีก่อนอาจเกิดขึ้นอีกครั้ง หลังนักเขียนและนักโบราณรายหนึ่งอ้างว่า อีกราว 13 ปีข้างหน้าโลกอาจเผชิญกับหายนะที่เลวร้ายที่สุดอีกครั้ง

Graham Hancock นักเขียนและนักวิจัยได้เขียนหนังสือ (Magicians of the Gods ปี 2015) ที่ว่าด้วยการถึงจุดจบของโลกด้วยอุกกาบาตเช่นเดียวกับเมื่อหมื่นปีก่อน ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้อ่านเป็นจำนวนมาก แม้อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อแต่เขาได้ทำให้การวิจัยด้วยตัวเองโดยการเก็บข้อมูลจากโบราณสถานและข้อมูลในอดีตจากทั่วโลกมาเป็นข้อยืนยัน
 
Hancock เชื่อว่าสิ่งที่โลกต้องกังวลคือ “การโคจรของดาวหางเองเคอ” (Comet Encke) ที่อาจพุ่งเข้าชนโลกได้ในปี 2030 ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่พบจากโบราณสถาน Göbekli Tepe อารามที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่ถูกพบในตุรกี ร่องรอยสัญลักษณ์บนเสาหินถูกจับคู่กับสัญลักษณ์ทางดาราศาสตร์ ซึ่งพบว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เมื่อราว 10,950 ปีก่อนคริสตกาล ก่อนจะนำมาโยงกับการปรากฏการณ์ดาวหางที่พุ่งชนโลกราวหมื่นปีก่อนที่ทำให้อารยธรรมเก่าแก่ในอดีตหายสาบสูญไป
 
นักเขียนรายนี้ยังอ้างถึง ข้อความทางดาราศาสตร์ที่ถูกจารึกสุสานสฟิงซ์และพีระมิดโบราณในอียิปต์ถึง “เหตุการณ์ดาวหางชนโลกเมื่อครั้งอดีตจะกลับมาเกิดในยุคปัจจุบันอีกครั้ง” เขาคาดว่ามันอาจจะเกิดขึ้นอีก 13 ปีข้างหน้าหรือปี 2030 โดยประมาณ 
ซึ่งหากมันเกิดขึ้นจริงดาวหางขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 30 กิโลเมตร จะกวาดล้างเกือบทุกชีวิตบนโลก และทำให้เกิดปรากฏการณ์ Younger Dryas หรือ การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างฉับพลันที่จะทำให้โลกกลับไปสู่ยุคน้ำแข็งอีกครั้ง  อย่างไรก็ตามนี้เป็นเพียงทฤษฎีของนักเขียนภายในหนังสือของเข้าเท่านั้น 
Cr.https://starsmanman.blogspot.com/2018/06/


ละอองดาว หลักฐานสำคัญที่ไขปริศนาการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลครั้งใหญ่
เมื่อไม่นานมานี้นักวิทยาศาสตร์ภายในสถาบันวิจัยแห่งหนึ่ง ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลสำคัญถึงสาเหตุที่ทำให้สิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลจำนวนมากต้องสูญพันธุ์ไปเมื่อหลายล้านปีก่อน  การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับการค้นพบ ‘ตะกอน’ ซึ่งเป็นกัมมันตภาพรังสีของธาตุเหล็ก ที่มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า ‘Iron-60’ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบใต้มหาสมุทรแปซิฟิกในปี 1999 ก่อนที่นักวิทยาศาสตร์จะใช้เวลาในการศึกษาค้นคว้าความลับของมันเป็นเวลานานหลายปี
 
จนกระทั่งได้ข้อสรุปเมื่อไม่นานมานี้ว่า แท้จริงแล้ว Iron-60 ไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นในโลก แต่เป็นแร่ธาตุจากต่างดาว ซึ่งเดินทางมายังโลกของเราได้เพราะปรากฏการณ์ซูเปอร์โนวา หรือการแรงระเบิดของดวงดาวดวงหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างจากโลกของเราออกไปประมาณ 300 ปีแสง ด้วยระยะห่างที่ค่อนข้างมากทำให้โลกของเราไม่ได้รับผลกระทบจากการเกิดซูเปอร์โนวามากนัก นอกเสียจากละอองดาวที่มีลักษณะคล้ายกับฝุ่นผง ผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศของโลก และได้ตกลงสู่พื้นโลก
 
ละอองดาวเหล่านี้ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนบกมากนัก เนื่องจากเกิดการกระจายตัวไม่ได้กระจุกตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่ง แต่เมื่อละอองดาวตกลงในมหาสมุทรจะเกิดผลเสียต่อระบบนิเวศอย่างใหญ่หลวง สิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ที่อาศัยอยู่ใต้ท้องทะเล หลายสายพันธุ์จะต้องตายหรืออาจถึงขั้นสูญพันธุ์เลยด้วยซ้ำ นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่า Iron-60 อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลในยุคไพลสโตซีนต้องสูญสิ้น 
 
เนื่องจากผลการวิเคราะห์ตัวอย่าง Iron-60 พบว่าตรงกับยุคสมัยนั้นพอดี อย่างไรก็ดีนักวิทยาศาสตร์ระบุเพิ่มเติมว่า “การระเบิดของดวงดาวซึ่งก่อให้เกิดละอองดาว เมื่อหลายล้านปีที่ผ่านมาไม่ได้ส่งผลกระทบในระยะสั้น แต่มันกินเวลายาวนานถึง 800,000 ปี”
Cr.https://starsmanman.blogspot.com/2018/06/



บรรยากาศดาวยูเรนัส ห่อหุ้มด้วยกลิ่นเน่าเสีย
ดาวยูเรนัส (Uranus) เป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของเรา ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 7 หรือเรียกว่า “ดาวมฤตยู” และเมื่อสืบค้นองค์ประกอบบนดวงดาวครั้งล่าสุดโดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ ในประเทศอังกฤษ เผยว่าชั้นบรรยากาศของดาวยูเรนัสนั้นเต็มไปด้วยกลิ่นเน่าเหม็น

ทั้งนี้ เมื่อปี พ.ศ.2529 องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือองค์การนาซา ได้ส่งยานอวกาศวอยเอเจอร์ 2 (Voyager 2) ไปทำภารกิจบินสำรวจอย่างใกล้ชิดที่ดาวยูเรนัส แต่ในช่วงเวลานั้นเครื่องไม้เครื่องมือยังไม่อาจตรวจสอบและไม่สามารถระบุเกี่ยวกับองค์ประกอบของชั้นบรรยากาศดาวยูเรนัสได้อย่างชัดเจน ว่ากลุ่มเมฆที่หุ้มรอบดวงดาวนั้นมีส่วน ประกอบอะไรบ้างระหว่างแอมโมเนียและไฮโดร-เจนซัลไฟด์ 

แต่ทีมนักวิทยาศาสตร์กลุ่มปัจจุบันที่เฝ้าติดตามดูดาวยูเรนัสผ่านกล้องโทรทรรศน์เจมิไน นอร์ธ (Gemini North) ที่ตั้งอยู่บนภูเขาไฟเมานาเคอา รัฐฮาวาย ในสหรัฐอเมริกา เผยว่า เมื่อศึกษาถึงองค์ประกอบและการก่อตัวของดาวแล้ว ในที่สุดก็ไขคำตอบได้ว่าบรรยากาศชั้นบนสุดของดาวยูเรนัส มีไฮโดรเจนซัลไฟด์เป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งเป็นสารเคมีที่ทำให้ไข่เน่า ทำให้ดาวก๊าซยักษ์ดวงนี้เต็มไปด้วยกลิ่นเหม็น  แต่องค์ประกอบส่วนใหญ่ที่ชั้นล่างของดาวยูเรนัสก็ยังเป็นก๊าซไฮโดรเจน ฮีเลียม และมีเทน
Cr.https://www.thairath.co.th/news/foreign/1270194



ดาวทั้งดวงในกาแล็กซีแคระคินแมน หายไปอย่างปริศนาไร้ร่องรอย
วันที่ 30 มิ.ย.2563  สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า เมื่อปีที่แล้ว นายแอนดริว อัลลัน นักศึกษาปริญญาเอกของวิทยาลัยทรินิตี้ ในกรุงดับลิน ของไอร์แลนด์ ศึกษาดาวขนาดใหญ่ในกาแล็กซีแคระคินแมน ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ ที่อยู่ห่างไป 75 ล้านปีแสง แต่พอใช้กล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสง Very Large Telescope (VLT) ของหอดูดาวท้องฟ้าซีกใต้แห่งยุโรป European Southern Observatory (Eso) ส่องดูกลับไม่พบสัญญาณใดๆ ที่แสดงถึงการมีอยู่ของดาวดวงนี้แล้ว 

ดาวดวงนี้เป็นดาวขนาดใหญ่ จัดอยู่ในกลุ่มดาวแปรแสงสีฟ้าส่องสว่าง (Luminous Blue Variable) หรือ LBV มีความสว่างกว่าดวงอาทิตย์ถึง 2.5 ล้านเท่า อยู่ห่างไป 75 ล้านปีแสงในกาแล็กซีแคระคินแมน ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ
 
เบื้องต้นเชื่อว่าอาจจะสิ้นอายุขัยแล้วยุบตัวเป็นหลุมดำโดยไม่มีการระเบิดเป็นซุปเปอร์โนวาให้เห็นร่องรอยแสงสว่าง ซึ่งหากเป็นไปตามนี้ ก็จะนับเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยาก และนับเป็นครั้งแรกที่พบการสิ้นสุดอายุขัยของดวงดาวขนาดใหญ่ในรูปแบบนี้ หรืออีกทฤษฎีหนึ่งคือบางส่วนของดาวอาจถูกฝุ่นบดบังแสง

ทั้งนี้ ในระหว่างปี 2544 และ 2554 นักดาราศาสตร์หลายทีมได้ศึกษาดาวขนาดใหญ่ในกาแล็กซีแคระคินแมน ซึ่งอยู่ในระยะสุดท้ายของวิวัฒนาการ แต่เนื่องจากเป็นกาแล็กซีที่อยู่ไกลออกไปมาก ทำให้นักดาราศาสตร์ไม่สามารถระบุดาวทุกดวงได้อย่างเฉพาะเจาะจง มีเพียงบางดวงเท่านั้นที่สามารถตรวจพบได้ถึงสัญญาณการมีอยู่ของมัน

นักดาราศาสตร์ระบุว่า จะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกมากในอนาคตเพื่อยืนยันว่าเกิดอะไรขึ้นกับดาวดวงนี้ โดยในปี 2568 กล้องโทรทรรศน์ขนาดมโหฬาร Extremely Large Telescope (ELT) ของ Eso จะเริ่มเปิดใช้งานได้ และจะมีการศึกษากาแล็กซีที่อยู่ห่างไกลออกไป อย่างกาแล็กซีแคระคินแมน เมื่อถึงเวลานั้นปริศนาทุกอย่างอาจจะคลี่คลาย.
Cr.https://www.thairath.co.th/news/foreign/1880025?cx_testId=41&cx_testVariant=cx_1&cx_artPos=0&cx_type=contextual#cxrecs_s




ก๊าซมีเทนแข็งตัวบนเนินทรายของดาวพลูโต

ยานอวกาศนิว ฮอไรซันส์ (New Horizons) ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือองค์การนาซา ที่ส่งไปสำรวจธรณีสัณฐานของดาวพลูโตและแถบไคเปอร์ที่อยู่สุดขอบจักรวาล ได้เผยภาพถ่ายที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์แปลกใจเป็นอย่างมาก นั่นคือพบก๊าซมีเทนแช่แข็งเป็นเหมือนเม็ดผลึกอยู่บนเนินทรายที่ผิวดาวพลูโต ในบริเวณที่ราบรูปหัวใจชื่อสปุตนิก พลานิเทีย (Sputnik Planitia)

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพลีมัธ ในประเทศอังกฤษ เผยว่านี่คือการตรวจพบสิ่งแปลกใหม่บนดาวที่มหัศจรรย์ที่สุดแห่งหนึ่งของระบบสุริยะ เนินทรายมีขนาดประมาณ 2,000 ตารางกิโลเมตร เทียบเท่ากับกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น แต่การเกิดเนินทรายและคงสภาพเป็นเนินได้นั้น เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสงสัย เนื่องจากดาวพลูโตมีชั้นบรรยากาศที่เบาบางมาก องค์ประกอบส่วนใหญ่ก็เป็นก๊าซไนโตรเจน มีเทน และคาร์บอนมอนอกไซด์เพียงเล็กน้อย จึงไม่น่าจะก่อเกิดลมที่จำเป็นต่อการสร้างเนินทรายลักษณะดังกล่าวได้

ทั้งนี้ ดาวพลูโตมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2,380 กิโลเมตร โคจรรอบดวงอาทิตย์ระยะทางประมาณ 5,800 ล้านกิโลเมตร อยู่ห่างออกไปเกือบ 40 เท่าของวงโคจรของโลก พื้นผิวดาวเป็นที่ราบสูง หลุมอุกกาบาต และหุบเขา อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ได้กำหนดความสูงของเนินทราย แต่คาดเดาว่าอาจมีความสูงไม่ถึง 10 เมตร.
Cr.https://www.thairath.co.th/news/local/1301741

ดวงจันทร์ไททันมีน้ำมันและก๊าซ สำรองมากกว่าโลก
หลังจากการจากไปของยานอวกาศแคสสินีที่ถูกปล่อยไปทำภารกิจสำรวจดาวเสาร์ โดยยานได้เผาไหม้ตัวเองและจมลงสู่ดาวดวงดังกล่าวเมื่อปี 2560 ระยะเวลาถึง 20 ปีของการโคจรรอบดาวแห่งวงแหวนนั้น ยานแคสสินีได้ส่งข้อมูลมากมายมอบให้กับนักวิทยาศาสตร์ นักดาราศาสตร์ในโลก ล่าสุดองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือองค์การนาซา เผยว่า ดวงจันทร์ไททัน ที่เป็นบริวารและโคจรรอบดาวเสาร์นั้น มีแหล่งน้ำมันและก๊าซสำรองอยู่มากกว่าโลกเสียอีก

ปริมาณก๊าซสำรองในธรรมชาติของโลกมีมากกว่า 300 เท่าของพลังงานที่ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นการทำความร้อน ทำความเย็น และผลิตไฟฟ้าส่องสว่างตามที่อยู่อาศัย แต่ปริมาณน้ำมันและก๊าซสำรองของดวงจันทร์ไททันมีมากกว่าโลกหลายร้อยเท่า เป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยมีเทนเหลวและอีเทนอยู่บนพื้นผิว

ทั้งนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ควบคุมยานแคสสินีจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ เคยเปรียบว่าดวงจันทร์ไททันปกคลุมด้วยวัสดุที่ผลิตคาร์บอนก็เหมือนกับโรงงานอินทรีย์เคมีขนาดยักษ์ และปริมาณก๊าซคาร์บอนอันมหาศาลนี้ถือเป็นหน้าต่างบานสำคัญในการศึกษาทางธรณีวิทยาและสภาพภูมิอากาศดั้งเดิมของดวงจันทร์ดังกล่าว
ทั้งนี้ ดวงจันทร์ไททันอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เกือบ 1,000 ล้านกิโลเมตร และมีขนาดใหญ่กว่าดวงจันทร์ของโลกเพียงเล็กน้อย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นน้ำแข็ง โดยได้รับแสงแดดประมาณ 1% เมื่อเทียบกับที่โลกได้รับ แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่าผิวมีน้ำแข็งและหินซึ่งมีสภาพแวดล้อมคล้ายโลกของเรา
Cr.https://www.thairath.co.th/news/local/1214205

(ขอขอบคุณที่มาของข้อมูลทั้งหมดและขออนุญาตนำมา)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่