✝️ คริสตศาสนาห้ามการทำแท้งทุกกรณีใช่หรือไม่ ✝️

กระทู้สนทนา
✝️ คริสตศาสนาห้ามการทำแท้งทุกกรณีใช่หรือไม่ ✝️

คนส่วนมากเข้าใจว่าศาสนาคริสต์(และศาสนาส่วนใหญ่)สอนว่าการทำแท้งเป็นบาป ซึ่งอาจจัดว่าเข้าใจได้ถูกต้องประมาณหนึ่ง แต่หากมีความเข้าใจว่า ห้ามการทำแท้งทุกกรณี นี่อาจเข้าใจไม่ถูกต้องทั้งหมด

🌟 เหตุที่ศาสนาสอนว่าการทำแท้งเป็นบาป 🌟

ศาสนาส่วนใหญ่โดยเฉพาะศาสนาในกระแสหลักสอนชัดเจนว่า การฆ่าคนนั้นเป็นบาปมหันต์ และศาสนาต่างๆซึ่งเชื่อในเรื่องจิตวิญญาณ ล้วนมีความเชื่อว่า วิญญาณนั้นอยู่ในร่างกายของมนุษย์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จึงเทียบการทำแท้งว่าคือบาปในแบบเดียวกับการ ฆ่าคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นการฆ่าผู้บริสุทธิ์ก่อนเขาจะเกิดมา จึงต่อต้านการออกกฎหมายอนุญาตการทำแท้งเสรี

ในส่วนของผู้สนับสนุนการทำแท้งให้ถูกกฎหมาย จะอ้างสิทธิ์เสรีภาพเหนือร่างกายของตนเองของผู้หญิงที่มีสิทธิ์ทำอะไรกับร่างกายของตนเองก็ได้ และอ้างกฎหมายที่นับว่า มนุษย์เป็น"บุคคล" ก็เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก จึงมองว่าการทำแท้งไม่ใช่การฆ่าคน ไม่ควรผิดกฎหมายแบบการฆ่าคนตาย

ในเมื่อมีการถกเถียงกันคนละฐานของหลักความคิด และคนละหลักจริยธรรม การถกเถียงเรื่องการทำแท้งถูกกฎหมายแต่ไม่ถูกหลักศาสนา หรือไม่ควรถูกกฎหมายเพราะผิดหลักศาสนา จึงยังคงเป็นข้อถกเถียงต่อไปไม่มีข้อยุติที่ชัดเจนในทางจริยธรรมทางสังคมส่วนรวมที่มีฐานการยึดถือแตกต่างกัน

✝️ คำสอนเรื่อง Double Effect ของนักบุญโธมัส อไควนัส ✝️

ศาสนาคริสต์ดำเนินยาวนานกว่า 2000 ปี มีนักคิด นักปรัชญา นักศาสนศาสตร์ นักปราชญ์ นักวิชาการมากมายตลอดเวลาที่ผ่านมา ซึ่งล้วนเผชิญหน้ากับจริยธรรม หรือการตีความหลักศีลธรรม ที่ไม่เขียนอย่างจะแจ้งในพระคัมภีร์ นักบุญโธมัส อไควนัส (Thomas Aquinas ค.ศ. 1225-1274) เป็นนักปราชญ์คนสำคัญของคริสตศาสนา ท่านได้รับการประกาศเป็นนักบุญและรับการยกย่องเป็นนักปราชญ์ของพระศาสนจักรคาทอลิกด้วย ท่านสามารถอธิบายคำสอน พระคัมภีร์หลักความเชื่อ แม้แต่เรื่องพระเจ้า บนฐานของตรรกศาสตร์ และเหตุผลได้อย่างน่าทึ่ง และรากฐานคำสอนของท่านหลายเรื่อง ยังคงส่งอิทธิพลต่อ กฎหมาย จริยธรรม และการเมืองในโลกตะวันตกจนทุกวันนี้

คำสอนหนึ่งที่สำคัญของท่านในเรื่องจริยธรรม คือ เรื่อง  Double Effect  หรือ ผลที่(ไม่พึงประสงค์)ที่เกิดตามมา

คำสอนนี้มุ่งเน้นอธิบายผลเสียหรือผลลบที่เกิดขึ้นเมื่อเราตั้งใจทำความดีต่างๆ หากเกิดขึ้นจะถือว่าเราทำบาปหรือทำดี เช่น

เมื่อคนร้ายบุกเข้ามา เอาปืนกราดยิงเข้าไปในโรงเรียน และกำลังจะฆ่าผู้บริสุทธิ์ ตำรวจบุกเข้าไปช่วยเด็กๆ ทางเดียวที่จะหยุดคนร้ายคือ เขาต้องยิงคนร้ายในทันที ตำรวจยิงออกไป คนร้ายตาย เด็กจำนวนมากรอดตาย

คำถามคือ ในเมื่อศาสนาสอนว่า อย่าฆ่าคน ตำรวจทำบาปฆ่าคนหรือเปล่า

ข้อเท็จจริงคือ ตำรวจได้ฆ่าคนร้ายตายไปจริงๆ แต่ภายใต้คำสอนเรื่อง Double Effect  คำตอบคือ ไม่บาป ทำไมเป็นเช่นั้น

โดยพื้นฐาน คำสอนเรื่องความบาป คนจะทำบาปหนักอย่างสมบูรณ์ ต้องเจตนา จงใจ และเต็มใจ กระทำบาปในข้อร้ายแรง ซึ่ง Double Effect จะลงลึกและชัดเจนในประเด็นนี้เข้าไปอีก

Double Effect คือผลร้ายที่เกิดจากการตั้งใจทำความดีของเราโดยเราไม่ได้มีเจตนาร้าย และไม่ได้เจตนาให้เกิดสิ่งร้ายนั้น โดยมีคุณสมบัติดังนี้

1. โดยธรรมชาติการกระทำนั้นเป็นความดีหรืออย่างน้อยอยู่ในความตั้งใจที่ดีโดยธรรมชาติ
2. ผู้กระทำมีเจตนาให้เกิดผลดี ไม่ใช่เจตนาให้เกิดผลร้าย แม้ผลร้ายจะตามมาจากการเกิดผลดีนั้นโดยตัวมันเอง
3. ผลดีมีมากกว่าเมื่อเทียบกับผลเสียในสถานการณ์ที่ร้ายแรงพอสมควรที่จำเป็นต้องยอมให้เกิดผลเสีย และผู้กระทำใช้ความพยายามอย่างที่สุดแล้วเพื่อลดอันตรายให้เหลือน้อยที่สุด

เราจึงจะถือว่า ผลร้ายที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเหมือนผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ของยา ที่ยาบางอย่างใช้รักษาอาการหนึ่งแต่กลับก่อให้เกิดอาการไม่สบายอีกอย่างหนึ่งซึ่งหมอไม่ได้ตั้งใจให้เกิดแต่ยามันบังคับให้เกิดเอง แต่เราอาจยอมให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่ค่อยสบายนั้นเพราะมันหยุดอาการป่วยที่ร้ายแรงกว่าได้ เช่นการคีโมที่รักษามะเร็ง เพื่อรักษาชีวิตคนไข้แต่พาให้คนไข้คลื่นไส้อาเจียน ผมร่วง ตามมา เราจึงไม่ประณามว่า หมอทำให้ฉันผมร่วงและอ๊วกแตก แต่รู้ว่าหมอรักษาฉันจากมะเร็งแต่มีผลข้างเคียงที่ทำให้ฉันไม่สบายและผมร่วง

✝️ กรณีการทำแท้งในจริยธรรม Double Effect ✝️

หลายๆครั้งที่เกิดปัญหา การขัดแย้งทางจริยธรรมของแพทย์ที่ทำการรักษาอาการเจ็บป่วยของคนไข้ที่ตั้งครรภ์ ที่บางครั้งมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงที่อาจต้องเลือกว่า จะรอดชีวิตเพียงหนึ่งเดียว หรือตายทั้งสองชีวิต แพทย์ชาวคริสต์จำนวนมากประสบปัญหานี้ และคำสอนเรื่อง Double Effect ได้นำมาอธิบายเพื่อให้เหล่าแพทย์ได้ยืนหยัดทำตามอุดมการณ์และจรรยาบรรณแพทย์คือการช่วยชีวิตคน และไม่ได้ต้องการทำลายชีวิตใดๆ

ตัวอย่างเช่น

1.การปั้มหัวใจด้วยเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าต่อสตรีมีครรภ์ กระแสไฟฟ้าอาจส่งผลให้เกิดการแท้งในครรภ์ได้ แต่หากไม่ช่วยปั้มหัวใจหญิงคนนั้นจะตาย แพทย์ตัดสินใจกระตุ้นหัวใจเพื่อรักษาชีวิตของเธอ เด็กในครรภ์จึงแท้งไป

2.การเกิดภาวะแทรกซ้อนการตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือตรวจพบมะเร็งในมดลูกหรือรังไข่ในสตรีมีครรภ์ ซึ่งการผ่าตัดรักษาใดๆจะส่งผลให้ตัวอ่อนในครรภ์เสียชีวิต

3.มารดาเป็นโรคร้ายแรงบางอย่างขณะตั้งครรภ์ซึ่งยาที่ใช้รักษาจะส่งผลให้เด็กในครรภ์เสียชีวิต

กรณีเหล่านี้ แพทย์มีเจตนาตั้งใจช่วยชีวิตแม่เป็นหลักสำคัญ ไม่ได้มีเจตนาต้องการฆ่าเด็ก การแท้งของเด็กเป็นผล(ที่ไม่พึงประสงค์)ที่เกิดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากการพยายามช่วยชีวิตแม่ของเด็ก จึงไม่ถือว่าเป็นบาปทำแท้ง

⭐️ คำสอน Double Effect นี้ ช่วยตอบคำถามทางจริยธรรมหลายข้อและหลายกรณีในคริสตสาสนามาเป็นเวลานานแล้ว ไม่ใช่เฉพาะการทำแท้ง

แต่อย่างไรก็ดี เราไม่ควรใช้คำสอน Double Effect แบบศรีธนญชัย คิดเองเออเอง เข้าข้างตัวเอง เลี่ยงบาลี ในการทำผิดทำบาปได้ตามใจตน การตัดสินถูกผิดทางจริยธรรมคริสตศาสนา นอกจากการกระทำแล้ว ยังเน้นที่เจตนาเป็นหลักซึ่งคนเรามีเจตนาอย่างไร ตัวเองรู้ดีแก่ใจและหลอกตนเองไม่ได้ สิ่งที่เราไม่ควรลืมว่า แม้แต่เราจะหลอกตัวตนเองได้แต่ก็หลอกลวงพระเจ้าไม่ได้

ผู้ที่ยังรู้สึกหมิ่นเหม่ สับสนในศีลธรรมบางอย่าง ยังสามารถใช้ศาสนบริการ และการปรึกษา จากศาสนบริกร คือ พระสงฆ์นักบวช และโดยเฉพาะในศีลอภัยบาป ซึ่งพระศาสนจักรมีแนวทางอภิบาลช่วยเหลือฆารวาสอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันบาปทำแท้งที่เคยเป็นบาปสงวน อันส่งผลให้เกิดการตัดขาดจากพระศาสนจักร ปัจจุบันทางพระศาสนจักรคาทอลิกได้แก้ไขกฎระเบียบให้ผู้ผิดพลาดได้แก้ไขความพลาดผิดได้ง่ายกว่าสมัยก่อนมาก ขออย่ากลัวที่จะกลับใจและกลับมาอยู่ในร่มพระคุณและพระหรรษทานของพระเจ้า เพราะไม่มีบาปใดที่พระเจ้าให้อภัยไม่ได้

cr. : www.facebook.com/holysmn


CR. : https://www.facebook.com/100000534736435/posts/2678315835529548/?d=n
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่