ลายรดน้ำ

ความเป็นมาของลายรดน้ำ

    คำว่า “ลายรดน้ำ” มาจากขั้นตอนสุดท้ายของการสร้างสรรค์งานศิลปะเเขนงนี้ ด้วยวิธีปิดทองแล้วเอาน้ำรดปรากฎออกมาเป็นลวดลายรูปภาพ ลายรดน้ำจัดเป็นจิตรกรรมเอกรงค์ประเภทหนึ่ง เป็นการสร้างลวดลายประกอบร่วมกับรูปภาพให้ปรากฏเห็นเป็นสีทองเพียงสีเดียว ด้วยแผ่นทองคำเปลวบนพื้นรักสีดำหรือสีเเดง (รักผสมชาด) เเสดงรูปออกมาเป็นเเบบสองมิติ องค์ประกอบของภาพเรื่องราวเเละลวดลายที่ปรากฎมีหลายลักษณะ ล้วนมีที่มาเเละเเรงบันดาลใจที่ได้มาจากธรรมชาติและสิ่งเเวดล้อม มาเป็นเเนวทางการสร้างสรรค์ลวดลาย คือ คน สัตว์ สถาปัตยกรรม ผสมผสานกับภาพธรรมชาติ ภูเขา ต้นไม้ พันธุ์พฤษา จัดวางกระจายเต็มทั่วพื้นที่ เรื่องราวที่เขียนส่วนมากนำมาจากวรรณคดีที่พบมากที่สุดคือ เรื่องรามเกียรต์ และเรื่องราวทางพุทธศาสนา ได้เเก่ ชาดกเเละพุทธประวัติ หรือ ไม่เขียนเป็นเรื่องราวหากมีเพียงภาพบุคคลหรือภาพสัตว์ในวรรณคดีและที่มีจริงในธรรมชาติประกอบอยู่ในลวดลายกระหนก ภาพเหล่านี้เกือบทั้งหมดเป็นคุณลักษณะความเป็นรูปเเบบไทยโดยเเท้จริงที่เรียกว่า “ศิลปะเเบบไทยประเพณี”

ตู้พระธรรมลายรดน้ำ สมัยอยุธยาตอนปลาย พุทธศตวรรษที่ ๒๓

    ลายรดน้ำได้ใช้เป็นศิลปะสำหรับตกเเต่งสิ่งของเครื่องใช้ที่ทำด้วยไม้เป็นส่วนใหญ่ เเต่ก็มีบ้างที่ทำบนโลหะ หนังหรือไม้ไผ่สาน เป็นต้น มีทั้งภาชนะขนาดเล็ก เช่น ไม้ประกับคัมภีร์ กล่องพระธรรม ตะลุ่ม พานเเว่นฟ้า ฆ้อง ไม้พาย และขนาดใหญ่ เช่น หีบ ตั่ง ตู้พระธรรม สัปคับ ลับเเล และยังมีการทำลายรดนำ้เพื่อตกเเต่งส่วนประกอบของอาคาร เช่น บานประตู หน้าต่าง ตลอดจนฝาผนังอาคาร ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นหนักไปทางด้านที่เกี่ยวข้องกับพระศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ก็ยังมีไม่น้อยที่เกิดจากการสร้างสรรค์ในระดับชาวบ้าน  

หีบพระธรรมลายรดน้ำ สมัยอยุธยาตอนปลาย พุทธศตวรรษที่ ๒๓

ลายรดน้ำเป็นงานปราณีตศิลป์ของไทยอย่างหนึ่งซึ่งมีรูปแบบกระบวนการกรรมวิธีทำสืบเนื่องต่อมาจากอดีต จัดอยู่ในงานช่างรัก อันเป็นหมู่หนึ่งในบรรดาช่างหลวง หรือช่างประจำราชสำนักที่เรียกกันว่า ช่างสิปหมู่ ลายรดน้ำนับว่าเป็นสัมฤทธิผลขั้นสุดท้ายของงาน ช่างรัก

กระบวนการสร้างสรรค์ลายรดน้ำ

๑) การร่างภาพ
    ร่างภาพลวดลายด้วยดินสอบนกระดาษ เเบบร่างจะเป็นตัวกำหนดองค์ประกอบภาพโดยรวมทั้งหมดประกอบด้วย โครงสร้าง เส้น รูปทรง พื้นที่ว่าง รายละเอียดลวดลายให้มีจังหวะช่องไฟที่งดงามเหมาะสม เเละเพื่อความชัดเจนที่สุดควรจะถมพื้นที่ว่างเพื่อเเสดงให้เห็นปริมาณสัดส่วนระหว่างรูปทรงเเละพื้นที่ว่างในภาพรวมทั้งหมด

๒) การทําแบบปรุลาย
    นําแบบที่ร่างเรียบร้อยแล้ว มาทําเป็นแบบปรุโดยซ้อนกระดาษไขสัก ๑-๒ แผ่น โดยวางแผ่นเเรกไว้บนแบบร่างส่วนอีกแผ่นที่เหลือวางไว้ใต้แบบ การที่วางแผ่นเเรกไว้บนแบบร่างก็เพื่อที่จะได้ทราบว่าในตำเเหน่งพื้นที่ใดได้ทำการปรุแบบลายไปเรียบร้อยแล้ว ยึดตรึงทั้งสามแผ่นเข้าด้วยกันป้องกันการคลาดเคลื่อน รองด้วยผ้าเนื้อละเอียดประมาณ ๒-๓ ชั้น จากนั้นใช้ปลายเข็มปรุตามลวดลายแบบร่าง ความถี่ตามความเหมาะสมของแบบ ถ้าความถี่มากเกินไปเมื่อลูบฝุ่นโรยแบบผงฝุ่นดินสอพองจะมีจำนวนมากทำให้การเขียนเส้นติดขัดไม่ต่อเนื่อง ถ้าหากรอยปรุมีความห่างมากเกินไปจะไม่ปรากฎเป็นลวดลายรูปร่างที่ชัดเจน
ก่อนที่จะทำการลูบโรยแบบทุกครั้งต้องทำความสะอาดพื้นผิวชิ้นงานที่จะเขียนทุกครั้งให้หมดคราบความมันความสกปรกต่างๆเสียก่อน  วิธีทําความสะอาดพื้นผิวชิ้นงาน ใช้ดินสอพองละลายกับน้ํา ความเข้มข้นพอสมควร ใช้นิ้วมือหรือสําลีแตะดินสอพองละลายน้ำถูลงบนพื้นผิว โดยถูวนเป็นวงกระจายออกและถูให้ทั่วหมดทั้งแผ่นพื้นที่จะเขียน พอดินสอพองหมาดๆก็ถูลบเอาดินสอพองออกให้หมด


๓) การลูบฝุ่นโรยแบบ
    นําแบบกระดาษไขที่ปรุลายเรียบร้อยแล้ววางทาบลงบนพื้นผิวชิ้นงานตรึงให้แน่นอย่าใหเคลื่อนได้ แล้วใช้ลูกประคบฝุ่นดินสอพองลูบแต่เพียงแผ่วเบา เมื่อลูบทั่วดีแล้วเปิดดูบางส่วนหากพื้นที่ส่วนใดไม่ชัดเจนก็ลูบด้วยลูกประคบซ้ำลงไปอีกครั้ง


๔) การเขียนด้วยนํ้ายาหรดาล ตัดเส้น
    การเขียนด้วยน้ำยาหรดาลในส่วนเเรกเป็นการตัดเส้นในส่วนโครงสร้าง และเส้นรอบนอกของลวดลาย เพื่อกำหนดขอบเขตของรูปทรง โดยใช้พู่กันสำหรับตัดเส้นขนาดเล็ก ควบคุมทิศทางการเคลื่อนไหวให้เพียงปลายพู่กันสัมผัสพื้นผิวชิ้นงาน องศาของพู่กันตั้งชันเอียงลงเล็กน้อยเพื่อให้น้ำยาหรดาลใหลลงสม่ำเสมอ และที่สำคัญระยะห่างระหว่างปลายพู่กันที่สัมผัสพื้นผิวงานและมือที่จับด้ามพู่กันต้องมีระยะห่างที่เหมาะสม เพื่อการบังคับควบคุมทิศทางให้สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหว และต้องใช้สะพานรองมือทุกครั้งที่ทําการเขียนน้ํายาหรดาน ไม่ควรให้มือหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายไปสัมผัสบริเวณที่ลูบฝุ่นโรยแบบไว้ ในขณะที่ทำการเขียนต้องหมั่นคนน้ำยาหรดาลเพื่อไม่ให้ตกตะกอน และถ้าน้ำยาข้นเหนียวมากเกินไปก็เติมน้ำฝักส้มป่อยลงไปเพียงเล็กน้อย และใช้น้ำฝักส้มป่อยเป็นน้ำล้างพู่กัน


๕) การเขียนด้วยนํ้ายาหรดาล ถมพื้น
    ถมพื้นรอบนอกของลวดลายเเสดงขอบเขตพื้นที่ในส่วนของรูปทรงเเละพื้นที่ว่าง โดยเว้นพื้นที่ในส่วนที่ต้องการให้ปรากฏลวดลายสีทองไว้เป็นพื้นสีดำ เเละพื้นที่ในส่วนที่ต้องการให้ปรากฎเป็นพื้นที่สีดำให้เขียนน้ำยาหรดาลระบายถมทับพื้นที่ส่วนนั้น ความหนาเท่ากับการตัดเส้นในส่วนเเรก ถ้าระบายหนาเกินไปเมื่อแห้งสนิทอาจร่อนแตกร้าวได้


๖) การเขียนเส้นเเสดงรายละเอียด
    เส้นเเสดงรายละเอียดจะบรรจุอยู่ภายในรูปทรง เพื่อเน้นเเสดงระยะมิติความลึก จังหวะเเละทิศทางของเส้นต้องมีความสัมพันธ์กันกับรูปทรง


ชิ้นงานเมื่อเขียนด้วยน้ำยาหรดาลเสร็จสมบูรณ์


๗) การเช็ดรัก
    นําชิ้นงานที่เขียนด้วยน้ํายาหรดาลเสร็จเรียบร้อยและผึ่งจนแห้งสนิทดีมาเช็ดด้วยรักเช็ดหรือรักเคี่ยว (รักน้ําเกลี้ยงตั้งไฟเคี่ยวโดยใช้ไฟอ่อนๆเพื่อไล่ความชื้นออกไปหมด) โดยใช้สำลีปั้นเป็นก้อนหุ้มด้วยผ้าผิวเรียบไม่มีขนหรือขุ่ยผ้า จุ่มรักเช็ดลงบนพื้นผิวชิ้นงานให้ทั่วพื้นที่ จากนั้นเปลี่ยนใช้ผ้าหุ้มสําลีก้อนใหม่เช็ดถอนยางรักออกให้เหลือน้อยที่สุดอีกครั้ง ให้มีความเหนียวของรักคงเหลือสม่ำเสมอ วิธีทดสอบว่ารักที่เช็ดมีความเหนียวพอเหมาะหรือไม่ โดยเอาหลังนิ้วมือสัมผัสดูพอหนึบๆก็ถือว่าใช้ได้ หากเช็ดถอนรักออกมากจนเกินไปพื้นที่ส่วนนั้นจะปิดทองคำเปลวไม่ติด ถ้าหากถอนรักออกน้อยเกินไปความเหนียวของรักมาก เวลาปิดทองคำเปลวทองจะจมเป็นรอยไม่เรียบเนียนสม่ำเสมอ

ถ้าหากมีพื้นที่ส่วนใดเมื่อเช็ดถอนรักเเล้วน้ำยาหรดานหลุดออก ให้เช็ดถอนรักซ้ำไปเรื่อยๆจนพื้นที่ส่วนนั้นน้ำยาหรดาลหายหลุด หลังจากนั้นจึงทำการเขียนซ่อมลายที่หลุดทับซ้ำอีกครั้งจึงสามารถนำไปปิดทองคำเปลวเป็นขั้นตอนต่อไป


๘) การปิดทองคําเปลว
    แผ่นทองที่จะนำมาปิด ต้องเป็นทองคัดอย่างดีไม่มีตามดหรือมีรอยด่าง ในการปิดเเผ่นทองต้องจับเเผ่นทองด้วยมือซ้ายครั้งละประมาณ ๒๐ แผ่นหรือมากกว่า เปิดแผ่นทองโดยนิ้วชี้มือขวาค่อยๆเปิดหน้าเเผ่นเปลืกทองออกประมาณครึ่งแผ่น พับสอดไว้ที่ใต้นิ้วโป้งขอมือซ้าย แล้วคว่ำหน้าทองนาบลงที่พื้นผิวชิ้นงานมือขวาค่อยลากกระดาษเปลืกทองออกลำตัวอย่างช้าๆ ในการวางตำเเหน่งให้แผ่นทองด้านหนึ่งๆ ทับเกยกันโดยประมาณ2มิลลิเมตรเพื่อมิให้เกิดรอยต่อ ทำต่อเนื่องโดยเริ่มแผ่นเเรกตั้งเเต่แถวล่างจากซ้ายมาขวาและจากแถวล่างขึ้นบนไล่ขึ้นไปทีละเเถว การปิดทองคำเปลวควรทำในสถานที่มิดชิดไม่มีลมพัดผ่าน เพราะจะทำให้ทองคำเปลวปลิว


๙) การปิดทองคําเปลว กวดทอง
    เมื่อปิดทองจนเต็มพื้นที่ที่ต้องการแล้ว ใช้นิ้วมือสะอาดกดตามรอยต่อแผ่นทองที่เกยทับกันให้แนบสนิท โดยค่อยๆกดให้เรียบทั่วทั้งชิ้นงาน หากมีพื้นที่หลงเหลือก็ให้ปิดทองซ่อมให้เต็มพื้นที่ให้เรียบร้อย ไม่ควรใช้นิ้วมือลูบเอาเศษผงทองมาปิดซ่อมเพราะจะทำให้เกิดรอยด่างไม่เสมอ ให้ใช้เฉพาะเศษทองที่เป็นเเผ่นปิดซ่อมเท่านั้น จากนั้นใช้สำลีก้อนกลมกวดทองที่ผิวหน้าชิ้นงานให้เรียบแน่นร้อยอย่างแผ่วเบา เมื่อกวดจนเต็มพื้นที่ชิ้นงานตามที่ต้องการแล้วให้ทิ้งชิ้นงานไว้ประมาณ ๘ ชั่วโมงหรือหนึ่งคืนเพื่อให้รักแห้งในระดับหนึ่งเพื่อให้ลวดลายปรากฎคมชัดในขั้นตอนต่อไป


๑๐) การรดน้ํา
    ใช้กระดาษฟางที่ห่อแผ่นทองคําเปลว หรือที่เรียกว่าเปลือกทองชุบน้ําปิดให้ทั่วพื้นผิวชิ้นงานที่ปิดทองเรียบร้อยแล้ว ทิ้งไว้สักครู่หนึ่งเพื่อให้น้ํายาหรดาลละลายพองตัวได้ที่อย่างทั่วถึง จากนั้นนำสําลีปั้นเป็นก้อนชุบน้ําสะอาดค่อยๆเเตะแต่เพียงแผ่วเบา เมื่อน้ำยาหรดาลละลายก็จะค่อยๆปรากฏลวดลาย เมื่อล้างน้ำยาหรดาลออกจนหมดแล้วรดด้วยน้ําสะอาดเป็นครั้งสุดท้าย แล้วใช้สำลีหรือผ้าสะอาดนิ่มๆ เช็ดทําความสะอาดและเก็บคราบน้ําให้แห้งสนิท


ชิ้นงานที่เสร็จสมบูรณ์

    การซ่อมลวดลายที่ชำรุด ถ้าหากรดน้ำแล้วลวดลายในพื้นที่บางส่วนหลุดหายไป ก็ทำการเเก้ไขเแพาะพื้นที่ที่เสียหายนั้น โดยนำดินสอพองละลายน้ำใช้สำลีชุบเช็ดที่พื้นผิวเพื่อทำความสะอาด จากนั้นนำแบบปรุลายมาทาบแล้วใช้ลูกประคบดินสอพองลูบฝุ่นโรยเเบบ เขียนตัดเส้นด้วยน้ำยาหรดาลในส่วนที่ขาดหายไป และเช็ดรักปิดทองคำเปลวเฉพาะพื้นที่ที่เสียหายทำตามขั้นตอนเดิมอีกครั้ง




Facebook Page : https://www.facebook.com/Lairodnamart/
Web : https://lairodnamart.blogspot.com/
Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCcihi-_zI2XKdNsbUkb-2Jg?view_as=subscriber

.
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่